เราเรียนรู้อะไร ? จากเทนนิส US Open 2018

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์

 

เราเรียนรู้อะไรจากเทนนิส US Open 2018

 

ใครที่เฝ้าชมและเชียร์การชิงชนะเลิศของเทนนิสระดับแกรนด์สแลม สุดท้ายของปีอย่าง US Open 2018 ที่ชิงชัยหาแชมป์กันไปเมื่อวันเสาร์ที่ 8 กันยายน และวันอาทิตย์ที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา คงจะเห็นถึง “ดราม่า” มากมายที่เกิดขึ้น ทั้งจากคู่ชิงหญิงเดี่ยว และคู่ชิงชายเดี่ยว

เริ่มจากคู่ชิงหญิงเดี่ยวก่อน เพราะแข่งกันในวันเสาร์ก่อนคู่ชาย

โอ้โฮ…คู่นี้ดราม่าสนุกเข้มข้นตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มแข่งขัน

ทั้งนี้ เป็นการโคจรมาเจอกันของคู่แข่งขันที่แตกต่างกันสุดขั้ว คือ เซเรนา วิลเลียมส์ ผู้อยู่บนคอร์ตเทนนิสมา 20 ปี ด้วยวัย  34 ปี เธอได้แชมป์หญิงเดี่ยวรายการประเภทแกรนด์สแลมต่างๆ มาแล้ว 23 รายการ

และนี่เป็นการลุ้นที่จะครองแชมป์ US Open ในแผ่นดินบ้านเกิดสมัยที่ 7

ตรงข้ามกับคู่ต่อกรของเซเรนา คือ นาโอมิ โอซากะ ที่อยู่บนคอร์ตเทนนิสอาชีพมาแค่ 4 ปี ยังไม่เคยได้แชมป์แกรนด์สแลมใดๆ เลย

นี่เป็นการเข้าชิงครั้งแรก ด้วยวัยแค่ 20 ปี

ตอนที่เซเรนาได้แชมป์รายการแรก นาโอมิเพิ่งจะอายุได้เพียง 1 ขวบเท่านั้น ซึ่งในสายตาของเธอ เซเรนาก็คือไอดอลของนักเทนนิสรุ่นหลังอย่างเธอนั่นเอง

และในวันนี้ เธอได้มาประฝีมือกับไอดอลของเธอ แถมเป็นการเจอกันในรอบสูงสุดคือรอบไฟนอลของศึกใหญ่อย่าง US Open เสียด้วย ใครจะไปนึก

คนหนึ่งกำลังไขว่คว้าหาแชมป์แกรนด์สแลมรายการแรก ซึ่งก็ไม่แปลกหากเธอคนนั้นจะพลาดหวัง การได้สู้กับเซเรนาในรอบชิงก็ถือว่าเป็นโอกาสที่สำคัญแล้ว แม้สุดท้ายจะแพ้ได้เพียงรองแชมป์ ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว

ส่วนอีกคนหนึ่งกำลังไขว่คว้าหาแชมป์แกรนด์สแลม ครั้งที่ 24 เพื่อสร้างสถิติขึ้นใหม่ทั้งกับตัวเธอและกับประวัติศาสตร์นักกีฬาเทนนิสหญิง

เพียงเท่านี้ก็เป็นดราม่าที่น่าสนใจ น่าลุ้น น่าเชียร์แล้ว

และหากจบลงด้วยการชูถ้วยแชมป์ของเซเรนา ทุกอย่างคงเป็นแฮปปี้เอนดิ้งสำหรับทุกฝ่าย

แต่ในความเป็นจริง การกลับพลิกผันเหมือนชะตากลั่นแกล้ง

 

โอซากะเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม เอาชนะเซเรนาไปได้ด้วยสกอร์ 6-2 นั่นเพียงพอให้เซเรนาอารมณ์เสีย

และเมื่อต้องเผชิญกับการตัดสินของกรรมการที่จะไม่ขอลงรายละเอียดว่าใครผิดใครถูก เซเรนาจึงสติแตก จนพ่ายไปในเซ็ตที่ 2 ด้วยสกอร์ 6-3  ทั้งที่เป็นฝ่ายนำไปแล้วถึง 3-1 เกม

ดราม่าที่เกิดกับเซเรนาคือ การพลาดแชมป์ที่สมควรจะได้ต่อหน้าแฟนๆ ร่วมชาติทั้งสนามที่ล้วนส่งเสียงเชียร์เธอ และเป็นการแพ้ด้วยการโดนหักแต้มถึง 3 กรณี แถมโดนปรับเป็นเงินจำนวนสูงในภายหลัง ทำให้เราได้เห็นภาพความกราดเกรี้ยวใส่กรรมการด้วยความไม่พอใจของเธอ การทุบไม้เทนนิสจนบุบบู้บี้ การชักสีหน้าไม่พอใจตลอดการแข่งขัน

