นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เสรีภาพออนไลน์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ด้วยประชากรเพียง 68.4 ล้าน ไทยกลายเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ก เป็นอันดับหนึ่งของโลก ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่ปี เรายังเป็นอันดับที่ 4 ที่ 3 และเลื่อนขึ้นเป็นอันดับหนึ่งอย่างรวดเร็ว

บางคนอธิบายว่า ก็เพราะคนอื่นเขาใช้แอพพลิเคชั่นอื่น เช่น ทวิตเตอร์, IG, หรืออื่นๆ อีกหลายอย่าง เครื่องมือสำหรับการสื่อสารเชิงสังคมไม่ได้มีแต่เพียงเฟซบุ๊กเพียงอย่างเดียว แต่มีอย่างอื่นซึ่งมีสมรรถนะตรงตามความต้องการของผู้ใช้มากกว่า

ถ้าอย่างนั้นทำไมคนไทยจึงมากระจุกใช้เฟซบุ๊กอยู่อย่างเดียวล่ะ ความต้องการสื่อสารเชิงสังคมของคนไทยก็น่าจะมีหลากหลายเหมือนคนอื่น เหตุใดการใช้แอพพ์จึงไม่กระจายไปอย่างใกล้เคียงกันบ้าง

ผมพยายามหาคำอธิบายเรื่องนี้ จะถูกหรือผิดก็ไม่ทราบได้ แต่ผมคิดว่าลักษณะเฉพาะของเครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ เหมาะสมกับความต้องการสื่อสารของคนในสังคมที่แตกต่างกัน สังคมต่างๆ เลือกใช้เครื่องมือที่ช่วยให้สื่อสารได้ตามความประสงค์มากที่สุด

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สารเป็นตัวเลือกสื่อ ไม่ใช่สื่อเป็นตัวเลือกสาร

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สารประเภทไหนที่คนไทยอยากสื่อกัน จึงได้เลือกเฟสบุ๊กมากกว่าแอพพ์ชนิดอื่น และสารนั้นสะท้อนความเป็นจริงอะไรของสังคมไทย

ลักษณะเด่นของเฟซบุ๊กคือ เป็นสื่อที่บอกตัวตนเจ้าของได้เด่นชัดที่สุด ผมไม่ได้หมายความว่าชื่อเรียงเสียงไร จบการศึกษาอะไร บ้านอยู่ไหน แต่บอกว่าเจ้าของมีความคิดเห็นทางการเมือง หรือสังคม หรือดารา หรือศาสนา หรือ ฯลฯ อย่างไร คบใครเป็นเพื่อน มีความสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ทั้งนี้กระทำได้ในตัวของเฟซบุ๊กเอง โดยไม่ต้องนำสารไปเชื่อมต่อกับสื่ออื่น

แต่ในขณะเดียวกันก็ปลดปล่อยเจ้าของจากมารยาททางสังคมบางอย่าง เพราะเฟซบุ๊กของคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยเปิดให้เป็นสาธารณะ ใครๆ ก็เข้าไปดูได้ “คำสนทนา” ในเฟซบุ๊กจึงไม่ใช่การสนทนากับกลุ่มคนที่รู้จักเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการโยนประเด็นลงไปในที่สาธารณะ คนที่สนใจก็อาจเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นหรือแบ่งปันข้อมูลได้ ไม่ว่าจะรู้จักกันเป็นการส่วนตัวหรือไม่

การเปิด “วาระ” ทางสังคมได้เองเป็นอำนาจอย่างหนึ่ง ซึ่งสื่อโซเชียลประเภทอื่นก็ทำได้เหมือนกัน แต่ไม่ง่ายเท่ากับในเฟซบุ๊ก เช่น ต้องอาศัยคนจำนวนมากในการส่ง “ข่าวสาร” นั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกไปในเครือข่ายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ของตนให้มากพอ จึงกลายเป็น “วาระ” ไปได้ ผิดจากในเฟซบุ๊ก ซึ่งอาจได้รับความสนใจมีคนเปิดเข้าไปดูวันเดียวเป็นหมื่นเป็นแสน หรือถูกถล่มจากทั่วสารทิศ

