ภาพยนตร์ /นพมาส แววหงส์/CRAZY RICH ASIANS ‘โลกของมหาเศรษฐี’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์ / นพมาส แววหงส์

CRAZY RICH ASIANS

‘โลกของมหาเศรษฐี’

กำกับการแสดง Jon M. Chu
นำแสดง Constance Wu Henry Golding Michell Yeoh Gemma Chan Awkafina

 

ว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว หนังเรื่องนี้เป็นโรแมนติกคอเมดี้ตามแบบของเทพนิยายซินเดอเรลล่า ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับหญิงสาวสวยขยันขันแข็งแต่ยากจน ซึ่งจับพลัดจับผลูไปพบเจ้าชายแสนเสน่ห์มาหลงรัก และพาเธอไปใช้ชีวิตแสนสุขในวังอลังการ
ซึ่งเป็นเรื่องราวที่อยู่ในความเพ้อฝันของหญิงสาวแทบทุกคนที่จะได้ “ใช้ชีวิตแสนสุขไปตลอดกาล” ตามแบบเทพนิยายที่ขมวดจบลงเอยไว้เพียงเมื่อตัวเอกประสบความสุขสมหวัง
และหนังก็เดินเรื่องอย่างสนุกสนานและหักมุมไปตามสูตรของ “รอม-คอม” ดังกล่าว ในท่ามกลางอาณาจักรสวยสดงดงามของเจ้าชายในฝันที่เป็นทายาทคนเดียวของตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดตระกูลหนึ่งในเอเชียอาคเนย์
แต่คอลัมน์นี้จะไม่เน้นหนักไปถึงประเด็นหนังรักชวนฝันหรือประเด็นเชิงสังคมของวิถีชีวิตคนที่ร่ำรวยล้นฟ้าจนใช้ไปอีกสิบชาติก็ยังไม่หมด ซึ่งสร้างความริษยาหรือหมั่นไส้ให้แก่คนเดินถนนอย่างเราๆ ท่านๆ หรอก
แต่จะยกประเด็นการตัดสินใจของตัวละครที่ชวนสะกิดใจมาอภิปรายสักหน่อย

ก่อนอื่นก็ต้องปูพื้นถึงตัวละครและที่มาที่ไปสักนิดหน่อยก่อนนะคะ
เรเชล ชู (คอนสแตนซ์ วู) เป็นคนเชื้อสายจีนที่เติบโตขึ้นในสังคมอเมริกา แม่อพยพหอบหิ้วลูกสาวคนเดียวไปอยู่อเมริกาตั้งแต่เธอยังเป็นเด็กตัวน้อย เธอจึงได้รับการศึกษาตามแบบอเมริกันและถูกหล่อหลอมจนกลืนเข้าไปในวัฒนธรรมอเมริกันอย่างเต็มตัว
ในวัยยี่สิบตอนปลาย เธอเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่นิวยอร์ก และสาชาวิชาที่เธอเชี่ยวชาญคือ “ทฤษฎีเกม”…ซึ่งจะเป็นประเด็นที่นำมาถกกันภายหลังต่อไป
เราได้รับการแนะนำให้รู้จักกับเรเชลในชั้นเรียนที่เธอสอนวิชาเศรษฐศาสตร์จากการเล่นเกมไพ่ที่ต้องอ่านใจคู่เล่นฝ่ายตรงข้าม และเอาชนะเขาได้ แม้เมื่อไพ่ในมือแทบไม่มีอะไรเลย เดี๋ยวจะกลับมาประเด็นนี้อีกทีนะคะ
ตอนนี้กลับไปถึงชีวิตส่วนตัวของเรเชลที่กำลังจะประสบความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงก่อน

 

