สุจิตต์ วงษ์เทศ / ลาวพวนเลาะทางหลวง เพลงดนตรีไทย สำเนียงลาว

แผ่นเสียงเพลงลาวพวนเลาะทางหลวง โดยแตรวงทหารเรือ ผลิตสมัย ร.5 (ภาพจากนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ลาวพวนเลาะทางหลวง

เพลงดนตรีไทย สำเนียงลาว

 

เพลงสำเนียงลาวมีไม่น้อยอยู่ในดนตรีไทย โดยไม่จำแนกแยกย่อยว่าเป็นลาวไหน? แต่เข้าใจอย่างรวมๆ กว้างๆ ว่า ลาวอีสาน-เวียงจัน กับ ลาวล้านนา-ล้านช้าง

แต่น่าประหลาดที่มีเพลงลาวพวน

 

เพลงลาวพวน

 

หลายสิบปีมาแล้ว ครูสมชาย ทับพร (ขณะเป็นข้าราชการกรมศิลปากร ตำแหน่งคนร้องเพลงไทยประกอบโขนละคร) ลงทุนทำขายเองเทปเพลงปี่พาทย์ชุดสิบสองภาษา มีเพลงลาวพวนเลาะทางหลวง คำร้องขึ้นต้นว่า “เจ้านกเขาขัน—-” ครูสมชายบอกว่าได้จากบ้านจางวางทั่ว พาทยโกศล (วัดกัลยาณ์)

ฟังแล้วแปลกดี ตอนนั้นไม่ติดใจสงสัยอะไร เพราะตั้งใจว่าถ้าเขียนเล่าความเป็นมาถึงจะสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม แต่แล้วก็ลืม

เมื่อเร็วๆ นี้คุยทางโทรศัพท์กับหมอพูนพิศ อมาตยกุล เรื่องเพลงสิบสองภาษา แล้วนึกขึ้นได้จึงสอบถามได้ความสรุปย่อๆ ที่มาของเพลงลาวพวนเลาะทางหลวง ว่าน่าจะเป็นเพลงทำขึ้นโดยครูแตรวงข้าราชบริพาร กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงปกครองมณฑลลาวพวน (มีที่ทำการครั้งแรกอยู่เมืองหนองคาย ครั้งหลังย้ายไปอยู่เมืองอุดรธานี) แต่บางส่วนหมอพูนพิศเคยเขียนปนกับเพลงลาวดาวหาง ในสยามรัฐรายวัน (ฉบับวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2527)

หมอพูนพิศส่งให้ฟังทางออนไลน์ เพลงลาวพวนเลาะทางหลวง (พร้อมโน้ตสากล) เป็นเพลงบรรเลงโดยแตรวงทหารเรือ บันทึกเสียงและทำแผ่นเสียงสมัย ร.5

ครูสุเชาว์ หริมพานิช (สอนดนตรีปี่พาทย์ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ฟังแตรวงแล้วบอกว่าใกล้ไปทางเพลงเขมรชมดง แต่แปลงเป็นสำเนียงลาว

 

เลาะทางหลวง

 

เพลงลาวพวนเลาะทางหลวง ยังหาคำอธิบายจุใจไม่ได้ว่าเลาะทางหลวงหมายถึงอะไร?

เลยคิดไปเองโดยเดาเทียบเคียงอย่างอื่นๆ ว่าหมายถึงเพลงเลียนอย่างทำนองของราชสำนัก (ทาง หมายถึง ทำนอง เช่น ทางนอก-ทางใน, หลวง หมายถึง ราชสำนัก-ราชการ)

แต่หลายคนยังไม่รับคำอธิบายนี้ จึงเปิดกว้างฟังความเห็นอย่างอื่นต่อไปอีกไม่อั้น

 

คนพวน

 

คนพวน เป็นคนที่ราบสูง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของลาว ติดพรมแดนเวียดนาม มีหลักแหล่งดั้งเดิมบริเวณที่ราบสูงทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง

พวน แปลว่า ที่ราบสูง, ที่สูง เป็นคําเดียวกับพูน, โพน

คนพวนนับถือศาสนาผี เชื่อเรื่องขวัญ, ผู้หญิงเป็นนาย ผู้ชายเป็นบ่าว, กินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก, กับข้าวเน่าแล้วอร่อย, เรือนเสาสูง มีใต้ถุน, พิธีศพนานหลายวัน ฯลฯ ต่อมาเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ ราวหลัง พ.ศ.1800 แต่ก็เป็นผีปนพุทธ

