จักรวรรดิในกำแพง : ใต้หล้ารวมกันแล้วแยกกัน ตอนที่ 8 “ปิดฉากสามรัฐสู่รัฐจิ้น”

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ยุคสามรัฐ (ต่อ)

รัฐอู๋

ในช่วงที่ซือหม่าเอี๋ยนยึดอำนาจรัฐเว่ยแล้วสถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นใน ค.ศ.265 นั้น รัฐอู๋ยังคงตั้งอยู่ได้ โดยภายหลังจากที่ซุนเฉีว์ยนเสียชีวิตใน ค.ศ.252 แล้ว รัฐอู๋ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการแก่งแย่งอำนาจในหมู่พี่น้องตระกูลซุน

ซึ่งผู้นำสูงสุดคนท้ายๆ ของรัฐอู๋คือ ซุนซิว (ค.ศ.235-264) บุตรของซุนเฉีว์ยนที่เกิดจากสนมที่ขึ้นมาเป็นผู้นำใน ค.ศ.258 แต่หลังจากที่รู้ข่าวการล่มสลายของรัฐสู่ใน ค.ศ.263 แล้ว ซุนซิวก็ป่วยหนักจนเสียชีวิตใน ค.ศ.264

ผู้ที่ขึ้นมาสืบอำนาจต่อคือ ซุนเฮ่า (ค.ศ.242-284) หลานของซุนเฉีว์ยน ซุนเฮ่าเป็นผู้มีความสามารถ แต่ไร้ความรับผิดชอบในการปกครองไม่ใส่ใจในกิจการบ้านเมือง

ตราบจน ค.ศ.280 ทัพจิ้นก็กรีธาเข้าตีจนรัฐอู๋ยอมจำนน และเมื่อทัพจิ้นบุกถึงเจี้ยนคังอันเป็นเมืองหลวงของรัฐอู๋ ที่ปัจจุบันคือเมืองหนันจิงแล้ว ทหารจิ้นก็ทำการควบคุมตัวของซุนเฮ่าไปยังเมืองหลวงลว่อหยาง

 

ในยามที่มีความมั่นคงภายใน รัฐอู๋ได้สร้างความเจริญเอาไว้ไม่น้อย เช่น การขยายระบบชลประทานขึ้นในพื้นที่ที่ปัจจุบันคือเจ้อเจียง ทั้งยังได้เผยแผ่วิทยาการการผลิตไปยังพื้นที่ทางตอนเหนือลงมายังตอนล่างของแม่น้ำหยังจื่อ เพื่อให้พื้นที่เหล่านี้ได้รับการพัฒนาอีกด้วย

แต่ที่ดูโดดเด่นก็คือ การสร้างความสัมพันธ์กับโลกภายนอก ที่กล่าวกันว่า รัฐอู๋กระตือรือร้นและมานะพยายามอย่างมาก บัญชาให้ขุนนางและขุนศึกสองคนนำกองเรือที่มีทหารราว 10,000 นายไปยังอี๋โจวใน ค.ศ.230 ซึ่งปัจจุบันคือเกาะไต้หวัน และอีกสามปีต่อมาก็ยังมีกองเรือเดินทางไปยังรัฐต่างๆ ในแถบเหลียวตง ในแถบนี้ได้มีการนำม้าพันธุ์ดีกลับมาด้วยจำนวนหนึ่ง

นอกจากนี้ ซุนเฉีว์ยนยังได้ตั้งให้ขุนนางสองคนไปเป็นทูตยังรัฐต่างๆ แถบทะเลจีนใต้อีกด้วย และเมื่อกลับมายังรัฐอู๋แล้ว ทูตทั้งสองก็ได้เขียนบันทึกเรื่องราวการเดินทางของตนขึ้น ส่วนหนึ่งของบันทึกทำให้รู้ว่า เวลานั้นได้มีพ่อค้าชาวโรมันเดินทางมาค้าขายกับรัฐอู๋โดยใช้ทะเลจีนใต้เป็นทางผ่าน

โดยพ่อค้าบางคนยังได้พำนักอยู่ที่รัฐอู๋ยาวนานเจ็ดถึงแปดปีอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ค.ศ.280 ที่ทัพของราชวงศ์จิ้นบุกเข้าตีรัฐอู๋จนล่มสลายก็คือหลักหมายของการสิ้นสุดลงของยุคสามรัฐ ภายหลังจากนี้จีนจึงหวนกลับมาเป็นเอกภาพอีกครั้งหนึ่งโดยมีราชวงศ์จิ้น (ค.ศ.265-420) เป็นผู้ปกครอง

แต่กระนั้น เอกภาพครั้งนี้ก็ไร้เสถียรภาพอย่างยิ่ง ที่เป็นเช่นนี้มีที่มาจากการบ่มเพาะอำนาจของบรรดาขุนศึกจากที่ผ่านมาหลายสิบปี เมื่ออำนาจนั้นเติบโตได้ในระดับหนึ่ง ขุนศึกเหล่านี้ก็ตั้งตนเป็นใหญ่ไม่ต่างกับยุคสามรัฐ และราชวงศ์จิ้นก็มิใช่ข้อยกเว้น เพราะภูมิหลังของจิ้นที่มาจากตระกูลซือหม่านั้นก็มาจากขุนศึกเช่นกัน

