สุจิตต์ วงษ์เทศ / เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? เพลงไทยเดิม ไม่เป็นต้นกำเนิดเพลงลูกทุ่ง

วงมโหรีเครื่องใหญ่ ดนตรีไทยแบบฉบับ ร้องเพลงไทยเดิม ไม่เป็นต้นกำเนิดเพลงลูกทุ่ง (ภาพเก่าจากหนังสือ ตำนานมโหรีปี่พาทย์ พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2482)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน?

เพลงไทยเดิม

ไม่เป็นต้นกำเนิดเพลงลูกทุ่ง

 

พลงลูกทุ่ง เป็นสินค้าชนิดหนึ่งประเภทเพลงไทยสากลในกระแสป๊อปที่ผลิตในเมือง โดยมีตลาดอยู่ในเมืองและชนบท มีลักษณะสำคัญ เช่น

(1.) มีกำเนิดในเมือง (2.) ผลิตโดยสามัญชนในเมืองตามประเพณีหลวง (3.) สื่อข่าวสารของเมืองสู่ชนบท (4.) สื่อสภาพชนบทเข้าสู่เมืองและสู่ชนบทอื่นๆ ด้วยกันเอง (5.) ผู้ผลิตเพลงลูกทุ่งในเมืองดูดกลืนการละเล่นพื้นบ้านพื้นเมืองตามประเพณีราษฎร์เป็นของตน แล้วดัดแปลงปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างสรรค์เพลงลูกทุ่งเป็นสินค้าต่อไป

[ปรับปรุงมาเรียบเรียงใหม่จากบทความเรื่อง “เพลงลูกทุ่ง ในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย” ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 6 (เมษายน) พ.ศ.2528]

 

ไทยเดิม, พื้นบ้านพื้นเมือง

 

เพลงลูกทุ่ง โดยทั่วไปเชื่ออย่างง่ายๆ กว้างๆ ว่ามีกำเนิดจากเพลงไทยเดิม หรือเพลงพื้นบ้านพื้นเมือง (ใครไม่เชื่อตามนี้จะถูกตำหนิติเตียนรุนแรงถึงขั้นด่าทอจากแฟนพันธุ์แท้คอเพลงลูกทุ่ง ผมเคยโดนแล้ว)

ที่เชื่ออย่างนั้นมีเหตุจากผู้ผลิตเพลงลูกทุ่งซึ่งเป็นสามัญชนในเมือง ต่างดูดกลืนซึมซับรับการละเล่นพื้นบ้านพื้นเมืองตามประเพณีราษฎร์เป็นของตน เพื่อดัดแปลงปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างสรรค์เพลงลูกทุ่งเป็นสินค้าบันเทิง ผู้ศึกษาค้นคว้ากลุ่มแรกๆ เลยเหมารวมว่าเพลงลูกทุ่งมีกำเนิดจากเพลงไทยเดิมหรือเพลงพื้นบ้านพื้นเมือง

ตามหลักฐานแท้จริง กำเนิดเพลงลูกทุ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องเพลงไทยเดิม หรือเพลงพื้นบ้านพื้นเมือง แต่มีพัฒนาการจากวัฒนธรรมป๊อปของฝรั่งล้วนๆ ที่เรียกเพลงไทยสากล ประเภท “เพลงชีวิต” ตั้งแต่ราว พ.ศ.2480 (ยังไม่แยกชื่อเพลงลูกทุ่ง เพลงลูกกรุง)

 

ปฏิปักษ์เพลงไทยสากลในป๊อป

 

เพลงไทยเดิม เป็นสมบัติของคนชั้นนำ (ผู้ดีกระฎุมพี) กับกลุ่มผู้ผูกพันภักดีต่อคนชั้นนำ ซึ่งล้วนร่วมกันตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรมป๊อปที่มีเพลงไทยสากลเป็นพลังนำ

พลังวัฒนธรรมป๊อปแพร่กระจายกว้างขวางในไทย เมื่อเรือน พ.ศ.2470 ราว 90 ปีมาแล้ว สมัย ร.7 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง (วิทยุของกรมไปรษณีย์ ออกอากาศครั้งแรก พ.ศ.2471 สถานีวิทยุกรุงเทพฯ พญาไท ออกอากาศครั้งแรก พ.ศ.2473 เป็นสถานีวิทยุแห่งแรกของไทย)

ก่อนหน้านั้นเพลงมโหรี, ปี่พาทย์, เครื่องสาย เรียก “เพลงไทย” (ไม่มีคำว่า “เดิม”) ครั้นหลังจากมี “เพลงไทยสากล” (ในวัฒนธรรมป๊อป) ก็แยกตนออกต่างหากอย่างยกตนว่า “เพลงไทยเดิม” แล้วหวงแหนและผูกขาดมาตรฐานความเป็นไทยไว้แต่ฝ่ายเดียวว่าสูงส่ง (หรือ “คลาสสิค”) กว่าเพลงอย่างอื่น

