โรคระบาด ตามเส้นทางการค้าทางทะเล ในไบเบิล ภาคพันธสัญญาเก่า ไม่ใช่ริดสีดวง แต่เป็นกาฬโรค

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ข้อความในพระธรรม 1 ซามูเอล (I Samuel 5 : 1-6) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพระคัมภีร์ (bible แปลตรงตัวว่า พระคัมภีร์) ของชาวคริสต์ ภาคพันธสัญญาเก่า (The Old Testament) ว่าด้วยบทลงโทษของพระเจ้าต่อชาวฟิลิสไตน์ (Philistines) ที่เมืองแอชดอด หลังจากที่พวกฟิลิสไตน์ลบหลู่พระองค์ด้วยการนำหีบพันธสัญญา ) ไปตั้งไว้ในเทวสถานแห่งเทพดากอน (Dagon)

โดยพระองค์ได้ทำลายเทวรูปของเทพดากอนทิ้ง พร้อมกับบันดาลให้นักบวชและผู้นับถือเทพดากอนในเมืองแอชดอดประสบภัยจากการระบาดของโรคที่มีชื่อเรียกอยู่ในพระคัมภีร์ว่า “emerod”

และถึงแม้ว่า “emerod” จะเป็นรากศัพท์ของคำว่า “hemorrhoid” คือ “โรคริดสีดวงทวาร”

แต่ก็คงจะแปลกดีนะครับ ถ้าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงบันดาลให้เมืองใดก็ตามเกิดโรคริดสีดวงระบาด?

ฮันส์ ซินส์เซอร์ (Hans Zinsser) นักบัคเตรีคนสำคัญชาวอเมริกัน (ล่วงลับ) ได้แสดงความคิดเห็นไว้ใน Rats, Lice and History The Biography of a Bacillus หนังสือว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับบัคเตรี (แบคทีเรีย) เล่มคลาสสิคของโลกที่ท่านเขียนขึ้นเองว่า ยังมีคำศัพท์โบราณอย่างคำว่า “ophalim” และ “teharim” ที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “emerod” ซึ่งหมายถึง อาการบวมพอง หรืออาการปูดนูน

ดังนั้น โทษทัณฑ์ที่พระเจ้าบรรจงมอบให้แก่ชาวเมืองแอชดอด จึงคงจะไม่ใช่เหตุการณ์ตายหมู่จากโรคในที่ลับอย่างริดสีดวงระบาดหรอกครับ

 

ซินส์เซอร์ได้อธิบายต่อไปว่า บทเพลงสดุดี (Psalms 78 : 66) ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในพันธสัญญาเก่าเช่นเดียวกับพระธรรม 1 ซามูเอล ได้กล่าวถึงการลงทัณฑ์ของพระเจ้าต่อศัตรูของพระองค์ “ในส่วนที่มองไม่เห็น” (in the hinder parts.) ซึ่งในพระคัมภีร์ทัลมุด (Talmud) ของศาสนายูดาย และพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาอาราเมคที่เก่าแก่มากๆ ระบุความตรงนี้ร่วมกับคำว่า “ophalim” ตรงกับอาการของกาฬโรคที่จะปวดบวมในบริเวณรักแร้หรือขาหนีบ ในขณะที่โดยทั่วไปนั้น คำว่า ophalim จะหมายถึงอาการบวมพอง หรืออาการปูดนูนโดยทั่วๆ ไป ไม่ระบุชี้เฉพาะว่าเกิดในที่ลับอย่างพระคัมภีร์ฉบับเก่าแก่ทั้งสองฉบับ

นอกจากนี้ ซินส์เซอร์ยังได้อ้างถึงความเห็นของเจมส์ เฮสติ้งส์ (James Hastings) ที่เขียนไว้ใน Dictionary of the Bible งานคลาสสิคอีกชิ้นหนึ่งในโลกหนังสือตะวันตกที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นชุด 4 เล่มจบเมื่อปี ค.ศ.1898-1902 (พ.ศ.2441-2445) ว่าเฮสติ้งส์เองก็ไม่เชื่อว่าโรค emerod ที่เมืองแอชดอดจะเป็นโรคริดสีดวงทวาร และพยายามเชื่อมโยงข้อมูลว่าน่าจะหมายถึงกาฬโรค (Black Death) มากกว่า

หากเป็นอย่างที่ซินส์เซอร์และเฮสติ้งส์ได้เสนอไว้ ภัยร้ายที่เมืองแอชดอดก็ควรจะเกิดขึ้นจากการระบาดของกาฬโรคมากกว่า ไม่ว่าโรคระบาดที่ว่าจะเกิดขึ้นจากน้ำพระทัยอันโกรธาของพระผู้เป็นเจ้าจริงหรือไม่ก็ตาม แต่เมืองแอชดอดของพวกฟิลิสไตน์ก็ประสบความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่จากเหตุการณ์ครั้งนั้นแน่

 

ข้อความในพระธรรม 1 ซามูเอล ยังเล่าต่อไปว่า บรรดาชาวเมืองแอชดอดได้พยายามแก้ปัญหาของภัยพิบัติโดยการนำหีบพันธสัญญาส่งต่อไปให้เมืองกาธ (Gath) ผู้คนภายในเมืองดังกล่าวต่างก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างกับที่เมืองแอชดอด จึงได้พยายามส่งหีบยื่นพันธสัญญาไปให้เมืองเอโครน (Ekron) ไปเก็บรักษาไว้อีกทอดหนึ่ง

แต่เพราะชาวเมืองเอโครนต่างก็หวาดผวาต่อภัยร้ายของโรคระบาดที่มาพร้อมกับนามแห่งพระเจ้าของชาวอิสราเอล ความพยายามดังกล่าวจึงไม่ประสบความสำเร็จ (I Samuel 5 : 7-12)

น่าสนใจว่า เมืองทั้งสามแห่งที่เกี่ยวข้องกับการนำหีบพันธสัญญาของชาวอิสราเอลมาครอบครองไว้ทั้งแอชดอด กาธ และเอโครน ต่างก็เป็นเมืองในเครือข่ายของชาวฟิลิสไตน์ในนามของดินแดน “ฟิลิสเตีย” (Philistia) ตามหลักฐานในสมัยหลัง ที่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งด้านทิศใต้ของ “คานาอัน” (Canaan) ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในโลกของชาวคริสต์และอิสลามทั้งสิ้น

ผลการขุดค้นและวิจัยทางโบราณคดีช่วยให้ทราบว่า วัฒนธรรมของชาวฟิลิสไตน์สัมพันธ์อยู่กับวัฒนธรรมไมซีเนียน (Mycenean) ในเครือข่ายของโลกกรีกโบราณ ที่อยู่ทางอีกฟากหนึ่งของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เครือข่ายความสัมพันธ์อย่างนี้คงจะเชื่อมโยงถึงกันผ่านเส้นทางข้ามคาบสมุทรแน่

 

หลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าวยังชวนให้นึกถึงข้อมูลในปาปิรุส แฮร์ริส 1 (Papyrus Harris 1) ซึ่งถือว่าเป็นบันทึกที่ยาวที่สุดในโลกอียิปต์โบราณ อ้างถึงสงครามกลางสมุทรของพระเจ้ารามเสสที่ 3 แห่งราชวงศ์ที่ 20 ของอียิปต์ (ครองราชย์เมื่อปี 1186-1155 ปีก่อนคริสตกาลตรงกับ 643-612 ปีก่อนพุทธกาล) กับกลุ่ม “คนสมุทร” (sea people)

บรรดากลุ่มคนสมุทรที่ว่า ตามข้อมูลที่บรรยายอยู่ในปาปิรุสฉบับยาวดังกล่าว ประกอบขึ้นจากลุ่มคนหลายกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเรียกว่า “ปีลาส” (Pelast) ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าหมายถึง “ชาวฟิลิสไตน์” และมรดกตกทอดที่โลกได้รับจากคำศัพท์ที่หมายถึงดินแดน หรือกลุ่มคนผู้เป็นชาวสมุทรเหล่านี้ก็คือคำว่า “ปาเลสไตน์” (Palestine)

ถ้าพระเจ้าจะทรงไว้ซึ่งมหิทธานุภาพ มหิทธานุภาพของพระองค์ที่ทรงกระทำต่อชาวฟิลิสไตน์ก็คงจะมาพร้อมกับเส้นทางข้ามคาบสมุทร ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุผลด้านการค้าหรือการสงครามก็ตามที

 

พระธรรม 1 ซามูเอล ยังได้อ้างต่อไปด้วยว่า หลังจากที่ชาวฟิลิสไตน์ทั้งหลายเก็บหีบพันธสัญญาไว้พร้อมกับการระบาดจากทัณฑ์ของพระเจ้าอยู่ 7 เดือน โรคร้ายก็ค่อยสลายไป บรรดาชาวฟิลิสไตน์ต่างพร้อมใจกันคืนหีบที่นำภัยร้ายมาคืนให้กับชาวอิสราเอล พร้อมกับบรรณาการลูกของ emerod 5 ลูก และหนูทองคำจำนวน 5 ตัว เท่ากับจำนวนเจ้าเมืองฟิลิสไตน์ทั้ง 5 เมือง นัยว่าเป็นการขอขมาต่อพระเจ้า (I Samuel 6 : 4)

ที่น่าสนใจคือ เจ้า “emerod” กับ “หนูทองคำ” นี่แหละครับ

เพราะไม่ว่า “หนู” จะเป็นสัญลักษณ์อะไรหรือไม่ก็ตาม จากความเข้าใจในปัจจุบัน ข้อความตรงนี้ยิ่งชวนให้นึกถึง emerod ในทิศทางที่เกี่ยวข้องกับกาฬโรคมากกว่าโรคอื่นๆ

เพราะเจ้าหมัดบนตัวหนูนี่แหละที่เป็นพาหะของกาฬโรค จึงเป็นเรื่องที่ชวนให้คิดอยู่ไม่น้อยว่า คนสมัยนั้นได้สังเกตถึงความสัมพันธ์ระหว่างโรคระบาดที่ว่า กับหนูอยู่ด้วยหรือเปล่า?

นิทานท้องถิ่นในยุคกลางที่โด่งดังเรื่องหนึ่งในยุโรปคือ คนเป่าฟลุตแห่งเมืองเฮมลิน (Pied Piper of Hamelin) นิทานพื้นบ้านชื่อดังของเยอรมันที่ว่าด้วยการที่เมืองดังกล่าวมีปัญหาว่าเต็มไปด้วย “หนู” คนเป่าฟลุตในชุดหลากสีคนหนึ่งอาสาจะขับไล่หนูโดยแลกกับรางวัลจากชาวเมือง ชายเป่าฟลุตที่ว่าเป่าเรียกหนูทั้งหลายไปกระโดดลงแม่น้ำเวเซอร์จนหายไปหมด

แต่ชาวเมืองเกิดเบี้ยวค่าตอบแทนซะเสียอย่างนั้น ชายเป่าฟลุตคนที่ว่าเลยเป่าเรียกเด็กๆ ภายในเมืองกระโดดลงแม่น้ำเวเซอร์เสียหมดเมืองไม่ต่างอะไรไปจากหนู

นักวิชาการหลายท่านสันนิษฐานว่า นิทานเรื่องดังกล่าวกำลังพูดถึงโรคระบาดอยู่ และแน่นอนว่าย่อมมีบางท่านที่คิดต่างออกไป เช่น อาจจะหมายถึง สงคราม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบเคียงกับเรื่องในพระธรรม 1 ซามูเอลแล้ว ก็ชวนให้เชื่อว่า “หนู” น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของ “โรคระบาด” มากกว่า

 

ตํานานอีกเรื่องที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเรา คือเรื่องพระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่ามาสร้างเมืองอยุธยา ตามอย่างที่มีบันทึกอยู่ในพงศาวดารเหนือ ซึ่งรัชกาลที่ 2 นำมาทรงเรียบเรียงเป็นพระราชพงศาวดารสยามอีกทอดหนึ่ง

ในพงศาวดารทั้งสองฉบับอ้างว่าพระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่ามาจากกัมพุชเทศ แต่ความเข้าใจที่แพร่หลายกว่ากลับปรากฏอยู่ในเรื่องเมืองอู่ทอง ในนิทานโบราณคดีของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่พระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่ามาจากเมืองอู่ทอง

ไม่ว่าพระเจ้าอู่ทองจะหนีโรคห่ามาจากไหนก็ดี ตำนานเกี่ยวกับการสร้างเมืองอยุธยาของพระเจ้าอู่ทองก็ดูจะสัมพันธ์กับโรคห่าอยู่มาก

ข้อมูลที่น่าสนใจปรากฏอยู่ในพงศาวดารอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ.2182 พระเจ้าอู่ทองถูกเนรเทศมาจากเมืองจีน ขึ้นสำเภามาลงที่เมืองปัตตานี แล้วย้ายไปอยู่ตามเมืองท่าชายทะเลต่างๆ เช่น เมืองนครศรีธรรมราช กุยบุรี (ประจวบคีรีขันธ์) เพชรบุรี บางกอก แล้วมาปราบโรคระบาดที่เกิดจาก “น้ำลาย” ของมังกร หรือนาค จากนั้นค่อยสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นมา

เส้นทางที่สัมพันธ์อยู่กับการค้าทางทะเลเหล่านี้ ชวนให้นึกถึงชะตากรรมของชาวฟิลิสไตน์ตามพันธสัญญาเก่า

ยิ่งเมื่อเอกสารโบราณแต่ละฉบับต่างให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1893 ศักราชที่ว่าตรงกับ ค.ศ.1350 ปีที่มีการระบาดใหญ่ของโรคที่ชาวตะวันตกเรียกว่า “ความตายสีดำในยุโรป” ยิ่งชวนให้คิดไปว่า โรค “ห่า” ที่พระเจ้าอู่ทองปราบได้ คงจะเป็นเจ้าโรคเดียวกันกับที่ทำให้คนในยุโรปยุคกลางตายไปเป็นเบือ

และ “emerod” หรือมหิทธานุภาพของพระเจ้า ที่ทำให้ชาวฟิลิสไตน์ต้องกำนัล “หนู” ทองคำแก่ชาวอิสราเอลในพันธสัญญาเก่า กับ “น้ำลาย” ของมังกรหรือนาค ที่พระเจ้าอู่ทองปราบไปนั้น ชะรอยจะเป็นสัญลักษณ์ของ “ความตายสีดำ” ไม่แตกต่างกัน