เมืองคูน หมายถึงเมืองอยู่บนที่เนินสูง เป็นศูนย์กลางเก่าของชาวพวน หรือเมืองพวนเก่า (คูน แปลว่าบริเวณที่เนินสูง ตรงกับคําภาคใต้ว่า ควน)

ลาวพวนเป็นชื่อที่คนไทยภาคกลางเรียกคนพวนด้วยเหตุหลายอย่าง แต่อย่างสำคัญเพราะคนพวนส่วนมากถูกกวาดต้อนจากลาว คราวศึกเจ้าอนุวง สมัย ร.3 (ราว 190 ปีมาแล้ว) เลยเรียกเหมารวมว่าลาวพวน มีเพลงลาวแพนเกี่ยวข้องกับลาวถูกกวาดต้อนครั้งนั้น

[เพลงลาวแพน หมายถึง เพลงสําเนียงลาวหลายทํานองร้อยต่อกันเป็นพืดยืดยาว คําร้องลาวแพนมี 2 สํานวน ได้แก่ สํานวนพระลอ กับ สํานวนตีเวียงจัน เฉพาะสํานวนตีเวียงจัน พรรณนาความทุกข์ยากของคนลาวเชลยที่ถูกกวาดต้อนลงไปเมืองไทย สมัยศึกเจ้าอนุวง ไม่ทราบนามผู้แต่ง แต่น่าจะแต่งโดยครูดนตรีสังกัดวังหน้า ราวสมัย ร.4, ร.5]

มีบางชื่อไม่เกี่ยวกับคนพวน เช่น สงลำพวน

เพลงสงลําพวน หรือ เพลงสงคอลําพวน หมายถึง เพลงร้องเล่น (หลังนวดข้าวในลาน) ขณะร่อนเศษผงเศษฟาง และเมล็ดข้าวลีบออกจากกองเมล็ดข้าวเปลือก

สง แปลว่า เขย่าเลือกเศษๆ ทิ้งไป, ใช้คันหลาวไม้ยาวยกฟางออกจากกองให้เมล็ดข้าวเปลือกหลุดหล่นออกจากฟาง

ลําพวน หมายถึง เศษฟาง และข้าวลีบที่คัดออกแล้วหลังจากนวด (ข้าว) (ไม่หมายถึง หมอลําแบบพวนตามที่มีผู้กล่าวขาน)

 

สําเนียงภาษาพวน

 

คนพวน พูดตระกูลภาษาไต-ไท (หรือ ไท-กะได) หรือภาษาพวน สําเนียงพวน

อักษรพวนไม่มี แต่ในสมัยโบราณจารคัมภีร์หรือตําราบนใบลานด้วยอักษรธรรมลาว หรือตัวธรรมลาว (ได้จากอักษรธรรมของรัฐล้านนา)

 

คนพวนเชียงขวาง ในลาว เป็นใคร?

 

คนพวน และเมืองพวน มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาทั้งของผู้คนและดินแดน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว เป็นส่วนหนึ่งอย่างแยกจากกันมิได้ของสุวรรณภูมิ (ซึ่งเป็นอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป) ในอาเซียน

คนพวนมีบรรพชนร่วม และมีวัฒนธรรมร่วมกับคนอุษาคเนย์ หรืออาเซียน

คนเป็นพวน เพราะพูดภาษาพวน ล้วนมีบรรพชนเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมบริเวณที่ราบสูงทางตะวันออกเฉียงเหนือของลาว อยู่ปะปนกันหลายกลุ่มหลายเหล่าเมื่อหลายพันปีมาแล้ว

คนกลุ่มนี้มีเทคโนโลยีก้าวหน้า ทําไหหินเก็บกระดูกคนตาย ตั้งไว้กลางทุ่งราบกว้างใหญ่ ปัจจุบันเรียก ทุ่งไหหิน (ไหหิน เป็นต้นแบบโกศสมัยหลังๆ จนปัจจุบัน ตามความเชื่อเรื่องขวัญในศาสนาผีของทุกเผ่าพันธุ์ในอุษาคเนย์)

หลังการค้าโลก เมื่อมีการค้ากับจีนและนานาชาติอย่างกว้างขวางทางทะเลอ่าวไทย ทําให้ตระกูลภาษาไต-ไท (หรือ ไท-กะได) เป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน บรรดาบรรพชนคนพวนที่พูดภาษาต่างกัน ก็พูดภาษากลางเป็นภาษาไต-ไท แล้วเรียกภาษาพวน กับเรียกตนเองว่าพวน