ทำความเข้าใจ “พระเวท” สุดยอดคัมภีร์ของพราหมณ์- ฮินดู ตอนที่ 2 “แตกแขนง”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมมักเปรียบให้คนเข้าใจง่ายๆ ว่า พระเวทของฮินดูก็เหมือนคัมภีร์พระไตรปิฎกของชาวพุทธ หรือคัมภีร์ไบเบิลของชาวคริสต์

ที่จริงเรียกพระเวทว่า “คัมภีร์” ในแง่ที่เป็นการจดจารก็ไม่ถูกนักหรอกครับ เพราะมีมาก่อนที่อินเดียจะมีระบบการบันทึกด้วยตัวอักษร คือท่องจำแบบมุขปาฐะกันสืบต่อๆ มา

แม้ในสมัยที่มีการจดจารด้วยตัวอักษรแล้ว ก็ยังนิยมท่องจำกันมาจนถึงปัจจุบัน เพราะพระเวทมีลักษณะพิเศษคือมีการบังคับ “ทำนอง” จะท่องให้ผิดเพี้ยนไปจากที่ครูสอนไม่ได้

ทำนองหรือการออกเสียงนี้เรียกว่า “สวระ” (กร่อนลงเป็นสระ อย่างที่เราใช้กันในไวยากรณ์นั่นแหละครับ)

ทำนองในพระเวทนี้เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง เพราะที่จริงพระเวทคือ “เสียง” หรือ “นาทะ” (หมายถึงเสียงอันเป็นพลังงานลึกลับของจักรวาล) ที่เทพเจ้าทำให้ปรากฏแก่ฤษี ความสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวอักษรเท่ากับตัวเสียงเอง

ฤคเวทซึ่งเก่าแก่ที่สุดนั้น มีเพียงเสียงสูงและเสียงต่ำ ใช้สัญลักษณ์เป็นขีดนอนหมายถึงเสียงต่ำและขีดตั้งหมายถึงเสียงสูง ส่วนยชุรเวทเพิ่มเสียงพิเศษต่างๆ เข้าด้วย เช่น คุงฺ หะ เสียงลากยาว ฯลฯ ส่วนในสามเวทนั้น เกิดเป็นระบบโน้ตเจ็ดตัวเลยทีเดียว

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า พัฒนาการของพระเวท ในทางหนึ่งคือพัฒนาการของดนตรีอินเดียด้วย

 

ในเมื่อเสียงมีความสำคัญ ระบบการเรียนจึงใช้แบบ “มุขปาฐะ” จากครูสู่ศิษย์ เรียกว่า “คุรุปรัมปรา” คือสืบทอดลงมาเป็นชั้นๆ ไม่ขาดสาย

และแม้เป็นพระเวทเดียวกัน ก็อาจสวดหรือออกเสียงมนตร์บทเดียวกันไม่เหมือนกันก็ได้ การออกเสียงและวิธีสวดนี้จะแตกต่างกันไปตาม “ศาขา” (สาขา) ในการศึกษาพระเวท ซึ่งนักศึกษาพระเวทหรือพรหมจารีจะได้รับการท่องจำแตกต่างกันไปตามแต่ศาขาของตน

ตัวอย่างเช่น ในศุกลยชุรเวท (ยชุรเวทขาว) ซึ่งนิยมในภาคเหนือของอินเดีย มีศาขาหลักคือ มาธยันทินี, วาชสเนยิ เป็นต้น สองศาขานี้ออกเสียงมนตร์ต่างกัน ใครเรียนมาจากศาขาไหน ก็ออกเสียงอย่างนั้น ยึดถือตามครูบาอาจารย์ของตน คนอื่นเรียนศาขาอื่นก็ออกเสียงตามครูตัว ไม่บอกว่าใครผิดใครถูก

ปัจจุบัน อาศรมสอนพระเวทหลายแห่งในอินเดียยังคงสืบทอดระบบเรียนแบบนี้อยู่ แต่มีบ้างที่ปรับตัวจาก “คุรุกุล” หรือ “ฤษีกุล” ซึ่งหมายถึงอาศรมหรือบ้านครูตามขนบ มาสู่การเป็นวิทยาลัยที่สอนวิชาทางโลกควบคู่กันไปด้วย

พราหมณ์อินเดียหลายท่านที่ผมรู้จักเล่าว่า สมัยท่านเรียนนั้น ครูบาอาจารย์จะให้ท่องทีละวรรคทวนไปมาจนจำได้แล้ว ก็เริ่มท่อนใหม่ ทวนจนจำได้แล้ววนกลับมาทั้งท่อนใหม่เรียงกัน จนกว่าจะจำได้ทั้งหมด

จากนั้นจึงอธิบายความหมายและสอนว่าใช้อะไรยังไงตอนไหน

 

ท่านว่าในสมัยโบราณอาจมีพราหมณ์ที่เจนจบทั้งสี่เวท ก็อาจได้รับขนานนามสกุลใหม่เสียว่า จตุรเวที หรือผู้ทรงสี่เวท ซึ่งหาได้น้อยนัก บางท่านได้สามก็หายากแล้ว ส่วนตัวท่านเองนั้นนามสกุล “ทวิเวที” แปลว่า ทรงจำได้สองพระเวท คือฤคเวทกับยชุรเวท

ท่านบอกว่า เด็กพรหมจารีเมื่อเข้าไปเรียนแล้วนั้น ขั้นแรกครูจะให้เรียนทุกพระเวทอย่างละนิดหน่อย จากนั้นต้องเลือกว่าจะเอาพระเวทไหนเป็นหลัก

ท่านว่าส่วนมากมักเลือกยชุรเวทกัน เพราะมีงานให้ทำมากเมื่อจบไปแล้ว เนื่องจากพิธีหลายอย่างใช้ยชุรเวท สามเวทไม่ค่อยมีคนเรียน ที่น้อยสุดคืออถรวเวท เพราะไม่ค่อยมีพิธีใช้

พราหมณ์ที่ไม่ได้เรียนพระเวทก็มีเยอะครับ ประเภททางบ้านอยากให้เรียนทางโลกอย่างเดียวก็มี เรียนวิศวกรรม เรียนคอมพิวเตอร์ บ้างก็เรียนพิธีตามครอบครัวโดยไม่ใช้พระเวทเลย

กว่าจะจบเวทหนึ่งก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่าห้าหกปีแล้วครับ ถ้าเรียนครบต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี

 

ใครจะเรียนพระเวทได้นั้น ในมนูสมฤติกำหนดไว้ว่า เฉพาะพวก “ทวิชา” หรือพวกที่เกิดสองครั้ง ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ เท่านั้นจึงจะเรียนได้ พวกศูทรและคนป่าคนดอยห้ามเรียน และแม้ในสามวรรณะจะเรียนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำพิธี “อุปนยนสัมสการ” หรือคล้องสายสิญจน์ (ยัชโญปวีต ไทยเรียน ธุร่ำ) แล้ว

ที่จริงในพระเวทเองเขียนไว้ว่า พระเวทมีไว้สำหรับคนทุกคนและมีตำนานในอุปนิษัทที่เล่าว่า เด็กชายชาพละ สามารถร่ำเรียนได้โดยที่ไม่รู้ว่าตนเป็นใคร (เพราะแม่ท้องโดยไม่ทราบว่าใครเป็นพ่อ) แต่ด้วยคุณธรรมจึงมีความเหมาะสมที่จะเรียน

ปัจจุบัน ความเคร่งครัดในการเรียนพระเวทหรือข้อหวงห้ามต่างๆ นั้นลดลงไปมาก หนังสือพระเวทที่เราใช้กันในวงการศึกษาส่วนมากมักเป็นของที่ “ฝรั่ง” แปลทั้งนั้นครับ และผมเองได้ยินข่าวว่า มีอาศรมแห่งหนึ่งในภาคเหนือของอินเดียรับเด็กทุกวรรณะให้เรียนพระเวทได้อย่างเท่าเทียมกัน น่าสนใจๆ

ส่วนพราหมณ์สยามแม้จะใช้มนตร์พื้นเมืองทั้งบาลีและอินเดียใต้ในการทำพิธีเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังคงระบบการเรียนกันภายในครอบครัวและเครือญาติอย่างโบราณ บางท่านก็เรียนวิชาของทางอินเดียเพิ่มเติม

เช่น เรียนสันสกฤตและคัมภีร์ต่างๆ จากชาวอินเดียก็มี

 

พราหมณ์และทวิชานอกจากเรียนพระเวทแล้ว ยังต้องเรียน “เวทางค์” หรือวิชาองค์ประกอบของพระเวท ได้แก่ ศิกษา คือการออกเสียงคำ ทำนองของสันสกฤตและพระเวท, ฉันทะ คือการศึกษาคำประพันธ์ร้อยกรองแบบฉันท์, วยากรณะ หรือไวยากรณ์, นิรุกตะ ความหมายของคำและการตีความ, กัลปะ ว่าด้วยพิธีกรรม, ชโยติษ ว่าด้วยดาราศาสตร์และโหราศาสตร์

วิชาเหล่านี้ช่วยให้การศึกษาพระเวทมีประโยชน์มากขึ้น ทั้งในแง่ของการนำไปใช้ หรือการศึกษาพระเวทเองก็ตาม

อีกทั้งยังมี “ความรู้ประยุกต์” จากพระเวทอีกกลุ่มหนึ่ง เรียกกันว่า “อุปเวท” (ความรู้รอง) ได้แก่ “ธนุรเวท” ว่าด้วยศาสตราคมต่างๆ และการต่อสู้ ซึ่งมาจากยชุรเวท, “สถาปัตยเวท” ว่าด้วยวิชาสถาปัตยกรรม มาจากอถรวเวท, “คานธรวเวท” หรือคนธรรพเวท ว่าด้วยการดนตรีและร่ายรำจากสามเวท และ “อายุรเวท” ว่าด้วยยาและการรักษาโรค จากฤคเวทหรืออถรวเวท

คนฮินดูจึงยกย่องพระเวทว่าเป็นที่มาของความรู้และศิลปวิทยาต่างๆ สมดังชื่อ “เวท” ที่แปลว่าความรู้

นอกจากความรู้ประดามีแล้ว ยังเป็นแหล่งของ “ปรัชญา” อันลึกซึ้งทางโลกุตระที่เรียกว่า “อุปนิษัท” ด้วย

โปรดติดตามตอนต่อไปครับ