อภิญญา ตะวันออก : คำสารภาพจากนักโทษ “คุกไร้ฝา”

หลุมดำอันมืดมิด

ต่อความรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจนั้นได้ติดค้างอยู่ในความสงสัย จนคราวหนึ่งฉันถึงกับถามนักเถรวาทศึกษาตะวันตกท่านหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นใช้ชีวิตหลังเกษียณเป็นอาจารย์พิเศษ วิทยาลัยพุทธศาสนาบัณฑิตแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ

ในคำถามนั้นมีอยู่ว่า ท่านเคยรู้สึกว้าเหว่กับการรอคอยที่ยาวนานและสิ้นหวังหรือไม่? และทำไมฉันจึงรู้สึกเหมือนว่า ยังตามหาครูบาอาจารย์คนนั้นไม่พบเลย?

ฉันถามเช่นนั้น เพราะรู้สึกถูกคุกคามจากเรื่องเล่าของท่านวันหนึ่ง ถึงเด็กหนุ่มคนนั้น ที่ออกตามหาอาจารย์ของตนในศรีลังกา และว่า ขณะที่เขาต้องใช้ความพยายามอย่างเบาหวิวเหลือทน (คำที่ฉันยืมจากมิลัน กุนเดอรา ในนิยายเล่มดังของเขา) และเพื่อจะทดสอบความอดทนดังกล่าว ในบางวัน เขาต้องยืนสงบนิ่งที่ประตูอยู่อย่างนั้น เพื่อเล่าเรียนศาสตร์แห่งความเพิกเฉย จากชายชราตัวงุ้มงอที่ไม่น่าจะเชื่อว่าเขาปรารถนาใคร่จะเป็นศิษย์ ซึ่งนั่นก็ใช่ว่าเขาจะได้รับความยินดีจากคุรุท้องถิ่นผู้ไม่ยินดียินร้ายคนนั้น

ช่างเป็นอาการตากหน้า ไม่ต่างจากการ “เปลี่ยนถ่าย” ของหนุ่มน้อยตะวันตกคนนั้น ซึ่งต่อมาเขาได้ถูกลอกคราบและกลายเป็นนักเถรวาทศึกษา

ตอนนั้นเองที่เกิดมิติว่างโหวงเข้ามารบกวนจิตใจ ความรู้สึกสูญเสียวัยเยาว์แบบนั้นไป โอ.. อย่างนั้นเองรึ ความรู้สึกของศิษย์น้อยคนหนึ่งที่ออกตามหาใครคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเสมือนจิตวิญญาณแห่งความอบอุ่นที่ถูกเติมเต็ม

พลันคำตอบของท่านก็ผ่านเข้ามาในภวังค์ “หรือบางที เรากำลังถูกทดสอบศาสตร์แห่งความเพิกเฉยนั่น?”

 

นั่นเอง ความคิดแบบภวังค์ครั้งแรก ขณะกลับมาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ อีกครั้ง ก่อนที่ภวังค์ดังกล่าวจะถูกกลืนหายไปในอีกสิบปีต่อมา และเกินจะกล่าวว่า มันเป็นภาวะที่คล้ายกับคำสารภาพที่เกิดจากการอ่านตำราของนักมานุษยวิทยาหลายคนที่ฉันสนใจ

แต่ทว่าเนื้อหาของงานดังกล่าวกลับถูกเติมเต็มจากการมาเยือนของนักศึกษาเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในเขตที่ราบสูงของจังหวัดรัตนคีรี-ตะวันออกเฉียงเหนือกัมพูชาที่มีพรมแดนติดกับเวียดนามและ สปป.ลาว

สารภาพ ได้กลับมาพบ “ผู้มีกำลังต้านทาน” (ironside) ไม่กี่ชั่วโมงในกรุงเทพฯ ในเดือนที่ฝนมักจะตกโครมตอนหัวค่ำ และการสื่อสารที่ผ่านทางอีเมลไปมา (ซึ่งกลายเป็นสิ่งอันเกือบจะล้าหลังไปแล้วของคนในยุคนี้) และฉันก็รู้สึกเหมือนว่าตัวเองได้กลายเป็นชนกลุ่มน้อยไปแล้วสิ

ช่างเป็นช่วงเวลาที่น่าขบขัน ที่พบว่าฉันเคยเจ่าจมอยู่ในโลกหลอนของความเพิกเฉย และนั่นเองที่ทำให้ฉันห่างไกลจากโลกออนไลน์รวมทั้งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ประหนึ่งแบบทดสอบของความเพิกเฉย

