ทำความรู้จัก BCIM Economic Corridor

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

Bangladesh-China-India-Myanmar (BCIM) Economic Corridor เป็นความร่วมมือในภูมิภาคซึ่งรู้กันว่าริเริ่มมาจากจีนคือ Kunming Initiative เริ่มต้นเมื่อปี 1999

ในระยะแรกเป็นการเจรจาแบบ Track ii เพื่อก่อให้เกิดเขตความร่วมมืออนุภูมิภาค ที่เชื่อมกับภูมิภาคที่ล้าหลังซึ่งติดกับบริเวณ Land Locked area ของฝั่งตะวันตกของจีนเชื่อมต่อด้านตะวันออกของอินเดีย เชื่อมกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (least developed countries-LDCs) บังกลาเทศ เมียนมาและภาคตะวันออกของอินเดีย

จุดเริ่มต้นของการสถาปนา BCIM ผ่านการตกลงระหว่างนายกรัฐมนตรีจีน Wen Jiabao และนายกรัฐมนตรีอินเดีย Monmohan Singh

เป็นการตกลงเพื่อทำการสร้างถนนให้รถยนต์วิ่งโดยก่อสร้างถนนแต่ละฝ่าย 200 กิโลเมตร ด้านหนึ่งจาก Silchau ไป Imphal ในอินเดีย อีกเส้นหนึ่งจาก Kalewa ถึง Monywu เมียนมา

เป้าหมายสำคัญคือ

ประการที่หนึ่ง บูรณาการทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคซึ่งสามารถบูรณาการกับเอเชีย

ประการที่สอง เพื่อพัฒนาชายแดนของ BCIM จัดอันดับความสำคัญ Three T agenda (Trade, Transport, and Tourism) ทั้งยังมีการเชื่อมโยงเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ในการสร้างผลประโยชน์มหาศาล การลงทุน การสื่อสารคมนาคม ในส่วนร่ำรวยด้านทรัพยากรธรรมชาติ สินแร่ ครอบคลุมพื้นที่ 165,000 ตารางกิโลเมตรกับจำนวนประชากร 440 ล้านคน

การก่อตั้ง BCIM ตั้งบนพื้นฐานว่าโครงการนี้เป็นระดับความร่วมมือระหว่างรัฐบาล (intergovernmental level) คือ Track I สนับสนุนการค้าและความเชื่อมโยงจากคุนหมิงไปยัง Kolkata ของอินเดีย

โครงการหลายๆ อย่างของ 4 ประเทศนี้ เช่น ข้อริเริ่มโดยบังกลาเทศและเมียนมาเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านตะวันตกของจีนกับเมียนมาและบังกลาเทศ

อย่างไรก็ตาม ที่ยังถกเถียงกันอยู่มากคือ ความไม่สนใจเข้าร่วมในการเจรจาระดับพหุภาคีซึ่งจีนถือว่าเป็นจุดอ่อนไหวของขบวนการก่อการร้ายต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

 

แนวทางความร่วมมือ BICM-EC ยังคงอยู่ในช่วงการพัฒนา แม้ว่าหลังจากมีการประชุมร่วมกันต่อเนื่องถึง 12 ครั้ง แต่การประชุมนั้นก็ไม่สามารถก่อตั้งองค์กรหรือสถาบันของ Track I ได้เพราะอินเดียไม่ให้ความสนใจต่อความร่วมมืออันนี้

อย่างไรก็ตาม การประชุมความร่วมมือนี้กลับมีความสำคัญขึ้นมาอีกครั้งในเดือนกันยายน 2013 เมื่อประธานาธิบดีจีนสี จิ้น ผิง (Xi Jinping) ประกาศ Silk Road Economic Initiative-BRI ซึ่งเป็นอภิวิสัยทัศน์เชื่อมโยงยูเรเซียที่มีเป้าหมายชุบชีวิตให้กับเส้นทางสายไหมเก่า

ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าในส่วนตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าไปด้านตะวันตกเฉียงเหนือจากบริเวณชายฝั่งทะเลของจีนผ่านเอเชียกลางเข้าสู่ยุโรป ในขณะที่ส่วนประกอบอื่นๆ คือ 21st Century Maritime Silk Road (MSR) จะวิ่งจากมณฑลของจีนตอนใต้เข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้และต่อจากนั้นเข้าสู่แอฟริกาและมากไปกว่านั้น

เป้าหมายของโครงการคือ การควบรวมกลุ่มของ economic corridor อันประกอบด้วย ข้อเสนอ BCIM-EC และ China-Pakistan Economic Corridor (CPEC) รวมทั้ง MSR

จากการศึกษาของ Development Research Center-Center for International Relations and Sustainable Development (CIRSD) BRI มีเป้าหมายโครงการครอบคลุม 65 ประเทศ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีข้อริเริ่มกับ 100 ประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่ลงนามข้อตกลงกับจีนในการสนับสนุน BRI

โดยศักยภาพ BRI เกี่ยวข้องกับอาณาบริเวณที่ครอบคลุม 63% ของประชากรโลก เป็น 30% ของ GDP โลก 24% ของการบริโภคในครัวเรือน และเป็นอาณาบริเวณที่มีแหล่งน้ำมันสำรองอยู่ 75%

จะเห็นได้ว่า ถ้าดูพื้นฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจ เส้นทาง Kunming-Kolkata และเป้าหมายของ BCIM ที่เชื่อมต่อกับ BRI ทางเอเชียใต้และแอฟริกาย่อมมีความสำคัญ แต่โครงการทั้งหมดเป็นเพียงอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและการประชุมมากกว่า

ดังนั้น บทความนี้จะศึกษาอุปสรรคของ BCIM

โดยลำดับแรกมองในแง่มุมของภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองในภูมิภาคเอเชียใต้จากรัฐที่เล็กกว่า (smaller countries)

ประการที่สอง จะวิเคราะห์อุปสรรคระหว่างประเทศบางประเทศคือ จีน อินเดียและเมียนมาต่อโครงการนี้

ประการที่สาม จะดูสถานภาพของ BCIM ในบริบทของมหาอำนาจในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ

บทบาทของจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง และสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

 

สิ่งท้าทาย
: ความซับซ้อนของความสัมพันธ์ในภูมิภาค

ทุกประเทศใน BCIM มีความเฉพาะด้านที่แตกต่างกันอันมีผลต่อการพัฒนาระหว่างภายในประเทศในอนุภูมิภาค เช่น เมียนมามีฐานะเป็นผู้ส่งออกสินค้าปฐมภูมิ มีแรงงานราคาถูกเหลือเฟือ อินเดียเป็นประเทศชั้นนำอันดับหนึ่งในเอเชียด้านการส่งออกสินค้าบริการ จีนมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบเป็นผู้ส่งออกสินค้าหัตถอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก บังกลาเทศเกี่ยวข้องกับทั้งการส่งออกบริการและสินค้าหัตถอุตสาหกรรมราคาถูก

แต่เหตุผลให้มีการค้าขายระหว่างกันน้อยเพราะหลายทศวรรษที่ผ่านมามีปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อยู่

เช่น กองทัพเมียนมาต่อสู้กับกลุ่มกบฏ Kokang ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับชายแดนจีน ดังนั้น รัฐบาลเมียนมาจึงไม่พอใจจีนซึ่งถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏ

เอเชียใต้มีทั้งวิกฤตการณ์พร้อมด้วยความขัดแย้งของการเมืองในประวัติศาสตร์ระหว่างปากีสถานกับอินเดีย ซึ่งนับตั้งแต่ปากีสถานแยกตัวออกมาเป็นประเทศในปี 1947 ความขัดแย้งนั้นก็ยังอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น

ทั้งสองชาติต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ความขัดแย้งและแข่งขันระหว่างกันก็มีมาก ประกอบกับมหาอำนาจที่สนับสนุนทั้งสองฝ่ายก็แตกต่างกัน กล่าวคือ เป็นที่ชัดเจนว่าจีนสนับสนุนรัฐบาลปากีสถาน ในเวลาเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็ให้การสนับสนุนอินเดีย

 

ในรายละเอียด เราจะเห็นได้ว่า BICM เลื่อนออกไปเพราะข้อเสนอความเชื่อมโยงระหว่าง BCIM กับ China Pakistan Economic Corridor (CPEC) เพราะ CPEC เสนอ BCIM พาดผ่าน Kashmir ซึ่งยังถูกยึดครองโดยปากีสถานอยู่

อาจกล่าวได้ว่าประเทศที่เล็กกว่าทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ต้องได้รับความเสียหายจาก dilemma ทางยุทธศาสตร์การทหารและการเมืองระดับโลก ถ้าดูจากสภาพความเป็นจริงของเอเชียใต้เราจะเห็นว่า

ประการแรก ประเทศเล็กๆ เหล่านี้พึ่งพิงสหรัฐอเมริกาด้านความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศ

อีกด้านหนึ่ง พวกเขามองถึงการให้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจของจีน เช่น กลุ่มประเทศในอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทะเลจีนใต้เป็นพันธมิตรโดยตรงกับทั้งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น รวมทั้งอินเดียในการสนับสนุนทางทหารและการพัฒนาขีดความสามรถทางทหาร แต่ความสนับสนุนทางเศรษฐกิจได้รับอย่างมากจากจีนทั้งในแง่การค้า

การลงทุน เช่น การค้าชายแดนจีน เมียนมา การลงทุนสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำมิตโซนในเมียนมา การลงทุนวางท่อส่งก๊าซและน้ำมันจากเมืองจ้างผิวในรัฐยะไข่เมียนมาสู่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ความยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร

ในเอเชียใต้ การสร้างท่าเรือในศรีลังกา การให้ความช่วยเหลือและการค้าการลงทุนของจีนกับปากีสถานใน CPEC ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะคล้ายกันคือ มีการแบ่งแยกความร่วมมือในภูมิภาค โดยเฉพาะจีนกับอินเดียมีปัญหา Arunnachal Pradesh และข้อขัดแย้งด้านดินแดนใน Kashmir อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือและเมียนมายังเป็นพื้นที่ที่มีการรังคราญของกลุ่มก่อการร้าย

ในเอเชียใต้ไม่สามารถพัฒนาตลาดให้เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจได้ ทำให้เอเชียใต้เป็นอนุภูมิภาคที่มีการรวมกลุ่มน้อยที่สุด ยังมีการแบ่งขั้วระหว่างปากีสถานและอินเดีย พวกเขาขัดแย้งเรื่องพรมแดน Kashmir ความร่วมมือ 3 ฝ่ายคืออินเดีย ปากีสถานและประชาชนชาว Kashmic ก็ทำให้เกิดความร่วมมือขึ้นได้ยาก ดังจะเห็นได้ว่า South Asian Association for Regional Cooperation (SAARC) เป็นองค์กรที่อยู่ในความตึงเครียด

BCIM จึงเป็นระเบียงทางเศรษฐกิจในเอเชียใต้ เชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นข้อริเริ่มจากทางการสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งตั้งมานานแต่ไม่คืบหน้า โดยในปัจจุบันก็พยายามเชื่อมกับ BRI ของทางการจีน แต่ไม่รู้ว่าจะเชื่อมได้มากน้อยแค่ไหน

เรามองไปทางตะวันตกบ้างก็ดี