ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ล้มอภิสิทธิ์คือยุทธการยึดประชาธิปัตย์เพื่อล้มประชาธิปไตย

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ตรงข้ามกับหลายพรรคที่คล้ายก๊วนเพื่อนจนการเลือกหัวหน้าพรรคเหมือนการกินโต๊ะแชร์ ประชาธิปัตย์มีเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่ความเป็นสถาบันจนถึงจุดที่ให้สมาชิกเลือกหัวหน้าพรรคได้โดยตรง

ในแง่นี้ การประชุมใหญ่ประชาธิปัตย์ในวันที่ 26 กันยาฯ จึงมีประเด็นกว่าคุณอภิสิทธิ์จะได้เป็นหัวหน้าหรือไม่ เพราะเนื้อในคือการชี้ว่าพรรคการเมืองต้องเป็นของสมาชิกทุกคน

ไม่ว่าจะมีมุมมองต่อประชาธิปัตย์อย่างไร การเปิดโอกาสให้สมาชิกเลือกหัวหน้าพรรคคือเส้นทางที่ทุกพรรคต้องทำให้ได้ และสิ่งที่ต้องไม่ทำที่สุดคือการทำให้หัวหน้าพรรคเหมือนกะลาที่จะยกให้ใครตามใจ

ภายใต้การแก้ระเบียบพรรคให้สมาชิกเลือกหัวหน้าอย่างที่ไม่มีพรรคไหนกล้าทำ ความสนใจที่สื่อมีต่อประชาธิปัตย์กลับเป็นเรื่องการล้มคุณอภิสิทธิ์เรื่องเดียว

พูดสั้นๆ การล้มคุณอภิสิทธิ์คือประตูสู่การยึดพรรคภายใต้อุ้งเท้าของนักการเมืองกลุ่มที่ประกาศชัดเจนว่าต้องการให้นายกจากคณะรัฐประหารเป็นนายกต่อไป

ถ้าคุณสุเทพผู้ทำม๊อบล้มเลือกตั้งปี 57 ผลักดันจนคุณถาวรเชิดคุณวรงค์เป็นหัวหน้าประชาธิปัตย์สำเร็จ ทิศทางประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งปี 62 ก็จะเป็นแนวร่วมสืบทอดอำนาจรัฐทหารเช่นเดียวกับพรรคคุณไพบูลย์, พรรค กปปส. รวมทั้งพลังประชารัฐและสามมิตรที่ทำพรรคแบบเอาเปรียบทุกคน

หากรัฐบาลของประชาชนหลายสิบล้านในปี 2544-2548 ถูกโจมตีเป็น “ระบอบทักษิณ” ได้ ประชาธิปัตย์ภายใต้คนกลุ่มนี้ก็ต้องยอมรับการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสร้าง “ระบอบ คสช.” ให้ทหารการเมืองตั้งตัวเองเป็นรัฎฐาธิปัตย์เกือบสิบปี

ประชาธิปัตย์มีสิทธิ์จะบอกว่าตัวเองต่อต้านระบอบทักษิณได้ แต่สิบกว่าปีของการต่อต้านนี้จะเป็นเรื่องการต่อต้านคนส่วนใหญ่ทันทีที่ประชาธิปัตย์อยู่ฝั่งสนับสนุนนายกจากการรัฐประหารให้เป็นนายกต่อไป

แม้คนนอกพรรคจำนวนมากจะมองว่าคุณอภิสิทธิ์สนับสนุนนายกทหารเหมือนสี่แก๊งลูกหาบ แต่ข้อเท็จจริงคือประชาธิปัตย์ค้านรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจคู่ขนานกับพรรคเพื่อไทยในการทำประชามติปี 2560 ขณะที่หลายคนในขบวนการลูกหาบตอนนี้สดุดีร่่างรัฐธรรมนูญ คสช.ตอนนั้นราวคัมภีร์เทวดา

