มหาวิทยาลัยไทย ไปทางไหน เทียบปัจจัยระหว่าง “CU-NUS”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยมีเพียงมาตรฐานเดียว เป็นเรื่องระดับโลก

เป็นความระแวดระวังพอสมควรในการนำเสนอข้อเขียนนี้ กรณีการเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของไทย- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับมหาวิทยาลัยในประเทศเพื่อนบ้าน- ประเทศสิงคโปร์กับมหาวิทยาลัยของรัฐ National University of Singapore (NUS)

ในกรณีนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกที่ทำๆ กัน อย่างที่อ้างๆ กันอย่างกว้างๆ ด้วยเชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่าง มีข้อจำกัดหลายอย่างที่แตกต่างกัน หากพยายามนำเสนอตัวเลข หรือข้อมูลของมหาวิทยาลัยเอง ทั้งนี้ จะไม่พยายามนำเสนอความเห็นส่วนตัว หรือการตีความเกินความจำเป็น

ด้วยเชื่อว่าเป็นความจำเป็น เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐาน ก่อนจะวิเคราะห์ปัญหามหาวิทยาลัยไทยอย่างจริงจังต่อไป ปัญหามหาวิทยาลัยมีมิติกว้างขวาง คงไม่เพียงเฉพาะจำนวนผู้เรียนลดลง ตามความเป็นไปของประชากรอย่างที่เข้าใจกันเท่านั้น

การนำเสนอข้อมูลเชิงเปรียบเทียบในบางมิติ เท่าที่เป็นไปได้ อาจเป็นบทเรียนให้กับผู้สนใจหรือผู้เกี่ยวข้องได้ไม่มากก็น้อย

 

ข้อมูลพื้นฐาน

อ้างอิงจากข้อมูลพื้นฐานจากแหล่งเดียวกัน (จาก https://www.topuniversities.com) พอจะเทียบเคียงกันได้ ทั้งจุฬาฯ และ NUS ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีขนาดเดียวกัน หากพิจารณาจากจำนวนนักศึกษาที่มีใกล้เคียง จุฬาฯ 36,878 คน กับ NUS 30,226 คน (เฉพาะข้อมูลนักศึกษาเต็มเวลา หากนับอย่างอื่นๆ ด้วย ก็มีมากกว่า 38,000 คน)

ต่อจากนั้นล้วนเป็นข้อมูลที่แตกต่าง ด้วยหลักสูตร NUS มีระบบการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษ NUS จึงมีนักศึกษาต่างชาติมากถึง 7,787 คน

แม้ว่าจุฬาฯ จะมีหลักสูตรที่ใช้ภาษาอังกฤษ หรือที่เรียกว่า “หลักสูตรนานาชาติ” มากนับร้อย แต่มีนักศึกษาต่างชาติเพียง 874 คน

ตัวเลขที่น่าสนใจ คือสัดส่วนระหว่างจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีกับระดับที่สูงกว่า ดูจะแตกต่างกันพอสมควร

จุฬาฯ นักศึกษาประมาณ 32% ศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป

ขณะที่ NUS มีเพียง 19%

อีกสถิติที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ จำนวนอาจารย์ NUS มีมากกว่าจุฬาฯ ในจำนวนพอสมควรทีเดียว ในสัดส่วน 4,766 ต่อ 2,879 คน

ที่ไม่น่าแปลกนักคือ อาจารย์ชาวต่างชาติของ NUS มีมากกว่าจุฬาฯ ตามที่ควร (3,082 ต่อ 218) ซึ่งพอจะอ้างกันได้ว่า มีเหตุปัจจัยมาจากความแตกต่างของหสักสูตร และจำนวนนักศึกษาต่างชาติ

 

ข้อมูลทางการเงิน

ข้อมูลทางการเงินที่ยกมาบางส่วนของจุฬาฯ อ้างอิงมาจากรายงานของสอบบัญชีและงบการเงิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558 โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นข้อมูลล่าสุดที่ปรากฏ (https://www.chula.ac.th/) ขณะที่ National University of Singapore หรือ NUS มาจาก FULL FINANCIAL STATEMENTS FOR THE FINANCIAL YEAR ENDED31 MARCH 2017 ทั้งนี้ จะใช้ข้อมูลในปี 2016 หรือ 2559

