การ์ตูนที่รัก / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์/Loving Vincent รักแวนโก๊ะห์-พลาดไม่ได้

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

Loving Vincent

รักแวนโก๊ะห์-พลาดไม่ได้

 

หนังโปแลนด์โดยสถาบันภาพยนตร์โปแลนด์ ผลงานกำกับฯ ของผู้สร้างและนักเขียนบทสตรีชาวโปแลนด์ Dorota Kobiela และชาวอังกฤษ Hugh Welchman ได้เป็นหนังแวนโก๊ะห์ที่วาด ลงสี และสร้างความเคลื่อนไหวแบบแวนโก๊ะห์ตลอดทั้งเรื่อง

รูปของแวนโก๊ะห์เคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเอง เวลาเดินเข้าไปในห้องแสดงรูปของแวนโก๊ะห์ หากแสงสาดถูกต้องเราจะรู้สึกได้ถึงความเคลื่อนไหว คือ animation ของท้องฟ้า แสงอาทิตย์ แสงจันทร์ ทุ่งหญ้า ทุ่งดอกไม้ หรือผิวน้ำ

สำหรับหนังเรื่องนี้ นั่งเฉยๆ กับที่ก็เห็นภาพเคลื่อนไหวได้

 

ข้อมูลจากวิกิพีเดียว่าสร้างจากหนังสั้น 7 นาทีของโดโรทาเอง ด้วยฝีมือวาดของเธอเอง เมื่อสร้างเป็นหนังใหญ่ใช้ทีมวาด 125 คนได้ภาพแบบแวนโก๊ะห์ 65,000 ภาพ ชนะการประกวดแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมแห่งยุโรปครั้งที่ 30 ที่กรุงเบอร์ลิน และเข้าชิงออสการ์ครั้งที่ 90 เมื่อปีที่ผ่านมา

 

หนังตอนแรกๆ จะปวดหัวหน่อยก่อนที่จะต่อติด หนังเริ่มต้นด้วยภาพจากหนังสือพิมพ์รายงานจากโอแวร์ (Auvers-sur-Oise) วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม แวนโก๊ะห์อายุ 37 ปี ยิงตัวเองในทุ่ง ได้รับบาดเจ็บและตายในอีก 2 วันต่อมา

ฉากถัดมาเป็นชายหนุ่มชุดเหลืองกำลังมีเรื่องชกต่อยที่หน้าร้านเหล้า เขาชื่ออาร์มันด์ ลอแรง บุตรชายของพนักงานไปรษณีย์โจเซฟ ลอแรง ซึ่งมีตัวอยู่จริง เขาทำจดหมายฉบับหนึ่งตกไว้หน้าร้าน

ตำรวจนายหนึ่งผ่านมาเห็น จึงหยิบจดหมายนั้นเข้าไปในร้านเพื่อส่งคืนแก่อาร์มันด์ คือจดหมายที่วินเซนต์ แวนโก๊ะห์ เขียนถึงน้องชายธีโอเมื่อสองปีก่อนแต่ถูกตีคืน อาร์มันด์กำลังเมามาย ไม่เต็มใจจะต้องเดินทางไปปารีสเพื่อนำจดหมายของคนบ้าไปส่ง

“เขาไม่ได้บ้า” ตำรวจว่า

“เขามันบ้า” หญิงคนหนึ่งในร้านพูดขึ้น

 

หนังย้อนไปเล่าตอนที่โกแกงมาอาศัยอยู่กับวินเซนต์ ในตอนแรกโกแกงกับวินเซนต์เป็นเพื่อนรักกัน แต่ครั้นมาอยู่ด้วยกันกลับเกลียดกันและทะเลาะเบาะแว้ง โกแกงย้ายของออกไปในคืนหนึ่ง แล้ววินเซนต์ก็ตัดใบหูตัวเองเอาไปยื่นให้โสเภณีคนหนึ่งที่ทั้งสองคนเคยรู้จัก

นี่คือเหตุการณ์ปี 1888 ที่ Arles ช่วงรุ่งเรืองที่สุดของแวนโก๊ะห์ เขาวาดภาพได้มากกว่า 200 ภาพ หนึ่งในภาพนั้นคือทานตะวัน Sunflowers ที่รู้จักกันดี

แวนโก๊ะห์วาดทานตะวันในเดือนสิงหาคมก่อนที่โกแกงจะย้ายมาอยู่ด้วยในเดือนกันยายน

สองคนเริ่มบาดหมางกันอย่างรวดเร็วแล้วโกแกงก็ย้ายออกไปในเดือนธันวาคม

แวนโก๊ะห์ตัดใบหูข้างซ้ายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและไม่ได้รับการต่อใบหู เขาออกจากโรงพยาบาลในเดือนมกราคมปี 1989 โดยที่ยังคงมีอาการหวาดระแวงและประสาทหลอนอยู่เป็นครั้งๆ

สำหรับคนที่คุ้นเคยภาพของแวนโก๊ะห์ จะจำฉากในร้านเหล้าที่ตำรวจนั่งคุยกับอาร์มันด์ได้ คือภาพ The Night Caf?

บุรุษไปรษณีย์โจเซฟ ลอแรง ตามมาหาลูกชายอาร์มันด์แล้วนั่งคุยกัน เป็นว่าบทสนทนาระหว่างพ่อและลูกชายตอนนี้ดีมาก

โจเซฟเล่าว่า หลังการตัดหูชาวเมืองก็ไม่ต้อนรับวินเซนต์อีก แม้แต่เด็กๆ ก็กลั่นแกล้งและล้อเลียน จดหมายฉบับนี้เป็นวินเซนต์เขียนให้ธีโอเมื่อสองปีก่อนแต่เจ้าของบ้านเช่าเก็บเอาไว้ วินเซนต์รักน้องชายธีโอมากและเขียนจดหมายหาน้องชายทุกวัน พ่อรู้ดีเพราะพ่อเป็นไปรษณีย์

“ถ้าเป็นพ่อ พ่ออยากได้จดหมายนี้” โจเซฟเล่าต่อไปว่าคนที่สบายดีเพียงหกสัปดาห์ก่อนยิงตัวเองจะฆ่าตัวตายได้อย่างไร

 

วันรุ่งขึ้นอาร์มันด์นั่งรถไฟไปปารีส แล้วเดินต่อไปถึงมงมาร์ตเพื่อพบกับแพร์ ทองกี (P?re Tanguy) พ่อค้าที่ขายสีให้แก่วินเซนต์เสมอมา แพร์ต้อนรับเขาแล้วเล่าให้ฟังว่าธีโอตายหลังจากวินเซนต์ตายได้ 6 เดือน การตายของวินเซนต์นำมาซึ่งความทุกข์ระทมเหลือล้นแก่ธีโอ เป็นการตายที่น่ากังขาเพราะไม่มีจดหมายลาตาย ร่างของเขาถูกพบที่ข้างผืนผ้าใบในทุ่ง

แพร์เล่าว่า ธีโอเคยบอกว่าวินเซนต์รู้สึกถูกทอดทิ้งมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบแล้ว “เขาเป็นลูกคนโต ไม่ใช่ลูกคนแรก” เขาพยายามเข้าหาพ่อแม่แต่ไม่สำเร็จ

หนังย้อนกลับไปตอนห้าขวบแสดงให้เห็นพ่อที่ห่างเหินและแม่ที่สลัดมือเขาทิ้งด้วยใจที่ยังจดจ่อกับลูกคนแรกที่ตายไป “เขาไม่มีทางดีเทียบเท่ากับพี่ในสายตาแม่”

นั่งดูถึงตอนนี้ก็อดคิดถึงผู้ป่วยหลายคนที่ผ่านเหตุการณ์แบบวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ไม่ได้ แม่ที่ไม่เคยยอมลืมลูกคนแรกที่ตายแล้ว แต่ลืมลูกคนโตที่ยังมีชีวิตอยู่

แพร์เล่าต่อไปว่าวินเซนต์พยายามที่จะเป็นที่รักของพ่อแม่แต่เขาทำอะไรไม่เคยได้ดีเลย ตกงานแล้วตกงานอีก

ธีโอเชื่อถือในตัวพี่ชายเสมอ และนั่นเป็นพลังให้วินเซนต์เริ่มวาดรูปครั้งแรกเมื่ออายุ 28 ปี!

 

เรื่องเริ่มที่ปารีส เวลานั้นใครๆ ก็มาปารีส โมเน่ต์ ตูลูซ ซียัค แบร์นาร์ มาเนต์ และทุกคนซื้อสีกับแพร์ ทองกี งานศิลปะของโลกเริ่มที่ปารีส วินเซนต์เวลานั้นวาดรูปตลอดเวลาแม้เวลานั่งวงเหล้า สีหน้าเคร่งเครียดเอาจริง แล้วเขาก็จากไป แพร์พบเขาอีกครั้งในสองปีต่อมา เขาสุขุมขึ้น สงบนิ่งมากขึ้น ไม่น่าเชื่อว่าเขาใช้เวลาเพียง 8 ปีจากมือสมัครเล่นเป็นศิลปินที่ส่งอิทธิพลต่อคนอื่นๆ

ฉากที่อาร์มันด์นั่งคุยกับแพร์ ทองกี นี่ก็เช่นกัน ด้านหลังของแพร์คือรูปวาดต่างๆ นานาตรงกันกับภาพวาดของวินเซนต์ที่ชื่อว่า Portrait of P?re Tanguy the Final Version ลูกสาวของแพร์ขายภาพนี้ให้โรแดงหลังการตายของพ่อ ปัจจุบันภาพนี้ตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์โรแดงในปารีส สวยมาก

ตามประวัติวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ออกจากเนเธอร์แลนด์มาปารีสเมื่อปี 1886 เขาเริ่มวาดภาพด้วยสไตล์อิมเพรสชั่นนิสต์ผสมกับสไตล์โลกที่ล่องลอยแบบญี่ปุ่น (ukiyo-e) ของฮิโรชิเกะและโฮะคุไซ เขาพบหลายคนที่ปารีสดังที่แพร์เล่าให้อาร์มันด์ฟังคือ Camille Pissarro, Henri Toulouse-Lautrec, Paul Gauguin, ?mile Bernard, Paul Signac เวลานั้นแพร์รับรูปวาดของประดาศิลปินแทนค่าสีที่ซื้อไป

ตอนที่แพร์ตายเขาสะสมรูปภาพจำนวนมากมาย

 

แพร์ ทองกี เป็นชื่อเล่น ชื่อจริงคือ Julien Fran?ois Tanguy วินเซนต์วาดรูปแพร์เอาไว้ทั้งหมดสามรูป ที่นำมาเป็นฉากในหนังคือรูปที่สาม ช่างน่าตื่นเต้นเสียจริงๆ

แพร์แนะนำให้อาร์มันด์เดินทางไปโอแวรส์เพื่อพบคุณหมอพอล กาเช่ต์ (Dr. Paul Gachet) ซึ่งไปร่วมงานศพด้วย กาเช่ต์ต้อนรับวินเซนต์ให้มาพักที่บ้านหลังจากออกจากสถานบำบัดทางจิตเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1890 เขาว่าวินเซนต์หายดีแล้ว

แต่เชื่อกันว่าวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ดำดิ่งลงสู่ความซึมเศร้าอีกครั้งในช่วงระยะเวลาสามเดือนที่เขาพักอาศัยกับคุณหมอกาเช่ต์ คือช่วงเวลาที่เขาได้วาดภาพอีกหลายภาพ และสองภาพที่คุ้นเคยกันดีทุกวันนี้คือ Portrait of Dr Gachet และ Wheatfield with Crows

เล่ามาทั้งหมดนี้เพิ่งจะ 20 นาที