นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ‘อำนาจทางการพิมพ์’ ของกรุงเทพฯ ที่ยึดไว้

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ชาติไทยฉบับพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง

ในปี 2549 สำนักพิมพ์มติชนได้พิมพ์หนังสือเรื่อง สยามพิมพการ : ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คนร่วมกันศึกษาค้นคว้า และมีอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติการพิมพ์ในประเทศไทย แค่ข้อมูลเบื้องต้นอย่างเดียวก็หนาเข้าไป 549 หน้า เพราะมีการศึกษาค้นคว้าจากหลักฐานนานาชนิดอย่างกว้างขวาง

หากไม่มีเหตุจำเป็นให้ต้องรื้อกองหนังสือเก่า ผมคงลืมหนังสือเล่มนี้ไปแล้ว แต่เมื่อนำมาอ่านใหม่ ก็ยังคงได้รู้อะไรที่ไม่รู้หรือลืมไปแล้วมากทีเดียว จนนึกเสียดายว่าคงขาดตลาดไปนานแล้ว น่าจะพิมพ์ใหม่หรือเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่น เพราะคงมีประโยชน์แก่ผู้สนใจนิเทศศาสตร์สายสื่อสิ่งพิมพ์อีกมาก อย่างน้อยก็น่าจะเก็บเป็นที่ระลึกแก่ความเสื่อมทรุดที่อาจถึงกาลอวสานของสื่อสำคัญ ที่เปลี่ยนโลกใบนี้ไปอย่างมโหฬาร

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า การพิมพ์ (ด้วยแม่พิมพ์ที่เปลี่ยนตัวได้) เป็นเทคโนโลยีตะวันตก เมื่อแพร่หลายในยุโรป ย่อมสามารถพิมพ์ภาษาอะไรก็ได้ ตราบเท่าที่ภาษานั้นมีหนังสือตัวเขียนให้พิมพ์ เพราะหนังสือตัวเขียนของภาษายุโรปทุกภาษาใช้ตัวอักษรอยู่เพียงสองชนิด คือตัวอักษรโรมันหรือตัวอักษรกรีก แต่ครั้นเอาเครื่องพิมพ์มาพิมพ์ภาษาของเอเชีย จะหาตัวพิมพ์ที่เป็นอักษรของภาษาต่างๆ ในเอเชียจากที่ไหน ฉะนั้น ถึงมีเครื่องพิมพ์ก็พิมพ์ไม่ได้

ฝรั่งกลุ่มแรกที่อยากพิมพ์หนังสือด้วยภาษาพื้นเมืองเอเชียคือมิชชันนารี เพราะอยากนำถ้อยความในพระคัมภีร์มาเผยแพร่ จะใช้อักษรอะไรในการพิมพ์พระคัมภีร์ หรือบทสวดเป็นภาษาพม่า, ไทย, เวียดนาม, มลายู ฯลฯ คำตอบที่ง่ายที่สุดคืออักษรโรมันสิครับ เพราะมิชชันนารีตะวันตกมีตัวพิมพ์ชนิดนี้อยู่แล้ว แต่ต้องมีใครสักคนหรือกลุ่มหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็เป็นพระสงฆ์ในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกที่จะคิดค้นอักขรวิธีภาษาเอเชียใหม่ด้วยตัวอักษรโรมัน

หากมีการพิมพ์ภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยอยุธยาจริง (ซึ่งไม่มีใครรู้แน่ว่าจริงหรือไม่) สิ่งพิมพ์นั้นก็ต้องใช้อักษรโรมัน และน่าจะอิงอาศัยกับอักขรวิธีของภาษาฝรั่งเศสผสมละติน เพราะในหลักฐาน (ที่ไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่) อ้างว่าบาทหลวงฝรั่งเศสเป็นคนจัดพิมพ์ขึ้น

ในต้นรัตนโกสินทร์เมื่อเริ่มการพิมพ์ภาษาไทยขึ้นใหม่ บาทหลวงคาทอลิกก็ยังใช้อักขรวิธีโรมันเขียนภาษาไทยในระยะแรก (เช่น พจนานุกรมไทย-ละติน-ฝรั่งเศสของสังฆราชปาเลอกัวซ์เป็นต้น) จนต่อมาเมื่อการพิมพ์ของมิชชันนารีอเมริกันแพร่หลายแล้ว ต่างจึงหันมาใช้อักขรวิธีและอักษรไทย เพราะสามารถสั่งหล่อตัวพิมพ์อักษรไทยจากต่างประเทศหรือหล่อตัวพิมพ์ได้เองแล้ว

