การศึกษา / ถอดรหัสปมตั้งคน ‘เกษียณ’ สภาเปิดเกมรุก ‘อุ้ม’ 60 ปีเป็นอธิการฯ

การศึกษา

 

ถอดรหัสปมตั้งคน ‘เกษียณ’

สภาเปิดเกมรุก ‘อุ้ม’ 60 ปีเป็นอธิการฯ

 

ดูท่าจะจบลงได้ยาก กับปัญหาเกษียณอายุราชการแล้ว อายุเกิน 60 ปี เป็นอธิการบดีได้-ไม่ได้

แม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น โดยให้เพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กาญจนบุรี ที่แต่งตั้งนายปัญญา การพานิช เป็นรักษาราชการแทนอธิการบดี มรภ.กาญจนบุรี เพราะเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ถึงขั้น นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. จะออกมาพูดในทำนองเดียวกันว่า แม้คำสั่งนี้จะมีผลเฉพาะ มรภ.กาญจนบุรี แต่มหาวิทยาลัยอื่นต้องดู เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องอีก และไม่จำเป็นต้องมีเกณฑ์กลาง เพราะศาลได้ตัดสินแล้วว่าห้ามผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีเป็นอธิการบดี หรือรักษาการอธิการบดี ซึ่งเดิมที่มีการตีความไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะมีข้อกำหนดว่าการสรรหาอธิการบดีให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัย

แต่เมื่อศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้วว่า ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ต้องอายุไม่เกิน 60 ปี เท่ากับว่าที่ทำกันมาเป็น 10 ปี ได้รับการตัดสินแล้วว่า ทำไม่ได้!!

มหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกฟ้อง ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้ถูกฟ้อง สภามหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบ หาทางออกแก้ปัญหาให้ได้…

สั่งการให้นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) นัดนายกสภามหาวิทยาลัย 58 แห่ง เคลียร์ปัญหาให้ลงตัว

แต่ดูเหมือนว่าผลการประชุมกลับจะทำให้เรื่องลุกลาม เพราะนอกจากจะไร้ข้อสรุปแล้ว ยังเหมือนเป็นการ ‘อุ้ม’ อธิการบดีที่อายุเกิน 60 ไปกลายๆ

 

โดยนายสุภัทรกล่าวว่า ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เป็นเพียงข้อเสนอ ซึ่งสรุปแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ 4 แนวทาง รวมถึงมีข้อเสนอถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในแต่ละแนวทาง โดย สกอ.จะสรุปข้อเสนอทั้งหมดส่งให้ นพ.ธีระเกียรติพิจารณา เพื่อให้ตัดสินว่าจะเลือกแนวทางใด

อายุไม่ได้บ่งบอกถึงคุณภาพการทำงาน และการที่จะให้สภาไปสั่งให้ลาออก เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดก็ไม่สามารถทำได้ เพราะ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนดชัดเจนว่าอธิการบดีจะพ้นจากตำแหน่งได้ในกรณีใดบ้าง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่อธิการบดีมีอายุ 60 ปี

ขณะเดียวกันคำสั่งศาลก็จะมีผลผูกพันเฉพาะกรณีเท่านั้น ส่วนกรณีผู้ที่อายุเกิน 60 ปีและอยู่ระหว่างรอเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ซึ่งมีอยู่จำนวน 3 แห่งนั้น จะต้องเสนอเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณา ว่าจะดำเนินการอย่างไร

“นายกสภายังมีข้อตำหนิ สกอ. และ ศธ.ว่า ไม่ออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับอายุของอธิการบดีว่า ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งอธิการบดีนั้นอายุเกิน 60 ปีได้หรือไม่ ผมก็ได้ชี้แจงไปว่า สกอ.ไม่มีอำนาจ แต่ทั้งนี้จะนำข้อสรุปทุกอย่างเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณา ที่สำคัญยังได้หารือกรณีการสรรหาอธิการบดีใหม่นั้นก็จะต้องระมัดระวังให้มาก เนื่องจากสภาและ สกอ.ไม่อยากเห็นการฟ้องร้องในมหาวิทยาลัย เพราะจะทำให้มหาวิทยาลัยบอบช้ำ และไม่สามารถที่จะพัฒนางานมหาวิทยาลัยต่อไปได้ ล่าสุดเพิ่งมีคนร้องเรียนเข้ามาว่า มีผู้ที่อายุเกิน 60 ปีแล้วมาสมัครเข้ารับการสรรหาด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไปห้ามไม่ได้ เพราะในกฎหมายของมหาวิทยาลัยไม่ได้ห้าม” นายสุภัทรกล่าว

แว่วว่า ที่ประชุมนายกสภามีข้อเสนอให้ใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 แก้ไขคำสั่ง คสช. ที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวไม่มีความชัดเจน ดังนั้น ก็ต้องแก้ให้ชัดว่า ผู้ที่อายุเกิน 60 ปี เป็นอธิการบดีได้หรือไม่ได้ เพราะสภาจะขยับไปทางไหนก็โดนฟ้องหมดทุกทาง

