4 ทศวรรษ พญาครุฑ “มีชัย” รูดม่านพอแล้ว รธน.ฉบับรัฐประหาร “ผมคือคนที่รู้จักทหารน้อยที่สุด”

ในชีวิตวัย 80 ปี ที่ชื่อ “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นมาแล้วหลายตำแหน่ง ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

ทั้งรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับตำแหน่งที่เพิ่งพ้นผ่านไปหมาดๆ คือตำแหน่งประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คณะที่ปฏิสนธิรัฐธรรมนูญถาวรฉบับที่ 20 ของราชอาณาจักรไทย

“มีชัย” ร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วอย่างน้อยๆ 4 ฉบับ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2520, 2534, 2549 และ 2560

โดยเฉพาะการเมืองในรอบ 4 ทศวรรษ “มีชัย” เปรียบเสมือนยาฆ่าเชื้อการเมือง หลังวิกฤตรัฐประหาร ชื่อ “มีชัย” ถูกบันทึกเป็นบรรทัดแรก ในฐานะหัวขบวนร่างรัฐธรรมนูญใหม่

หากต้องเดินทางครั้งใหม่ ในภารกิจร่างรัฐธรรมนูญ เขาออกตัวว่า “ขอนึกถึงทุกข์ของผมบ้าง ไม่ใช่ของดีหรอกนะ อะไรๆ ผมก็เป็นมาแล้ว ถามว่าผมยังอยากเป็นไหม อายุปูนนี้ก็ไม่ได้อยากเป็น”

 

เขายืนยันว่า ทุกๆ ครั้งที่ถูกคณะรัฐประหารเชิญไปสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ เขาคือคนที่รู้จักทหารน้อยที่สุด

“บางคนคิดว่าผมเป็นฝ่ายทหาร เพราะไม่ว่าจะปฏิวัติกี่ครั้งจะมีชื่อไปยุ่งด้วยทุกที บางคนคิดว่าผมตามใจผู้มีอำนาจสั่งให้ทำอะไรก็ทำแบบนั้น แต่เชื่อหรือไม่ว่าผมคือคนที่รู้จักทหารน้อยที่สุด และไม่เคยสนิทสนมกับคนที่เป็นทหารในราชการ ยกเว้น 2-3 คนที่กินเหล้าด้วยกัน ซึ่งเกษียณราชการไปนานแล้ว แต่คนที่เป็นทหารมีอำนาจในบ้านเมือง ยืนยันว่าไม่รู้จัก”

“สมัยปฏิวัติของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นัน เขานำทหารมาล็อกตัวผมไปจากบ้าน แล้วพาไปที่กองบัญชาการ ถนนราชดำเนิน เป็นครั้งแรกที่เข้าไป เขาบอกว่ากำลังปฏิวัติกัน เชื่อหรือไม่ว่าผมไม่รู้จักว่าใครเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ มีมา 3 คน มารู้ทีหลังว่าคนหนึ่งคือ พล.อ.สนธิ คนหนึ่งคือ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล และคนหนึ่งคือ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดในตอนนั้น เรียกว่าไม่รู้จักจริงๆ พอเขาเล่าให้ฟังว่าจะปฏิวัติก็รู้สึกตกใจจริงๆ คิดว่าไปเอาตัวเรามายังไม่ได้ปฏิวัติเลย ยังไม่ได้แถลงการณ์ฉบับที่หนึ่งเลย เราไม่ตายไปกับเขาด้วยหรือ”

“ผมเจอเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวมา 2-3 ครั้ง โดยการปฏิวัติรอบล่าสุด ผมก็ไม่รู้ว่าบิ๊กตู่ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) หน้าตาเป็นอย่างไร มารู้ตอนเมื่อเขาส่งร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำ”

ทว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ที่ “คณะมีชัย” ลงทุนเป็นแรมปีร่างขึ้นมา กลับกลายเป็นเหรียญสองด้าน มีทั้งเสียงชมและเสียงก่นด่า โดยเฉพาะเสียงก่นด่าจากคนการเมือง-นักวิชาการฝ่ายก้าวหน้า

ฝ่ายนักการเมืองมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีแต่กับดัก ไม่มีใครอยากเจ็บตัว เปลืองตัวอาสาเข้ามารับใช้ประชาชน เพราะดีไม่ดีอาจติดคุกเอาง่ายๆ ส่วนนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าว่า กฎหมายแม่บทประเทศฉบับนี้ทำให้ล้าหลังไป 20 ปี

นักการเมืองถึงขั้นตั้งธงฉีกทันทีที่มีอำนาจ

แต่ในหัวอกของคนร่างอย่าง “มีชัย” เชื่อว่า ถ้าฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 แล้วยกร่างกันใหม่ ก็ต้องลอกฉบับ 2560 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์อยู่ดี

 

“เราประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะเขายังไม่สามารถบอกได้ว่าที่ไม่ดี ไม่ดีตรงไหน เพียงแต่ตั้งธงฉีก…เหมือนกับผมไม่เคยอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เลย แล้วมาบอกว่าฉบับนี้ไม่ได้เรื่อง ถ้าผมเป็นนายทุนผมจะยุบทิ้ง ไม่บอกสักคำว่าคอลัมน์ไหนไม่ดี ต่อให้ฉีกแล้วไปร่างใหม่ 70 เปอร์เซ็นต์คุณก็ลอกจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไป”

“เพราะมันเป็น pattern ของรัฐธรรมนูญ เว้นแต่จะรื้อประเทศไทยเป็นสหพันธรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข แบบนี้เขียนใหม่หมด ตั้งใจแบบนี้หรือเปล่า ถ้าตั้งใจอย่างนั้นก็บอกมา ผมจะได้รู้ว่าถูกต้อง ก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญผม ถ้าประชาชนเลือกเขาก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญนี้ทิ้ง ถ้าประชาชนทั้งประเทศเลือกเขา ผมจะไปว่าอะไร ก็ต้องยอม”

“แต่ถ้ายังใช้ระบบนี้ ต้องขึ้นต้นว่าประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผู้ใดจะแบ่งแยกมิได้ มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถามว่าแล้วลอกไหม… ก็ต้องลอก แล้ว 70 เปอร์เซ็นต์เป็น pattern ที่จะต้องเขียน”

 

กับข้อกล่าวหาว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็น “มรดก” ของ คสช. “มีชัย” แย้งโดยพลันว่า

“คนพูดก็ดูถูกประชาชนพอสมควร เพราะคนที่ลงคะแนนประชามติ ลงโดยไม่รู้เรื่อง แต่ผมคิดว่าประชาชนเติบโตในตอนนี้ จะสังเกตได้จากโซเชียลมีเดีย และเขา judge โดยไม่รอฟังสื่อ สมัยก่อนสื่อเป็นตัวนำ บัดนี้สื่อตามโซเชียล การลงมติรัฐธรรมนูญ มันบอกในหลายอย่าง ณ วันนั้นพรรคใหญ่ 2 พรรคที่มีสมาชิกพรรคท่วมท้นต่อต้านรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าโลกมันเปลี่ยน ถ้าใครไม่เปลี่ยนมันถูกกลืนได้ ที่เราคิดว่าเราเคยทำแบบนี้แล้วได้ผล มันอาจจะไม่ได้ผล”

“มีชัย” ยอมรับว่าการร่างรัฐธรรมนูญเป็นงานที่ยาก เพราะการขึ้นโครงร่างประเทศต้องเขียนถึงความสัมพันธ์ของอำนาจฝ่ายต่างๆ ก่อนที่จะลงมือร่างรัฐธรรมนูญจินตนาการไว้อีกอย่างหนึ่ง แต่เมื่อทำไปแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 มีหลายอย่างที่ไม่ได้ดั่งใจ

“เยอะ…ที่คิดอีกอย่าง ออกมาอีกอย่าง ยกตัวอย่างไม่ได้ ถ้ายกตัวอย่างจะรู้ว่ามาจากไหน อย่านึกว่ามาจาก คสช. ไม่ใช่ แต่จะมาจากเอ็นจีโอตรงนู้น ตรงนี้ ก็ต้องลดราวาศอกกันลงมาเพื่อให้รอมชอมไปกันได้ ไม่ถึงกับกลับลำ”

 

ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ถือว่าเป็นการรอมชอม คสช.หรือไม่ “มีชัย” ตอบว่า

“คสช.ขอมา 10 ข้อ กรธ.ที่เป็นอาจารย์บอกว่า ไม่ไหวนะ… พวกผมก็ต้องมีที่ยืน ผมบอกว่าก็ไม่เป็นไร พิจารณามาว่าให้เขาได้ไหม ถ้าให้ไม่ได้ก็อย่าให้ ว่าไปเป็นข้อๆ พอพิจารณาไปถึงข้อที่ 5 ก็ไม่ให้ พวกอาจารย์ก็ชักจะเหลอหลา บอกว่า ใจคอจะไม่ให้เขาบ้างเลยเหรอกลับกลัวเสียอีก ผมบอกว่าอะไรที่มีเหตุผลที่จะให้เขาก็ให้ อะไรที่ไม่มีเหตุผลก็อย่าไปให้ บอกผมมา ผมไปอธิบาย คสช.เอง สุดท้ายก็ให้ คสช. 3 ข้อ”

ท่ามกลางเสียงครหา โครงสร้าง-กลไกต่างๆ ในรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นกับดักทางการเมือง ไม่ตรงกับรูปแบบประชาธิปไตยในระดับสากล “มีชัย” ขอออกแบบเอง ไม่ลอกต่างประเทศ

“เราไม่ได้สนใจว่าประเทศไหนมันมีแล้วมันเคยทำมาก่อนหรือไม่ เมื่อพบว่ามี เราก็เบาใจ เบาใจสำหรับนักวิชาการที่ไม่สามารถสร้างอะไรได้ด้วยตัวเอง ต้องสร้างตำรา หรือสร้างตามที่คนอื่นเขาทำมาก่อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยไม่เจริญ”

 

เขาสรุปใจความสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า “ไม่ได้มุ่งหวังพัฒนาพรรคการเมือง แต่มุ่งหวังสร้างคน เพื่อให้คนไทยทันโลกได้”

ในวัย 80 ปี “มีชัย” เผยเคล็ดลับที่ยังเป็นคนทันสมัย ทันโลก มาจากการ “ฟัง”

“ผมไม่เป็นปฏิปักษ์กับใคร ใครเขาพูดอะไร จะว่าอะไร ผมฟังแล้วก็เก็บ ส่วนไหนที่เป็นประโยชน์ผมก็เก็บมาใช้ อะไรไม่เป็นประโยชน์ก็ทิ้งไป ดังนั้น มนุษย์จะเรียนรู้ได้ต่อเมื่อน้ำไม่ล้นถ้วย ก็เก็บต่อไปเรื่อยๆ อย่างน้อยก็รู้ว่าคนรุ่นนี้คิดอย่างไร วันหนึ่งผมไปทำกฎหมาย ก็จะเอาความรู้ไปใช้”

นี่คือปฏิญาณจากปาก “มีชัย” หากรัฐประหารครั้งใหม่ ชื่อ “มีชัย” อาจไม่ใช่หัวขบวนร่างรัฐธรรมนูญ

โปรดฟังอีกครั้ง…