จาก 6 ตุลาฯ กลับไป 14 ตุลาฯ และนักประวัติศาสตร์ที่ขโมยประวัติศาสตร์?! (2)

ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เป็นนักวิชาการทางสังคมศาสตร์ระดับศาสตราจารย์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในทางวิชาการและการต่อสู้ทางการเมืองที่ย้อนกลับไปได้ก่อน 14 ตุลาคม 2516

และในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้จบลงที่คำกล่าวของท่านที่ว่า “คือผมเสียดายของที่กำลังจะหายไป แม้แต่เรื่องยุคหลังเนี่ย ยุคก่อน 14 ตุลาฯ สักสิบปี มันก็กำลังจะหายไป มีคนโทร.มาขอร้องเชิงประณามผม ว่า พี่ทำไมปล่อยให้มีการขโมยประวัติศาสตร์ ผมก็ถามสั้นๆ ว่าใครขโมย มันเป็นนักประวัติศาสตร์แล้วก็ขโมยประวัติศาสตร์ด้วย ขโมยประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ พี่รู้ดีทำไมพี่ไม่พูด ผมก็บอกผมไม่ได้รู้ดี ผมรู้ในส่วนที่ผมรู้ เป็นต้นว่า มันขโมยชื่อผมไปใส่ในร้อยคน ว่าผมไม่ได้เซ็นด้วย ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการที่ขโมยชื่อผมไป แต่ผมไม่รู้ว่าเขาขโมยชื่อคนอื่นไปบ้าง แล้วเขาเอาไปใช้ยังไง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปแตะต้อง อะไรแบบนี้ คนที่พูดเนี่ยเราก็น่าจะไปถามเขาว่า เอ๊ะ ที่คุณเดือดร้อนนักหนามีการบิดเบือนเรื่อง 14 ตุลาฯ ที่คุณเห็นคุณเชื่อมันคืออะไร เหมือนที่ด๊อกเตอร์อภิชัย พันธเสน เขาคงจะพูดนะ เขาเป็นครูเหมือนกัน มันรู้สึกจะเดือดร้อนมาก พูดสองสามหนล่ะ ผมก็บอกผมเขียนไว้ แต่ว่าเฉพาะส่วนของผม”

ข้อความที่ว่า “…มันขโมยชื่อผมไปใส่ในร้อยคน ว่าผมไม่ได้เซ็นด้วย ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการที่ขโมยชื่อผมไป…”

ร้อยคนที่ว่านี้คือ ร้อยคนแรกที่ลงนามเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งในวันที่ 5 ตุลาคม 2516 ธีรยุทธ บุญมี ได้นำรายชื่อดังกล่าวนี้มาเปิดเผยต่อสาธารณะ ที่ต่อมา ธีรยุทธได้ถูกตั้งข้อหาขบถ และเป็นที่รู้จักในนามของ “ขบถรัฐธรรมนูญ” ที่มีทั้งสิ้น 13 คน

รายชื่อ 100 คนแรกที่ลงนามเรียกร้องรัฐธรรมนูญประกอบด้วยบุคคลต่างๆ เช่น พล.ต.ต.สง่า กิตติขจร นายเลียง ไชยกาล นายพิชัย รัตตกุล นายไขแสง สุกใส นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร ดร.เขียน ธีรวิทย์ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เป็นต้น

 

ผู้เขียนจะยังไม่เฉลยว่า การขโมยประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับรายชื่อดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไร แต่จะตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ “การขโมยประวัติศาสตร์” เสียก่อน เพราะสงสัยว่า สิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์นี้มันขโมยกันได้หรือ?

ถ้าประวัติศาสตร์คือหนังสือสักเล่ม แน่นอนว่า มันขโมยกันได้ เช่น “หนังสือประวัติศาสตร์ไทยของผมหายครับ คุณครู!”

และถ้า “ประวัติศาสตร์” คือ แผ่นกระดาษที่คนในสมัยหนึ่งบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยของเขาไว้ และบันทึกดังกล่าวถูกเก็บไว้ที่ใครหรือที่ใดที่หนึ่ง ถ้าเป็นเช่นนี้ การขโมย “ประวัติศาสตร์” ก็ย่อมเกิดขึ้นได้เช่นกัน นั่นคือ มีคนดอดไปขโมยบันทึกนั้นมา

แต่การขโมยประวัติศาสตร์ในลักษณะนี้ไม่ได้มีผลต่อเนื้อความที่บันทึกไว้ ยกเว้นเสียว่า คนที่ขโมยมาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ แล้วอาจจะนำไปคืนไว้ที่เดิม ทำให้เนียนจนไม่รู้ว่า มีคนขโมยไปแก้ไขข้อความ เมื่อเปิดเผยออกมา ก็จะเข้าใจว่าผู้บันทึกได้บันทึกไว้อย่างนั้น

แต่ถ้าขโมยมาแล้วไม่ได้แก้ไขข้อความอะไร “ความจริงในประวัติศาสตร์” หรือ “ความจริงตามบันทึก” นั้นก็ยังคงเป็น “ความจริง” เช่นนั้นต่อไป

และต่อให้คนที่ขโมยไปนำไปเปิดเผยที่ใด เวลาใด และโดยใครก็ตาม ก็ไม่ได้กระทบ “ความจริงตามบันทึก”

 

เหมือนดังตัวอย่างที่ อุมแบร์โต เอโค (Umberto Eco) ได้ยกตัวอย่างเรื่อง “คนรับใช้ชาวพื้นเมือง-ผลไม้และกระดาษแผ่นหนึ่ง” (เป็นเรื่องที่ Eco ได้มาจากข้อเขียนของ จอห์น วิลคินส์ ในปี ค.ศ.1641 และผู้เขียนขออนุญาตปรับแต่งให้เป็นสำนวนของผู้เขียน!)

โดยเขาเล่าว่า มีวันหนึ่ง เจ้านายได้ใช้ให้คนรับใช้ชาวพื้นเมือง (ที่อ่านหนังสือไม่ออก) นำตะกร้าใส่ผลไม้ 10 ผลไปส่งให้เพื่อนเขา และเขาก็ได้เขียนจดหมายถึงเพื่อนฝากให้คนรับใช้ถือไปด้วย

ในระหว่างทาง คนรับใช้ได้เอาผลไม้มากิน เมื่อถึงที่หมายปลายทาง ก็ได้มอบตะกร้าผลไม้ให้กับผู้ที่เป็นเพื่อนเจ้านายของเขา

เพื่อนเจ้านายรับตะกร้าและเปิดจดหมายออกอ่าน แล้วก็เขียนจดหมายตอบกลับไป

เมื่อคนรับใช้กลับมา เจ้านายก็เปิดจดหมายจากเพื่อนออกอ่าน แล้วก็ดุด่าคนรับใช้ว่า ทำไมเจ้าถึงขโมยกินผลไม้ที่ข้าฝากไปให้เพื่อน คนรับใช้ตกใจสุดขีด ยอมรับและถามว่า เจ้านายรู้ได้อย่างไร

เจ้านายก็บอกไปว่า ได้เขียนไปในจดหมายว่าได้ขอส่งมอบผลไม้ 10 ผลมาให้ แต่เพื่อนตอบกลับมาว่า ได้รับเพียง 9 ผล…

คนรับใช้ก็มองไปที่จดหมาย…ต่อมา เจ้านายได้ใช้ให้คนรับใช้คนเดิมนี้ไปส่งผลไม้ให้เพื่อนอีก และแน่นอนมีจดหมายแนบไปด้วย…

ระหว่างทาง เช่นเคย คนรับใช้ก็คิดจะลองดีกับจดหมาย โดยก่อนที่เขาจะเอาผลไม้จากตะกร้าไปกิน เขาเอาจดหมายออกจากตะกร้า และเอาจดหมายไปวางไว้หลังโขดหิน แล้วก็เดินกลับมา คราวนี้ขโมยผลไม้กินเสีย 2 ผลเลย…

เมื่อถึงบ้านเพื่อนเจ้านาย ก็ยื่นตะกร้าให้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เนียนๆ เพื่อนเจ้านายก็ไม่ว่าไร อ่านจดหมายแล้วก็เขียนตอบกลับ…

พอกลับมาถึงบ้านเจ้านาย หลังเปิดจดหมายอ่าน เจ้านายก็เอ็ดตะโรใหญ่โตและทำโทษคนรับใช้ในข้อหาขโมยกินผลไม้ 2 ผล

คนรับใช้ทั้งเจ็บทั้งโกรธทั้งงงเป็นที่สุด แล้วก็ถามเจ้านายว่า ทำไมนายถึงรู้ได้

เจ้านายก็ตอบกลับมาว่า ก็จดหมายที่ข้าเขียนไปหาเพื่อนบอกว่าข้าส่งผลไม้ไปให้ 10 ผล และเพื่อนข้าตอบกลับมาว่าได้รับแล้วเพียง 8 ผลด้วยความขอบคุณ

คนรับใช้ร้องโหยหวนแสดงความหวาดกลัวและทึ่งไปพร้อมๆ กัน และร้องออกมาว่า กลัวแล้ว กลัวแล้ว และบอกกับเจ้านายว่า ข้าอุตส่าห์เอาจดหมายไปวางไว้หลังโขดหินแล้ว มันยังอุตส่าห์มองเห็นว่าข้าแอบขโมยผลไม้กิน 2 ผลได้ น่ากลัวๆ

ว่าแล้วก็ก้มลงหมอบกราบจดหมายนั้น!

 

เรื่องเล่าข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึง “ความจริงตามบันทึก” ที่ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ในมือใคร ถูกเปิดเผยเวลาใด มันก็ยังมีเนื้อความตามบันทึกอยู่ดี

ยกเว้นว่า จะไปอยู่ในมือของคนที่อ่านหนังสือไม่ออก หรืออ่านออกแต่คนละภาษา หรือไปอยู่ในมือของคนที่อยู่ในยุคสมัยและบริบทที่ห่างไกลและแตกต่างกันมาก มากเสียจนอาจจะไม่เข้าใจเนื้อหารายละเอียดนั้นได้นอกจากจะต้อง “ตีความ”

เรื่องเล่าที่ว่านี้ จะลงเอยแตกต่างกันไป หากคนรับใช้อ่านออกเขียนได้ เรื่องอาจจะลงเอยโดยไม่มีการขโมยกินผลไม้เลยก็ได้ หรืออาจจะลงเอยเพียงการแอบกินผลไม้ในการเดินทางครั้งแรกเท่านั้น เพราะเมื่อถูกจับได้ ก็จะไม่ทำอีก หรือจับครั้งที่สองไม่ได้ เพราะคนรับใช้แก้ตัวเลขจำนวนผลไม้ที่เจ้านายเขียนไป และแก้ตัวเลขจำนวนผลไม้ที่เพื่อนเจ้านายเขียนตอบรับกลับมา (จะเกี่ยวกับรายชื่อ 100 คนแรกที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญไหมหนอ?!)

การแอบกินผลไม้และแก้ไขตัวเลขจำนวนผลไม้ นอกจากจะเป็นการขโมยผลไม้อย่างแน่นอนแล้ว ถือว่าเป็น “การขโมยประวัติศาสตร์” ด้วยหรือไม่?

แต่สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการส่งผลไม้ทั้งสองครั้ง แม้ว่าเจ้านายและคนรับใช้จะเห็นพ้องต้องกันว่า มีการขโมยผลไม้เกิดขึ้น และ (ยังดีที่) คนรับใช้ก็ยอมรับว่าแอบขโมยกิน แต่เจ้านายก็มีประวัติศาสตร์ในแบบของเขา นั่นคือ ข้อความในจดหมายของเขาคือหลักฐานสำคัญ แต่คนรับใช้ก็มีประวัติศาสตร์ของเขาอีกต่างหากด้วย

เพราะคนรับใช้เข้าใจว่า จดหมายนั้นคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรสักอย่างที่มีอำนาจวิเศษหยั่งรู้ได้ แม้ว่าเขาจะเอาจดหมายไปซ่อนแล้ว จดหมายก็ยังหยั่งรู้อย่างถูกต้องแม่นยำได้ว่าเขาแอบกินผลไม้ไปกี่ผล…

(และถ้าจดหมายไม่มีอำนาจวิเศษ เขาก็คงจะไม่มีวันยอมรับอย่างแน่นอน อิอิ)