โลกเปลี่ยน ทุกสิ่งอย่างย่อมเปลี่ยนแปลง และ THAILAND BIENNALE, KRABI 2018

ไม่ทราบเหมือนกันว่าผู้รับผิดชอบจะคิดว่ามันเป็นปัญหาหรือไม่

แต่มันคือปัญหาที่กำลังคืบคลานเข้ามาสู่บ้านเมืองของเรา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระบบการศึกษาของประเทศ

คิดว่าคงทราบกันมาบ้างแล้วกับปัญหาของสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาว่า ขณะนี้ไม่มีนักศึกษาเข้าเรียนตามจำนวนที่เปิดรับ

ซึ่งไม่ได้แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่มีจำนวนคนเข้าศึกษาเล่าเรียนลดลง

สำหรับในบ้านเรามหาวิทยาลัยเอกชนจำนวนไม่น้อยต้องปิดตัวลง โดยเฉพาะในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทจำนวนนักศึกษาเข้าเรียนลดลงเป็นจำนวนมาก

ว่ากันว่าสาเหตุอาจสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ผู้คนมุ่งหน้าทำมาหากินมากกว่าจะมัวเสียเวลากับการเรียนหนังสือ

ว่ากันอีกว่าคงสืบเนื่องมาจากการเกิดของเด็กไทยใน 1 ปีไม่ถึง 1 ล้านคน

ผู้รู้ทางด้านการศึกษาบอก มหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยนเป็นแหล่งเรียนรู้ และการเรียนการสอนต้องตอบโจทย์ด้านแรงงาน

เพราะฉะนั้น หลักสูตรไหนที่มันไม่ตอบโจทย์ดังกล่าวมีคนเรียนน้อยควรปิดมันลงเสีย

ทราบมาอีกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐไม่น้อยแห่งขณะนี้เริ่มปิดคณะวิชาลง คงเหลือแต่คณะวิชาหลักๆ ที่จำเป็น

 

โรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล รัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง

โรงเรียนนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าได้ผลิตบุคลากรสู่สังคมมาแล้วจำนวนมาก ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2456)

แต่ปีการศึกษาที่ผ่านมาต้องเปิดรับนักศึกษาถึง 2-3 รอบเนื่องจากมีผู้สมัครเข้าเรียนน้อย

ซึ่งมันไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะก่อนหน้าต้องมีการสอบคัดเลือกแข่งขันกันตลอดมา

มีความรู้สึกว่าโลกมันเปลี่ยน เทคโนโลยีมันก้าวหน้ามากมายมหาศาล ระบบการคิด การศึกษาสำหรับผู้คนย่อมต้องเปลี่ยนแปลง

เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายที่รับผิดชอบการศึกษาของชาติ ตั้งแต่รัฐบาลลงมาจนกระทั่งถึงกระทรวงศึกษาธิการย่อมต้องขยับขยายแก้ไขแนวความคิดเพื่อปฏิรูป

หรือวางรากฐานการศึกษาให้มันสอดคล้องกับปัจจุบัน ด้วยความเหมาะสมกับงบประมาณซึ่งมาจากประชาชน

 

พูดถึงเรื่องการศึกษาทำให้นึกถึงองค์การมหาชนแห่งหนึ่งซึ่งยังคงเหลืออยู่หลังจากที่ก่อเกิดมาจากรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 คือ “สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา” (สมศ.) ดูเหมือนว่าจะมีหน้าที่รับผิดชอบตามชื่อสำนักงาน

เพียงแต่ว่าเท่าที่สนใจได้ติดตามผลงานมาอย่างต่อเนื่องมีความรู้สึกว่า สถานศึกษา สถาบันการศึกษาต่างๆ ไม่ค่อยจะศรัทธาเชื่อถือ หรือให้ความสำคัญเท่าที่ควร

ทั้งๆ ที่สามารถให้คุณให้โทษกับสถานศึกษาต่างๆ เหล่านั้นได้

องค์การมหาชนแห่งนี้ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ มีงบประมาณสนับสนุนจำนวนไม่น้อย แต่กลับไม่ค่อยจะมีบทบาทและผลงานเหมาะสมคุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี และประชาชนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก

ก่อนหน้านี้ “สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา” (สมศ.) มีข่าวร้องเรียนกันเกิด จนกระทั่งผู้อำนวยการคนก่อนถูกตั้งกรรมการสอบสวน แต่ก็สามารถผ่านไปได้ทั้งๆ ที่มันค่อนข้างคลุมเครือมากๆ

ขณะเดียวกันผู้ร้องเรียนซึ่งเป็นตำแหน่งรองลงมาในสำนักงานเดียวกันไม่สามารถปฏิบัติงานอะไรได้

จนกระทั่งผู้บริหารทั้ง 2 คนได้หมดเทอมต้องเกษียณอายุไป ขณะที่การบริหารงานขององค์การมหาชนแห่งนี้ปรากฏต่อสาธารณะในภาพที่ไม่สดสวยโปร่งใส

มีการผลัดเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงใหม่ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงภาพพจน์องค์การมหาชนแห่งนี้ให้เดินสู่ความเรืองรอง มีผลงานปรากฏ

กลับมีแต่เรื่องเรื่อยๆ มาเรียงๆ เช้าชามเย็นชามไม่แตกต่างกับสำนักงานซึ่งไร้มาตรฐาน จนทำให้เกิดความสงสัยกันทั่วไปว่า จะไปประเมินอะไรใครได้ เหมาะสมกับงบประมาณแผ่นดินหรือไม่?

ทำไมไม่สรรหาผู้นำองค์กรที่มีความสามารถมาขับเคลื่อน ทั้งๆ ที่ค่าตอบแทนการทำงานก็สูง

อยากตั้งคำถามด้วยความสงสัยว่า สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) แห่งนี้มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน?

เพราะถ้าหากไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ รัฐบาลปัจจุบันท่านมีดาบอาญาสิทธิ์อยู่ในมือ (ม.44) สามารถยุบทิ้งได้

ดีกว่าเที่ยวไปใช้อำนาจที่ว่านี้แบบผิดๆ ถูกๆ จนเกิดความเสียหายต้องนำเงินงบประมาณแผ่นดินไปชดใช้เยียวยา

 

มีเรื่องเล่าอีกเกี่ยวกับการศึกษาว่า ขณะนี้ต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนนิยมส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนในประเทศไทยกับโรงเรียนนานาชาติทางจังหวัดทางภาคเหนือ

เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าบ้านเขา ค่าเงินของเราเล็กกว่าของเขา ค่าครองชีพทั่วไปย่อมต้องน้อยกว่า

ซึ่งในที่สุดเส้นทางนี้ก็จะนำไปสู่การโยกย้ายการทำมาหากิน ย้ายถิ่นฐานเข้ามาเบียดแทรกในประเทศไทย

ซึ่งไม่แตกต่างไปจากชาวต่างชาติในเอเชียหลายชาติที่พยายามหาทางเข้ามาเป็นคนไทย ถือบัตรประชาชนไทยเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ และทำมาหากินในบ้านเรา โดยได้รับความร่วมมือช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ขายชาติทั้งหลาย

ทุกวันนี้ถ้าพี่น้องทราบตัวเลขการถือครองที่ดินของต่างชาติ ก็อาจเกิดความรู้สึกเป็นห่วงแทนลูกหลานของเรา

 

ปิดท้ายด้วยเรื่องความเปลี่ยนแปลงในวงการศิลปะร่วมสมัย ซึ่งก้าวหน้ามากมายเทียบกันไม่ได้กับการบ้านการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ยังไม่เป็นเรื่องเป็นราวในประเทศนี้ งานศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ต่างๆ มิได้หมายความว่าจะอยู่บนผืนผ้าใบ บนกระดาษ บนไม้ ฯลฯ เท่านั้น

งานปั้น จะไม่เป็นเพียงวัสดุเดิมๆ อีกต่อไป ภาพเขียน ผลงานจิตรกรรมมิใช่ใช้เพียงแค่ใส่กรอบแขวนตกแต่งแต่เพียงเท่านั้น งานศิลปะสามารถก่อเกิดได้ในทุกรูปแบบ ทุกสถานที่ ในหมู่บ้านย่านชุมชน ท้องทุ่งนา ด้วยการจัดวางเชื่อมโยงความรู้สึกร่วมเหมือนอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นในจังหวัดซึ่งมีธรรมชาติสวยงาม ท้องทะเลอันสะอาดสดใสที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี คือจังหวัด “กระบี่”