เรเชลคบหานิก (เฮนรี่ โกลดิ้ง) หนุ่มรูปหล่อชาวจีน ซึ่งเป็นเพื่อนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเดียวกันมาได้ปีเศษๆ แล้ว โดยแทบไม่ได้รู้พื้นเพของเขาเลย
แล้วจู่ๆ นิกก็ชวนเธอไปสิงคโปร์ บ้านเกิดของเขา เพื่อไปร่วมงานแต่งงานของเพื่อนสนิทของนิก
เรเชลรู้ว่านี่เป็นก้าวต่อไปของความสัมพันธ์ ในเมื่อแฟนหนุ่มออกปากขอให้เธอไปเยี่ยมบ้านเพื่อพบปะกับครอบครัวของเขา
ที่สนามบิน เรเชลนึกว่าได้ซื้อตั๋วชั้นประหยัดเดินทางไปสิงคโปร์ตามปกติของคนชั้นกลางทั่วไป แต่นิกค่อยๆ ดึงตัวเธอไปนั่งในห้องรับรองของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง และหลายคนก็คงจะเพิ่งได้เห็นกันหนนี้แหละว่าที่นั่งชั้นหนึ่งของสายการบินนั้นพิเศษกว่าที่นั่งชั้นประหยัดหรือแม้แต่ชั้นธุรกิจยังไง
ตอนนี้แหละที่นิกค่อยๆ เผยให้เรเชลรู้โดยไม่ได้คาดฝันมาก่อนว่าเขาไม่ใช่แค่อาจารย์จนๆ ที่สอนในมหาวิทยาลัยของนิวยอร์กเท่านั้น แต่เป็นทายาทคนเดียวของตระกูลเก่าแก่และร่ำรวยที่สุดในสิงคโปร์
เรเชลต้องปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตของคนรวยล้นฟ้านับแต่นั้น

แต่นั่นยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของเรเชล เพราะเธอต้องตกอยู่ท่ามกลางพวกปากหอยปากปูที่อิจฉาตาร้อนกันจนออกนอกหน้า และที่สำคัญคือเอเลนอร์ (มิเชลล์ โหยว) แม่ของนิกที่เป็นผู้ดีตั้งแต่หัวจรดเท้า มองแฟนของลูกชายว่าเป็นนักขุดทอง และพยายามทำทุกอย่างเพื่อเขี่ยเธอออกไปจากการเข้ามาเป็นลูกสะใภ้
ในท่ามกลางการดำเนินเรื่องด้วยสีสันของตะวันออก โดยเฉพาะวัฒนธรรมการกิน วัตถุนิยมแบบสุดโต่ง การอวดความร่ำรวย การใช้ของแบรนด์เนมอย่างทั้งแบบมีรสนิยมและไร้รสนิยม วิถีชีวิตที่อาจมองว่าเป็น “องุ่นเปรี้ยว” สำหรับคนธรรมดา ฯลฯ
แต่นางเอกของเราก็เป็นผู้หญิงที่มีมันสมองปราดเปรื่องที่ไม่ใช้แต่อารมณ์ด้านเดียว เธอใช้สติปัญญานั้นเพื่อเล่น “เกม” ที่วางเดิมพันหมดหน้าตักสำหรับชีวิตรักกับผู้ชายที่ใช่ในครั้งนี้