ถึงที่สุดแล้ว จิ้นที่เป็นราชวงศ์ใหม่นี้ยังคงดำรงอยู่ท่ามกลางขุนศึกอื่นๆ ดังเดิม โดยเฉพาะขุนศึกที่เติบโตมาจากชนชาติที่มิใช่ฮั่น

 

จิ้นตะวันตกกับการล่มสลาย

การเกิดขึ้นของราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ค.ศ.265-317) หรือจิ้นสมัยแรกนี้ มีที่พึงสังเกตด้วยว่า การที่ประวัติศาสตร์ระบุปีที่ตั้งราชวงศ์นี้เป็น ค.ศ.265 ในขณะที่รัฐอู๋ในยุคสามรัฐยังดำรงอยู่นั้นเป็นวิธีนับอายุราชวงศ์แบบหนึ่ง

ซึ่งการนับแบบนี้จะยึดเอาเสถียรภาพของราชวงศ์เป็นที่ตั้ง คือหากตั้งแล้ว (ซึ่งใครก็ตั้งกันได้) แต่กลับอยู่ได้ไม่นานก็ล่มสลาย เช่นนี้ย่อมมิอาจจัดให้ราชวงศ์นี้เข้าไปอยู่ในสารบบได้ ในกรณีนี้ถือว่าราชวงศ์จิ้นเมื่อตั้งขึ้นแล้วมีความมั่นคง การดำรงอยู่ของรัฐอู๋ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของจิ้นไม่มากเท่าที่จิ้นส่งผลต่อรัฐอู๋

ดังนั้น การตั้งอยู่ของรัฐอู๋จึงไม่มีความหมายต่อเอกภาพที่เกิดขึ้นใหม่ภายใต้การนำของจิ้น ถึงแม้จิ้นจะใช้เวลานานถึง 15 ปีกว่าจะโค่นล้มอู๋ได้ก็ตาม

ตัวอย่างในปัจจุบันที่อาจเทียบเคียงกับการนับอายุของราชวงศ์จิ้นได้ก็คือ กรณีไต้หวัน ซึ่งการที่ไต้หวันตั้งอยู่ได้โดยที่จีนแผ่นดินใหญ่ (จีนคอมมิวนิสต์) อ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนนั้น ย่อมไม่มีผลต่อเอกภาพของจีนหลังสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ.1949

ถึงแม้ทุกวันนี้ไต้หวันจะตั้งอย่างท้าทายจีนแผ่นดินใหญ่มาเกือบ 80 ปีแล้วก็ตาม

ซึ่งห่างกันอย่างมากกับรัฐอู๋ที่ตั้งอยู่ได้ 15 ปีก็ถูกจิ้นโค่นล้ม ดังนั้น ไม่ว่าไต้หวันจะตั้งอยู่ได้ยาวนานเพียงใดก็ตาม เอกภาพของจีนแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบันย่อมเริ่มนับตั้งแต่ ค.ศ.1949 ถึงแม้จะมิใช่เอกภาพที่สมบูรณ์ (เพราะยังรวมไต้หวันไม่ได้) ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม จิ้นเป็นราชวงศ์ที่เกิดขึ้นจากบุคคลในสกุลซือหม่าแย่งชิงอำนาจของสกุลเฉาแห่งรัฐเว่ย และเมื่อตั้งราชวงศ์ขึ้นมาจิ้นก็สงบอยู่ได้เพียงระยะหนึ่ง จากนั้นจึงเกิดการแย่งชิงอำนาจภายในราชสำนักกันขึ้น ซ้ำร้ายในระหว่างนั้นบรรดาขุนศึกชนชาติอื่นก็ยังตั้งตนเป็นใหญ่อีกด้วย

จิ้นจึงไร้เสถียรภาพอย่างมาก

 

จากเหตุนี้ เรื่องราวของจิ้นจึงถูกบอกเล่าควบคู่ไปกับความไร้เสถียรภาพที่เกิดแก่จิ้นเอง ภาวะที่ไร้เสถียรภาพนี้จึงมีที่มาสองทาง

ทางหนึ่ง มาจากการความขัดแย้งภายในราชวงศ์

อีกทางหนึ่ง มาจากชนชาติอื่นที่มีอยู่ห้าชนชาติหลักด้วยกัน ชนชาติเหล่านี้นอกจากจะเป็นปฏิปักษ์ทั้งกับจิ้นแล้วก็ยังเป็นปฏิปักษ์กันเองอีกด้วย

จากเหตุที่กล่าวมา การศึกษาในประเด็นนี้จึงเป็นไปโดยกล่าวถึงจิ้นสมัยแรกและภาวะไร้เสถียรภาพควบคู่กันไป โดยจะแยกภาวะไร้เสถียรภาพที่มาจากชนชาติอื่นเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้โดยพึงระลึกอยู่เสมอว่า ที่กล่าวแยกนี้จิ้นยังคงอยู่ และคงอยู่ต่อไปแม้จิ้นสมัยแรกจะล่มสลายไปแล้วก็ตาม