ยังดีที่ในตอนรับถ้วยรางวัล เธอได้กล่าวให้ผู้ชมได้ร่วมแสดงความยินดีกับผู้ชนะอย่างโอซากะ แม้จะยังแอบจิกกัดกรรมการอยู่เช่นเดิมก็ตาม

จริงๆ แล้ว เหตุการณ์จะไม่ดราม่าขนาดนี้ ถ้าเซเรนาแพ้ด้วยฝีมือที่สู้ไม่ได้จริงๆ ของเธอ เธอคงจะแฮปปี้กว่านี้ และยิ้มรับได้อย่างสบายใจ

เมื่อเหตุการณ์คุกรุ่นและฉาบไปด้วยความตึงเครียด บนความผิดหวังทั้งจากเซเรนาเอง และจากแฟนๆ อเมริกันเต็มสนาม จึงทำให้ชัยชนะของโอซากะครั้งนี้จึงไม่สามารถทำให้เธอดีใจได้สุดๆ ไม่สามารถมีความสุขกับผลงานที่ทำได้อย่างเต็มที่ ทั้งที่มันควรจะเป็นเช่นนั้น

ตอนที่เธอปิดแมตช์ลงได้ เธอเอาหมวกลงมาปิดหน้าเพื่อซ่อนน้ำตาและความรู้สึกลึกๆ

แม้ระหว่างพิธีการมอบรางวัล เราจะไม่ได้เห็นรอยยิ้มของเธอเลย มีแต่ดวงตาที่ครุ่นคิดหม่นเศร้าสับสน น่าเห็นใจเด็กสาวอายุเพียง 20 ปีต้องมาแบกรับกับภาวะที่ใหญ่โตเช่นนี้

เชื่อว่าหลังจากนี้เธอจะแข็งแกร่งขึ้นอีกมาก

 

สิ่งที่เราเห็นจากเหตุการณ์ครั้งนี้คือ เรื่องของอารมณ์ที่ไม่เคยให้คุณกับใครเลย หลายอย่างที่เกิดกับเซเรนา อาจจะไม่สร้างให้เหตุการณ์บานปลายขนาดนี้ หากเธอรู้จักระงับอารมณ์กว่านี้ ในเซ็ตที่ 2 เธอนำไปแล้วถึง 3-1 เกม และหากเธอประคองสติเธอก็อาจปิดเกมได้ และไปปิดแมตช์คว้าชัยชนะในเซ็ตที่ 3 ก็เป็นไปได้

ในขณะที่เซเรนาเป็นภาพของคนมากอารมณ์ เราได้เห็นภาพของโอซากะ เป็นภาพของคนเก็บความรู้สึก ช่างแตกต่างกันเสียจริงๆ

และนั่นอาจเป็นความแตกต่างของเชื้อชาติระหว่างคนตะวันตกที่นิยมแสดงออกอย่างชัดเจน แจ่มแจ้ง

ในขณะที่คนตะวันออกจะมีความสุภาพ เก็บงำความรู้สึกได้มากกว่า โดยเฉพาะเราได้เห็นท่าทีที่อ่อนน้อมของโอซากะตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่น

นอกจากนั้น เรายังได้เห็น “สัจธรรม” ของความไม่แน่นอนบนโลกใบนี้

ของตายสำหรับตำแหน่งแชมป์ที่อยู่ใกล้แค่เอื้อมของนักเทนนิสที่ยิ่งใหญ่อย่างเซเรนาก็ยังพลาดได้ โลกนี้จึงไม่มีอะไรที่แน่นอนจริงๆ

ใครที่มีตัวตน มีอัตตา มีศักดิ์ศรีเยอะๆ ก็อย่าทะนงตนไป เพราะอาจมีคนที่เก่งกว่าคุณทั้งที่เป็นผู้มาทีหลังและห่างชั้นกันมากก็ได้

คนที่เคยชนะก็แพ้ได้ คนที่เริ่มต้นจากศูนย์ก็สำเร็จได้

 

เหมือนเช่น “คู่ชิงชาย” เช่นกันที่มีดราม่าให้ได้เรียนรู้ หากไม่ได้เป็นดราม่าแบบแซบๆ อย่างคู่ชิงหญิง แต่ก็สอนใจอะไรเราได้ไม่น้อย