อีกสองภาษาของภาษาเอเชียที่เรารู้จักดียังใช้อักษรโรมันสืบมาจนถึงทุกวันนี้คือภาษาเวียดนามและภาษามาเลเซีย-อินโดนีเซีย คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมอักษรและอักขรวิธีไทยจึงยังเหลือรอดในการพิมพ์มาได้ ทั้งๆ ที่อักษรและอักขรวิธีไทยนั้นไม่เหมาะแก่การพิมพ์เท่าอักขรวิธีโรมัน อย่างน้อยก็มีนักปราชญ์ไทยถึงสองคน (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ) ที่พยายามปรับปรุงอักขรวิธีไทยให้เหมือนอักขรวิธีโรมัน เพื่อสะดวกแก่การพิมพ์

ผมคิดว่าเราตอบปัญหานี้ได้สองทาง หนึ่ง คือการเมืองของความพยายามสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ซึ่งเป็นรัฐสมัยใหม่อีกชนิดหนึ่ง ที่เสริมสร้างสืบกันมาถึง 3-4 รัชกาล สอง คือประโยชน์และเทคนิคเฉพาะหน้าของผู้พิมพ์หนังสือ ซึ่งอาจเริ่มต้นที่มิชชันนารี แต่มีผู้เล่นอื่นๆ ตามมาอีกหลายกลุ่ม

ผมขอตอบด้วยทางที่สอง เพราะจะเป็นปัญหาน้อยกว่าในตัวคำตอบและตัวผู้ตอบ

เมื่อตอนที่บาทหลวงฝรั่งเศสคิดตัวหนังสือ Quoc Ngu หรือภาษาเวียดนามที่เขียนด้วยอักษรและอักขรวิธีโรมันขึ้นในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 คนเวียดนามที่อ่านออกเขียนได้มีอยู่ประมาณ 10% ของประชากรเท่านั้น เพราะเวียดนามใช้ตัวอักษรจีนในการเขียนภาษาเวียดนามมาตั้งแต่โบราณ และกว่าจะเรียนเขียน-อ่านจีนได้ต้องใช้เวลานานเกินกว่าคนส่วนใหญ่จะเสียเวลาและทุนทรัพย์ไปเรียนได้ อีกทั้งการมีความรู้คลาสสิคจีนในเวียดนาม ยังให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจน้อยกว่าในเมืองจีนมาก

แม้เวียดนามดัดแปลงตัวอักษรจีนให้เหมาะกับความหมายของภาษาเวียดนามได้มากขึ้น (และว่ากันว่าง่ายขึ้น) เรียกว่าอักษรโนม (Nom) แต่จะอ่านออกก็ยังต้องมีความรู้ตัวหนังสือจีนระดับหนึ่งเหมือนกัน (เพราะใช้อักษรภาพมาแทนเสียง)

ด้วยเหตุดังนั้น เมื่อบาทหลวงต้องการให้คนเวียดนามอ่านพระคัมภีร์และบทสวดออก การใช้ตัวอักษรใหม่คืออักษรโรมันมาแทนเสียงในภาษาเวียดนาม จึงง่ายกว่าสอนคนเวียดนามให้อ่าน-เขียนจีนให้ได้เสียก่อน จะเอาไปลงแท่นพิมพ์ก็ง่าย เพราะไม่ต้องหล่อตัวพิมพ์ใหม่ แม้กระนั้นตัวอักษรซึ่งเรียกในสมัยหลังว่า Quoc Ngu ก็ไม่ได้แพร่หลายมากนัก นอกจากในหมู่ชาวเวียดนามซึ่งหันไปนับถือคริสต์ศาสนา

อักษร Quoc Ngu มาถูกใช้กันอย่างแพร่หลายภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ซึ่งสนับสนุนการศึกษาผ่านตัวอักษรชนิดนี้มากกว่าอักษรจีน ปัญญาชนเวียดนามก็เห็นด้วย เพราะเรียนง่ายกว่า ย่อมขยายการศึกษาของประชาชนได้เร็วกว่าแน่ แต่เหตุผลอีกส่วนหนึ่งที่ฝรั่งเศสสนับสนุน Quoc Ngu เป็นเหตุผลทางการเมือง

ดังที่อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน อธิบายไว้ในชุมชนจินตนากรรมว่า ฝรั่งเศสปกครองเวียดนาม โดยมีจีนเป็นเป้าไว้ต่อต้าน และปกครองลาวกับกัมพูชาโดยมีสยามเป็นเป้า ทำทุกวิถีทางให้เวียดนามหลุดออกจากอิทธิพลทางวัฒนธรรมของจีน ทำทุกวิถีทางให้ลาวและกัมพูชาหลุดออกจากอิทธิพลทางวัฒนธรรมของสยาม

เบน แอนเดอร์สัน

น่าสนใจที่จะตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ตัวพิมพ์อักษรไทยถูกดัดแปลงให้โปร่ง ลดเส้นลง ตั้งตรงขึ้น จนแตกต่างจากตัวเขียนอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ตัวพิมพ์อักษรลาวและกัมพูชายังใกล้เคียงกับตัวเขียนอย่างมาก (เช่นเดียวกับตัวธรรมและ/หรือตัวเมืองในประเทศไทยซึ่งมาหล่อตัวพิมพ์กันในภายหลัง)

ในพม่า แม้มีการถ่ายภาษาพม่าด้วยอักษรโรมันมาตั้งแต่อังกฤษยังปกครองอยู่ แต่ตัวอักษรโรมันไม่ได้ถูกใช้จริง เพราะในตำราเรียนชั้นประถมก็ยังใช้อักษรพม่าพิมพ์ ส่วนในชั้นที่สูงกว่านั้นกลับใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อภาษาในการเรียนการสอน หนังสือพิมพ์ใช้ตัวอักษรพม่า เพราะพม่าเป็นที่หนึ่งในภูมิภาคนี้ที่ผู้คนอ่านออกเขียนได้มากที่สุด (เมื่ออังกฤษแรกได้พม่าเป็นอาณานิคม คนอังกฤษพบว่าผู้หญิงพม่าเกินครึ่งอ่านออกเขียนได้มากกว่าผู้หญิงอังกฤษในยุคเดียวกันเสียอีก) ภาษาพม่าที่เขียนด้วยอักษรโรมันจึงไม่มีที่ใช้ นอกจากในหมู่นักวิชาการเพื่ออ้างคำพม่าเท่านั้น (เป็นเหตุให้ภาษาพม่าที่เขียนด้วยตัวโรมันใช้อักขรวิธีพม่ามากกว่าอักขรวิธีโรมัน จนคนที่ไม่รู้ภาษาพม่าอ่านผิดทุกที)

มีเหตุที่ทำให้ภาษาพื้นเมืองในฟิลิปปินส์ และภาษามลายูถูกพิมพ์ด้วยตัวอักษรโรมัน มีร่องรอยตัวเขียนในบางภาษาของฟิลิปปินส์มาก่อนที่สเปนจะเข้าครอบครอง แต่หลายศตวรรษภายใต้สเปน ตัวอักษรนั้นถูกลืมไปหมดจนไม่มีใครอ่านออกแล้ว ฉะนั้น จึงไม่เหลือทางเลือกมากนัก

ส่วนภาษามลายูซึ่งถูกใช้เป็นภาษากลางของภูมิภาคนี้ไม่มีตัวอักษร (เพราะคนที่พูดฟังภาษานี้พอรู้เรื่องเช่นพ่อค้าชวา หรือพ่อค้าเชื้อสายโปรตุเกส หรือพ่อค้าจีนในเมืองไทย ต่างก็มีตัวอักษรสำหรับเขียนภาษาของตนเองอยู่แล้ว ถึงเอาไปเขียนภาษามลายู พ่อค้ากลุ่มอื่นก็อ่านไม่ออก) ส่วนภาษามลายูของเจ้าของภาษาใช้ตัวอักษรอาหรับ ซึ่งแพร่หลายเฉพาะในหมู่คนวงการศาสนาและราชสำนักที่มีการศึกษาเท่านั้น ชาวบูกิสซึ่งแม้เป็นมุสลิมด้วยกัน แต่มีตัวอักษรของตนเองสำหรับไว้เขียนภาษาบูกิส เหตุดังนั้นตัวอักษรโรมันซึ่งแพร่หลายกว่าในสมัยที่ตกเป็นอาณานิคมแล้ว จึงเหมาะจะใช้เขียนภาษามลายูมากที่สุด เพราะอาจสื่อสารข้ามภาษาถิ่นของกันและกันได้ง่ายกว่าตัวอักษรชนิดอื่น

ตัวพิมพ์ภาษามลายูจึงเป็นตัวอักษรโรมันมาแต่ต้น

ด้วยเหตุผลทางเทคนิคและประโยชน์เฉพาะหน้าเช่นนี้แหละครับ ที่ทำให้การพิมพ์ของไทยต้องใช้ตัวอักษรไทยอยุธยา ผมควรขยายความไว้ด้วยว่า ไม่ใช่ตัวธรรมหรือตัวเมือง ซึ่งใช้มากในภาคอีสานและภาคเหนือ และไม่ใช่ตัวขอมไทยซึ่งใช้มากในภาคใต้ ซ้ำตัวพิมพ์อักษรไทยอยุธยาแบบนี้ยังเผยแพร่ภาษาไทยอยุธยาออกไปยังคนไทยในส่วนอื่นๆ ผ่านการศึกษาและสื่อสมัยใหม่จนกลายเป็น “ภาษากลาง” ของประเทศสยาม-ไทยไปในที่สุด

ดังที่อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ได้ชี้ไว้นานแล้วว่า ทุนนิยมการพิมพ์นี่แหละเป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งในการกำเนิดรัฐชาติและสำนึกชาตินิยมขึ้นทั่วโลก ยิ่งเป็น “ชาตินิยมแบบทางการ” อย่างของไทยแล้ว การพิมพ์ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก

ยิ่งในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์การพิมพ์ อักษรไทยอยุธยาผูกขาดการพิมพ์ในทางปฏิบัติไว้เลย เพราะไม่มีใครหล่อตัวพิมพ์อักษรประเภทอื่น ดังนั้น ค่าวของพญาพรหมซึ่งพิมพ์ขึ้นครั้งแรกจึงต้องพิมพ์ด้วยตัวอักษรอยุธยา ไม่ใช่ตัวเมือง

เพื่อนชาวอีสานของผมคนหนึ่งเคยถามว่า คนไทยส่วนใหญ่พูดภาษาลาว เหตุใดภาษาประจำชาติไทยจึงเป็นภาษากรุงเทพฯ เล่า อันที่จริงภาษาไทยสำเนียงกรุงเทพฯ นั้นมีคนไทยใช้น้อยมาก คือเฉพาะในชุมชนที่เกาะติดอยู่กับลำน้ำเจ้าพระยาเท่านั้น ถัดออกไปทั้งทางด้านตะวันตกและตะวันออก ต่างพูดด้วยสำเนียงอื่นทั้งสิ้น เช่น สุพรรณ, กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, ชลบุรี ไปถึงเมืองจันท์และตราด ฯลฯ ต่างมีสำเนียงของตนเอง

ผมคิดว่าคำตอบส่วนหนึ่งคืออำนาจทางการเมืองของกรุงเทพฯ (ทั้งอยุธยาและบางกอก) แต่ที่สำคัญกว่านั้นคืออำนาจทางการพิมพ์ ด้วยเหตุผลใดก็ตามที่ทำให้กรุงเทพฯ ยึดกุมการพิมพ์ได้อย่างเด็ดขาดดังที่สยามพิมพการแสดงไว้ ทำให้ไม่มีสำเนียงหรืออักษรของใครจะมาแทนที่ได้อย่างแน่นอน แม้แต่ย้ายเมืองหลวงหนีน้ำท่วมไปอยู่อุดรฯ หรือเชียงใหม่ ภาษาประจำชาติก็ยังต้องเป็นภาษาไทยกรุงเทพฯ อยู่นั่นเอง

เรื่องนี้ไม่ได้เกิดกับ “ชาติ”ไทยเพียงแห่งเดียว ภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน หรือรัสเซีย (ซึ่งสมัยหนึ่งมีคนไม่ถึงครึ่งภายใต้พระเจ้าซาร์ที่ใช้ภาษานี้) ก็ล้วนเหมือนกัน ที่กลายเป็นภาษาประจำชาติได้ก็เพราะยึดกุมการพิมพ์ได้ และโดยธรรมชาติของการพิมพ์ซึ่งเป็นทุนนิยมอย่างหนึ่ง ย่อมต้องการทั้งมาตรฐานกลางและตลาดใหญ่ที่สุดที่จะใหญ่ได้ สอดคล้องกับ “ชาติ” ที่ต้องการอย่างเดียวกันพอดี