เกษียร เตชะพีระ : อ่านชีวิตพ้นกรอบกะลาของครูเบ็น – โชคชะตากับพลานุภาพ

เกษียร เตชะพีระ

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสหยิบหนังสืออัตชีวประวัติของครูเบ็น แอนเดอร์สัน เรื่อง A Life Beyond Boundaries : A Memoir (ค.ศ.2016) มาอ่านเป็นรอบที่สอง เพื่อเตรียมร่วมงานสัมมนาเป็นเกียรติแก่ครูในวาระท่านจากไปกว่าสองปีเมื่อ 13 ธันวาคม ค.ศ.2015 โดยถือเอาวันใกล้วันเกิดท่าน (26 สิงหาคม ค.ศ.1936) เป็นวันงานที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

สองปีกว่าที่ผ่านมา ผมมักคิดถึงท่านเนืองๆ และได้มาอ่านบันทึกความทรงจำของท่านอีกครั้ง ก็ยิ่งคิดถึงท่านมากขึ้น

หลังจากตั้งอกตั้งใจอ่าน ทำโน้ตย่อลงเลขหน้า คิดวิเคราะห์สังเคราะห์สรุปเชื่อมโยงเนื้อหา ผมก็มาสังเกตว่าอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้ดำริริเริ่มจัดงานสัมมนา แปลชื่อหนังสือบันทึกของครูเบ็นเล่มนี้ว่า “ชีวิตข้ามเขตแดน”

เป็นคำแปลที่ถูกต้องตรงตัวโดยอรรถ ทว่าหากพิจารณาเนื้อความตอนสำคัญๆ ในบันทึก ผมกลับนึกอยากแปลชื่อมันเพื่อสอดรับกับความหมายโดยนัยว่า “ชีวิตพ้นกรอบกะลา” ดังที่ครูเบ็นเขียนไว้ท้ายคำนำหนังสือว่า :

“หนังสือที่ค่อนข้างซัดเซพเนจรเล่มนี้จึงมีแก่นเรื่องหลักอยู่ 2 ประการด้วยกัน ประการแรกคือ ความสำคัญของการแปลสำหรับปัจเจกบุคคลและสังคมทั้งหลาย ประการที่สองคือ อันตรายของกะลานิยมที่อหังการมมังการ (arrogant provincialism) หรืออันตรายของการหลงลืมไปว่าชาตินิยมที่จริงจังนั้นผูกโยงอยู่กับสากลนิยม” (p. X)

ซึ่งสอดคล้องต้องตรงกับข้อมูลที่อาจารย์สุโยชิ คาโตะ (มหาวิทยาลัยเกียวโต) ผู้มีส่วนสำคัญในการแปลต้นฉบับร่างแรกของบันทึกครูเบ็นเป็นภาษาญี่ปุ่นได้เล่าว่าชื่อบทตอนต่างๆ ที่ครูเบ็นตั้งไว้แต่เดิมนั้น ท่านขึ้นต้นชื่อบทด้วยคำว่า “Good Luck…” หรือ “โชคดี…” เสมอ

ในบทสุดท้าย “คำตาม” ของหนังสือ ครูเบ็นตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่คนเราประสบพบอยู่เสมอและครุ่นคิดถึงมันในชีวิตประจำวันได้แก่ เรื่องบังเอิญ, อุบัติเหตุ, โชค, โชคชะตา (chance, accident, luck, fortune) ทว่าจนแล้วจนรอด เราก็ยังอธิบายมันไม่ได้อยู่ดี หากเราลองไปเปิดค้นดูดรรชนีหัวเรื่องท้ายเล่มหนังสือวิชาการสำคัญๆ สักโหลสองโหล ก็จะไม่พบหัวเรื่องว่า “luck” หรือ “โชค” แน่ๆ

นี่เป็นเหตุผลหลักที่ในการเขียนบันทึกอัตชีวประวัติทางวิชาการและภูมิปัญญาของท่าน ครูเบ็นจึงเน้นเรื่องที่ท่านประสบโชคชะตาดีโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเวลาและสถานที่เกิด พ่อแม่และบรรพชน ภาษา การเข้าเรียนที่ต่างๆ การย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา และประสบการณ์ของท่านในเอเชียอาคเนย์ (pp.183-184)

ท้ายที่สุดครูเบ็นเองก็ไม่ได้เสนอแนวคิดทฤษฎีใดๆ เพื่ออธิบาย “เรื่องบังเอิญ, อุบัติเหตุ, โชค, โชคชะตา” ไว้ในหนังสือ ท่านเพียงแต่ใช้ศัพท์คำหนึ่งเรียกมันรวมๆ กันว่า “โอกาสที่ไม่คาดหมาย” (unexpected opportunities)

