สมชัย ศรีสุทธิยากร : เลือกตั้งดิจิตอล – เมื่อสื่อสังคมมีบทบาท ใครจะวิ่งตามใคร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

เลือกตั้งดิจิตอล (2) : เมื่อสื่อสังคมมีบทบาท ใครจะวิ่งตามใคร

ในตอนที่ผ่านมาได้กล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่เข้ามาส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง (คลิกอ่าน) โดยกล่าวในฝั่งของฝ่ายจัดการเลือกตั้งว่าสามารถนำไปใช้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการลงคะแนนด้วยเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ (voting machine) เครื่องนับคะแนน (counting machine) การลงคะแนนทางอินเตอร์เน็ต (internet voting) การพัฒนาระบบประมวลผลและการรายงานผลการเลือกตั้ง ไปจนถึงการให้ประชาชนได้รับข่าวสารข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

แต่เทคโนโลยีไม่ได้ถูกหวงห้ามว่าให้ใช้ได้แต่ฝ่ายจัดการเลือกตั้งฝ่ายเดียว

พรรคการเมือง ผู้สมัคร หัวคะแนน ผู้สนับสนุน ทุกคนล้วนเข้าถึงเทคโนโลยี

ดังนั้น ในฝั่งของผู้เล่น หากเข้าใจ เรียนรู้ ใช้เป็น รู้จักใช้ ย่อมสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มหาศาลเหนือคนที่ไม่รู้หรือตามไม่ทัน

ในขณะที่คำหลัก (keyword) ของการใช้เทคโนโลยีของฝ่ายจัดการเลือกตั้งคือ สะดวก ประหยัด ทันสมัย ถูกต้อง รวดเร็ว น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะที่หวังจะให้เกิดขึ้นเมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเลือกตั้ง แต่ “คำหลัก” ที่ใช้สำหรับฝ่ายการเมือง มีเพียงคำเดียวคือ “เพื่อชนะการเลือกตั้ง”

การชนะการเลือกตั้งโดยเทคโนโลยี จึงเป็นการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือทั้งในการสื่อสารข้อมูลของผู้สมัครและพรรคการเมืองไปถึงประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ให้รับรู้ถึงประวัติความเป็นมา อุดมการณ์แนวคิดทางการเมือง นโยบายและจุดเด่นของพรรคที่เป็นจุดขายในการหาเสียง ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีในฐานะวิชามารเพื่อทำลายคู่แข่ง สร้างความสับสนให้แก่ประชาชน

เทคโนโลยีจึงมีสถานะทั้งเป็นอาวุธอันทรงพลังของทั้งฝ่ายเทพและมารหากรู้จักใช้

ในด้านวิชาเทพ พรรคการเมืองสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลของสมาชิกอย่างเป็นระบบในรูปของฐานข้อมูล (database) ซึ่งจะทำให้การเรียกดูข้อมูลแยกประเภทสมาชิกตามความต้องการได้

สามารถใช้ข้อมูลการเลือกตั้งในอดีตผสานกับการสำรวจคะแนนเสียง (poll) เพื่อการวิเคราะห์พื้นที่ ทำแผนที่คะแนน (mapping) เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนการหาเสียง

พรรคการเมืองสามารถใช้เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม เพื่อการสื่อสารข้อมูลถึงบุคคลทั่วไปและการสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นที่นิยม

สามารถใช้ไลน์เพื่อการสื่อสารเฉพาะกลุ่มอย่างรวดเร็ว ไม่นับรวมถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อใช้เป็นการภายใน เช่น แอพพลิเคชั่นเพื่อการรับสมัครสมาชิกที่พรรคประชาธิปัตย์ทำ เป็นต้น

หากมองลึกจำเพาะเจาะจงลงไปถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (social media) ซึ่งเป็นวิธีที่คนในสังคมสมัยใหม่ติดต่อสื่อสารกัน เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ นอกจากจะเป็นวิธีการที่สามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็วแล้วยังเป็นวิธีการที่สามารถไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่ประหยัดและต้นทุนต่ำอีกด้วย การสร้างข่าวในหน้าหนึ่งติดต่อกันหลายวันสามารถทำได้ผ่านสื่อเหล่านี้โดยไม่เสียเงินแม้แต่บาทเดียวก็ยังทำได้ (เชื่อผมเถอะ ผมทำประจำ)

แต่หากอยากจะใช้เงินเพื่อทำให้ดูดีและทั่วถึงมากขึ้น ก็ไม่ใช่เรื่องยากและไม่ได้ใช้เงินมากมาย เช่น การเสียเงินให้กับเฟซบุ๊กเพื่อ Boost โพสต์ให้เป็นที่แพร่หลาย มีเงินอีกนิดอาจจ้าง production ทำเป็นคลิปเผยแพร่ในยูทูบ เวลาพิมพ์นามบัตรหรือใบปลิวหาเสียง ก็ทำ QR code ในเอกสารให้คนใช้มือถือส่องเพื่อไปดูคลิปวิดีโอหาเสียงของเราได้ ทั้งเท่ ทั้งถูก

มองกลับในมุมของวิชามาร การใช้สื่อสังคมสามารถนำไปสู่การทำลายฝ่ายตรงข้าม ทั้งในด้านการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง ข่าวปลอม (fake news) และการสร้างถ้อยคำที่นำไปสู่ความเกลียดชัง (hate speech)

ว่ากันว่า การทำประชามติของอังกฤษเพื่อแยกตัวออกจากประชาคมยุโรป หรือ Brexit เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2016 ที่มีผลการลงประชามติว่า 51.9% เห็นสมควรกับการแยกตัวออก และ 48.1% ที่เห็นว่าควรยังอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไป

มีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ตามมาถึงการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จแก่ประชาชน และการสร้างอารมณ์ความรู้สึกเกลียดชังแก่คนยุโรปที่ไปอยู่อาศัยในสหราชอาณาจักร เป็นรอยบาดลึกมาถึงปัจจุบัน

AFP PHOTO / Paul J. Richards

เช่นเดียวกับการกระพือข่าวในเชิงลบใส่กันระหว่างฮิลลารี่ คลินตัน และโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิปดีสหรัฐในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2016 การใช้สื่อสังคมในรูปแบบต่างๆ ถาโถมไปยังผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จนฝ่ายรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองทั้งสองพรรคต้องหาทางแก้ไขสถานการณ์ไม่เว้นแต่ละวัน

แพ้-ชนะเลือกตั้ง อาจเกิดจากข่าวที่แพร่ผ่านสื่อสังคมได้แค่ชั่วข้ามคืน

การใช้วิชามาร คงไม่ใช่เรื่องที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจะ “เปิดหน้า” ดำเนินการเอง เพราะเสี่ยงเกินไปที่จะถูกจับแพ้ฟาวล์ แต่บรรดากองเชียร์ของพรรคซึ่งไม่แน่ว่าจะเชียร์เองหรือถูกจ้างให้เชียร์ จะทำในลักษณะส่วนบุคคลต่างทำอย่างไม่เป็นระบบหรือจัดตั้งเป็นกองกำลังนักรบไซเบอร์ (Cyber warrior) ที่ประกอบด้วยแม่ทัพและนักรบที่เชี่ยวชาญการเปิดศึกในทุกหน้าสมรภูมิดิจิตอล เป็นเรื่องที่ กกต.ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรมคงต้องหนักใจว่าจะตามเกมต่างๆ เหล่านี้ทันหรือไม่

ยิ่งไม่สนใจ ยิ่งไม่รู้เรื่องเทคโนโลยี ยิ่งเป็นคนรุ่นเก่า ยิ่งตามไม่ทัน

การออกกติกาต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่วิ่งตามคนอื่น บางทีอาจจะจุกจิก บางทีอาจไม่เข้าใจ และบางทีอาจไม่ก่อให้เกิดผลสำเร็จใดๆ โดยเมื่อสำรวจจากข่าวและการให้สัมภาษณ์จะพอเห็นแนวทางที่ กกต.จะใช้ในการควบคุมโซเชียลมีเดีย

ดังนี้

1)ให้พรรคการเมืองและผู้สมัคร จดแจ้งชื่อเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม หรือสื่อสังคมต่างๆ ที่เป็นของตนเองและต้องพร้อมรับผิดชอบหากมีข้อความในรายการที่แจ้งจดกระทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย

2) กำหนดช่วงเวลาของการดำเนินการ เช่น จะหาเสียงผ่านสื่อดังกล่าวได้ในช่วงที่มีกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้ง ไปจนถึง 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง

3) ให้อำนาจ กกต.ในการขอให้ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองลบข้อความที่ไม่เหมาะสม หาก กกต.เห็นว่าข้อความดังกล่าวส่อไปในทางขัดกฎหมายหรือนำไปสู่ความไม่สุจริตไม่เที่ยงธรรมได้

4) กำหนดโทษของการฝ่าฝืน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อไม่เกิดการกระทำผิด

การกำหนดวิธีการต่างๆ ข้างต้นหรืออาจจะมีตามมามากกว่านี้อีก ยังเป็นเครื่องหมายคำถามว่าคงจะสามารถกำกับได้เพียงในรายการที่มีการจดแจ้งมายัง กกต.เท่านั้น

แต่จริงหรือที่ผู้สมัครแต่ละคนจะมีเพียง 1 แอ็กเคาต์ และการกระทำของกองเชียร์ที่ประสงค์ดี หรือการกลั่นแกล้งของผู้แสร้งทำเป็นกองเชียร์แต่ประสงค์ร้าย จะสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายเพียงไร เป็นเรื่องที่น่าคิด

และการที่ กกต.จะไปไล่จับผิด โดยหากพบใครผิดจะดำเนินการ จะสามารถทำได้อย่างครอบคลุมหรือไม่

หากเจอบางกรณีแล้วจัดการ แต่ที่ไม่เจอไม่จัดการจะโดยไม่ตั้งใจหรือตั้งใจไม่เจอ จะเป็นเรื่องของการเลือกปฏิบัติหรือไม่

กกต.จะกลายเป็นเครื่องมือจัดการแค่คนบางกลุ่ม และหรี่ตากับการกระทำผิดของคนบางกลุ่มหรือไม่ อาจกลายเป็นประเด็นสำคัญของการจัดการของ กกต.ต่อกรณีการหาเสียงผ่านสื่อสังคม

ทั้งหมดนี่คือคำถามใหญ่ต่อ กกต. ว่า จะเที่ยววิ่งตามหาคนผิดในเรื่องดังกล่าว วิ่งตามเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นทางโลกอินเตอร์เน็ตที่ประกอบด้วยข่าวสารข้อมูลมหาศาลที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวินาทีได้อย่างไร แถมข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่อาจไม่สามารถระบุถึงตัวตนของคนที่นำเสนอด้วยซ้ำ หรืออาจมาจากแหล่งภายนอกประเทศที่กฎหมายไทยไปไม่ถึง

แค่คิดก็ปวดหัว การหาทางวิ่งไล่ตามยิ่งปวดหัว โชคดีที่ไม่ได้เป็น กกต.ครับ