ข้อพึงระลึกในประการต่อมาคือ ทั้งจิ้น กลุ่มอำนาจ หรือชนชาติใดที่ต่างขัดแย้งระหว่างกันนั้น ล้วนแล้วแต่มีภูมิหลังที่เป็นขุนศึกโดยส่วนใหญ่

การเมืองตลอดห้วงนี้หรือห้วงต่อๆ ไปจึงเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ของลัทธิราชเสนาวงศ์นิยม

 

วิกฤตในราชสำนักจิ้น

หลังจากที่ซือหม่าเอี๋ยนโค่นอำนาจของสกุลเฉาแห่งรัฐเว่ยแล้วก็ตั้งราชวงศ์จิ้นขึ้น โดยมีตนเป็นจักรพรรดิองค์แรกมีพระนามว่า จิ้นอู่ตี้ (ครองราชย์ ค.ศ.266-290) กล่าวโดยรวมแล้วการปกครองของจิ้นอู่ตี้ได้ทำให้จีนสงบลงอย่างมาก ทั้งนี้ มาจากนโยบายที่ผ่อนคลายในหลายเรื่องที่สำคัญ เช่น ผ่อนคลายต่อผู้อพยพด้วยการยกเว้นการใช้แรงงานเกณฑ์ เป็นต้น

แต่ก็มีนโยบายเชิงบังคับให้ชายหญิงที่มีอายุถึงเกณฑ์แต่งงานให้แต่งงาน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรที่ลดลงอย่างมากจากสงครามกลางเมือง

นโยบายนี้ได้ผลไม่น้อย ด้วยพอเวลาผ่านไปประมาณ 15 ปีนับจาก ค.ศ.266 ที่ทรงครองราชย์ ประชากรที่อยู่ทางภาคเหนือที่เป็นเขตอำนาจของจิ้นก็เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 เรื่องนี้ถือเป็นตัวชี้วัดถึงความมั่นคงของสังคมขณะนั้นได้เป็นอย่างดี ส่วนผู้อพยพที่เป็นชนชาติอื่นที่เคยเข้ามาแย่งที่ทำกินของชาวจีนนั้น มาในยุคนี้ก็ถูกขับออกไปยังถิ่นที่ด้อยความเจริญ

พ้นจากนโยบายที่ส่งผลดีเหล่านี้แล้ว ที่เหลือจะเป็นนโยบายทางการเมืองเพื่อความมั่นคงของราชวงศ์

นโยบายทางการเมืองที่จิ้นอู่ตี้ทรงใช้นั้น เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ต้องการจะหลีกเลี่ยงปัญหาการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มต่างๆ ดังที่ผ่านมา พระองค์จึงส่งเจ้าชายในสกุลซือหม่าไปปกครองยังรัฐใหญ่น้อยในท้องถิ่นต่างๆ พร้อมกับราษฎร กำลังพล และอำนาจในการปกครอง

พระองค์ทรงเชื่อว่า ด้วยวิธีนี้จะทำให้เจ้าชายในสกุลพึงพอใจและจะไม่ก่อการแย่งชิงอำนาจในภายหลัง ผลคือ มีเจ้าชายที่ถูกส่งไปปกครองยังรัฐใหญ่น้อยต่างๆ 27 พระองค์ โดยจิ้นอู่ตี้มิอาจคาดการณ์ได้ว่า ต่อไปนโยบายนี้จะก่อปัญหาเดิมๆ ขึ้นมาได้อีกเช่นกันเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์

จิ้นอู่ตี้ครองราชย์ได้ราว 25 ปีก็สิ้นพระชนม์ จักรพรรดิองค์ต่อมาคือ จิ้นฮุ่ยตี้ (ค.ศ.259-306) นับแต่นี้วิกฤตทางการเมืองจึงค่อยๆ คืบคลานเข้ามา

สาเหตุแรกของวิกฤตมาจากความไร้ปรีชาชาญของจิ้นฮุ่ยตี้ ซึ่งถือเป็นคุณวิบัติที่สำคัญยิ่งของพระองค์ ดังตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ดีคือ ครั้งหนึ่งขุนนางถวายรายงานว่าได้เกิดภัยแล้งขึ้นในหลายพื้นที่ จนทำให้ราษฎรเสียชีวิตไปเป็นอันมาก

จิ้นฮุ่ยตี้ทรงถามว่า เหตุใดราษฎรจึงเสียชีวิต ขุนนางทูลว่า เพราะราษฎรอดอยาก ขณะนั้นพระองค์ทรงเสวยข้าวต้มเนื้ออยู่จึงตรัสขึ้นว่า

ไฉนราษฎรจึงไม่กินข้าวต้มเนื้อเล่า แม้นกินข้าวต้มเนื้อแล้วจักได้ไม่หิวตาย