แต่ในที่สุด ความหลงใหลในการอ่านงานหมวดมานุษยวิทยานั่นเองที่พาฉันตื่นจากภวังค์

อา.. บางอย่างนั่นเองที่ฉันรำลึกว่าที่รัตนคีรี ในโอกาสที่ฉันบังเอิญรู้จักคนหนุ่มผู้ฝังจิตวิญญาณกับการแสวงหาอย่างบ้าคลั่ง

อา.. พวกเขาคงเรียนรู้อย่างแรงกล้าจากบันดาลใจที่รุ่มรวยและมากล้น ในจำนวนนี้ นอกจากอิออนไซด์แล้ว ก็ยังมีพี่น้องเยอรมันและอาจารย์อีก 3 คน

นั่นคือ ในราวปี พ.ศ.2540/1997 ที่รัตนคีรียังเต็มไปด้วยความเรียบง่าย ธรรมชาติ ฤดูกาล ทัศนียภาพ ผู้คนท้องถิ่นพื้นฐานที่แทบจะไร้การปรุงแต่ง

โดยนัยที สำหรับนักมานุษยวิทยาสมัครเล่น (โดยที่ฉันเองที่เรียกเช่นนั้น) พวกเขากำลังอยู่ในดินแดนแห่งความเดียงสา ก่อนที่มันจะถูกทำลายโดยภัยคุกคามจากด่านการค้า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และนักการเมืองฉ้อฉล

ในที่สุดความเดียงสาธรรมชาติของรัตนคีรีก็ถูกทำลายอย่างป่นปี้ พร้อมๆ กับช่วงเวลาที่นักสำรวจหนุ่มผู้เดียงสากลุ่มนั้นได้ใช้ชีวิตอย่างทุ่มเทในอีกหลายปีต่อมา รวมทั้งพี่น้องเยอรมันที่ทันทีสำเร็จอุดมศึกษา พวกเขาก็กลับมาที่นี่โดยทันที อย่างไม่ยี่หระ ชีวิตในปริมณฑลของความสุขสบายในประเทศบ้านเกิด

แลนั่นเอง ที่ฉันกำลังอธิบายว่ามันคืออะไร สำหรับสายพันธุ์มานุษยวิทยาของนักแสวงหาพวกหนึ่ง ซึ่งเริ่มเรียนรู้วิธีที่จะไม่ “ครองเรือน”

พลันภาพของความว่างเปล่าของสำนักงานอิออนไซด์ในรัตนคีรีก็กลับเข้ามาในภวังค์ นั่นคือ บ้านไม้ทรงเขมรที่ผสมผสานไว้ด้วยสถาปัตยกรรมแบบลาวและเขมร แต่ดูเหมือนอิออนไซด์-ในฐานะผู้มีกำลังต้านทานต่อความสุขสบายทั้งปวง

โดยอาศัยความช่วยเหลือของสหายจรายที่รักและเชื่อมั่นในตัวอิออนไซด์ พวกเขาได้ปลูกกระท่อมไม้ไผ่หลังหนึ่ง (ซึ่งคงผุพังไปนานแล้ว) แต่มันกลับทำให้ฉันเห็นภาพ ถึงแบบจำลองทางมานุษยวิทยาของชาวจราย (ตุมปวนและกลึง) ตามที่อิออนไซด์ได้ทำหน้าที่วิจัยอย่างเงียบงัน

พลันปฏิกิริยาอันมั่นคงทางอารมณ์ของฉันก็กลับคืนมาอย่างช้าๆ และใคร่ครวญ ราวกับการผูกโยงในเรื่องราวว่าด้วยหมวดวิชาชีพของนักวิจัยอันเงียบงันกลุ่มนี้ ได้ปลุกพลังชีวิตที่หลับใหลของฉัน

และนั่น ที่ทำให้การอ่านอย่างคงมั่นของฉันกลับมา ด้วยภาวะทางจิตที่รื่นรมย์ สำหรับหัวข้อวิจัยเก่าๆ ของหมวดวิชาชีพนี้ ที่ช่างรุ่มรวยไปด้วยรายละเอียดอันมีต่อชนกลุ่มน้อยในกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ที่น่าดึงดูดใจ จนเกือบจะ “ลอกคราบ” ชีวิตของอิออนไซด์ พี่น้องเยอรมันและคนอื่นๆ

