บทความพิเศษ / โชคชัย บุณยะกลัมพ/Killer Robots ‘หุ่นยนต์สังหาร’ ชงยูเอ็นออกสนธิสัญญาควบคุม

บทความพิเศษ / โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

 

Killer Robots

‘หุ่นยนต์สังหาร’

ชงยูเอ็นออกสนธิสัญญาควบคุม

 

การเรียกร้องให้หยุดการผลิตและใช้งาน “หุ่นยนต์สังหาร” หรือ Killer Robots ตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ 76 หน่วยงาน จาก 32 ประเทศทั่วโลก ได้ร่วมเสนอในการชุมนุมของสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา ที่ผ่านมา โดยมีผู้ลงนามในสนธิสัญญา ประกอบด้วย Human Rights Watch, องค์การนิรโทษกรรมสากล, Mines Action Canada และ Nobel Women’s Initiative

เวทีการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธตามแบบ หรือ CCW ที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ ได้พิจารณาว่าเราควรกำจัดหุ่นยนต์นักสังหารหรือไม่? โดยองค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้มีการป้องกันหุ่นยนต์สังหาร AI จากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งหุ่นยนต์สังหาร Killer ก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายได้ขึ้นข้อความเตือนไว้อย่างน่ากลัวมาก

การกดดันให้ UN หรือองค์การสหประชาชาติยกร่างกฎหมายหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการผลิตและใช้งาน “หุ่นยนต์สังหาร” หรือ Killer Robots ซึ่งเป็นหุ่นยนต์รบในสงคราม ด้วยเพราะมันเลือกวิธีกำจัดเป้าหมายด้วยตัวมันเองอย่างอิสระ จะไม่ผ่านการควบคุมใดๆ ของมนุษย์เลย

Bonnie Docherty ผู้บรรยายด้านกฎหมายที่ Harvard University กล่าวว่า กลัวการแพร่กระจายของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ประดิษฐ์แบบหุ่นยนต์สังหารขึ้น อาจขัดแย้งกับอนุสัญญาระหว่างประเทศเรื่องการใช้อาวุธตามระเบียบแบบแผน

Docherty ได้ร่วมกับกลุ่มรณรงค์สิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องข้อห้ามการพัฒนาหุ่นยนต์ที่เรียกว่า นักฆ่าสังหาร “การอนุญาตให้มีการพัฒนาและใช้หุ่นยนต์นักฆ่าจะบ่อนทำลายมาตรฐานทางศีลธรรมและทางกฎหมายอันเป็นที่ยอมรับ”

“การรณรงค์ครั้งนี้เพื่อหยุดยั้งหุ่นยนต์สังหารคน ประเทศต่างๆ ควรร่วมมือกันเพื่อห้ามระบบอาวุธหุ่นยนต์สังหารเหล่านี้ ก่อนที่จะขยายนำไปใช้กันทั่วโลก”

 

การรณรงค์เพื่อต่อต้านการใช้ “หุ่นยนต์สังหาร” แบบอัตโนมัติ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ.2013 ซึ่งมี 26 ประเทศทั่วโลกที่สนับสนุนการห้ามใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

โดยมีประเทศจีนที่สนับสนุนให้ผลิตหุ่นยนต์สงครามต่อไป แต่ต้องไม่เป็นการเลือกเป้าหมายด้วยตัวมันเอง

แต่บางประเทศในการประชุมรอบที่แล้วคือ ฝรั่งเศส อิสราเอล รัสเซีย อังกฤษ และสหรัฐ ยังเห็นดีเห็นงามที่จะเชื่อใจระบบ AI ว่าไม่น่าจะเลือกเป้าหมายผิดพลาด

ในการประชุม CCW ที่เจนีวามีการรณรงค์เพื่อชี้ประเด็นการโยนการตัดสินใจในการ “ฆ่า” ให้หุ่นยนต์ 100% ว่าไม่ควรกระทำ ซึ่งในการนี้แม้มหาเศรษฐีไอรอนแมนอย่าง “อีลอน มัสก์” ก็ยังออกมาให้ความเห็นว่า ไม่ควรปล่อยให้หุ่นยนต์มีอิสระในการฆ่าด้วยตัวมันเอง อย่างน้อยที่สุดก็ควรเป็นรีโมตที่สั่งการด้วยมนุษย์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์หลายพันคน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมากกว่า 20 คน และผู้นำทางศาสนาและองค์กรต่างๆ ของศาสนาต่างๆ กว่า 160 รายยังเรียกร้องให้มีการห้ามการพัฒนาและใช้หุ่นยนต์นักสังหาร ในเดือนมิถุนายน Google ได้เผยแพร่หลักการทางจริยธรรม ซึ่งประกอบด้วยคำมั่นสัญญาที่จะไม่พัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อใช้เป็นอาวุธนักสังหาร

เพราะการใช้อาวุธที่เป็นอิสระอย่างหุ่นยนต์สังหารเต็มที่ จะทำลายหลักการของมนุษยชาติเพราะพวกเขาจะไม่สามารถใช้ความเห็นอกเห็นใจหรือความเห็นแก่จริยธรรมที่เหมาะสมกับการตัดสินใจที่จะใช้กำลังร้ายแรง การใช้อาวุธหุ่นยนต์สังหารเหล่านี้จะต้องเผชิญอุปสรรคสำคัญในการสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างมีมนุษยธรรม

และแสดงความเคารพต่อชีวิตและศักดิ์ศรีของมนุษย์

 

 

ด้าน Mary Wareham ตัวแทนจาก Human Rights Watch บอกว่า เวทีประชุม CCW ต้องการกดดันให้สหรัฐและประเทศอื่นๆ ผลักดันแผนห้ามใช้จักรกลสังหาร ที่สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติอย่างสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน

ในหนังสือ Human Rights Watch ได้อธิบายถึงความท้าทายที่อาวุธหุ่นยนต์สังหารมีอิสระอย่างเต็มที่ในการควบคุมว่า ควรจะนำเสนอเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และวิเคราะห์ช่องว่างในความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่ผิดกฎหมายอันเนื่องมาจากอาวุธหุ่นยนต์สังหารดังกล่าว

ทั้งนี้ การประชุมอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธตามแบบ หรือ CCW มีเป้าหมายในการผลักดันให้มีสนธิสัญญาที่มีผลทางกฎหมายให้ได้ภายในช่วงปลายปี ค.ศ.2019

 

ที่มา

https://www.hrw.org/news/2018/08/21/killer-robots-fail-key-moral-legal-test

https://www.express.co.uk/news/science/1006998/Killer-robots-AI-killers-ban-law-human-rights-United-Nations