[ได้แนวคิดจากบทความเรื่อง “ดนตรีไทยในวัฒนธรรมป๊อป” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 12-18 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 หน้า 20-21 และข้อเขียนเกี่ยวกับปัญหาภายในที่ทำให้ดนตรีไทยเสื่อมสูญ ของจิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ.2497) พิมพ์ซ้ำใน ศิลปวัฒนธรรม เมษายน พ.ศ.2547 หน้า 88-99]

ลักษณะปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรมป๊อป มีประจักษ์พยานเป็นตัวอย่างสำคัญ ได้แก่ ดนตรีไทยทางโทรทัศน์รายการหนึ่งราว 50 ปีมาแล้ว ตั้งวงแบบสากล มีตั่งรองเครื่องดนตรีไทยเป็นอย่างๆ ไป ส่วนนักดนตรีไทยบรรเลงโดยนั่งเก้าอี้ และนักร้องหญิงชายยืนร้องกับไมโครโฟนตั้ง โดยร้องเพลงแต่งใหม่แบบ “เพลงเนื้อเต็ม” หรือ “ร้องเนื้อเต็ม” (กรณีร้องเนื้อเก่าตามประเพณี ก็นั่งพับเพียบบนตั่งที่เตรียมไว้)

มีคนดูจำนวนไม่น้อยชื่นชมชื่นชอบแล้วติดตามประจำ จนเป็นที่กล่าวขวัญสนั่นเมือง ซึ่งรวมผมด้วยคนหนึ่ง

แต่ออนแอร์ไม่นานก็ถูกคนชั้นนำกับกลุ่มผู้ผูกพันใกล้ชิดคนชั้นนำ รวมหัวต่อต้านก่นด่าสารพัด แสดงอาการเป็นปฏิปักษ์ต่อรายการดนตรีไทยทางโทรทัศน์อย่างนี้

ทั้งหมดเป็นหลักฐานสนับสนุนว่าเพลงลูกทุ่งไม่มาจากเพลงไทยเดิมและเพลงพื้นบ้านพื้นเมือง แต่คนแต่งเพลงสมัยต่อมาดูดกลืนเอาบางส่วนของเพลงไทยเดิมกับเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองไปสร้างสรรค์เป็นเพลงไทยสากล ก่อนแยกเป็นเพลงลูกทุ่ง

 

เพลงไทยเดิม

 

ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าเพลงไทยเดิม หรือเพลงดนตรีไทยแบบฉบับ มีต่างกัน 2 แบบ ได้แก่ แบบร้องเนื้อเต็ม กับแบบร้องเอื้อนมากลากยาว

ร้องเนื้อเต็ม มีกำเนิดสมัยอยุธยา (หรือก่อนหน้านั้น คือก่อนสมัยอยุธยา) แต่คนชั้นนำสมัยนี้ไม่ยกย่อง

ร้องเนื้อเต็มสมัยอยุธยามีอย่างน้อย 2 ระดับ ได้แก่ ร้องแบบหลวง และร้องแบบราษฎร์

ร้องแบบหลวง รู้จักทั่วไปว่าร้องมโหรี เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ร้องเนื้อเต็ม” หมายถึงร้องกับบรรเลงทำนองดนตรีเคล้าคลอไปพร้อมกัน (เหมือนเพลงสากลร่วมสมัยทุกวันนี้) มีในบทมโหรีกรุงเก่า เช่น ร้องนางนาค, ร้องพระทอง, ร้องเหรา, ร้องน้ำลอดใต้ทราย ฯลฯ

ร้องแบบราษฎร์ หมายถึง เพลงร้องเล่นของชาวบ้านชาวเมือง แม้ไม่เรียก “ร้องเนื้อเต็ม” แต่ทุกอย่างทำแบบ “ร้องเนื้อเต็ม” โดยไม่มีเครื่องบรรเลงแบบหลวง หากมีเพียงกลอง (เรียกโทน) กับตีเกราะเคาะไม้ (คล้ายโกร่งกรับ) เช่น เจ้าการะเกด, แม่สี, นางแมว, เทพทอง เป็นต้น

ร้องเอื้อนมากลากยาว มีกำเนิดสมัย ร.4, ร.5 กรุงรัตนโกสินทร์ บางทีเรียกว่าร้องเพลงเถา เป็นลักษณะร้องกับบรรเลงดนตรีสลับกันคนละทีในความช้าเร็วต่างกัน คนร้องต้องนั่งพับเพียบ (เสมือนอยู่ต่อหน้าเจ้านาย) ซึ่งเป็นประเพณีประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ สมัย ร.4, ร.5

คนชั้นนำยกย่องเป็นแบบฉบับร้องเพลงดนตรีไทย แล้วบังคับเรียนตามนี้ โดยเน้นอุดมคติเป็นปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรมป๊อป