วิเคราะห์ : ศึกสายเลือด “สีฟ้า” กปปส.ในร่าง “วรงค์” ชิง “หัวหน้า” จาก “มาร์ค” ปูทาง “คสช.” ยึด ปชป.?

ทันทีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศคลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ในบางส่วน

หลายพรรคการเมืองก็เริ่มขยับตัวเคลื่อนไหว

รับลูกกันทันที

แม้จะเป็นการคลายล็อกแค่บางส่วน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการให้พรรคการเมืองไปจัดการด้านงานธุรการของพรรค ทั้งเรื่องการประชุมพรรค แก้ไขข้อบังคับพรรค หาสมาชิกพรรค เลือกคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เป็นต้น

ทำให้ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เริ่มเห็นบรรยากาศของพรรคการเมืองมีความเคลื่อนไหวกันถ้วนหน้าแล้ว

ทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคอนาคตใหม่ (อนค.)

แต่ที่เป็นข่าวฮือฮาในแวดวงการเมืองมากที่สุด คงต้องยกให้พรรคสีฟ้า อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่เปิดศึกแย่งชิงบัลลังก์เก้าอี้ “หัวหน้าพรรค ปชป.” เกิดขึ้น ทันทีที่ “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. ประกาศเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่โดย “วิธีการหยั่งเสียง” ผ่านแอพพลิเคชั่น

ซึ่งมีเจตนารมณ์อยากจะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกผู้นำพรรคตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ “เดอะมาร์ค” เลยปิ๊งไอเดียใหม่ “ทำไพรมารีโหวตหัวหน้าพรรค” เสียเลย

โดยกฎกติกาและคุณสมบัติต่างๆ ของผู้ที่จะมาท้าชิงตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” จะถูกกำหนดไว้ในข้อบังคับพรรค ที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่พรรคในวันที่ 26 กันยายนนี้

หากที่ประชุมใหญ่พรรคมีมติเห็นชอบกฎกติกา จะเดินหน้าเฟ้นหัวหน้าพรรคในทันที

โดยสเป๊กเบื้องต้นของผู้ที่จะเข้ามาท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น หากเป็นโควต้าคนใน จะต้องใช้เสียงของ ส.ส.รับรองจำนวน 20 เสียง

หรือใช้เสียงของสมาชิกพรรคในแต่ละภาคจำนวนภาคละ 500 เสียง รวม 2,000 เสียง

สำหรับโควต้าคนนอกก็จะคูณสองในกติกาคนในเข้าไป

สรุปง่ายๆ ก็คือ จะต้องใช้เสียงของ ส.ส.รับรองจำนวน 40 เสียง หรือใช้เสียงของสมาชิกพรรคในแต่ละภาคจำนวนภาคละ 1,000 คน รวม 4,000 เสียง

นอกจากนี้จะต้องเคยดำรงตำแหน่ง ส.ส.พรรค เคยเป็นรัฐมนตรีของพรรค และเป็นสมาชิกพรรคด้วย

ส่วนแคนดิเดตที่พร้อมชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคกับ “เดอะมาร์ค” ในขณะนี้มีใครบ้าง คนแรกที่กำลังมาแรงคงหนีไม่พ้น “หมอโก๋” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรค ปชป. ที่ถูกชูโรงสนับสนุนและเสนอชื่อโดย “ถาวร เสนเนียม” อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. อดีต ส.ส.สงขลา และอดีตแกนนำ กปปส.คนสนิท “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ เบอร์ต้นๆ เลยก็ว่าได้

 

ภายใต้การสนับสนุน “หมอวรงค์” ให้มีชื่อเข้าชิงหัวหน้าพรรคกับ “เดอะมาร์ค” นั้น ได้มีการเริ่มทำคลิป “เส้นทางการเมืองของหมอวรงค์” แล้วส่งต่อกันตามสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ผลงานโดดเด่นที่ทำให้เป็นที่รู้จักนั้นคือ “คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว” ของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นต้นตอนำไปสู่การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จนเจ้าตัวสามารถนำมารวบรวมเป็นหนังสือ “มหากาพย์โกงข้าว” ได้

นอกจากนี้ ในสมัยช่วงการชุมนุมของ กปปส. แม้ “หมอวรงค์” จะไม่ใช่แกนนำเบอร์ต้นๆ แต่ก็ขึ้นเวทีปราศรัยเกือบทุกวัน โดยอาศัยเรื่องการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวโจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ตรงนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงนั้นที่ “หมอวรงค์” ได้ขึ้นเวทีปราศรัยและสร้างผลงานปลุกใจชาวแฟนคลับ “ลุงกำนัน” เอาไว้ ถือเป็นผลงานที่ดีต่อเจ้าตัวไม่น้อยเลยทีเดียว

เพราะแฟนคลับอินกับผลงาน และชื่นชอบกับผลลัพธ์ที่ในที่สุดแล้วเรื่องนี้นำไปสู่การหนีออกนอกประเทศของอดีตนายกฯ สาวจนได้

ส่วนแคนดิเดตเบอร์สองนั้น ระยะหลังเหมือนเสียงจะแผ่วเบาลงไปมาก

รายนี้เจ้าตัวออกมาปล่อยข่าวเองว่า มีคนชักชวนตนเองให้กลับไปเป็นหัวหน้าพรรค ปชป. เพื่อทำการปฏิรูปพรรค

นั่นคือ “เดอะจ้อน” อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. ที่ทิ้งพรรคไปซบท็อปบู๊ตทำงานปฏิรูปให้กับรัฐบาลทหารในยุค คสช.