ข้อมูลการเงินของมหาวิทยาลัยทั้งสอง เมื่อเปรียบเทียบกัน มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ

จุฬาฯ (ณ 30 กันยายน 2558) มีรายได้รวมทั้งหมดประมาณ 21,500 ล้านบาท น่าจะถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีรายได้สูงที่สุดในประเทศไทย

ส่วนแรก-รายได้ของจุฬาฯ เอง ไม่ว่าค่าเล่าเรียน ค่าบริการบริการศึกษา และอื่นๆ รวมกันประมาณ 12,000 ล้านบาท

ในส่วนนี้ จุฬาฯ มีสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ ซึ่งสามารถหารายได้ได้มากทีเดียว จากกรณีมีกรรมสิทธิ์ที่ดินทำเลใจกลางกรุงเทพฯ เป็นความพิเศษเฉพาะตัวซึ่งมหาวิทยาลัยอื่นๆ ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เฉพาะรายได้แหล่งนี้รวมทั้งการบริหารเงินเกี่ยวเนื่อง (ผลตอบแทนการลงทุนเกี่ยวข้องอื่นๆ) มีประมาณ 8,000 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนเกือบๆ 70%

ส่วนที่สอง-เงินสนับสนุนจากภายนอก โดยเฉพาะจากงบประมาณของรัฐ และเงินสนับสนุนในการวิจัยและโครงการอื่นๆ ซึ่งจุฬาฯ ได้รับเป็นประจำสม่ำเสมอ เฉพาะในปี 2558 ได้รับประมาณ 9,000 ล้านบาท

ข้อมูลทางการเงินดังกล่าว แสดงฐานะอันมั่งคั่งและมั่นคงของจุฬาฯ ด้วยว่ามีรายได้มากกว่ารายจ่ายถึงประมาณ 4,680 ล้านบาท National University of Singapore หรือ NUS แสดงตัวเลขทางการเงินตามมาตรฐาน โดยเฉพาะรายได้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

หนึ่ง- OPERATING INCOME หรือรายได้จากการเรียนการสอน (แปลโดยผู้เขียน) ได้รวมทั้งค่าเล่าเรียน เงินบริจาค ค่าบริการการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ผลตอบแทนการลงทุน ฯลฯ รวมกันได้ประมาณ 770 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 18,300 ล้านบาท (คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ เท่ากับ 23.75 บาท)

เมื่อเปรียบเทียบ “รายได้ของจุฬาฯ” เอง ถือว่าเป็นรายได้ไม่มากกว่าเท่าใดนัก อย่างที่คาดการณ์ไว้แต่แรก

ส่วนที่สอง GRANTS หรือเงินสนับสนุน เฉพาะได้รับจากรัฐบาลสิงคโปร์ มีมากถึง 1,200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 28,500 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนมากทีเดียว

สะท้อนแนวคิดของรัฐ ว่าด้วยการให้ความสำคัญและการสนับสนุนการศึกษา ที่มีมิติแตกต่างจากรัฐไทยอย่างมากๆ

นอกจากนี้ NUS ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากภายนอกอีกจำนวนไม่น้อยถึง 550 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 13,000 ล้านบาท

รวมแล้ว NUS มีรายได้ทั้งหมดในปี 2559 ราว 60,000 ล้านบาท หรือมากกว่าจุฬาฯ เกือบๆ 3 เท่า

ทั้งนี้ มีประเด็นที่แตกต่าง ตั้งเป็นข้อสังเกต NUS ใช้เงินอย่างเต็มที่ มีประสิทธิภาพ ทำให้รายได้มากกว่ารายจ่าย เหลือเพียงประมาณ 45 ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท

ซึ่งเหลือน้อยกว่าจุฬาฯ ถึง 4 เท่า

 