นอกเหนือจากการคัดค้านรัฐธรรมนูญทหารเหมือนเพื่อไทยในเวลาที่กลไกรัฐไล่ล่าคนเห็นต่าง ประชาธิปัตย์ในช่วงหลังยังคัดค้านการที่รัฐทหารดำเนินคดีกับเพื่อไทยกรณีแถลงว่าคสช.บริหารงานล้มเหลว เช่นเดียวกับการให้ความเห็นว่าคนอยากเลือกตั้งมีสิทธิชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลจัดเลือกตั้งโดยเร็ว

ในการประชุม ครม.สัญจรที่หลายคนวิจารณ์ว่าเป็นการหาเสียงล่วงหน้า คุณชวนผู้เป็นนายกรัฐมนตรีสองสมัยจากพรรคประชาธิปัตย์ก็วิพากษ์ว่ารัฐบาล คสช.ใช้งบประมาณสิ้นเปลืองอย่างไม่เหมาะสม และแทบไม่ปรากฎว่ามีสมาชิกประชาธิปัตย์ไปต้อนรับคุณประยุทธ์แบบฝ่ายลูกหาบทำ

อันที่จริงการที่ คสช.แต่งตั้งอดีต กปปส.อย่างคุณสกลธีและคุณพุทธิพงษ์เป็นรองผู้ว่าและรองเลขานายกฯ คือใบเสร็จว่ารัฐบาลทหารมองว่าการปล่อยคนแบบนี้ไว้ในพรรคนั้น “เสียของ” เมื่อเทียบกับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งรับใช้คณะรัฐประหารตรงๆ

ในแง่นี้ กองหนุนทหารที่ยังตกค้างในพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นบคลากรที่ คสช.เห็นว่าใช้งานไม่ได้ ส่วนคนกลุ่มนี้ก็ไม่รู้ว่าจะมีบทบาทอะไรในรัฐทหาร จนเหลือแต่การยึดพรรคเพื่อเป็นฟันเฟืองของการสร้างระบอบที่ประชาชนไร้อำนาจลง

เฉพาะเรื่องการสถาปนารัฐทหาร เครือข่ายผู้มีอำนาจตอนนี้ต้องการได้ประชาธิปัตย์ร่วมขบวนลูกหาบเพื่อเพิ่มโอกาสเป็นนายกแน่ๆ แต่ประชาธิปัตย์ยุคนี้มีท่าทีแยกตัวจากฝั่งทหารมากขึ้นจนเส้นขนานกับพรรคเพื่อไทยหดแคบลง

พูดตรงๆ คนเป็นล้านไม่พอใจคุณอภิสิทธิ์เรื่องเป็นนายกที่สลายการชุมนุมจนมีคนตายหลักร้อยในปี 2553 , เชื่อว่าประชาธิปัตย์ “ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” ในปี 2551 รวมทั้งบอยคอตต์การเลือกตั้งในปี 2549 และ 2557 ซึ่งหลายคนเห็นว่าเป็นแผนปูทางให้ทหารรัฐประหารในเวลาต่อมา

ด้วยต้นทุนที่ติดลบจากสามเรื่องนี้ ท่าทีที่คุณอภิสิทธิ์ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหารยังไม่มากพอให้คนเชื่อทั้งหมด หากไม่มีคำพูดชัดเจนว่าไม่เอานายกคนนอกที่หนักแน่นไม่น้อยกว่าพรรคการเมืองอื่นในปัจจุบัน

หนึ่งในยุทธวิธีที่กองหนุนทหารใช้ยึดพรรคประชาธิปัตย์คือโจมตีคุณอภิสิทธิ์ว่าทำพรรคแพ้เลือกตั้งมากไป แต่ที่จริงคำว่า “แพ้เลือกตั้ง” หมายถึงการที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนมีประชาชนเลือกน้อยจนไม่ได้เข้าสภา ขณะที่ปัญหาของประชาธิปัตย์คือความไม่สามารถทำให้ ส.ส.ชนะเลือกตั้งมากเท่าที่คู่แข่งทำ