อันที่จริง พี่น้องทั้งสอง คนหนึ่งได้ตัดสินใจไปตั้งรกรากใน สปป.ลาว ส่วนน้องชายซึ่งสมรสกับหญิงชาวเขมรและมีบุตรด้วยกัน 2 คนได้อพยพกลับไปเยอรมนี ก่อนที่เขาอาจจะกลับไป ณ เขตใดเขตหนึ่งของประเทศลาว พวกเขารวมทั้งสหายอีกคนหนึ่งได้สาบสูญไปจากการรับรู้ของฉัน ในหนสุดท้าย พวกเขาได้ผจญอยู่กับไข้ป่ามาลาเรีย และบางครั้งก็กัญชา (สำหรับช่วงเวลาของวัยหนุ่ม)

บัดนี้ พวกเขาได้แก่ตัวลงไปตามกาล ทว่ายังคงลักษณะของไมตรีในดวงตาและรอยยิ้ม ที่ “ดั้งเดิม” แบบชนกลุ่มน้อย ราวกับรูปลักษณ์ภายในและนอกไม่อาจถูกทำลายด้วยกาลเวลา

อย่างไรก็ตาม ในการอ่านงานวิจัยสายมนุษยวิทยาของชนกลุ่มน้อยบริเวณรอยต่อส่วนนี้ พวกคนหนุ่มรัตนคีรีที่บุกเบิกกลุ่มนั้นได้กลายมาเป็น “เครื่องเคียงแห่งภาวะภวังค์” ของฉัน ต่อบรรดางานเขียนหมวดทั้งหมดที่ฉันเคยประสบพบพาน

เป็นตอนหนึ่งของภวังค์ความคิดที่ถูกบันทึกอย่างเท่าทัน ก่อนที่มันจะจางหาย

 

ต่อจากนี้ เป็นเรื่องของ “ironside” (ผู้มีกำลังต้านทาน)

โดยนัยที ฉันอาจจะพอทราบว่า เขามักจะปฏิเสธที่จะอยู่เฉียดเขตคามของสิ่งอันเกิดจากวิถีอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ฟาสต์ฟู้ดและอื่นๆ ซึ่งแทบไม่ต้องทบทวนเลยสำหรับชีวิตประจำวันของฉันซึ่งอาศัยมันอย่างเคยชิน

อย่ากระนั้น ในแง่งามด้านลึกของฝ่ายอิออนไซด์ นี่คือส่วนหนึ่งของการดูด ผลาญ บริโภคและเขมือบเอาพลังงานอย่างสิ้นเปลืองในเขื่อนต่างๆ ที่ผลิตไฟฟ้าในประเทศลาว (และไทย) และมันคือหลุมดำขนาดยักษ์ที่ดูดเอาพลังงานจลจากเขตอันยากไร้ไปยังเขตพัฒนาแบบเศรษฐกิจใหม่

โอ ท่าจะบ้าไปแล้วกระมัง หากสมองจะขบคิดเช่นนั้น ขณะที่กำลังเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

พลันสมองของฉันก็ตกอยู่ในภวังค์

และเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมฉันจึงร้าวใจต่อการสูญเสียอย่างมหาศาลในเขตลาวใต้ ภัยพิบัติจากกรณีเขื่อนแตกที่รุนแรงที่สุด มิใช่แต่ในอัตตะปือเท่านั้น แต่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยจำนวนมาก จนอาจจะกล่าวว่าเป็นความสูญเสียที่นักมานุษยวิทยาไม่อาจประเมินค่า

และการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ซึ่งใช่แต่มนุษย์และภูมิศาสตร์กายภาพ แต่ยังรวมด้วยหมู่สัตว์สปีชีส์ที่ถือเป็นความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพอื่นๆ ของที่ราบสูงตอนล่างแม่น้ำโขงที่มีคุณลักษณะอันพิเศษ

ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมในเชิงพฤตินัย ผู้มีกำลังต้านทานและผองเพื่อน จึงปฏิเสธที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกระแสทุนนิยมทั้งหมด

แม้แต่การใช้ร่างกายเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าที่ทันสมัยในสายตาของฉัน ซึ่งสำหรับ “ผู้มีกำลังต้านทาน” (ironside) “นี่คือหลุมดำแห่งความมืดมิด”

 

พลันฉันก็ตื่นจากภวังค์ในความหมายของคำว่า “ผู้มีกำลังต้านทาน” อย่างมั่นคง-รอคอยต่อสิ่งที่ผู้คน “เพิกเฉย” โดยไม่ท้อถอย

แม้จะเจ็บปวด และไม่มีโอกาสจะพบพานต่อครูบาอาจารย์อีกแล้ว