การกลับมาของ “อันวาร์ อิบราฮิม” อดีตนักการเมืองทรงอิทธิพล สู่ฝันการเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนต่อไป

พูดถึง “อันวาร์ อิบราฮิม” เคยเป็นนักการเมืองดาวเด่นของมาเลเซียที่ถูกกล่าวขานถึงความเป็นนักปฏิรูปมีความคิดก้าวหน้า

ในช่วงกว่า 20 ปีก่อนนั้น เขาแสดงบทบาทได้อย่างโดดเด่นจนมหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในช่วงเวลานั้นที่ถือเป็นผู้นำชาติเอเชียที่ทรงอิทธิพลมากคนหนึ่ง ไว้วางใจแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังช่วยบริหารประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้นมหาธีร์ยังเคยวางตัวอันวาร์เป็นทายาทสืบทอดอำนาจทางการเมืองของตนเองเสียด้วยซ้ำ

ก่อนที่ทั้งสองคนจะเกิดความคิดเห็นขัดแย้งแตกคอกันไปเสียก่อน

และนำมาสู่การเผชิญวิบากกรรมทางการเมืองของอันวาร์ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

การทุจริตและมีพฤติกรรมร่วมเพศทางทวารหนัก เป็นข้อกล่าวหาที่ทำให้อันวาร์หมดสิ้นอิสรภาพและถูกตัดออกจากวงการเมือง

อันวาร์ต้องโทษจำคุกรวมเป็นเวลาหลายสิบปีในข้อกล่าวหาเหล่านั้น

เขาเดินเข้า-ออกเรือนจำอยู่หลายครั้งเมื่อศาลยกฟ้องและถูกจับเข้าเรือนจำอีกหลังจากโดนข้อหาใหม่เรื่องการร่วมเพศทางทวารหนัก

โดยข้อกล่าวหาทั้งหมด เจ้าตัวยืนกรานว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการจะขจัดเขาให้พ้นทาง

 

แต่แม้จะถูกกักขังอิสรภาพอยู่ในเรือนจำ ทว่าชื่อของอันวาร์ยังคงมีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อวงการเมืองมาเลเซีย

เพราะอันวาร์ถือเป็นกำลังหลักของพรรคฝ่ายค้านในการถ่วงดุลอำนาจของกลุ่มบาริซัน เนชั่นแนล (บีเอ็น) พันธมิตรพรรคร่วมรัฐบาลในช่วงเวลานั้นที่อยู่ภายใต้การนำของนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีจากพรรคอัมโน ซึ่งควบคุมอำนาจบริหารประเทศมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่มาเลเซียเป็นเอกราชจากอังกฤษ

จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2561 นี้ ที่การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กลุ่มบีเอ็นนำโดยพรรคอัมโนของนายนาจิบพ่ายแพ้การเลือกตั้งเป็นครั้งแรกและพลิกขั้วกลายไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน

ขณะที่กลุ่มปากาตัน ฮาราปัน หรือ “สัญญาแห่งความหวัง” ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีนายอันวาร์เป็นแกนนำสำคัญ (แม้จะอยู่ในเรือนจำ) จับมือเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับนายมหาธีร์ ภายใต้เป้าหมายเดียวกันคือการโค่นล้มอำนาจของกลุ่มบีเอ็น จนเป็นผลสำเร็จ

ทำให้กลุ่มปากาตัน ฮาราปัน พลิกขั้วเป็นรัฐบาลครั้งประวัติศาสตร์

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากการยอมลบลืมความขัดแย้งในอดีตมาผนึกกำลังของอันวาร์และมหาธีร์ จากผู้ที่เคยเป็นมิตร มาเป็นศัตรู จากศัตรู กลายมาเป็นพันธมิตรทางการเมือง โดยยังมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญต่อความปราชัยอย่างหมดท่าของกลุ่มบีเอ็นคือกรณีอื้อฉาวทุจริตยักยอกเงินมหาศาลไปจากกองทุนเพื่อการพัฒนามาเลเซีย หรือ 1 เอ็มดีบี ที่มีนายนาจิบเป็นแก่นกลางของคดีทุจริตอื้อฉาวเขย่าประเทศคดีนี้

ภายใต้ชัยชนะของกลุ่มปากาตัน ฮาราปัน ที่เป็นผลให้นายมหาธีร์ในวัย 93 ปี ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ยังมี “สัญญาใจ” ระหว่างมหาธีร์กับอันวาร์อยู่ด้วย

ที่ฝ่ายแรกให้คำมั่นสัญญาว่าจะส่งมอบเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้อีกฝ่ายภายใต้กรอบกฎหมายและกระบวนการขั้นตอนที่มีอยู่

นั่นเป็นผลให้หลังจากชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล มหาธีร์จึงได้ยื่นขออภัยโทษให้แก่อันวาร์ จนได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ ที่ถือเป็นย่างก้าวแรกของการคืนสู่สังเวียนการเมืองของนายอันวาร์

และในสัปดาห์ที่แล้วมีความเคลื่อนไหวล่าสุดที่เป็นการเบิกทางให้นายอันวาร์กลับเข้าสู่วงการเมืองอย่างเป็นทางการ

เมื่อ ส.ส.ในเขตเลือกตั้งพอร์ตดิกสัน ในเมืองชายฝั่งทางตะวันตกของมาเลเซีย ประกาศลาออก

ทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งซ่อมขึ้นใหม่ ซึ่งนายอันวาร์เองได้ประกาศตัวออกมาแล้วที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตนี้

 

การเลือกตั้งซ่อมในเขตดังกล่าวที่ยังไม่มีการกำหนดวันชัดเจนว่าเป็นเมื่อใด

เป็นเพียงด่านแรกที่อันวาร์จะต้องฝ่ามาให้ได้ ก่อนที่จะก้าวไปถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอย่างที่วาดหวัง

เพราะยังมีสิ่งท้าทายอีกหลายด่านอยู่เบื้องหน้า

ทั้งปัญหาท้าทายใหญ่ของบ้านเมืองที่กำลังเผชิญ โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลที่รัฐบาลแบกอยู่

จนทำให้นายมหาธีร์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลต้องตัดใจล้มโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่มีอยู่กับต่างชาติไปหลายโครงการ โดยเฉพาะกับจีน

และการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาแข็งแกร่ง

นอกเหนือไปจากการแก้ปัญหาทุจริตในระบบที่สร้างความเบื่อระอาให้กับประชาชนในชาติ

และความขัดแย้งทางเชื้อชาติศาสนาที่เป็นอีกปัญหาอันเด่นชัดในสังคมมาเลเซีย

รวมไปถึงคลื่นใต้น้ำภายในกลุ่มการเมืองที่อาจปะทุขึ้นได้ทุกเมื่อ!