นายช่วงโชติ พันธุเวช นายกสภา มรภ.ยะลา กล่าวว่า นายกสภาที่เคยเป็นอัยการ ก็ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวมีผลเฉพาะ มรภ.กาญจนบุรี หากไปยึดตามแล้วบังคับให้อธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปีลาออก เขาก็มีสิทธิฟ้องสภาได้เช่นกัน

 

คําสั่งศาลปกครองสูงสุดยังไม่ถือว่าเป็นกฎหมายที่ใหญ่ที่สุด เพราะยังมี ม.44 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ครอบอยู่ หากแก้โดยใช้ ม.44 ก็จะไม่เป็นปัญหา

จะฟ้องกี่ศาลก็ไม่ชนะ!!

จากที่หวังว่า การประชุมครั้งนี้จะพบแนวทางแก้ปัญหา แต่ข้อเสนอที่ออกมา กลับตอกย้ำว่า ‘สกอ.’ เป็นเพียงเสือกระดาษ ไร้อำนาจสั่งการ

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสายสัมพันธ์ที่โยงใย นายกสภา และกรรมการสภา ส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้บริหารระดับสูง ‘เคย’ เป็น ‘นาย’ คน สกอ.มาก่อน

การจะใช้อำนาจสั่งการ จึงอาจยังมีความเกรงใจอยู่

 

ทันทีที่ทราบมติดังกล่าว ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เตรียมปลุกเครือข่าย เคลื่อนไหวทันที ย้ำหนักแน่นต้องทำตามกฎหมาย ยึดแนวคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น

นายเชษฐา ทรัพย์เย็น ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มรภ.ธนบุรี ประธานกลุ่มส่งเสริมธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนแนวทางที่ทางกลุ่มจะไม่รับและคัดค้านอย่างเต็มที่คือ การกดดันให้ คสช. ใช้อำนาจ ม.44 ลบล้างคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ซึ่งไม่มีประเทศไหนทำกัน และถ้ารัฐบาลนี้ทำ ก็ถือว่าเสื่อมอย่างมาก และเตรียมประสานเครือข่ายมหาวิทยาลัยต่างๆ แจ้งความเอาผิดสภามหาวิทยาลัย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ทั้งนี้ จากข้อมูลผลสำรวจของที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน  2561 พบว่า มี มรภ. และ มทร. ที่มีอายุเกิน 60 ปี ดังนี้ มรภ.จันทรเกษม  63 ปี มรภ.เทพสตรี 66 ปี มรภ.ธนบุรี 63 ปี มรภ.พระนคร 74 ปี มรภ.เพชรบุรี 61 ปี มรภ.รำไพพรรณี 67 ปี มรภ.เชียงใหม่ 69 ปี มรภ.นครสวรรค์ 65 ปี มรภ.พิบูลสงคราม 61 ปี มรภ.ลำปาง 64 ปี มรภ.อุตรดิตถ์ 71 ปี มรภ.นครราชสีมา 63 ปี มรภ.บุรีรัมย์ 66 ปี มรภ.มหาสารคาม 65 ปี มรภ.ร้อยเอ็ด 65 ปี มรภ.อุดรธานี 76 ปี มรภ.สงขลา 69 ปี มรภ.สุราษฎร์ธานี 67 ปี

ขณะที่ มทร. ที่อายุเกิน 60 ปี ดังนี้ มทร.สุวรรณภูมิ อายุ 68 ปี มทร.พระนคร อายุ 64 ปี มทร.รัตนโกสินทร์ อายุ 65 ปี และมทร.อีสาน จะเกษียณอายุราชการ 30 กันยายน 2561

อีก 5 แห่งที่เหลือ อธิการบดีอายุ ‘น้อยกว่า 60 ปี’

 

ล่าสุดนายสุรศักดิ์ ศรีกระจ่าง ผู้ช่วยอธิการบดี มรภ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีได้ยื่นใบลาออกแล้วอีกราย เพื่อแสดงสปิริตปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กรณีผู้บริหารมหาวิทยาลัยรัฐอายุเกิน 60 ปีไม่ได้ ขณะที่ก่อนหน้านั้นนายปัญญา คามีศักดิ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (มร.มจ.) และนายชูศักดิ์ เอกเพชร รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ซึ่งมีอายุเกิน 60 ปี ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งไปแล้วเช่นกัน

‘สปิริต’ ถือเป็นข้อเรียกร้องอย่างหนึ่ง

เรื่องของอำนาจไม่เข้าใครออกใคร แต่ถ้ายึดติด ยึดนานเกินไป อาจส่งผลร้ายต่อ ‘การศึกษา’ มากกว่าดี!!

ได้แต่หวังว่าคนอุดมศึกษาจะคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว

ไม่เช่นนั้น คงฝากอนาคตประเทศไว้กับอุดมศึกษาได้ยาก…