เรารู้จักมหกรรมศิลปะร่วมสมัยระดับโลก โดยเฉพาะ “นิทรรศการศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิสเบียนนาเล่” (Biennale Di Venezia) ประเทศอิตาลี (Italy) เป็นงานแสดงศิลปะอันเก่าแก่ ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทศกาลศิลปะที่มีขนาดใหญ่ และสำคัญที่สุดของโลก

เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1985 (2438) จนถึงวันนี้เป็นเวลา 123 ปี โดยจัดเป็นประจำทุก 2 ปี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จฯ ทอดพระเนตรมหกรรมศิลปะนี้ถึง 2 ครั้ง

พระองค์ทรงโปรดปรานฝีมือของ “กาลิเลโอ คินี” (Calileo Clini) ศิลปินชาวอิตาเลียน เป็นศิลปินในยุคศิลปะอาร์ต นูโว ทำงานชุดประวัติศาสตร์ศิลปะข้ามกาลเวลา จึงได้ติดต่อมาเขียนภาพ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งยังสวยงามทรงคุณค่าตราบกระทั่งปัจจุบัน

ประเทศญี่ปุ่นใช้งานศิลปะเข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจของเมืองในจังหวัดนิอิกะตะ โดยจัดงานนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยแบบจัดวางขึ้นทั้งเมือง ซึ่งสามารถพลิกฟื้นสภาพบ้านเมืองที่ผู้คนไม่อยากจะอยู่ได้คืนกลับมาสดใสมีชีวิตชีวา เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น โดยได้เริ่มจัดมาสิบกว่าปีแล้ว และจัดติดต่อกันเรื่อยมา

มหกรรมศิลปะทั้ง 2 แห่งที่กล่าวถึงน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้บ้านเราได้นำมาเป็นแบบอย่างในการใช้ศิลปะเข้ามาดำเนินการช่วยเผยแพร่ชื่อเสียง สรรค์สร้างการท่องเที่ยว เศรษฐกิจของประเทศ

 

สํานักวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับจังหวัดกระบี่ พร้อมเครือข่ายภาครัฐ เอกชนกว่า 30 องค์กร ศิลปินชาวไทยและนานาชาติได้ผนึกกำลังกันจัด “งานมหกรรมศิลปะนานาชาติระดับโลก” Thailand Biennale, Krabi 2018 ภายใต้แนวคิด Edge of the Wonderland หรือ “สุดขอบฟ้าแห่งดินแดนมหัศจรรย์” เชื่อมโยงสร้างสรรค์ ผู้คน ชุมชนกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้เป็นหนึ่งเดียวกันด้วยผลงานศิลปะ ที่สรรค์สร้างขึ้น โดยเฉพาะในแต่ละพื้นที่โดยมีศิลปินชื่อดังจากทั่วโลกประมาณ 70 คน 24 ประเทศเข้าร่วมด้วย

เป็นงานมหกรรมศิลปะนานาชาติระดับโลกครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งสำนักศิลปะร่วมสมัยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะจากต่างประเทศ ทั้งจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ ฯลฯ มาเป็นภัณฑารักษ์ และเป็นที่ปรึกษา ร่วมกับทีมงานศิลปินของไทย

สำหรับพื้นที่ในการสร้างสรรค์งานศิลปะของศิลปิน เป็นพื้นที่หลักๆ คือ อุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา อุทยานแห่งชาติ ธารโบกขรณี ท่าปอมคลองสองน้ำ เขาขนาบน้ำ และพื้นที่สาธารณะในตัวเมืองกระบี่

สำหรับศิลปินไทย มีอาทิ คามิน เลิศชัยประเสริฐ, ยุรี เกนสาคู, ดุษฎี ฮันตระกูล, ชูศักดิ์ ศรีขวัญ และ “ศิลปินแห่งชาติ” กมล ทัศนาญชลี (2540), วิโชค มุกดามณี (2555), ปัญญา วิจินธนสาร (2557) และ ศราวุธ ดวงจำปา (2560)

Thailand Biennale, Krabi 2018 “สุดขอบฟ้าแห่งดินแดนมหัศจรรย์ “จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561-28 กุมภาพันธ์ 2562

สนใจ “มหกรรมศิลปะ” ย่อมต้องติดตาม