วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์/สงครามเวียดนาม : เราสู้ (1)

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

 

สงครามเวียดนาม : เราสู้ (1)

The Vietnam War : A Film by Ken Burns and Lynn Novick หนังสารคดีของเคน เบิร์นส์ ลินน์ โนวิก และทีมงาน อันได้แก่ เจฟฟรีย์ วอร์ด ผู้เขียนบท ปีเตอร์ โคโยตี้ ผู้บรรยาย และโย-โย หม่า ผู้ร่วมประพันธ์ดนตรีประกอบ และออกฉายทาง Netflix เมื่อปีที่แล้ว

หนังยาวสิบตอนและกินเวลาทั้งหมดสิบแปดชั่วโมง

มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม ซึ่งยาวกว่าสามสิบปี และคร่าชีวิตคนไปราวสามล้าน

ในจำนวนนี้เป็นอเมริกันกว่าห้าแสน เวียดนามกว่าสองล้าน

ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้เป็นทหาร แต่เป็นชาวบ้านธรรมดา

นอกจากนั้น ยังมีการประเมินว่าฝ่ายอเมริกันทิ้งระเบิดไปกว่าแปดล้านตัน และใช้งบประมาณไปมากมายอย่างนับไม่ถ้วน

ความรุนแรงครั้งนี้เกิดขึ้นไม่ไกลจากบ้านเราและยุติลงเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว แต่เป็นประวัติศาสตร์ช่วงที่ทั้งฝ่ายตะวันตกและตะวันออกไม่อยากพูดถึง

พูดอีกอย่าง การตอบว่าเราสู้เพื่ออะไร? เป็นรอยร้าวในสังคมและผลที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

คำถามว่านี่เป็นสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์? สงครามเย็น? สงครามกลางเมือง? หรือสงครามปฏิวัติ? นำไปสู่คำถามต่างๆ อีกมากมาย

และที่สำคัญ ผู้ดูจะพบว่าสงครามนี้สะท้อนความปั่นป่วนและหฤโหดที่เกิดขึ้นในโลกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อฟังรัฐบาลและทหาร การเชื่อฟังข้อมูลข่าวสาร และบทบาทของประชาชน

จุดเด่นของหนังคือไม่ได้ให้คำตอบง่ายๆ หรือพูดถึงสงครามนี้ในแง่อดีตหรือวิชาการเท่านั้น

แต่บอกว่าสงครามเวียดนามมีความสำคัญในแง่อัตลักษณ์ของชาติ หรือเข้าไปเกี่ยวกับความทรงจำของคนทั้งสองฝ่าย

 

เริ่มต้นด้วยเทคนิคการย้อนภาพ นั่นคือฉายคลิปจากปลายมาหาต้น เช่น เฮลิคอปเตอร์ที่กำลังจอดลอยหายไปในท้องฟ้า ทหารที่กำลังจะบุกเดินกลับไปทางขอบจอ กลุ่มควันและเปลวไฟหดตัวลงและกลายเป็นลูกระเบิดนาปาล์มที่ลอยกลับขึ้นไปบนเครื่องบิน และศพคนที่เสียชีวิตกระโดดกลับไปยืนตรงที่ก่อนจะถูกยิง

ซีเควนซ์นี้ทำหน้าที่เป็นบทนำของหนัง นั่นคือ บอกว่าถ้าอยากจะเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ เราต้องกลับไปหาจุดเริ่มต้นของสงครามซึ่งห่างไกลจากวันนี้มาก

ในตอนแรก ย้อนกลับไปกว่าร้อยปี เมื่อเวียดนามเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และตามด้วยการถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โฮจิมินห์ต่อสู้เพื่อปลดแอกจากฝรั่งเศสจนกระทั่งเป็นฝ่ายชนะ

แต่ต้องยอมเมื่อหลายชาติบอกให้แบ่งประเทศออกเป็นเหนือและใต้ที่เส้นขนานที่ 17 จากนั้นจึงเป็นยุคที่อเมริกาเข้าไปแทนที่ฝรั่งเศส และยาวนานอีกกว่ายี่สิบปี

ขณะนั้นอเมริกาเชื่อว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยระดับโลก การที่เวียดนามเหนือรับความช่วยเหลือจากรัสเซียและจีน และจะยึดประเทศเวียดนามใต้ จึงเป็นการคุกคามโลกเสรี

ต่อมาเมื่อเวียดกงถูกจัดตั้งและเริ่มทำสงครามจรยุทธ์ อเมริกาจึงส่งเครื่องบิน อาวุธยุทโธปกรณ์ และที่ปรึกษาจำนวนมากเข้าไปช่วยเวียดนามใต้ และเมื่อส่งทหารราบเข้าไป การรบก็รุนแรงขึ้นทุกที

สี่ตอนหลัง คือตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 เกี่ยวกับปฏิบัติการทหารของสหรัฐที่ถูกต่อต้านจากทั่วโลกมากขึ้น และเหตุการณ์ที่นำความประหลาดใจให้แก่ทุกฝ่ายก็คือการเยือนปักกิ่งและมอสโกของนิกสันในปีนั้น ซึ่งแสดงว่าการรบในเวียดนามไม่มีความหมายมากอย่างที่เคยเชื่อ

สุดท้ายอเมริกาอยากจะถอนกำลังกลับและมีเงื่อนไขเดียวคือให้เวียดนามเหนือส่งนักโทษที่ถูกจับคืนมาเท่านั้น

ตอนท้ายๆ มีฉากไซ่ง่อนถูกยึดและความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของอเมริกา แต่หนังจะต่อไปจนถึงราว พ.ศ.2520 โดยพูดถึงสภาพหลังสงครามของทั้งสองฝ่าย และบอกว่าสงครามนี้จบยาก แต่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกต่อไปอีกมากมาย

 

หนังที่ลงทุนไปกว่าสามสิบล้านและกินเวลาสร้างกว่าสิบปีนี้ ใช้รูปถ่ายกว่าสองหมื่นรูปและคลิปที่รวมแล้วยาวกว่าพันชั่วโมง ฟุตเทจมาจากหลายแหล่ง ทั้งอเมริกาและเวียดนามเหนือ และสัมภาษณ์เฉพาะคนที่ผ่านสงครามมาจริงๆ จากที่มีกว่าพันคนตัดเหลือเพียงแปดสิบคน

ในแง่ตัวละคร มีทั้งสองฝ่ายและหลายระดับ ตั้งแต่พลทหารและชาวบ้านไปถึงประธานาธิบดี หนังจะทำให้ชื่อที่ไม่คุ้นเคย เช่น หวอเงวียนซ้าป เวสต์มอร์แลนด์ เลส่วน อ่าวตังเกี๋ย และตรุษญวน และเวียดนามไมเซชั่นถูกทำให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ในแง่ฉาก มีทั้งสนามรบและโต๊ะเจรจา ทั้งในวอชิงตันและเวียดนาม ห้องดูทีวีและทุ่งนา แคมปัสและหอประชุม ในแง่ความคิดก็เช่นกัน มีทฤษฎีมากมาย เช่น ทฤษฎีโดมิโนยุทธการค้นหาและทำลาย และทฤษฎีคนบ้าที่โด่งดัง

ในการรบครั้งเดียวกัน ผู้ดูจะเห็นทั้งภาพสีและขาว-ดำทำงานด้วยกันอย่างแนบเนียนไร้รอยต่อ เช่น ในการรบครั้งหนึ่ง หนังจะเริ่มด้วยช็อตซึ่งเป็นสี เช่น ภาพที่ถ่ายจากเครื่องบินของอเมริกา ตามด้วยรีแอ๊กชั่นช็อตซึ่งเป็นขาว-ดำ เช่น ภาพการต่อต้านและยิงด้วยปืนต่อสู้อากาศยานของเวียดนามเหนือ อาศัยความเข้าใจเรื่องทิศทางของกล้องภาพยนตร์และฐานะของศัตรู ทำให้ผู้ดูดำเนินการตัดต่อได้ด้วยตัวเอง

 

ความโดดเด่นหรือพลังที่แท้จริงของหนังมาจากการสัมภาษณ์ หรือประวัติศาสตร์บอกเล่า ทั้งของสองฝ่ายและหลายชนชั้น คือมีทั้งถ้อยคำของชาวบ้าน พลทหาร นายทหาร และนักรบจรยุทธ์ รวมทั้งผู้นำ ที่กำหนดวิธีการสู้รบและยุทธศาสตร์

ผ่านริ้วรอยบนใบหน้า ผู้ดูจะเห็นเหตุการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด และผ่านน้ำเสียงของแต่ละคน ซึ่งบางทีก็ระงับอารมณ์ไม่อยู่ ผู้ดูจะได้สัมผัสด้วยอารมณ์ความรู้สึก

ทหารอเมริกันพูดถึงการแบกศพคนเวียดนามเข้าไปในหมู่บ้าน เพื่อดูว่าใครจะร้องไห้บ้าง (จากนั้นจึงจับมาสอบสวนเป็นรายต่อไป)

บางคนพูดถึงความอาทรของแม่ (คนพิเศษของแม่ทุกคนถูกใส่ถุงศพทุกวัน) แม่ของทหารอเมริกันคนหนึ่งเล่าถึงความเครียดที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่ได้ยินเสียงรถยนต์มาจอดหน้าบ้าน

หญิงคนหนึ่งจากเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นลูกสาวของข้าราชการสมัยฝรั่งเศส พูดถึงการหนีลงใต้ของครอบครัว ขณะที่พี่สาวหันไปร่วมกับฝ่ายเหนือ

แม่ฝ่ายเวียดกง พูดถึงลูกชายที่ตายก่อนการบุกไซ่ง่อนเพียงไม่กี่วันด้วยนํ้าตานองหน้า

และทหารหญิงเวียดนามเหนือ เล่าเรื่องการเข้าไปยึดบ้านของเจ้าหน้าที่เวียดนามใต้ขณะบุกไซ่ง่อนและพบเสื้อผ้าที่ยังเย็บไม่เสร็จ ในเวลาต่อมา เธอพบว่าครอบครัวนี้หนีไปทางทะเลและจมน้ำตายหลังจากนั้น