ข้อมูลงานวิจัย

เป็นประเด็นที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

“การวิจัย ภารกิจหลักด้านการวิจัย ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะ 15 ปี (พ.ศ.2555-2570) ได้มุ่งเป้าในการสร้างความเป็นเลิศด้านการวิจัย พัฒนาสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัย” ส่งเสริมการเชื่อมโยงกระบวนการเรียนการสอนและการวิจัยเข้าด้วยกัน สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมทางวิชาการ เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ ส่งผลต่อการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

บทสรุปผู้บริหาร จากรายงานประจำปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีบัญชี 2558 (1 ตุลาคม 2557 – 30 กันยายน 2558) เป็นบทบาทมหาวิทยาลัยที่มีความสำคัญอย่างมาก ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับแผนยุทธศาสตร์ข้างต้น

“ในปีนี้มีโครงการวิจัย 1,481 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คิดเป็นงบประมาณ 1,276.45 ล้านบาท กว่าร้อยละ 70 เป็นการสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังมีโครงการวิจัยจากโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (WCU) ซึ่งมอบหมายให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ เป็นผู้ดำเนินการ 58 โครงการ เป็นเงิน 79.10 ล้านบาท และโครงการวิจัยที่ได้รับเงินทุนดำเนินงานผ่านศูนย์บริการวิชาการอีก 122 โครงการ เป็นเงิน 432.69 ล้านบาท มีการเผยแพร่ผลงานวิจัย ทั้งในวงวิชาการและในสังคมทั่วไป โดยมีบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในฐานข้อมูล ISI (Web of Knowledge) จำนวน 1,181 เรื่อง และในฐานข้อมูล SCOPUS จำนวน 2,358 เรื่อง” เพื่อให้ภาพมีรายละเอียดและสีสัน จึงได้ถ่ายเอกสารสำคัญเกี่ยวข้องมานำเสนอ (โปรดพิจารณา หัวข้อ “จำนวนโครงการวิจัยที่ได้รับการอนุมัติเงินอุดหนุนการวิจัยปีงบประมาณ 2558”)

เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกัน อ้างอิงจาก NATIONAL UNIVERSITY OF SINGAPORE Annual Report 2017 กล่าวถึงงานวิจัยไว้อย่างน่าสนใจเช่นกัน

“ในปี 2559 มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยทั้งหมด 8,737 ชิ้นในเอกสารทางวิชาการในต่างประเทศ (international journals) เฉพาะในปีนี้มีโครงการวิจัยเริ่มต้นใหม่จำนวน 1,110 โครงการ และมีโครงการวิจัยที่แล้วเสร็จจำนวน 1,170 โครงการ รวมทั้งมีการลงนามสัญญาร่วมมือวิจัยอีก 353 ฉบับ

ในปี 2559 งานวิจัยของ NUS ได้รับเงินสนับสนุน 745 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือประมาณ 17,700 ล้านบาท-ผู้เขียน) จากกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ กองทุนวิจัยแห่งชาติ (National Research Foundation หรือ NRF) และ Agency for Science, Technology and Research (A*STAR)”

ข้อความข้างต้นสรุปความจาก NUS Annual Report 2017 (หัวข้อ Research 1 August 2016 – 31 July 2017 หน้า 36) เพื่อให้มีจินตนาการมากขึ้นเช่นกัน ขอยกข้อมูลอ้างอิง Info graphic จากเอกสาร NUS หัวข้อ Research Statistics มาประกอบด้วย

ข้อมูลข้างต้นขอทิ้งไว้ให้ผู้อ่าน ผู้สนใจ เปรียบเทียบ วิเคราะห์กันเอาเอง

ที่ให้ความสำคัญกว่า มหาวิทยาลัยไทยทั้งหมดควรเปิดเผยข้อมูลอย่างที่จุฬาฯ ทำเป็นแบบอย่าง เท่าที่ค้นจาก website ทางการ พบว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งยังไม่มีข้อมูลเช่นจุฬาฯ นี่ควรเป็นจุดเริ่มต้น การเข้าถึงอย่างโปร่งใส เข้าใจปัญหา กล้าเปิดเผย กล้าเปรียบเทียบ ก่อนจะนำทางไปสู่การปรับตัว ซึ่งไม่มีทางที่จะหลีกพ้น