“เกาะโต๊ะ”มิใช่กรณีตัวอย่าง โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12/สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

————————-

“เกาะโต๊ะ”มิใช่กรณีตัวอย่าง

————————-

ดักคอเอาไว้หน่อยกรณี “เกาะโต๊ะ”ว่า คงไม่มีใคร ยกเป็นกรณีตัวอย่าง

นี่แหละคือผลร้ายของการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย หาเสียง

จึงสมควรแล้ว ที่จะห้ามหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย

ฟังเผินๆ อาจเป็นเหตุเป็นผลอยู่

แต่ ขอให้คิดและพิจารณากันดีๆ

เพราะหากห้าม และ ใช้กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่าง

รับรอง “ปวดหัว”

เพราะแค่ถามว่า การณี “เกาะโต๊ะ” เกี่ยวกับการหาเสียงหรือเลือกตั้งหรือไม่

นายทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวข้องอะไรกับเลือกตั้ง

และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรษ์ (ที่คงไม่ได้ลงเลือกตั้ง)ไปเกี่ยวอะไรกับการหาเสียง

ถ้าจะย้อนว่า นายทักษิณ เป็นนอมินีของเพื่อไทย

ระวังเจอสวน กลับว่า แล้ว พล.อ.ประวิตร เป็นนอมินีของพรรคพลังประชารัฐ หรือไม่

ได้เถียงกันหน้าดำคร่ำเครียดแน่ๆ

นี่ แค่ประเด็นเดียวนะ ยังไม่รวมถึงประเด็นอื่นๆซึ่งรับรองผุดออกมาเป็นดอกเห็ด

คณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) คงแทบไม่ต้องทำอะไร

นั่งตีความกันอยู่นั่นแหละ

สู้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น เช่นทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมดีกว่า

นี่แค่ เล่นกัน”บนดิน”เห็นกันโต้งๆนะ

หากเกิด มีคำสั่งห้ามหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย จริง

รับรอง สิ่งที่ทำกันเปิดเผย “มุดลงใต้ดิน”แน่

และโลกแห่งโซเชียลมีเดีย มิใช่ การแจกใบปลิวโรเนียวไม่กี่พันแผ่น

หากแต่เป็น คลิกเดียว แพร่ออกไป นับหมื่น นับแสน และอาจจะนับล้าน

ถ้าไม่มี ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ แบบประเทศจีน อย่าคิดไปสกัดกั้นเลย ไม่มีทางเอาอยู่

ดังนั้น รัฐบาล คสช. กกต. อย่าไปคิดปิดกั้นเลย

เปิดให้หาเสียงทางโซเชียลมีเดีย อย่างเปิดเผยดีกว่า

อะไรที่ผิดกฎหมาย

เรามีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่เอาโทษ การเผยแพร่ ความเท็จ หนักหน่วงอยู่แล้ว

แถมยังมีกฏหมายเลือกตั้ง และกฏระเบียบของกกต. ที่จะมาควบคุม การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย อีกไม่รู้กี่ชั้น

น่าจะเอาอยู่

อย่าไปวิตกวิจารณ์อะไรจนเกินไป

เพราะว่าไป การใช้โซเชียลมีเดียหาเสียง ถือเป็นภูมิทัศน์ใหม่ของสังคม ที่เราจะต้อง เรียนรู้ ปรับตัว และอยู่กับโลกที่เปลี่ยนแปลงให้ได้

ถ้ามัวไปกลัว รีบไปปิดหรือสกัดกั้น เราจะเสียโอกาสการเรียนรู้ครั้งสำคัญ

และไทยอาจตกยุค ไปตะโกนบอกว่าเราจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 ใครเขาจะเชื่อ

ถ้าสกัดได้จริงก็ว่าไปอย่าง

กลัวแต่สกัดได้ไม่จริง เกิดช่องโหว่ที่จัดการอะไรไม่ได้

นั่นจะเป็นผลเสียมหาศาล

เว้นเสียแต่ว่า แนวคิดการห้ามหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย เป็นไปตามเสียงนินทา ว่า เกิดมาจาก

ความอยากได้เปรียบ

และความกลัว

อยากได้เปรียบ คือห้ามคนอื่นใช้โซเชียลมีเดีย แต่ตนเองใช้โซเชียลมีเดียผ่านกลไกรัฐ ที่มีมากมายมหาศาล แบบเนียนๆ

หรือ เพราะความกลัว กลัวว่าคนอื่นจะใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดีย ได้ดีกว่าตนเอง

ก็เลยสั่งห้ามใช้เสียเลย

ซึ่งหากเป็นเพราะ 2 เหตุนี้ ก็เป็น เรื่อง น่าเศร้าของประเทศที่ประกาศตนเป็นประเทศยุคดิจิตอล

เป็นไทยแลนด์ 4.0

แต่เอาเข้าจริง เป็นแค่พวกอนาล็อค ที่เอาเปรียบ และขี้กลัว เสียด้วย