ในฐานะลูกศิษย์ ผมก็อยากลองคิดต่อจากที่ครูค้างไว้ว่าเราจะเข้าใจสิ่งที่ยากอธิบายเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ผมคิดว่ามันอาจเป็นกุญแจไขให้มองเห็นแบบแผนและความหมายโดยรวมของบันทึกทั้งเล่มว่าครูจำลองชีวิตปัญญาชนนักวิชาการของตัวเองไว้เป็นเรื่องเล่าอย่างไร

คำว่า “โชคชะตา” (fortune) และ “โอกาสที่ไม่คาดหมาย” (unexpected opportunities) ของครูเบ็นทำให้ผมคิดถึงงานปรัชญาการเมืองอันโด่งดังเรื่อง “เจ้าผู้ปกครอง” (The Prince, เผยแพร่ ค.ศ.1513 ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1532) ของนิกโคโล มาเคียเวลลี (ค.ศ.1469-1527) นักการทูต-การเมืองและนักคิดนักเขียนชาวอิตาลีในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (the Renaissance) ของยุโรป

ในงานเขียนแนะนำศาสตร์และศิลป์แห่งการใช้อำนาจแก่เจ้าผู้ปกครองโดยไม่อิงหลักคริสต์ศาสนาและปรัชญาคลาสสิคสมัยกรีกเล่มนี้ แนวคิดใจกลางของมาเคียเวลลีได้แก่คำคู่คือ [Fortuna & Virt?] หรือนัยหนึ่ง [โชคชะตา กับ พลานุภาพ] (ทางอัตวิสัยของคนเรา)

ขณะที่ “พลานุภาพ” ทางอัตวิสัยของคนเราหมายถึงคุณสมบัติอย่างเช่น พลังงาน ความกล้าหาญ การลงมือกระทำการ เป็นต้น “โชคชะตา” กลับหมายถึงสภาพการณ์ทั้งหลายทั้งปวงซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลิกลักษณะแห่งยุคสมัยที่ตนดำรงชีวิตอยู่ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของเจ้าผู้ปกครอง

ผมคิดว่าคำว่า “เรื่องบังเอิญ, อุบัติเหตุ, โชค, โชคชะตา” ในบันทึกของครูเบ็นใช้ในความหมายนี้ และฉะนั้น “โอกาสที่ไม่คาดหมาย” ที่ท่านเผชิญในชีวิตจึงไม่ใช่เป็นไปอย่างไร้เค้ารอยรูปพรรณสัณฐานเสียทีเดียว หากเกิดขึ้นภายใต้ โครงสร้างโอกาสชีวิต (life opportunity structure) บางอย่างอันเป็นบุคลิกลักษณะแห่งยุคสมัยที่ท่านดำรงชีวิตอยู่

แน่นอนว่าโครงสร้างโอกาสชีวิตดังกล่าวไม่ได้เป็นตัวลิขิตแต่ต้นว่าท่านจะต้องโชคดีหรือโชคร้าย ว่าความเป็นไปได้ต่อหน้าจะเปิดกว้างหรือปิดกั้นต่อท่าน แต่กระนั้นเรื่องบังเอิญ, อุบัติเหตุ, โชค, โชคชะตาประดามีของท่านก็ล้วนเกิดขึ้นภายในกรอบโครงสร้างโอกาสเหล่านี้ที่คอยล้อมรอบกำกับจำกัดมันอยู่

เมื่อดูจากบันทึกของท่าน ผมคิดว่าในชั่วชีวิตของครูเบ็น (ค.ศ.1936-2015) โครงสร้างโอกาสชีวิตที่สำคัญซึ่งส่งผลต่อโชคชะตาของครูได้แก่ โครงสร้างพรมแดนรัฐชาติทางการทั้งหลาย, โครงสร้างพรมแดนวัฒนธรรม-ภาษา-ความคิดที่สืบเนื่องแต่เหลื่อมซ้อนกัน และโครงสร้างพรมแดนของคณะสาขาวิชาการในระบบการศึกษาสมัยใหม่

ชีวิตของครูเบ็นตั้งแต่วัยเด็กจนเติบโต ทำงานสอนหนังสือ ศึกษาวิจัยและเคลื่อนไหวทางการเมือง เต็มไปด้วยการกระโดดข้ามไปข้ามมาและข้ามกลับไปกลับมาเหนือพรมแดนเหล่านี้