ตอนต้นของศตวรรษที่ยี่สิบ นักคณิตศาสตร์ชั้นหัวกะทิในสถาบันการศึกษาระดับแนวหน้า ชอบเล่น “เกม” กันมาก ไม่ว่าจะเป็นหมากรุก หมากล้อม ฯลฯ ซึ่งต้องวางกลยุทธ์ในการเดินหมากและอ่านใจคู่ต่อสู้ โดยที่ไม่ได้เป็นการเล่นฆ่าเวลากันสนุกๆ เท่านั้น แต่ยังคิดค้นทฤษฎีที่เป็นระบบระเบียบที่จะนำมาใช้ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ตามหลักเหตุผล
เกมจึงเป็นแบบฝึกหัดประลองสมองเพื่อศึกษาการใช้เหตุผลของมนุษย์ได้อย่างดี
“ทฤษฎีเกม” (Game Theory) ของนักคณิตศาสตร์คนสำคัญๆ จึงเกิดขึ้นมา เพื่อใช้เป็นการตัดสินพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐศาสตร์
จากจอห์น นอยมันน์ มาจนถึงจอห์น แนช
คนหลังนี้เป็นเจ้าของเรื่องราวชีวประวัติในหนังสือชื่อ A Beautiful Mind ซึ่งนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน ที่มีรัสเซลล์ โครว์ และเจนนิเฟอร์ คอนเนลลี่ นำแสดง ซึ่งได้รับยกย่องเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของปี ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544)
ทฤษฎีเกมได้รับการพัฒนาจากแรกเริ่ม คือเกมที่มีแพ้มีชนะ ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า zero-sum game เกมนี้ผู้เล่นที่ชนะเป็นผู้ได้ไปทั้งหมด และผู้เล่นที่แพ้ก็สูญเสียทั้งหมด
แต่จอห์น แนช ได้คิดทฤษฎีเกมที่มีแต่ผู้ชนะ โดยไม่มีผู้แพ้ ซึ่งเรียกว่า non-zero-sum game จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ (หลังจากชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ของอัจฉริยะที่ใครๆ เห็นว่าเป็นคนวิปลาส) โดยได้รับการยกย่องว่าทฤษฎีเกมของเขาและเพื่อนนักคณิตศาสตร์อีกสองคน นำมาสร้างประโยชน์มหาศาลในเชิงเศรษฐศาสตร์

เรเชลเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านทฤษฎีเกม และการเล่นเกมแบบอ่านใจคู่เล่นและมองเห็นภาพรวมทั้งหมดโดยไม่ใช้อารมณ์ชั่วแล่นตัดสินสถานการณ์ตรงหน้า
เมื่อนิกขอแต่งงานกับเธอโดยที่แม่เขาไม่เห็นด้วย เธอมองเห็นไปไกลในอนาคตว่า
ถ้าเขาเลือกเธอ นั่นก็หมายความว่าเขาต้องตัดขาดจากครอบครัว ซึ่งก็คงไม่ทำให้เขามีความสุขสมบูรณ์
ถ้าเขาเลือกแม่ และเลิกกับเธอ เขาก็จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยความโกรธแม่อย่างล้ำลึก และโทษที่แม่เป็นตัวขัดขวางความสุขของเขา
ดังนั้น ทางเลือกของเรเชลคือเธอเป็นฝ่ายปฏิเสธเขาเสียเอง แต่เธอก็ทำด้วยชั้นเชิงเหนือชั้นกว่าหลายขุมในฉากที่เธอเชิญเอเลนอร์มาเล่นไพ่นกกระจอกด้วย
ตรงนี้แหละค่ะที่รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ดาดๆ ทั่วไป และแน่นอนว่าการตัดสินใจเดินหมากของเรเชลก็ทำให้เรื่องลงเอยด้วยความสุขตามแบบฉบับของโรแมนติกคอเมดี้อย่างสมใจคนดู
มิเชลล์ โหยว ระเหิดระหงทุกกระเบียดนิ้วตามเคย และมีฉากโปรยเรื่องที่บอกให้รู้ถึงอคติที่ชาวตะวันตก โดยเฉพาะคนอังกฤษหัวสูง ที่ดูแคลนคนจีนว่าไม่เหมาะจะได้อยู่ในแวดวงระดับเดียวกับผู้ดีอังกฤษ
แต่ก็โดนตอกหน้าอย่างสะใจ เหมือนในโฆษณาบัตรเครดิตที่ผู้ชายคนหนึ่งเข้าไปในร้านขายของแล้วโดนมองอย่างเหยียดหยาม เลยควักบัตรเครดิตชื่อดังออกมา แล้วถามว่า “ร้านนี้ทั้งร้านราคาเท่าไร” มีฉากสะใจของคนที่มีกำลังซื้อมหาศาลในแบบเดียวกันนี้แหละค่ะ
ความรู้สึกรวมๆ อีกอย่างตอนดูหนังคือ โอ้โฮ นี่เราอยู่บนโลกใบเดียวกันกับคนพวกนี้ด้วยหรือ
แต่ถ้าดูแบบเรื่องเจ้าชายในฝันของซินเดอเรลล่าโดยไม่คิดอะไรมาก ก็คงสนุกดีนะคะ