คู่ชิงชายเป็นการชิงกันระหว่างโนวัก ยอโควิก นักหวดชาวเซิร์บผู้ได้แชมป์แกรนด์สแลมมาแล้ว 12 รายการ และเป็นแชมป์ US Open มาแล้ว 2 สมัย

โคจรมาเจอกับฮวน มาร์ติน เดลปอโตร นักเทนนิสชาวอาร์เจนตินา ที่เคยได้แชมป์แกรนด์สแลมมาแล้ว 1 รายการ และรายการนั้นก็คือ US Open เมื่อ 9 ปีก่อนนั่นเอง เดลปอโตรหวังว่าเขาจะทำได้อีกครั้ง

ดราม่าของทั้งคู่คือ “การต่อสู้กับอาการบาดเจ็บ” ซึ่งถือว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมาของนักกีฬาทุกคน ยอโควิกนั้นต้องหยุดการเล่นเทนนิสเมื่อกลางปีที่แล้ว ในขณะที่ลงแข่งขันศึกวิมเบิลดันอยู่ แต่ต้องถอนตัวกลางคันเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บที่ข้อศอก

ครั้งนั้นทำให้เขาต้องพักรักษาตัวร่วม 6 เดือน กว่าจะกลับมาลงคอร์ตอีกครั้งในต้นปี 2018 ในศึกออสเตรเลียน โอเพ่น แต่ก็ทำได้แค่รอบ 4 เพราะร่างกายยังไม่สมบูรณ์

เมื่อต้องหยุดเล่นไปนาน ทำให้อันดับโลกของเขารูดลงไปอย่างมาก การได้กลับมาสู่คอร์ตอีกครั้งก็ไม่รู้ว่าจะสามารถกลับคืนสู่ตำแหน่งเบอร์ 1 ได้อีกเมื่อไหร่

ส่วนเดลปอโตรนั้นหนักหนากว่ายอโควิก เพราะเมื่อ 4 ปีก่อนเขาต้องหยุดพักรักษาอาการบาดเจ็บไปถึง 2 ปี จนเกือบจะถอดใจเลิกเล่นเทนนิสไปแล้ว

แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเขาตัดสินใจกลับมาจับแร็กเก็ตอีกครั้ง เขาก็พบกับความสุขในชีวิต แม้จะต้องค่อยๆ เก็บสะสมคะแนนเพื่อไต่อันดับโลกขึ้นมาก็ตาม

ในศึก US Open ครั้งนี้ จึงเป็นผลตอบแทนของความเป็นนักสู้ของทั้ง 2 คน และผลก็ออกมาเป็นยอโควิกที่เล่นได้อย่างยอดเยี่ยมเอาชนะไปได้ 3-0 เซ็ต

ตอนจบแมตช์ลง ทั้งสองต่างร้องไห้ออกมา ยอโควิกร้องด้วยความปลาบปลื้มใจที่ตนกลับมาได้อีกครั้ง ทั้งในอันดับโลกเบอร์ 1 และการคว้าแชมป์แกรนด์สแลมเพิ่มอีกเป็นครั้งที่ 13 นั่นคือรางวัลของการอดทนต่อสู้ฟันฝ่าไม่ยอมแพ้ของเขา

ส่วนเดลปอโตรที่ร้องไห้ออกมาก็ด้วยความตื้นตันว่า จากวันที่เขาเกือบจะเลิกเล่นเทนนิสไปเลยตลอดชีวิต มาถึงวันนี้ที่เขากลับมาสู่รอบชิงรายการ US Open ซึ่งเขาเคยเป็นแชมป์มาแล้วในปี 2009 แม้ครั้งนี้จะได้ตำแหน่งรองแชมป์ แต่ก็เพียงพอกับความสุขใจที่เขาก้าวข้ามอุปสรรคในชีวิตมาได้

เราได้เรียนรู้จากคนทั้งคู่ว่า ในวันที่คุณสำเร็จคุณก็อาจจะล้มเหลวได้ในวันข้างหน้า แต่เมื่อคุณล้มจมดิ่งในโชคชะตา หากคุณไม่ยอมแพ้ คุณก็สามารถลุกขึ้นมายืนได้อีกอย่างสง่างาม

นอกจากสัจธรรมของความไม่แน่นอนที่เห็นกันชัดๆ แล้ว

เรายังเห็นถึงพลังของการไม่ยอมแพ้ของมนุษย์ที่สมควรยกย่องอย่างยิ่งด้วย

ใน 2 วันของรอบชิงชนะเลิศหญิงและชายของศึก US Open 2018 นี้ เราได้เรียนรู้อะไรมากมายจริง ว่าไหมครับ