ท่านเกิดที่จีน ข้ามไปอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ข้ามไปไอร์แลนด์-อังกฤษเพื่อเรียนจนจบปริญญาตรี ข้ามกลับมาอเมริกาเพื่อทำงานสอนหนังสือและเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ข้ามไปอินโดนีเซียเพื่อทำวิจัยดุษฎีนิพนธ์จนได้ปริญญาเอก ข้ามมาไทยหลังร่วมเปิดโปงรัฐประหารและการฆ่าหมู่ครั้งใหญ่ในอินโดนีเซียโดยซูฮาร์โตจนถูกห้ามเข้าประเทศ ข้ามไปฟิลิปปินส์หลังสถานการณ์ปฏิวัติการเมืองไทยช่วงตุลาคม พ.ศ.2516-2519 และการต่อสู้ด้วยอาวุธหลังจากนั้นเริ่มซบเซาลง ข้ามกลับมาไทยหลังเกษียณ ข้ามกลับไปอินโดนีเซียหลังซูฮาร์โตถูกโค่น ฯลฯลฯลฯลฯ

พร้อมกันนั้น ท่านก็กระโดดข้ามพรมแดนวัฒนธรรม-ภาษา-ความคิดทั้งระหว่างและภายในรัฐชาติ โดยเฉพาะข้ามกายาวัฒนธรรม (the body cultural – แนวคิดของ Prasenjit Duara) ที่รัฐชาติต่างๆ สถาปนาขึ้นเป็นกรอบบูรณภาพและความมั่นคงทางวัฒนธรรมแห่งชาติในจินตนากรรมของตน เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกวัฒนธรรมหรือคำศัพท์ที่ไม่พึงปรารถนา (lexica non grata) ทั้งหลายแทรกซึมเข้ามาบ่อนทำลาย อันเป็นบ่อเกิดที่มาแห่งกะลานิยม (arrogant provincialism) หรือชาตินิยมคับแคบนั่นเอง

ครูเบ็นจึงกลายเป็นคนพหุภาษา (polyglot) และพหุวัฒนธรรม (multicultural) ทำงานแปล วิจัยภาคสนามและสังเกตเปรียบเทียบกลับไปกลับมาข้ามไปข้ามมาระหว่างภาษาและวัฒนธรรม อังกฤษ-อเมริกัน-ละติน-เยอรมัน-ฝรั่งเศส-รัสเซีย-ดัตช์-อินโดนีเซีย-ชวา-ไทย-สเปน เป็นเนืองนิตย์

โดยในกระบวนการนั้น ครูเบ็นก็ได้แปล/แปรคำต่างด้าวต่างภาษา (translated aliens) ข้ามพรมแดนภาษา-วัฒนธรรมจากภาษา-วัฒนธรรมต้นทางให้เข้ามาแปลงสัญชาติ (naturalized aliens) เป็นสมาชิกใหม่สังกัดภาษา-วัฒนธรรมปลายทาง – หรือแม้แต่เปลี่ยนความหมายนัยของคำที่มีอยู่แต่เดิมในภาษาปลายทางเดิม – โดยส่งผลสะเทือนเข้าไปกระทบแบบแผนสัมพันธภาพทางอำนาจหรือเส้นแบ่งระหว่างศัพท์แสงถ้อยคำในภาษาปลายทางดังที่เป็นอยู่ เช่น เปลี่ยนคำเรียกฝรั่งตะวันตกในภาษาอินโดนีเซียจาก putih (ขาว – มีนัยเจ้านายอาณานิคม) เป็น bulai/bule (ชมพู-เทา – ไม่มีนัยเจ้านายผิวขาว) เป็นต้น (pp.76-77)

รวมทั้งการศึกษาเปรียบเทียบ (comparison, comparative studies) ข้ามชาติ-ข้ามเวลา-ข้ามภาษาวัฒนธรรม ที่ในสายตาครูเบ็นเป็นยุทธศาสตร์ทางวาทกรรมอย่างหนึ่ง (a discursive strategy, p.130) ซึ่งหากใช้อย่างช่ำชองแหลมคมรู้เท่าทันว่าจะเปรียบเหมือน/เปรียบต่างกับอะไรอย่างไร ก็อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความตระหนกตระหนักรู้ใหม่ (surprise or shock of recognition) เหมือนดังเห็น ปีศาจแห่งการเปรียบเทียบ (the spectre of comparisons) โผล่พรวดขึ้นมาต่อหน้าต่อตาตน คือ

พลันเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น (เพราะมันปรากฏชัดที่อื่นไม่เหมือนที่บ้าน) พลันสังเกตสิ่งที่ไม่เคยสังเกต (ที่บ้านเพราะคุ้นชินเสียแล้ว) และพลันเข้าใจสิ่งที่ไม่เคยเข้าใจได้ (เปรียบเทียบที่อื่นกับที่บ้านทับซ้อนกัน) (ดู เกษียร, “เกาะบ่าครูเบ็น ส่องเลนส์อุดมการณ์ 3” https://www.matichonweekly.com/column/article_57617)

และสุดท้ายคือ แทนที่จะอบอุ่นสบายอยู่ในฐานะอันมั่นคงใต้กะลาแคบๆ แห่งคณะสาขาวิชาของตน (รัฐศาสตร์-การเมืองเปรียบเทียบ-เอเชียอาคเนย์ศึกษา) ครูเบ็นกลับเลือกกระโดดข้ามพรมแดนคณะสาขาวิชาดังที่เป็นอยู่ในระบบการศึกษาสมัยใหม่เวลาท่านคิดและวางคำถามวิจัย เช่น คลาสสิคศึกษา-รัฐศาสตร์-ประวัติศาสตร์-การเมืองเปรียบเทียบ-มานุษยวิทยา-วรรณกรรมศึกษา-ภาพยนตร์ศึกษา ฯลฯ จนผลิตงานชั้นเลิศที่มีลักษณะระหว่างสาขาวิชา (interdisciplinary) อย่าง Imagined Communities (ค.ศ.1983), Under Three Flags (ค.ศ.2005) ออกมาได้

สรุปก็คือ เมื่อเผชิญหน้าโครงสร้างโอกาสชีวิตที่เป็นกรอบโชคชะตา (Fortuna) แห่งยุคสมัยซึ่งเราเลือกไม่ได้ คุมไม่ได้ แต่ส่งผลกำหนดชะตากรรมเราได้นั้น ครูเบ็นเฮงสุดๆ (good luck) ตลอดชีวิตที่ผ่านมาเพราะครูเลือกกระโดดข้ามพรมแดนนานาชนิดกลับไปกลับมา ไม่ยอมสยบ-สงบนิ่ง-สบาย-พึงพอใจในตนเอง จนสามารถหลุดพ้นกรอบกะลาออกมาได้

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะพลานุภาพทางอัตวิสัย (Virt?) อันใดของครูเบ็นหรือ?

ครูตอบว่าคือจิตใจผจญภัย, พรักพร้อมและกล้าหาญ (the spirit of adventure, readiness & courage) ดังต่อไปนี้ :

“ในอินโดนีเซีย เมื่อคนถามคุณว่าคุณกำลังจะไปไหนแล้วคุณไม่อยากบอกเขาหรือคุณยังไม่ทันตกลงใจ คุณจะตอบว่า “lagi tjari angina” ซึ่งหมายความว่า “ข้ากำลังมองหาลมอยู่” ราวกับว่าคุณกำลังแล่นเรือใบออกจากท่ามุ่งสู่ทะเลเปิดอันกว้างไพศาล

“ในที่นี้การผจญภัยไม่ใช่ประเภทที่มีอยู่เต็มหนังสือซึ่งผมเคยอ่านเพลินสมัยเด็ก นักวิชาการผู้รู้สึกสะดวกสบายกับตำแหน่งในสาขาวิชา คณะหรือมหาวิทยาลัยจะไม่พยายามแล่นเรือใบออกนอกท่าหรือมองหาลม แต่สิ่งที่พึงถนอมรักคือความพร้อมที่จะมองหาลมและความกล้าหาญที่จะแล่นตามมันไปเมื่อมันพัดมาทางคุณต่างหาก หากจะยืมอุปมาอุปไมยเรื่องการจาริกแสวงบุญจากวิกเตอร์ เทอเนอร์ มาก็คือ การเดินทางทั้งทางกายภาพและความคิดล้วนสำคัญ จิม ซีเกล เคยบอกผมครั้งหนึ่งว่า :

“เบ็น คุณเป็นคนเดียวในหมู่เพื่อนและคนรู้จักของผมที่อ่านหนังสือหนังหาซึ่งไม่เกี่ยวกับสาขาวิชาของคุณเองเลย” ผมถือว่านั่นเป็นคำชมที่ใหญ่หลวงเลยทีเดียว”