แต่จู่ๆ ก็มีข่าวออกมาว่าจะกลับมาลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคในฐานะโควต้าคนนอก

แต่เมื่อดูจากข้อบังคับพรรคแล้ว “เดอะจ้อน” กลับสามารถเข้ามาสมัครชิงตำแหน่งได้ในโควต้าคนใน เพียงแค่กลับมาเป็นสมาชิกพรรค คุณสมบัติก็ครบ เนื่องจากเจ้าตัวเองก็เคยดำรงตำแหน่งทั้งอดีต ส.ส. และอดีตรัฐมนตรีของพรรคมาก่อนด้วย

แต่ในเมื่อเสียงเชียร์ แรงดันแผ่วลงไป เรื่องก็แทบจะเงียบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ว่า “เดอะจ้อน” ยก 5 กฎเหล็กในการปฏิรูปพรรคเข้ามาเพื่อที่จะชูธงนำวิสัยทัศน์ในการเป็นหัวหน้า

แต่ก็โดน “เดอะมาร์ค” ตอกหน้าหงายกลับว่า สิ่งที่พูดมาทั้ง 5 ข้อนั้น ล้วนเป็นนโยบายพรรคทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี ความสำคัญของผู้นำองค์กรที่ดีจะต้องมีสิ่งสำคัญคือ ความรู้ความสามารถ คุณธรรมและจริยธรรม วิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และภาวะความเป็นผู้นำที่สามารถพึ่งพาได้ หากเปรียบเทียบคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ์เข้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป.แล้ว ผลงานที่ผ่านมาของแต่ละคนคงจะเป็นตัวชี้วัดได้ในระดับหนึ่ง

เรื่องนี้ต้องยอมรับในความหลากหลายที่มีอยู่ในพรรค ปชป.จริงๆ ต่างคนต่างคิด ต่างก๊กต่างก๊วน มีทั้งผู้เปิดหน้าสนับสนุน และผู้ปิดหน้าเล่นอีกหลายเสียงที่ไม่ออกตัว แต่แอบให้ข่าวในแต่ละฟากฝั่งอยู่เป็นรายวัน

นับถือใจ “เดอะมาร์ค” ที่กล้าเปิดโอกาสให้หยั่งเสียง

และต้องเข้าใจบริบทของ “ถาวร” ในการเปิดหน้าเล่น เพื่อสนับสนุน “หมอวรงค์” ในการเข้าชิงหัวหน้าพรรค ทั้งที่คนก็รู้ว่า “ถาวร เสนเนียม” มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันแค่ไหนกับ “กำนันสุเทพ” และแนวคิดของกำนันสุเทพเองก็ชัดเจนว่าสนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

หลายฝ่ายอาจมองว่าเกมนี้ “ถาวร” เป็นตัวเดินหมากที่ คสช.ส่งมาเป็นเหลือบไรของ ปชป. หรือไม่

เพราะหากพรรค ปชป.ได้ “หมอวรงค์” นั่งเป็นหัวหน้าพรรค การพูดคุยหรือดีลอะไรกับ คสช.ทุกอย่างอาจจะราบรื่นขึ้น

แต่ต้องไม่ลืมว่า คสช.ไม่ได้เป็นผู้ออกกฎหมายว่า “การเลือกหัวหน้าพรรคจะต้องมีการหยั่งเสียง” เพราะงานนี้เป็นการตัดสินใจแบบหล่อๆ ของ “เดอะมาร์ค” ที่อยากให้คนเห็นว่า ตัวเองก็เป็นคนยุคใหม่ที่ใจเปิดกว้าง เปิดโอกาสให้คนอื่นมาท้าชิงเก้าอี้ตัวเองเหมือนกัน

เลยออกแบบข้อบังคับพรรคมาเช่นนี้

ดังนั้น การกำหนดข้อบังคับพรรคเช่นนี้อาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนอื่นได้เข้ามามีส่วนร่วมจริงๆ ก็ได้ หรือจริงๆ แล้วแค่พิธีกรรมบังหน้าเพื่อให้เห็นว่า “เดอะมาร์ค” ไม่ผูกขาดกับเก้าอี้ของหัวหน้าพรรคจนเกินไป แต่ถ้าบอกว่าการสนับสนุนของ “ถาวร” นั้นมี คสช.อยู่เบื้องหลัง สิ่งที่น่าคิดมากที่สุดคือ คสช.หยั่งรู้ใจ “เดอะมาร์ค” ล่วงหน้าได้อย่างไรว่าจะแก้ข้อบังคับเปิดช่องให้แบบนี้

แต่อย่างไรก็ตาม งานนี้บอกได้แค่ว่า หลังการประชุมใหญ่พรรค ปชป.ในวันที่ 26 กันยายนนี้เสร็จสิ้น นายอภิสิทธิ์แถลงเปิดโอกาสให้มีผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อใด วันรุ่งขึ้น “หมอวรงค์” พร้อมจ่อแถลงข่าวประกาศศึกลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ปชป. พร้อมหลักการ เหตุผล วิสัยทัศน์ของผู้นำอย่างทันที

ศึกชิงหัวหน้าพรรค ปชป.ในครั้งนี้จึงมีนัยยะที่น่าจับตาไม่น้อย