ภายใต้การปลุกกระแส “แพ้เลือกตั้ง” เพื่อสร้างความไม่เชื่อมั่นว่าพรรคจะเป็นที่หนึ่งในการเลือกตั้งครั้งถัดไป คุณอภิสิทธิ์กลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าทำให้พรรคมีสภาพนี้มากที่สุด แม้พรรคยุคคุณอภิสิทธิ์จะได้ ส.ส.ในการเลือกตั้งปี 2550 และ 2554 จำนวน 165 และ 159 ที่นั่ง ส่วนยุคก่อนคุณอภิสิทธิ์ได้เพียง 96 คน

แน่นอนว่าประชาชนไปลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคใดพรรคหนึ่งด้วยหลายปัจจัย แต่ข้อเท็จจริงคือประชาธิปัตย์ยุคคุณอภิสิทธิ์ได้คะแนนจากประชาชนในการเลือกตั้งปี 2550 และ 2554 ร้อยละ 39.63 และ 35.15 ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับอันดับถัดไปอย่างคุณชวนในปี 2539 ที่ได้เสียงผู้มีสิทธิร้อยละ 31.8

แม้คุณอภิสิทธิ์จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็น แต่คุณอภิสิทธิ์ไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้พรรคเติบโตเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างพลังประชาชนและเพื่อไทยซึ่งได้ ส.ส. 233 และ 265 ที่นั่งในการเลือกตั้งสองครั้งหลัง ถึงแม้อำนาจนอกระบบจะทำให้ทั้งสองพรรคต้องเปลี่ยนผู้นำทุกครั้งก็ตาม

คุณอภิสิทธิ์คือหัวหน้าพรรคที่ทำได้ดีในการทำให้พรรคยิ่งใหญ่กว่าในอดีตแน่ๆ แต่คุณอภิสิทธิ์ไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้พรรคแข็งแกร่งมากพอจะเอาชนะคู่แข่งได้ ต่อให้อยู่ในสถานการณ์ที่พรรคได้เปรียบทุกทาง

อย่างไรก็ดี ต้นเหตุที่ทำให้ประชาธิปัตย์ไม่สามารถเอาชนะคู่แข่งได้มากนั้นเป็นปัญหาของพรรคมากกว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากตัวคุณอภิสิทธิ์เอง

การโค่นล้มคุณอภิสิทธิ์เป็นคนละเรื่องกับการทำให้ประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้ง มิหนำซ้ำยังอาจเป็นทางด่วนให้พรรคมีคนเลือกน้อยจนกลายเป็นพรรคขนาดกลาง

ถ้าความผิดของคุณอภิสิทธิ์คือการทำให้พรรคพัฒนามากเท่าการพัฒนาของคู่แข่งไม่ได้ การล้มล้างคุณอภิสิทธิ์ก็คือการทำให้พรรคถดถอยเมื่อเทียบกับที่คุณอภิสิทธิ์ทำไว้ จึงไม่มีทางชนะคู่แข่งได้อย่างสิ้นเชิง

หากประชาธิปัตย์อยู่ใต้การนำของนักการเมืองกลุ่มกระหายจากรัฐบาลทหาร ประชาธิปัตย์จะลดชั้นจากพรรคอันดับสองเป็นคือพรรคที่มี ส.ส.ไม่ถึงร้อย และเป็นได้แค่ส่วนประกอบปลายแถวของรัฐบาลที่เกิดจากการล้มการปกครองของประชาชน

พูดอย่างรวบรัดที่สุด คนส่วนใหญ่ลงคะแนนให้ประชาธิปัตย์น้อยกว่าพรรคคู่แข่งจากสามเรื่องด้วยกัน หนึ่งคือเรื่องประชาธิปไตย สองคือเรื่องนโยบายสาธารณะ และสามคือความไม่พอใจบทบาททางการเมืองของพรรคทั้งและนอกสภา

