‘พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์’ วิเคราะห์กองทัพ – พรรคการเมือง และความอยู่รอดของประชาธิปไตย

ชวน รศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เจ้าของหนังสือ เผด็จการวิทยา ที่ขายดิบขายดี ที่อ่านเพื่อเข้าใจ “สภาพการเมืองไทย” เข้าใจวิธีคิดและทำงานของเผด็จการอย่างเป็นระบบ มามองการเมืองเรื่องของกองทัพและการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562

ในขณะเดียวกันก็โยนคำถามสำคัญถึงผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยว่าทำอย่างไรจะไปรอด?

: ภูมิทัศน์ทางการเมืองจะเปลี่ยนไปหรือไม่? เมื่อ ผบ.ทบ.คนใหม่มาในช่วงใกล้ “เปลี่ยนผ่าน”

เราพูดไม่ได้หรอกว่าเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน มองอีกด้านหนึ่ง ผมคิดว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขึ้นมาครั้งนี้จะต้องเผชิญกับความคาดหวังและแรงกดดันมหาศาล เพราะว่าตัว พล.อ.อภิรัชต์เองนั้นมีประวัติหลายด้านทั้งที่เรารู้และไม่รู้

แต่ผมเชื่อว่าคนเราเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ การก้าวขึ้นมาในสภาวะที่การเมืองกำลังก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตย ในแบบที่คณะรัฐประหารเดิมวางกลไกจำนวนมหาศาลเอาไว้เพื่อคงอำนาจของกลุ่มก๊วนตัวเองเอาไว้

พล.อ.อภิรัชต์จะต้องมี 2 สถานะ หนึ่งก็คือ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มีตำแหน่งเพิ่มขึ้นใน คสช. เพราะว่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก จำเป็นต้องมีอำนาจบางอย่างอยู่

อีกประการ ต้องทำให้กองทัพกลับเข้าสู่กรมกองและปฏิบัติภารกิจปกติ ผมมองว่า พล.อ.อภิรัชต์มีแรงกดดันมาก แต่ผมเชื่อว่าคนที่ขึ้นมาถึงตำแหน่งนี้ได้จะต้องมีกรอบหรือวิธีคิดในความเป็นมืออาชีพ ซึ่งบทบาทกองทัพจะยังคงสำคัญมากอยู่ในการสร้างหลักประกันให้กับคณะรัฐประหารและรัฐบาลที่ยังมีอำนาจในกองทัพ แล้วก็มีความสำคัญอย่างมากที่จะทำให้ประชาธิปไตยที่กำลังจะเกิดขึ้นมีเสถียรภาพได้หรือไม่

ฉะนั้น กองทัพต้องเลือกในทางหนึ่งว่าจะทำอย่างไร ระหว่างทำให้กองทัพมีอำนาจอยู่ในการเมืองหรือทำให้กองทัพถอยออกมา แล้วเป็นหลักค้ำยันให้ประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง

ผมคิดว่า พล.อ.อภิรัชต์คงมีคำตอบอยู่ในใจ ในฐานะที่ได้ผ่านประสบการณ์ของความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงเคยมีส่วนในความขัดแย้งนั้น ผมมองว่าทุกคนมีพลวัตและคงได้เรียนรู้อะไรเพิ่มมากขึ้น ถึงเวลาก็คงรู้ว่าต้องทำอะไรภายใต้เงื่อนไขอะไร

: กองทัพจะมีส่วนขนาดไหนต่อการ “กลับ” หรือ “ไม่กลับ” มาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นสิ่งที่ตอบได้ยาก แต่ผมอยากมองในเชิงข่าวว่า สิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้ก็คือ “ความเป็นเอกภาพของกองทัพ” จะดำเนินไปในรูปแบบไหน เพราะว่าช่วงที่ผ่านมากองทัพได้เผชิญหน้ากับความขัดแย้งในสังคมและกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง

อย่าบอกเลยว่ากองทัพเข้ามาเพื่อระงับความขัดแย้ง เพราะกองทัพได้มีส่วนเข้าไปปราบปรามจับกุมนำคนขึ้นศาลทหาร อีกทั้งยังมีเรื่องความรู้สึกจากประชาชนที่มีต่อกองทัพในช่วงหลัง เช่นกรณีการซื้ออาวุธ เรื่องของการเกณฑ์ทหาร ยังมีสิ่งที่เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในกองทัพ และเรายังไม่เห็นเสียงของกองทัพในมุมอื่นๆ ว่าอยากถอยหรือไม่อยากถอย

