ถามจาก “ทักษิณ ชินวัตร” ปฏิวัติ 2 ครั้งใน 12 ปี ประเทศเจริญขึ้นหรือไม่? คำตอบ อยู่ที่วันเลือกตั้ง

ครบรอบ 12 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ

เข้ายึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ระหว่างเดินทางไปประชุมสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

จากตอนแรกดูเหมือนจะ “ไม่มีอะไร” แต่ก็กลายเป็น “มีอะไร” ขึ้นมา

เมื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็น “เป้าหมาย” ของการรัฐประหารครั้งนั้น และครั้งต่อมา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจในวันครบรอบ 12 ปี เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ระบุว่า

“12 ปี จาก 19 กันยายน 2549 : 19 กันยายน 2561

วันนี้ ผมอยากให้ทุกท่านลองวางใจให้เป็นกลาง แล้วหลับตานึกว่าจากวันนั้นถึงวันนี้

ท่านคิดว่าประเทศไทยเจริญขึ้นแล้วหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา ระบบราชการบริการประชาชน ยาเสพติด การสาธารณสุข กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจของท่านเองรวมถึงความสุขของท่านและคนรอบตัวท่าน

สุดท้ายคือศักดิ์ศรีประเทศและความภูมิใจของท่าน”

 

และว่า

“เรามีการปฏิวัติ 2 ครั้งใน 12 ปี ปฏิวัตินายกฯ ที่เป็นพี่น้องกัน และได้รับความนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แน่นอนมีคนได้ดีและร่ำรวยจากการปฏิวัติทั้ง 2 ครั้ง แต่คนที่แย่ลงในหลายมิติมีมากกว่า และไม่สำคัญเท่ากับประเทศไทยที่เรารักถูกมองแย่ลงในสายตาคนทั้งโลก

เราถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะหันหน้ามาปรึกษาหารือกันเพื่อบ้านเมือง หรือว่าเราจะตะแบงฟาดฟันกันฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นที่ต่างกัน ชอบไม่เหมือนกัน

บางคนต้องถึงกับชีวิต บางคนเจ็บป่วย บางคนติดคุก บางคนถูกกลั่นแกล้งทางธุรกิจ ทางอาชีพและตำแหน่งหน้าที่ราชการ จนอยากจะตะโกนแรงๆ ว่าเราคนไทยด้วยกันไม่ใช่หรือ

แล้ววันนี้เราช้ำกันพอแล้วหรือยัง ประเทศช้ำพอแล้วหรือยัง รอยยิ้มของไทยที่เรียกว่ายิ้มสยามหายไปไหนหมด แล้วเราจะอยู่กันแบบนี้

ในขณะที่โลกเขากำลังเอาสมองไปคิดค้นสิ่งใหม่ นำความเจริญให้ประเทศเขา แต่เรากำลังล้าหลังในทุกๆ ด้าน ถ้าเราเปิดใจกว้าง ไม่เป็นกบน้อยในกะลา

เราจะรู้ว่าเราต้องปรับปรุงและพัฒนาอีกเยอะ เทคโนโลยีที่ทั้งโลกกำลังใช้ประโยชน์มันกำลังจะไล่ล่าประเทศที่ปรับตัวไม่ทันและไม่คิดปรับตัว

ในโอกาสครบรอบ 12 ปีนี้ ผมขอเปิดอกว่าผมเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนั้น ผมต้องสูญเสียความสุข ความอบอุ่นในครอบครัวผม ที่พ่อแม่ลูกเราอยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่นมาตลอด ต้องมาพรากจากกัน ผมเสียใจที่คนที่รักผม สนับสนุนผมถูกรังแก

แต่คงไม่เสียใจเท่าประเทศที่ผมรัก แผ่นดินที่ผมเกิด และเติบโตมา ซึ่งครั้งหนึ่งได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ต้องมาตกอยู่ในสภาวะแบบนี้

ถึงแม้ว่าผมมีอายุที่กำลังก้าวเข้าปีที่ 70 แล้ว แต่ผมเสียดายประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 12 ปีที่ออกมา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน

ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ 12 ปีแล้วยังไม่ลืมผม ยังส่งผ่านความรักความปรารถนาดีมาถึงกันเสมอมา สุดท้ายนี้ผมขออโหสิกรรมให้กับทุกคนที่ให้ร้ายกลั่นแกล้งผมมา ณ ที่นี้ด้วย”

 

การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

นอกจากได้รับการระบุว่าเป็นหลักกิโลเมตรแรกของความขัดแย้งในสังคมครั้งใหญ่ ผ่านรูปแบบการแบ่งขั้วแบ่งสีทางการเมือง

ยังถูกจดจำในฐานะ “สารตั้งต้น” ของการรัฐประหารครั้งถัดมา โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในการเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การมีรัฐประหารถึง 2 ครั้งห่างกันแค่ 8 ปี ผลักดันให้ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราความถี่ของการทำรัฐประหารอยู่ในอันดับหัวแถวของโลก

ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน คมช.ได้ออก “สมุดปกขาว” ชี้แจงสาเหตุการทำรัฐประหาร ได้แก่

การทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพและการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ

อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ลึกลงไปว่า ยังมีสาเหตุสำคัญอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสมุดปกขาว คือความขัดแย้งทางอำนาจจากการโยกย้ายนายทหาร

รวมไปถึงความขัดแย้งกับบุคคลที่นายทักษิณ ใช้คำว่า “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”

การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หากประเมินจากในมุมที่กำหนดเอา “ทักษิณ” เป็นเป้าหมาย ก็ต้องบอกว่า

คมช.ประสบความสำเร็จไม่น้อย ในการประเคนคดีความต่างๆ จนทำให้ “ทักษิณ” ต้องหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถกลับมาเมืองไทยได้จนถึงปัจจุบัน

แต่หากมองในมุมการเมือง ผ่านผลการเลือกตั้งต่อจากนั้น

ไม่ว่าการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 ที่พรรคพลังประชาชนชนะ นายสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 ที่พรรคเพื่อไทยชนะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ก็จะหายสงสัยทันทีว่า ทั้งที่สามารถทำให้ “ทักษิณ” กลายเป็นนักโทษหนีคดี ต้องหลบไปใช้ชีวิตเร่ร่อนในต่างประเทศ อย่างข้อความตอนหนึ่งที่ว่า

“ผมต้องสูญเสียความสุข ความอบอุ่นในครอบครัวผม ที่พ่อแม่ลูกเราอยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่นมาตลอด ต้องมาพรากจากกัน”

แต่ทำไมสิ่งที่ คมช.ทำ ถึงถูกจารึกว่าคือการรัฐประหาร “เสียของ”

 

หลายคนวิเคราะห์ว่า รัฐประหาร “เสียของ”

เกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่ผลเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ผลงานมาสเตอร์พีซของ คมช. ไม่เป็นไปตามแผนบันได 5 ขั้นที่เคยวางไว้

ตรงนี้เองยังเป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้คณะรัฐประหาร คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องอาสาเข้ามารับไม้ต่อ

สืบสานภารกิจที่ คมช.เคยทำล้มเหลว คือการ “ขุดรากถอนโคน” ตระกูล “ชินวัตร” และพรรคในเครือข่ายให้หมดสิ้นไปจากสารบบการเมืองไทย

แน่นอน การทำเช่นนั้น คสช.จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาอยู่ในอำนาจนานกว่า คมช. ที่ใช้เวลาเพียง 1 ปี 5 เดือนในการคืนอำนาจให้ประชาชน

ซึ่งเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมรัฐบาล คสช.จึงเลื่อนโรดแม็ปเลือกตั้งออกไปหลายครั้งหลายหน กระทั่งล่าสุดถึงได้มาหยุดอยู่ที่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2562

ต้องยอมรับไม่ว่ารัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถึงจะห่างกัน 8 ปี แต่เป้าหมายทุกอย่างยังคงเดิม ไม่แปรเปลี่ยน

หากนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับทักษิณและพรรคการเมืองในเครือข่าย ไม่ว่าพรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าในยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ยุครัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

หรือแม้แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องพบกับชะตากรรมไม่ต่างจากพี่ชายมาเป็นตัววัดผล

อาจมองได้ว่าการรัฐประหารที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 19 กันยายน 2549 ต่อเนื่องการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง

แต่หากวัดจากคำถามที่ทักษิณหยิบยกขึ้นมานำเสนอต่อประชาชนคนไทย ในวาระครบรอบ 12 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ว่า การรัฐประหาร 2 ครั้งใน 12 ปี นอกจากยึดอำนาจนายกฯ ที่เป็นพี่น้องกัน

“จากวันนั้นถึงวันนี้ ประเทศไทยเจริญขึ้นแล้วหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา ระบบราชการบริการประชาชน ยาเสพติด การสาธารณสุข กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ รวมถึงความสุข

สุดท้ายคือศักดิ์ศรีประเทศ และความภูมิใจ”

ก็ยังไม่แน่ว่าจะ “เสียของ” ซ้ำสองหรือไม่

ช่วงที่การแสดงความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองยังเป็นเรื่องต้องห้าม

คำตอบจะออกมาอย่างไร ต้องอดใจรอฟังเสียงสวรรค์ เมื่อเวลาแห่งการเลือกตั้งมาถึง