ส่วนที่ว่าปลดปล่อยจากมารยาทนั้น ผมอยากให้ลองเทียบกับไลน์ในโทรศัพท์มือถือ คนที่จะมองเห็นอะไรในไลน์ได้คือเครือข่ายส่วนตัว ที่มักมีความสัมพันธ์ทางอื่นต่อกันนอกจากการส่งไลน์ถึงกันทางโทรศัพท์เท่านั้น จึงทำให้ไลน์ไม่เป็นเวทีที่ดีนักในการพูดทุกอย่างตามใจตนเอง เพราะอาจกระทบความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงในกลุ่มได้ จำเป็นต้องรักษามารยาทของการพูดคุยเอาไว้ระดับหนึ่ง ยิ่งกว่านี้ สังเกตดูเถิดครับว่า ข้อความในไลน์มักถูก “ตอบ” ในเวลาไม่นานหลังส่งออกไป ดังนั้น ไลน์คือ “วงสนทนา” ที่เหมือนกับผู้ร่วมวงได้เห็นหน้าเห็นตากัน ในขณะที่ข้อความในเฟซบุ๊กมักถูกตอบโต้หลังจากได้อ่านและไตร่ตรองไปบ้างแล้วไม่มากก็น้อย อีกทั้งเป็นการตะโกนเข้าใส่กันในที่มืด ไม่ใช่การสนทนา มารยาทการสนทนาจึงคืบคลานเข้ามากุมไลน์ ในขณะที่ไม่กล้ำกรายเข้าไปในเฟซบุ๊กมากนัก

เฟซบุ๊กจึงเป็นสื่อสำหรับการสื่อสารระหว่างบุคคลกับสังคม ไม่ใช่ระหว่างบุคคลกับบุคคลเหมือนไลน์

ผมคิดว่าในบรรดาเครื่องมือของสื่อโซเชียลทั้งหมด เฟซบุ๊กให้อำนาจบุคคลในการกำหนด “วาระ” ทางสังคมมากกว่าสื่อชนิดอื่น ประชาชนสามารถช่วงชิงอำนาจผูกขาดการกำหนดวาระทางสังคมจากนักการเมืองและสื่อรวมศูนย์ (หนังสือพิมพ์, โทรทัศน์, ภาพยนตร์, ละคร, เพลง, ภาพถ่าย ฯลฯ) ได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน

ความเป็นตัวเป็นตนของเฟซบุ๊ก ทำให้การติดตาม “คนดัง” ดูจะมีรสชาติมากกว่าสื่อชนิดอื่นด้วย เราแทบจะสามารถตามดาราคนที่เราชื่นชอบไปได้ทุกหนทุกแห่ง ซ้ำยังเป็นทุกหนทุกแห่งและพฤติกรรมที่เราพึงคาดหวังจากดาราที่ชื่นชอบด้วย เขาหรือเธอไปเปิดการแสดงต่างจังหวัด ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากแฟนๆ ในจังหวัดนั้น เขาและเธอก็ไม่ถือตัวแต่อย่างใด เพราะเล่นสนุกกับสมาชิกในแฟนคลับของตนอย่างเต็มที่ ถึงไม่ได้ร่วมอยู่ในกลุ่มทัวร์ของดาราคนโปรด แต่ก็อาจมีส่วนร่วมด้วยการกดไลก์หรือแสดงความชื่นชมให้ปรากฏแก่สาธารณะได้เหมือนกัน

เช่นเดียวกับคนดัง เฟซบุ๊กช่วยให้ติดตามประเด็นดังได้ไม่ต่างจากกัน เพราะผู้สนใจอาจเข้าไปให้ความเห็น ตำหนิหรือชื่นชม หรือให้ความช่วยเหลือ หรือริเริ่มการรณรงค์บางอย่างต่อประเด็นนั้นๆ ได้

เฟซบุ๊กคือโลกที่ต่างคนต่างสร้างให้ตนเอง เมื่อเป็นโลกที่ตนสร้างขึ้นเอง ก็ย่อมมีอำนาจเหนือโลกนั้นอย่างเต็มที่ มีเพื่อนและผู้ติดตามที่เลือกเอาเอง เลือกผิดก็ยังสามารถขจัดออกไปด้วยคลิกเดียว แถมยังใช้เฟซบุ๊กเพื่อติดตามเรื่องราวที่ตนและคนในโลกของตนสนใจ ติดต่อกับคนในโลกอื่นตามความสมัครใจของตน ติดต่อแล้วไม่ถูกใจ ก็ปิดประตูลั่นดาลเสีย ไม่ให้หมอนั่นหรือยายคนนั้นเข้ามาในโลกของเราอีก

เป็นอำนาจล้นเหลือที่คนไทยไม่เคยมี

เฟซบุ๊กไม่ได้เป็นที่นิยมอย่างนี้ในทุกสังคม บางสังคมทวิตเตอร์เป็นที่นิยมมากกว่า ลักษณะสำคัญของทวิตเตอร์คือส่งข้อความสั้นๆ เพราะให้ใช้ตัวอักษรได้ไม่เกิน 140 ตัว ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับการส่ง “ข่าว” ระหว่างกัน เหมือนบอกให้รู้ความเคลื่อนไหวของบุคคลหรือของการเมือง, เศรษฐกิจ, หรือสังคม ถึงจะออกความเห็นก็ได้ แต่อย่างสั้นๆ โดยไม่ต้องอภิปรายเหตุผล คนอ่านไปคิดเอาเอง เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็อาจตอบสนองได้ แต่อย่างสั้นๆ เหมือนกัน

มีคนบอกว่า คนในสองอาชีพที่นิยมใช้ทวิตเตอร์เป็นพิเศษคือนักการเมืองและนักเขียนรุ่นใหม่ ผมเดาเอาเองว่า นักการเมืองที่ไม่มีอำนาจควบคุมการแสดงออกของคนอื่น ย่อมอยากพูดอะไรที่ไม่ผูกมัดตัวเกินไป ฟังดูดีโดยไม่ต้องแสดงเหตุผลอะไร หากผู้คนส่วนใหญ่ยอมรับ ก็กลายเป็นคะแนนเสียง หากถูกก่นประณามจากคนส่วนใหญ่ ก็อาจทวีตใหม่เพื่อแก้ตัวได้ง่าย (การอภิปรายเหตุผลยืดยาวอย่างในเฟซบุ๊กผูกมัดให้ต้องยืนอยู่ในความเห็นนั้นอย่างยากจะถอนตัวได้ง่ายๆ)

ส่วนนักเขียนรุ่นใหม่นั้น โดยปรกติก็มักจะเขียนอะไรสั้นๆ อยู่แล้ว เพราะรู้ว่าคนสมัยนี้ไม่เสียเวลาให้แก่การอ่านข้อถกเถียงอะไรที่ซับซ้อนยืดยาว ฉะนั้นอาจใช้เวลามากในการคิดอะไรที่ลึกซึ้งและสลับซับซ้อนก็ได้ แต่แสดงออกด้วยข้อความสั้นๆ ที่กินใจหรือสะเทือนอารมณ์สูง ทวีตทีเดียวก็ลือลั่นไปทั้งวงการ นักเขียนรุ่นใหม่เขียนเป็นแต่ “วรรคทอง” ส่วนวรรคธรรมดาเขียนไม่เป็น ทวิตเตอร์จึงเหมาะจะเป็นเวทีของเขา

ในสังคมที่ผู้คนเคยชินกับการตรวจข่าวหนังสือพิมพ์ทุกวัน อ่านทวิตเตอร์ก็คือตรวจพาดหัวหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับในตอนเช้า ในขณะที่บทวิจารณ์และรายละเอียดของข่าวค่อยไปอ่านในเฟซบุ๊ก หรือในสื่อรวมศูนย์แบบเก่าที่บางคนเชื่อว่ามีคุณภาพมากกว่าในเฟซบุ๊ก

ดังเช่นครูฝรั่งของผมคนหนึ่ง ซึ่งยึดมั่นกับสื่อกระดาษ ทั้งเพื่ออ่านและเขียนอย่างยิ่ง เคยบอกว่าข้อความที่ปรากฏในสื่อโซเชียลทั้งหลายนั้นเป็นเพียงอารมณ์-ความคิด “ชั่ววูบ” คิดอะไรหรือรู้สึกอะไรก็ระบายลงไปโดยไม่เคยเสียเวลาไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน ท่านจึงไม่เคยเสียเวลาให้แก่การอ่านหรือเขียนอะไรในสื่อโซเชียลเลยตลอดชีวิต

ทําไมสังคมไทยจึงเป็นสังคมก้มหน้า มีคนอธิบายให้ผมฟังว่า คนไทยโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ต้องเสียเวลาไปกับสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายอย่างมากทุกวัน นั่งรถเมล์ก็ต้องรอเป็นเวลานาน ซ้ำขึ้นไปแล้วก็ต้องเผชิญรถติดเป็นชั่วโมงกว่าจะถึงที่หมาย ไปโรงพยาบาลก็ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะได้พบแพทย์ ขึ้นอำเภอก็เหมือนกัน แม้แต่นักศึกษาจะลงทะเบียนเรียนอะไรยังต้องต่อคิวยาวเหยียด จึงไม่มีทางอื่นจะฆ่าเวลาได้ดีไปกว่าอ่านเฟซบุ๊ก คนไทยจึงกลายเป็นนักอ่านไปโดยปริยาย ส่วนสิ่งที่อ่านจะมีคุณภาพแค่ไหนอย่างไร ยกไว้ก่อน

ผมฟังแล้วก็คิดว่า ก็น่าจะมีส่วนเหมือนกัน แต่ทำไมต้องเป็นเฟซบุ๊ก ไม่ใช่ทวิตเตอร์, เว็บบล๊อก, สื่อออนไลน์, หรือถือหนังสือติดมือไปสักเล่ม ฯลฯ

ผมจึงคิดว่าเฟซบุ๊กน่าจะเหมาะกับสังคมไทย หรือมีลักษณะพิเศษของ “ความเป็นไทย” บางอย่างที่เอื้อต่อความนิยมเฟซบุ๊ก และใช้เวลากับสื่อโซเชียลประเภทต่างๆ กันมาก

การเปิด “วาระ” ทางสังคมได้เองน่าจะเป็นแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้เฟซบุ๊กเป็นที่นิยมในหมู่คนไทย นอกจากเพราะ “วาระ” ทางสังคมถูกผูกขาดโดยคนเพียงไม่กี่กลุ่มแล้ว “วาระ” ใดที่ประชาชนผลักดันจนเริ่มได้รับความสนใจจากคนทั่วไป ก็มักถูกบิดผันให้ “วาระ” นั้นไม่ตรงกับปัญหาที่ประชาชนเผชิญอยู่ เช่น การใช้สารเคมีบางชนิดเป็นภัยต่อสุขภาพของคนอย่างร้ายแรง เมื่อ “วาระ” นี้เริ่มได้รับความสนใจในวงกว้างมากขึ้น กลุ่มอำนาจและทุนก็บิดผัน “วาระ” ให้เป็นเรื่องการหาอะไรที่ปลอดภัยเพื่อทดแทน หรือสินค้าที่ยังตกค้างในตลาด จนกระทั่งการห้ามนำเข้าสารเคมีที่อันตรายเหล่านั้นตกไป กลายเป็นเรื่องหาสารทดแทน หรือสินค้าตกค้างไปแทน “วาระ” ก็ยังอยู่ แต่ไร้ความหมาย

การที่ประชาชนไทยสร้าง “วาระ” ทางสังคมเองไม่ได้ ก็เพราะประชาชนไทยไม่มีช่องทางการสื่อสารกับสังคม ท่ามกลางเครื่องมือสื่อสารคมนาคมนั้น รัฐตั้งใจจะให้ประชาชนใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกันเอง จะนัดกินข้าวฟังเพลงที่ไหนก็สะดวก แต่ไม่จำเป็นต้องสื่อสารกับสังคม

เหตุดังนั้น กฎหมายที่ออกมาป้องกันมิให้นำเอาสื่อชนิดใหม่ทั้งหลายไปใช้ในทางฉ้อฉล เช่น ต้มตุ๋น หรือโฆษณาเกินจริง ฯลฯ กลับถูกนำมาตีความเพื่อให้คนไทยต้องเสี่ยงกับการสื่อสารกับสังคมอย่างหนัก เพราะอาจติดคุกได้ง่ายๆ

อันที่จริงในสังคมอื่นอีกหลายแห่ง สื่อชนิดใหม่ให้อำนาจแก่ประชาชนในการเข้ามามีบทบาทกำกับดูแลกิจการสาธารณะโดยตรงได้เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อำนาจเป็นของประชาชนในทางปฏิบัติมากกว่าลายลักษณ์อักษรในกฎหมายและหีบบัตรเลือกตั้ง แต่ในเมืองไทย นอกจากระงับการเลือกตั้งเพราะกล่าวหาว่าคนไทยเลือกตั้งคนชั่วไปปกครองบ้านเมือง แต่ในขณะเดียวกันก็ควบคุมการสื่อสารโดยตรงกับสังคมผ่านสื่อใหม่อย่างเข้มงวดมากขึ้น สรุปก็คือเลือกตั้งก็ไม่ได้ สื่อสารกับสังคมโดยตรงก็เสี่ยงภัยอย่างร้ายแรง

เฟซบุ๊กปลดปล่อยคนไทยจากการถูกรัฐควบคุมแทบทุกฝีก้าว แม้มีความพยายามจากฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะภายใต้รัฐประหารของกองทัพ ในการคอยตรวจตราสื่อโซเชียลอย่างเต็มที่ แต่ในทางปฏิบัติ ยากที่จะตรวจตราได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีส่วนเล็ดลอดได้เสมอ แม้แต่จีนซึ่งพัฒนาเครื่องมือการตรวจสอบขัดขวางมายาวนานก็ยังต้องปล่อยให้เล็ดลอดได้บ้าง ดังนั้น ในโลกที่เราต่างสร้างขึ้นเอง เราจึงได้เสพอิสรภาพ เสรีภาพ และความเท่าเทียม อย่างที่ไม่อาจหาได้จริงในโลกเมืองไทยข้างนอก

ผมไม่ทราบว่า อัตราเร่งของการใช้เฟซบุ๊กของคนไทยเพิ่มขึ้นหลัง 2557 มากน้อยเพียงไร แต่ผมออกจะเชื่อว่า คสช.สิ้นอำนาจเมื่อไร ถึงคนไทยจะใช้เฟซบุ๊กเพิ่มขึ้น ก็คงด้วยอัตราเร่งที่ไม่เท่ากับที่ผ่านมาแล้ว