แต่ผมเชื่อว่าในภาพรวม ส่วนมากของกองทัพคงไม่มีใครอยากเข้ามายุ่งกับการเมือง

ในหนังสือผม (เผด็จการวิทยา) ได้เขียนอธิบายไว้ว่ามีข้อค้นพบอันเป็นอมตะของโลกว่า ถ้าไม่มี “กองเชียร์” หรือ “คนสั่งการกองทัพได้” จากภายนอก โดยหลักการกองทัพก็ไม่ค่อยอยากจะเข้ามายุ่งกับการเมืองในระยะยาว แต่กองทัพจะเข้ามาในระยะสั้นๆ เมื่อรู้สึกว่าการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับกองทัพ

แต่ถ้าเข้ามายุ่งกับการเมืองในระยะยาวและยุ่งนานขึ้น กองทัพจะขาดเอกภาพในตัวเอง มันดูเหมือนเป็นปัญหาที่ขัดแย้งกันเองนะ ต้องดูดีๆ

คือ 1.กองทัพจะเริ่มมีเอกภาพเมื่อรู้สึกว่ามีภัยเข้ามาคุกคาม ฉะนั้น กองทัพจะรวมตัวกันจัดการภัยเหล่านั้น แล้วก็จะควบคุมการเมืองในระยะหนึ่งเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัย แต่ในอีกด้าน ถ้ากองทัพอยู่ในการเมืองยาวกองทัพจะมีปัญหาภายใน เพราะว่าอีกด้านหนึ่งที่สำคัญที่สุดนั่นคือ “ความเป็นมืออาชีพ”

2. สิ่งที่จะอันตรายมาก เวลากองทัพอยู่ในการเมืองนานคือ ไม่มีใครสามารถควบคุมกองทัพได้ ถ้ากองทัพคุมตัวเอง กองทัพจะเริ่มกำหนดศัตรูเอง แล้วปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นจะกลายเป็นเรื่องรองกว่าด้วยซ้ำ

ฉะนั้น เวลากองทัพถอยยิ่งยากกว่าตอนเข้าไป เพราะถ้าถอยก็กลัวว่าตัวเองจะถูกเช็กบิล แต่ถ้าไม่ถอยก็กลัวว่าจะมีสักคน (ที่ไม่เก่งจริง) ขึ้นมาเป็นนายของตัวเอง ถ้าไม่ถอยความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับประชาชนจะเริ่มเพิ่มมากขึ้น เพราะถ้าประชาชนตั้งคำถามอะไร กองทัพก็จะมองว่าบิดเบือนและมองว่าเป็นศัตรูตลอด เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก

เมื่อกองทัพต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง “เป็นราคาที่กองทัพต้องจ่าย”

: มีคนวิเคราะห์ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะขาลอยเมื่อเข้ามาการเมืองเต็มตัว

เอาที่ไหนมาลอย? พี่น้องอยู่เต็มคณะ มีแม่น้ำ 5 สาย มี ส.ว. มีคณะกรรมการอิสระอีกจำนวนหนึ่ง และที่สำคัญก็คือ ความพยายามของ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพวกที่อยากจะแก้มาตรา 44 ให้เป็นกฎหมายปกติ มันยิ่งเป็นการการันตีว่า ถ้าจะกลับมาเป็นนายกฯ ก็จะสามารถอ้างกฎหมายเดิมที่เคยใช้ได้อีก

ไม่มีทางที่จะขาลอย แล้วใครที่บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อจะงานหนัก จะสู้เกมในสภาไม่ได้ ไม่จริงเลย อยากให้ดูฮุน เซน เป็นตัวอย่าง ดูประชาธิปไตยในโลกสิครับที่มีแต่รูปแบบแต่ไม่มีเนื้อหา

ผมมองว่าปัญหาน่าจะอยู่ที่ว่า “ตัวเองมีฝีมือมากพอหรือไม่” อย่าไปมองว่าจะคุมอำนาจไม่ได้ อันนี้เรื่องเล็ก

ประเด็นใหญ่คือ ถ้าอยู่แล้วไม่มีฝีมือ ไม่มีผลงาน อันนั้นมันจะเสื่อมเอง

: ยังมี “ไพ่ใบสุดท้าย” ไว้จัดการ อนาคตใหม่-พท./ปชป.อยู่ตรงไหนในเกมเลือกตั้ง?

น่าจะมีอยู่แล้ว พรรคอนาคตใหม่ก็วิจารณ์รัฐบาล เขาก็เริ่มเล่นงานแล้ว ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ต้องไม่ลืมว่าเขายังมีไพ่ใบอื่นๆ อีกเหมือนกัน เขาโดนยุบมากี่ครั้งแล้ว ยังไม่ตายเลยทุกวันนี้

ส่วนประชาธิปัตย์ ผมเชื่อว่าจะมีบทบาทสำคัญแน่นอน ทฤษฎี 2 ก๊ก 1 กั๊กมันใช้ได้ ในที่สุดมันจะเหลือเพียงแค่กลุ่มคนที่เอา คสช. กับไม่เอา คสช. (ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์) แต่ประชาธิปัตย์ถ้าวางตัวไม่ดี คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็เอาไปกิน ในขณะที่ตัวเองก็ไม่ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร ผมมองว่าเหมือนพรรคนี้ เหมือน Inception มีความซับซ้อน วันนี้พูดอย่างหนึ่ง อีกคนในพรรคก็จะพูดอีกอย่างหนึ่ง และต่อให้ประชาธิปัตย์ได้เสียงมาเท่าไหร่ก็ตาม คุณคิดหรือว่า “คุณอภิสิทธิ์จะได้อยู่ต่อในพรรค” ถ้าหากประชาธิปัตย์จำเป็นต้องเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ที่ผ่านมาความชัดเจนเพียงอย่างเดียวของ ปชป.คือ “การไม่เอาเพื่อไทย” และเขาไม่ได้มีความชัดเจนที่จะไม่เอาคณะรัฐประหารอย่างเท่าที่ควรจะเป็น ผมไม่เห็นมีการ “ออกมาคัดค้านอย่างเป็นระบบ” แต่ถ้าตอนนี้เอาตัวเองไปติดคณะรัฐประหารมากเกินไปก็จะไม่ได้เสียงของคนบางกลุ่ม

การเมืองจะยิ่งสนุกถ้าอนาคตใหม่หันลำโพงจากทหารมาสู่ประชาธิปัตย์ เพราะตอนนี้ในพรรคประชาธิปัตย์เองเริ่มหันลำโพงไปสู่อนาคตใหม่แล้วจำนวนหนึ่ง ในขณะที่เพื่อไทยไม่ต้องทำอะไร หนำซ้ำยังหวังดีประสงค์ร้ายอีก มีการพูดว่าอนาคตใหม่ได้ถึง 40 เสียงคุณคิดดูละกันว่า เขาเอาไฟฉายส่องไปที่อนาคตใหม่ ทุกคนเลยไปโฟกัสที่นั่น ผมเองยังเชื่อว่าเพื่อไทยยังมีพรรคสำรองอีกมาก คงเป็นตามที่คุณทักษิณพูด คือสงครามยังไม่จบก็ดูกันต่อไป

แต่คำถามสำคัญในวันนี้คือ ประชาชนมีความใฝ่ฝันของตัวเองหรือยังว่าอยากได้อนาคตของประเทศเป็นอย่างไร เราจะข้ามพ้นวิวาทะ เผด็จการ-ประชาธิปไตยแบบอุดมการณ์แล้วมาจัดวางสถาบันทางการเมืองต่างๆ ให้ประชาธิปไตยในอนาคตเป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ไม่มีมิติของเผด็จการ มิเช่นนั้นคนที่บอกว่าประชาธิปไตยดีกว่าเผด็จการมันจะพิสูจน์ได้ยาก แทนที่เราจะปล่อยให้เผด็จการวางกับระเบิดไว้ในรัฐธรรมนูญจำนวนมาก

ถ้าคุณยังไม่เริ่มคิดกันในเรื่องเหล่านี้ ก็จะมานั่งเถียงกันใน Facebook ว่าประชาธิปไตยดีกว่าหรือเผด็จการดีกว่า แต่ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนอีกกลุ่มหนึ่งยอมรับประชาธิปไตยจากการทำงานของประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่ไปตะโกนใส่เขาว่าประชาธิปไตยดีกว่า

อย่าลืมนะครับว่ากลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งเขายังมี “อำนาจจากมิติอื่นๆ” เขามีอำนาจทางเศรษฐกิจ/วาทกรรม/วัฒนธรรม/สังคม คุณกำลังอยู่ในสังคมที่อำนาจไม่ได้มีอยู่เพียงแค่ด้านเดียว ถ้าคุณต้องการทำให้ประชาธิปไตยไปได้ คุณต้องออกแบบและสร้างข้อจำกัดให้ตัวเอง ไม่ใช่ไล่บี้ทุกคนโดยอ้างเสียงข้างมากโดยไม่ฟังใคร ไม่อย่างนั้นก็ไปไม่รอด

เพราะเสียงข้างมากไม่ได้มีอำนาจในมิติอื่นนอกจากการ “ยกมือโหวต”