เฉพาะในเรื่องประชาธิปไตยนั้น ความไม่เชื่อว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคประชาธิปไตยคือต้นเหตุให้พรรคไม่ใช่ทางเลือกอันดับต้นของประชาชนในการเลือกตั้งมากที่สุด ต่อให้พรรคจะมองตัวเองผ่านอุดมคติเรื่อง “เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา” แบบคุณชวน หรือ “เสรีประชาธิปไตย” แบบคุณอภิสิทธิ์ก็ตามที

หัวใจของประชาธิปไตยคือการปกครองโดยคนส่วนใหญ่ หากประชาธิปัตย์ทำให้คนเชื่อว่าพรรคเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนส่วนใหญ่ไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่คนส่วนใหญ่จะมอบความไว้วางใจให้พรรคประชาธิปัตย์ ต่อให้กลุ่มลูกสมุนทหารจะยึดพรรคจากคุณอภิสิทธิ์ได้สำเร็จก็ตาม

ประชาธิปัตย์จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งก็ได้แต่โดยทำให้เห็นว่าพรรคกับคนส่วนใหญ่เป็นพวกเดียวกัน การโจมตีอดีตนายกจากพรรคคู่แข่งทั้งทางตรงหรือผ่านวาทกรรม “ระบอบทักษิณ” จึงควรยุติลง เพราะเท่ากับเป็นการโจมตีบุคคลหรือนโยบายที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่เห็นว่าดีงาม

ประชาธิปัตย์จะชนะใจคนส่วนใหญ่ได้อย่างไร หากดีแต่โจมตีว่าทางเลือกของคนส่วนใหญ่ผิดตลอดเวลา?

หนึ่งในจุดแข็งของเพื่อไทยและอดีตไทยรักไทยคือการเสนอนโยบายที่จับต้องได้ว่ายกระดับชีวิตประชาชน นโยบายอย่างบัตรทอง, ค่าแรง 300 บาท, คนจบปริญญาตรีเงินเดือน15,000, ลดภาษีบ้านหลังแรก, รถเมล์ฟรี ฯลฯ คือการทำให้การเลือกพรรคเป็นเรื่องเดียวกับการพัฒนาปัจจัยสี่ในชีวิตทันที

ประชาธิปัตย์ตลอดหลายสิบปีพัฒนานโยบายที่ทำให้ประชาชนรู้สึกแบบนี้ไม่ได้ และในการเลือกตั้งครั้งนี้ หนทางเดียวที่ประชาธิปัตย์จะชนะคือการทำนโยบายที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเลือกพรรคแล้วชีวิตดีขึ้นจริงๆ

ความเบื่อหน่ายนักการเมืองหน้าใหม่ที่เติบโตท่ามกลางความขัดแย้งหลังปี 2549 จนมีพฤติกรรมทุ่มเก้าอี้, แขวะฝ่ายตรงข้าม, ปากต่อคำ ฯลฯ คือหนึ่งในเหตุที่ทำให้ภาพลักษณ์ประชาธิปัตย์เสื่อมทรามที่สุด

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 62 จีงต้องรีแบรนด์โดย recruit คนรุ่นใหม่ที่ไม่เป็นแบบนี้ให้มีบทบาทมากขึ้น ส่วนคนที่เป็นแบบนี้ก็ไม่ควรเป็นสัญลักษณ์ของพรรคมากอย่างที่ผ่านมา

คุณอภิสิทธิ์จะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่เป็นเรื่องเล็ก แต่การปลุกปั่นวาทกรรมแพ้เลือกตั้งเพื่อไล่คุณอภิสิทธิ์คือการเปิดทางให้พลังฝ่ายหนุนทหารเปลี่ยนประเทศให้อยู่ใต้ระบอบ คสช.อย่างสมบูรณ์