บทวิเคราะห์ : คนกับจักรกล “การคุกคาม-ความช่วยเหลือ” ต่อชาติอาเซียน

เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วเหลือหลาย สร้างทั้งโอกาสใหม่ขึ้นมากมายแล้วก็ทำลายโอกาสเดิมที่เคยมีอยู่ดกดื่นตามไปด้วย คอมพิวเตอร์ทวีศักยภาพมากขึ้นทุกขณะ แทรกตัวเข้าไปอยู่ในทุกที่ทุกเวลามากขึ้นทุกทีในรูปของอุปกรณ์ใหม่ๆ มากมาย ทั้งสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และอุปกรณ์ติดตัวอื่นๆ

อินเตอร์เน็ตกับเครือข่ายไร้สายเสริมบทบาทให้คอมพิวเตอร์เหมือนเสือติดปีก เมื่อผสานเข้ากับปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ก็ทำให้การเปลี่ยนแปลงที่ก่อเกิดคำถามใหญ่โตขึ้นตามมา

สังคมตะวันตกที่รุดหน้าทางเทคโนโลยี เคยตั้งคำถามเดียวกันนี้เมื่อสองสามปีก่อน คำตอบมีแต่ยังไม่เบ็ดเสร็จ ทุกอย่างก็แพร่หลายเข้ามาถึงตัวคนไทย เมืองไทยและเพื่อนบ้านอาเซียนทั้งหลายแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ขณะที่เมืองไทยยังตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ยินวลี “ไทยแลนด์ 4.0” คนเวียดนามก็เริ่มตระหนักถึง “ดิจิตอล อีโคโนมี” ชาวอินโดนีเซีย-มาเลเซียเริ่มคุ้นเคยกับพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

คำถามก็เกิดขึ้นตามมาว่า เราทอดทิ้งใคร และอะไรไว้ข้างหลังบ้างหรือไม่?

โอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย สามารถทดแทนสิ่งเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยกันได้จริงหรือ?

ถ้าไม่ อะไรคือสิ่งที่เราต้องทำเพื่อบรรดาคนทั้งหลายที่ถูกเทคโนโลยีบดขยี้ทิ้งไปตามรายทางของการพัฒนา?

จะเอาแต่ตื่นเต้นยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วปล่อยให้เทคโนโลยีจูงจมูกไปเรื่อยๆ ย่อมไม่ได้เด็ดขาด

 

คําถามหลายอย่างนี้ผ่านเข้ามาในความคิดผมเมื่อได้รับรู้ผลงานศึกษาวิจัย 2 ชิ้นที่เผยแพร่ออกมาในห้วงสัปดาห์ที่แล้ว ชิ้นแรก เป็นงานสำรวจวิจัยของซิสโก บริษัทผู้ให้บริการด้านเครือข่ายคอมพิวเตอร์อเมริกันที่ทำร่วมกับออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ศึกษา “ผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ต่อแรงงานในอาเซียน 6” ที่หมายถึง 6 ชาติอาเซียนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเวลานี้

นิธิ ซิงห์ เขียนเรื่องนี้ไว้เมื่อ 15 กันยายน

อีกชิ้นเป็นผลการศึกษาวิจัยของเวิร์ลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม-ดับเบิลยูอีเอฟ ชื่อ “อนาคตของงาน 2018” เผยแพร่ออกมาเมื่อ 17 กันยายนที่ผ่านมา

สอดคล้องกับการจัดเวทีประชุมขึ้นที่กรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ที่เรียกว่างาน “เวิร์ลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ออน อาเซียน” ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

ในงานวิจัยชิ้นแรก บอกเอาไว้ว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้า คือในปี ค.ศ.2028 เทคโนโลยีดิจิตอลจะอำนวยให้เกิดโอกาส ซึ่งบรรดาเศรษฐกิจในอาเซียนสามารถใช้เพื่อเพิ่มพูนทั้งผลิตภาพและความรุ่งเรืองให้สูงขึ้นได้ ยิ่งมีการรับเอาเทคโนโลยีทั้งที่มีอยู่แล้วและที่ก้าวหน้ากว่า ใหม่กว่า อย่างปัญญาประดิษฐ์ ที่ใช้งานผ่านซอฟต์แวร์, ฮาร์ดแวร์และหุ่นยนต์ทั้งหลายมาใช้แพร่หลายมากเท่าใด ขีดความสามารถทางธุรกิจก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นเท่านั้น ภาคการผลิตจะเพิ่มขีดความสามารถขึ้นแข่งขันได้ในระดับสากล

เช่นเดียวกับศักยภาพในการสร้างสรรค์ ครึ่งหนึ่งของประชากรอาเซียนรวม 630 ล้านจะยังอยู่ในวัยไม่เกิน 30 ยิ่งทำให้ “อาเซียน 6” มีความได้เปรียบรออยู่ให้ฉกฉวย

แต่ใน “โอกาส” ที่เกิดขึ้น มี “ความท้าทาย” ด้วยเหตุที่ว่า เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาแทนที่การทำงานของแรงงานอาเซียนสูงถึง 28 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว

พูดอีกอย่างได้ว่า เพื่อให้ได้ผลผลิตในระดับเดียวกับที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ในอีก 10 ปีข้างหน้า อาเซียน 6 จำเป็นต้องใช้แรงงานน้อยลงกว่าทุกวันนี้ถึง 28 ล้านคน

เพราะ “ผลิตภาพ” หรือความสามารถในการผลิตสูงขึ้น “อย่างมีนัยสำคัญ”

 

ในงานวิจัยของดับเบิลยูอีเอฟ แสดงผลออกมาในทำนองเดียวกัน แม้จะเป็นการศึกษาในแง่ของภาพรวมทั่วโลกมากกว่าเจาะจงลงไปในภูมิภาคก็ตาม โดยชี้ให้เห็นว่า เพียงแค่อีก 7 ปีข้างหน้าเท่านั้น หุ่นยนต์ที่มีปัญญาประดิษฐ์เป็น “มันสมอง” จะเข้ามา “ทำงานประจำวัน” แทนที่คนเราได้สูงถึง 52 เปอร์เซ็นต์ของงานประจำวัน เพิ่มจาก 29 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

เอไอกับหุ่นยนต์จะสร้างโอกาสงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น 133 ล้านตำแหน่ง แต่จะทำให้ตำแหน่งงานเดิมหายไปสูงมากเช่นเดียวกันถึง 75 ล้านตำแหน่ง

สิ่งที่รายงานผลการศึกษาของซิสโก/ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ระบุไว้อีกอย่างก็คือ ทุกภาคธุรกิจล้วนถูกหุ่นยนต์และเทคโนโลยีเข้าทดแทนแรงงาน ตั้งแต่ 7 แสนตำแหน่ง เรื่อยไปจนถึง 1.8 ล้านตำแหน่ง แต่มีภาคเศรษฐกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้มากที่สุดคือ “ภาคการเกษตร”

เพราะงานในภาคเกษตรกรรมในอาเซียนจะหายไปในอีก 10 ปีข้างหน้ามากถึง 5.7 ล้านตำแหน่ง

นี่คือสาเหตุที่เวิร์ลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่เวียดนาม ถกเรื่องนี้กันมากเป็นพิเศษ เพื่อหาหนทางรับมือ

เหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เรียกร้องไว้ในคำกล่าวเปิดการประชุมว่า อาเซียนควรจัดทำ “ยุทธศาสตร์ร่วม” ที่เป็นปึกแผ่นและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อจัดการกับปัญหาใหญ่นี้

ก่อนที่ปัญหานี้จะสร้างช่องว่างทางสังคมที่นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพของสังคมและประเทศชาติในที่สุด