ตีแผ่! วิกฤติประชาธิปไตย : ความตึงเครียดเมื่อโลกาภิวัตน์แตกเป็นเสี่ยง

วิกฤติประชาธิปไตย (21)

ความตึงเครียดเมื่อโลกาภิวัตน์แตกเป็นเสี่ยง

ภาวะโลกาภิวัตน์แตกเป็นเสี่ยงเกิดจากเหตุปัจจัยเฉพาะหน้า ที่เจ้ามือใหญ่ผู้ตั้งวงโลกาภิวัตน์สองรายคือสหรัฐ (โดยผ่านประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน) และอังกฤษ (ผ่านนายกรัฐมนตรีนางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์) ต้องการเปลี่ยนกติกา หรือทำข้อตกลงใหม่ที่ทำให้ตนได้เปรียบยิ่งขึ้น

ที่สำคัญคือสหรัฐที่มีอำนาจมาก คุกคามว่าจะตั้งวงใหม่เป็นโลกาภิวัตน์แบบทวิภาคีที่สหรัฐทำข้อตกลงเป็นรายประเทศไป

แต่ภาวะโลกาภิวัตน์แตกเป็นเสี่ยงนี้เป็นเรื่องเชิงระบบ เกิดขึ้นเมื่อทุนนิยมที่ก้าวสู่ขั้นการเป็นเชิงการเงินและก่อปัญหาในตนเองมากมาย

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐเป็นเพียงผู้แสดงที่เป็นข่าวบ่อยเท่านั้น ยังมีผู้แสดงอื่นอีกมาก เช่น นางเทเรซา เมย์ นายกฯ อังกฤษ และผู้นำทางการเมืองในหลายประเทศที่หันมาเอียงขวา เป็นแบบชาตินิยมเชิงประชานิยม (อาจเรียกอย่างสั้นๆ ว่า ประชารัฐ) นอกจากนี้ยังมีสหภาพแรงงาน นักสิ่งแวดล้อม นักต่อต้านทุนการเงินที่เคลื่อนไหวอย่างครึกโครมก่อนหน้านั้น

การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ และวิกฤติเชิงระบบก่อนหน้านั้น เช่น

ก) การนัดหยุดงานใหญ่ของสหภาพแรงงานฝรั่งเศส เป็นรัฐวิสาหกิจด้านบริการโครงสร้างพื้นฐานในปี 1995 ต่อต้านแผนลดผลประโยชน์ของคนงาน เช่น กรณีผลได้ยามเกษียณอายุ เป็นต้น จนเป็นผลสำเร็จ พบการกดรายได้ของคนงานเกิดขึ้นทั่วไปในประเทศพัฒนาแล้วมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ด้วยข้ออ้างเพื่อให้สามารถแข่งขันกับการค้าแบบโลกาภิวัตน์ได้

และยังมีมาตรการอื่นประกอบ ได้แก่ การรับแรงงานอพยพจากประเทศกำลังพัฒนาที่มีราคาถูกกว่า และการย้ายฐานการผลิตไปนอกประเทศจนกระทั่งเกิดวิกฤติผู้อพยพอย่างที่เป็นอยู่ นอกจากนั้น ฐานอุตสาหกรรมของสหรัฐและอังกฤษ เป็นต้น ก็อ่อนแอลงมาก

เปิดให้จีนก้าวขึ้นมาเป็น “โรงงานของโลก” และขณะนี้กำลังพัฒนาการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างรวดเร็ว

ข) วิกฤติการเงินเอเชีย (ต้มยำกุ้ง) ปี 1997 ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งมวลชน นักวิชาการ และรัฐบาลในภูมิภาคนี้ และที่ได้รับผลกระทบทั่วโลก

เกิดความเห็นทั่วไปว่าโครงสร้างการเงินโลกมีปัญหาต้องแก้ไข ผลกระทบสำคัญที่ควรกล่าวถึงได้แก่ ทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ทางเอเชียมีความระมัดระวังทางการเงินเพิ่มขึ้น

ต้องการรักษาอธิปไตยทางการเงินของตน กลุ่มอาเซียนบวกสาม (คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ได้ร่วมกันตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือป้องกันวิกฤติครั้ง ต่อไป

โดยที่จีนมีบทบาทสูง นอกจากนี้เพื่อฟื้นจากวิกฤติ ประเทศในเอเชียยิ่งขยายการส่งออกไปยังสหรัฐ และซื้อพันธบัตรรัฐบาล ทำให้ดุลการค้าและหนี้สหรัฐยิ่งย่ำแย่ขึ้น

ผลกระทบใหญ่อีกอย่างได้แก่ การที่รัสเซียปรับนโยบายทางเศรษฐกิจ-การเมืองครั้งใหญ่ จนถึงขั้นสร้างระบอบปกครองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยเชิงอธิปัตย์” ในสมัยปูติน นั่นคือ การเดินทางไปตามหนทางประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็รักษาอธิปไตยของชาติในทุกด้าน ป้องกันไม่ให้อิทธิพลตะวันตกเข้ามาแทรกแซงก่อความไม่สงบ

ค) การประท้วงการประชุมองค์การการค้าโลกที่เมืองซีแอตเติลของสหรัฐปี 1999 ผู้นำการเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มสหภาพแรงงานและนักสิ่งแวดล้อม ต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่และโลกาภิวัตน์สำคัญ เป็นครั้งแรก ตามมาด้วยการตั้งสมัชชาสังคมปี 2001 ที่บราซิล สร้างหนทางเลือกใหม่ให้แก่โลกาภิวัตน์ ในช่วงทศวรรษ 1990

มีนักเศรษฐเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจำนวนไม่มากนักที่เห็นภัยของโลกาภิวัตน์ หนึ่งในนั้นได้แก่ ดานี รอดริก นักเศรษฐศาสตร์ชาวตุรกี (เกิด 1957) เขามีประสบการณ์ตรงจากการเห็นข้อดีของการปกป้องทางการค้าที่ปฏิบัติในตุรกี จนสามารถส่งเขามาศึกษาและเติบโตทางวิชาการในสหรัฐได้

ดานี รอดริก เขียนหนังสือหลายเล่ม เล่มแรกที่ชี้ปัญหาโลกาภิวัตน์ที่ก่อความตึงเครียดในสังคมไปทั่วโลกชื่อว่า “โลกาภิวัตน์จะเลยเถิดไปหรือไม่” (เผยแพร่ครั้งแรก 1997)

ความคิดของเขาสรุปว่า โลกาภิวัตน์ก่อความตึงเครียดใหญ่จากการที่โลกาภิวัตน์ทำลายกำแพงการค้าและการลงทุนระหว่างประชาชาติต่างๆ ซึ่งมีความพร้อมต่างกัน บางชาติมีทักษะและทุนที่สามารถประสบความสำเร็จในตลาดโลก เป็นผู้ชนะ และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้แพ้ สร้างความตึงเครียดระหว่างประชาชาติ นอกจากนี้ระบบตลาดเสรียังคุกคามต่อเสถียรภาพทางสังคมและปทัสถานภายในชาติ ทำให้ชาติต่างๆ ทำประกันสังคมได้ยาก

หนังสือเล่มอื่นที่ขยายทัศนะและตัวอย่างให้กว้างขวางออกไปได้แก่ “ความย้อนแย้งของโลกาภิวัตน์ : ประชาธิปไตยและอนาคตของเศรษฐกิจโลก” (2011)

หนังสือเล่มล่าสุดของเขาชื่อ “ตรงไปตรงมาว่าด้วยการค้า : ทัศนะเพื่อโลกที่มีสติ” (2017) อธิบายว่าเหตุใดจึงมีการต่อต้านโลกาภิวัตน์อย่างกว้างขวาง และจะทำอย่างไรจึงจะสามารถรักษาข้อดีของโลกาภิวัตน์ไว้ได้ ทางออกคือต้องคำนึงถึงอธิปไตยของชาติ สิทธิการปกครองตนเอง ไม่เปิดทางให้แก่ลัทธิประชานิยมฝ่ายขวาที่รวบอำนาจขึ้นมาปกครอง สร้างลัทธิประชานิยมปีกซ้ายที่เป็นประชาธิปไตยขึ้น

สำหรับการวิเคราะห์แนวลัทธิมาร์กซ์ เห็นว่ากลุ่มทุนการเงินเป็นทุนนิยมขั้นสุดท้ายคือขั้นจักรวรรดินิยม เป็นระบบทุนที่ร่อแร่เจียนตายมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 สำหรับความขัดแย้งในลัทธิเสรีนิยมและโลกาภิวัตน์นั้นเห็นว่า เป็นความขัดแย้งระหว่างพลังการผลิตที่เป็นแบบทั้งโลก และความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เป็นแบบประชาชาติ แนวคิดแบบมาร์กซ์ยังเห็นว่าความขัดแย้งนี้ไม่สามารถประนีประนอมได้ต้องแตกหักกันในที่สุด

เสียงระฆังแห่งมรณะจะกังวานขึ้น

ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลั่นระฆังมรณะของโลกาภิวัตน์ขึ้นสั่นสะท้านไปทั้งโลก เป็นโลกที่ระบอบแอร์โดอานจะต้องดิ้นรนอยู่ต่อไป

การหาเพื่อนและพันธมิตรใหม่ของตุรกี

แอร์โดอานประกาศในเดือนสิงหาคม 2018 ว่า หากสหรัฐใช้ลัทธิปฏิบัติตามลำพังตน กดดันไม่ให้ความนับถือตุรกีอย่างไม่ยอมเลิก ตุรกีก็จะหา “ตลาด เพื่อนและพันธมิตรใหม่” มาแทนที่สหรัฐ

แต่นี่ไม่ได้หมายถึงว่าตุรกีจะโผไปกอดรัสเซียและจีนทันที นี่ไม่ใช่วิถีของตุรกี และไม่ใช่การนำของระบอบแอร์โดอานที่ต้องการความเป็นอิสระและฐานะเท่าเทียมกับมหาอำนาจอื่น

ตุรกีมีเพื่อนและพันธมิตรอยู่แล้วหลายกลุ่ม ที่จะทำต่อไปก็คือกระชับและยกระดับความสัมพันธ์นี้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

เพื่อนและพันธมิตร กลุ่มแรก ได้แก่ ประชาคมมุสลิมโลกที่มีอยู่กว่าหนึ่งพันล้านคนและเพิ่มขึ้น

ขณะนี้ตุรกีดำรงตำแหน่งประธานองค์การความร่วมมืออิสลามที่มีสมาชิกเกือบ 60 ประเทศ ที่ต่อเนื่องจัดอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชนเชื้อสายชาวเติร์กที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในหลายประเทศตั้งแต่เอเชียกลางไปจนถึงบริเวณคาบสมุทรบอลข่าน และยุโรป และรวมถึงดินแดนที่เคยอยู่ร่วมในจักรวรรดิออตโตมันมีดินแดนในตะวันออกกลาง เป็นต้น

ในกลุ่มนี้ที่มีความสัมพันธ์พิเศษได้แก่ บอสเนีย นอกจากนี้ ยังมีการ์ตาที่ประกาศว่าจะนำเงินมาลงทุนในตุรกีมูลค่าเป็นหมื่นล้านดอลลาร์

กลุ่มที่สอง ได้แก่ กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่มี 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ เรียกกันว่า กลุ่มบริกส์ มีการประชุมสุดยอดหลายครั้ง ฐานะของตุรกีเมื่อเข้ารวมกลุ่มนี้ก็นับว่าไม่น้อยหน้าประเทศสมาชิกเดิมนัก จากกลุ่มนี้ตุรกีสามารถสร้างมิตรได้ทั่วโลก เนื่องจากมีแนวคิดสร้างกลุ่ม “บริกส์บวก” อยู่แล้ว

กลุ่มที่สาม ได้แก่ สหภาพยุโรป ที่เป็นคู่ค้าและการลงทุนใหญ่ของตุรกี มีความสัมพันธ์ที่เสื่อมลงด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ แต่ก็มีเงื่อนไขที่จะฟื้นคืนได้ เนื่องจากสหภาพยุโรปก็ถูกกดดันอย่างหนักจากสหรัฐ ให้ยอมเป็นรัฐบริวาร ว่าอะไรว่าตามกัน ในขณะนี้แอร์โดอานมุ่งเชื่อมสัมพันธ์ส่งเสริมการค้าและการลงทุนกับผู้นำเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งการฟื้นสัมพันธ์นี้ไม่ใช่ง่าย เพราะว่าตุรกีและยุโรปมีความแตกต่างกันทางศาสนา ค่านิยม วัฒนธรรมและระบอบปกครองค่อนข้างสูง ทั้งยังมีปัญหาผู้อพยพลี้ภัยอีก

กลุ่มสุดท้าย ได้แก่ เพื่อนแอฟริกา ซึ่งขณะนี้เป็นพื้นที่เปิด ไม่มีใครเป็นเจ้าของอาณานิคม ตุรกีสร้างมิตรได้หลายประเทศในการประชุมใหญ่พรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (พรรคเอเคพี) ก็มีผู้นำจากบางประเทศในแอฟริกาเข้าร่วมติดตาม

แน่นอนว่าการสร้างตลาด เพื่อนและพันธมิตรใหม่ เพื่อมาแทนที่สหรัฐของตุรกีไม่ใช่งานง่าย เพราะสหรัฐย่อมขัดขวางเป็นประการต่างๆ และยังมีปัญหาอื่นอีก ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้

ผู้นำตุรกีก็บ่มความรู้สึกชาตินิยมไปเรื่อยๆ สร้างประชามติต่อต้านอิทธิพลจากภายนอกโดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งจะมีผลดีในการโยนความผิดพลาดทั้งหลายให้แก่ผู้อื่น นี้ก็เป็นสิ่งปฏิบัติกันทั่วโลก

แนวโน้มการรวมศูนย์อำนาจมากขึ้นในตุรกี

สหรัฐและสหภาพยุโรปโจมตีระบอบแอร์โดอานมานานแล้ว ในประเด็นการกำราบปราบปราม การวิพากษ์วิจารณ์และเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านและฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งกลุ่มชนชาติส่วนน้อยชาวเคิร์ดที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน

นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังคอยเปิดแผลกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1915-1917 สมัยจักรวรรดิออตโตมัน

แต่คำกล่าวหาและการโจมตีดังกล่าวไม่ได้ผลนัก แอร์โดอานและคณะเห็นว่าการคัดค้านวิจารณ์ทั้งหลายเป็นการสมคบคิดระหว่างกลุ่มอำนาจภายในและภายนอก เพื่อขัดขวางความเข้มแข็งและการพัฒนาของตุรกี และปฏิบัติตามสิ่งที่ตนเห็นว่าเหมาะสมมาตลอด

หลังจากที่แอร์โดอานชนะการเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีในระบบประธานาธิบดี การโจมตีจากสหรัฐก็ยิ่งหนักขึ้น ถึงขั้นก่อสงครามเศรษฐกิจกับตุรกี

แต่สิ่งนี้ดูเหมือนยิ่งเร่งการรวมศูนย์อำนาจในตุรกีมากขึ้นอีก แนวโน้มการรวมศูนย์อำนาจมากขึ้นในตุรกีเกิดจากหลายเหตุปัจจัย

ข้อแรก คือระบอบแอร์โดอานได้ครองอำนาจมานานจนสามารถซึมซ่านเข้าไปกุมกลไกรัฐ ได้แก่ ทหาร ตำรวจ อัยการและศาล แทนที่ลัทธิเคมาลได้อย่างแน่นหนา ในการจัดตั้งรัฐบาล

ล่าสุด แอร์โดอานได้ตั้งผู้บัญชาการกองทัพขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ถ้าการเดิมพันนี้ได้ผลดีก็แสดงว่าระบอบแอร์โดอานได้เข้ากุมกลไกรัฐได้สำเร็จ ซึ่งทำให้การเข้าคุมกลุ่มทุน สื่อมวลชนและเอ็นจีโอ เป็นต้น เป็นไปอย่างสะดวกขึ้น ป้อนกลับให้การนำมีความเข้มแข็งขึ้นจนถึงขีดสูงสูด

เหตุปัจจัย ข้อต่อมา ได้แก่ การรวมศูนย์ทางความมั่งคั่งในหมู่เศรษฐีมากขึ้น มีบางการศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัยในตุรกีพบว่า การรวมศูนย์ความมั่งคั่งในตุรกีเป็นไปอย่างน่าตกใจตั้งแต่ปี 2014 (ดูบทรายงานชื่อ On Income and Wealth Inequality in Turkey ใน econ.boun.edu.tr 21.02.2018)

การรวมศูนย์ของรายได้และความมั่งคั่งก่อแนวโน้มการรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองเหมือนเงาตามตัว

ข้อท้ายสุด คือ สถานการณ์สงครามมหาตะวันออกกลางรวมทั้งตุรกีตกอยู่ในสถานการณ์สงครามตั้งแต่ปี 2001 เรียกกันว่า “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” แต่เนื้อแท้เป็นสงครามพันทาง มีแนวรบหลายมิติ ทั้งด้านการทหาร การเศรษฐกิจ การเมือง การทูต และการข่าวสาร

สถานการณ์สงครามที่บ่มตัวเองมานานเกือบ 20 ปี อยู่ในภาวะที่มีความรุนแรงและควบคุมได้ยากขึ้นทุกที เช่น การรบทางเศรษฐกิจขยายไปสู่สงครามเศรษฐกิจ และอวกาศกำลังกลายเป็นสมรภูมิแห่งใหม่

ตุรกีที่มีรัฐบาลเอียงขวามาแต่ไหนแต่ไร มีแนวโน้มที่เอียงขวามากขึ้น ใช้ความพยายามทุกอย่างที่จะระงับยับยั้งการลุกขึ้นสู้ของประชาชน อันนี้เป็นชะตากรรมร่วมกันทั้งโลก แม้แต่ในประเทศยุโรปที่ถือว่าสถาบันประชาธิปไตยได้พัฒนาจนค่อนข้างมั่นคง ก็ยังเกิดกระแสประชานิยมฝ่ายขวา ต่อต้านผู้อพยพลี้ภัยอย่างกว้างขวางหลายประเทศขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้ แม้ชาติอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมนีก็ถูกคุกคามไม่ละเว้น

สถานการณ์สงครามสร้างกฎแห่งป่าข้อหนึ่งคือ “ผู้ชนะคือความจริง” หรือความจริงอยู่ที่ผู้ชนะ ดังจะเห็นว่า ประธานาธิบดีทรัมป์คิดว่าตนเองจะพูดอะไรก็ได้ มันจะเป็นความจริงทั้งหมด ตราบเท่าที่เขาเป็นผู้ชนะ ชนชั้นผู้นำประเทศต่างๆ ก็ล้วนต้องการชนะ ดังนั้น จึงต้องกระชับอำนาจของตนให้เข้มแข็งขึ้น

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ขณะนี้สงครามเศรษฐกิจเกิดปะทุขึ้น หากขยายตัวจนครอบงำทั้งภูมิภาค ผู้ปกครองในประเทศเหล่านี้ก็จะกระชับอำนาจขึ้นตามไปด้วย ชาวรากหญ้าที่ต้องรับเคราะห์จากพิษภัยสงครามหนักกว่ากลุ่มอื่นใด ควรมีความระมัดระวังตัวไว้

ตุรกีบนหนทางใหม่

ตุรกีอยู่บนทางแพร่งที่จะต้องเลือกเดิน การเลือกที่ถูกต้องสำหรับประชาชาติ คือการเลือกอยู่ฝ่ายชนะ และอยู่รอดได้

ตุรกีไม่ได้มีอำนาจแห่งชาติมากพอที่จะยืนอย่างเป็นอิสระเหมือนสหรัฐ จีน และรัสเซีย จำต้องปรับยุทธศาสตร์ชาติของตนอย่างมีหลักการอยู่เสมอ

บางประเด็นสำคัญที่ตุรกีต้องพิจารณาได้แก่ จะจัดการกับลัทธิเสรีนิยมใหม่อย่างไร หรือจะจัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภาครัฐกับธุรกิจเอกชนอย่างไร จะเข้าร่วมกับแผนยูเรเซียที่มีจีน และรัสเซียเป็นแกนประการใดดี จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างพรรคเอเคพีกับฐานรากมวลชนอย่างไร และท้ายสุดมีบทบาทอะไรที่เหลืออยู่สำหรับตุรกีในศตวรรษที่ 21 นี้

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงหนทางประชาธิปไตยในประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา