“บ้านอาจารย์ฝรั่ง” บ้านหลังแรก ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Prof.Corrodo Feroci)

บังเอิญได้พยายามใช้ทุกๆ วันเสาร์สำหรับพบปะแบบพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว ด้วยการรับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน เว้นเสียแต่ว่าจะมีภารกิจสำคัญจริงๆ จึงเว้นไป

อย่างที่ทราบคนในสังคมเมืองอย่างกรุงเทพฯ ต่างคนต่างเร่งรีบแสวงหา ดูเหมือนว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา การทำมาหาเลี้ยงชีพ ครอบครัวไม่ได้เป็นเรื่องง่ายนัก เวลาของทุกคนจึงค่อนข้างน้อยเพราะจะต้องเสียไปกับการเดินทางอันยาวนานในเส้นทางซึ่งไม่ได้ไกลอะไร

การได้อยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ จำเป็นต้องกำหนดนัดหมายเพื่อพูดคุยกันบ้าง ซึ่งเวลาที่ดีที่สุดคือ บนโต๊ะอาหาร

สำหรับอาหารมื้อกลางวันได้ใช้การค้นหาด้วยโซเชียลมีเดีย ตามคำบอกเล่าหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามที่ตกลงกัน ซึ่งในที่สุดย่อมต้องวนมาจนซ้ำร้านเสมอๆ

แต่ทุกวันนี้ถ้าจะไม่พิธีรีตองนัก เบื่อการเดินทางออกจากบ้านในวันเสาร์ ซึ่งได้กลายเป็นวันที่การจราจรคับคั่ง รถติดเป็นมหากาพย์มหากาฬ บางทีก็หันไปเลือกเรียกใช้บริการจักรยานยนต์ไปซื้อหาตามร้านที่เราอยากจะรับประทาน ซึ่งก็รวดเร็วทันใจ

เพียงแต่ว่าอาหารแทบทุกชนิดเมื่อซื้อหามาถึงที่บ้านแล้ว รสชาติซึ่งเคยเอร็ดอร่อยย่อมเปลี่ยนไปบ้าง

 

รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน แลกเปลี่ยนสนทนาด้วยเรื่องที่เราไม่มีเวลาได้พูดคุยกันยามปกติ หากแต่ยังไม่สิ้นสุดกระแสความก็ไปเลือกหาคุยกันต่อแบบสบายๆ ชิวๆ ตามร้านกาแฟซึ่งปัจจุบันดูเหมือนว่าจะมีอยู่ทุกมุมเมือง เรียกว่าผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด คิดอะไรไม่ออกไม่รู้จะค้าขายอะไร ก็ลงทุนเปิดร้าน “กาแฟ”

การลงทุนขายกาแฟไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเหมือนเดิมแต่เก่าก่อนอีกต่อไปอย่างเช่นอาโกอาแป๊ะเปิดตามตึกแถว ซื้อเมล็ดกาแฟมาคั่วมาบดชงแบบโบราณโดยมีส่วนผสมเป็นเพียงนมข้นทั่วๆ ไป ไม่ก็เป็นกาแฟดำธรรมดา แต่เมื่อใส่น้ำแข็งลงไปก็เรียกโอเลี้ยง—

ทุกวันนี้ถ้าต้องการกาแฟสายพันธุ์ต่างประเทศ ต้องการแบรนด์โด่งดังจะต้องซื้อแฟรนไชส์ (Franchise) ซึ่งล้วนแล้วแต่ราคาสูงทั้งนั้นแหละ

ขณะเดียวกันกาแฟจากต่างประเทศก็มีเข้ามาเต็มบ้านเต็มเมือง ไม่เฉพาะเมืองไทยเท่านั้น หากแต่กระจายไปทั่วโลก

สำหรับห้างสรรพสินค้าทันสมัยโด่งดังในกรุงเทพฯ จะมีร้านกาแฟต่างประเทศเป็นแบรนด์ที่รู้จักกันโดยทั่วไปครบหมดทุกแห่ง หรือไม่ก็เกือบครบ ขึ้นอยู่กับสถานที่นั้นๆ รวมหัวเมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดก็ระบาดเต็มอยู่ทั่วไป ขณะเดียวกันกาแฟโบราณ กาแฟรถเข็น ตลอดถึงซุ้มกาแฟที่มีราคาย่อมเยาลงมายังผุดเกิดกันมากอยู่

ตามสถานที่ชุมนุมชน สถานีรถขนส่ง แม้กระทั่งสถานีรถไฟฟ้า BTS กลางเมืองยังมีร้านกาแฟอีกระดับหนึ่ง ราคาพอซื้อหาดื่มได้สำหรับคนทำงานออฟฟิศธรรมดาๆ เป็นการเปิดสงครามสู้กันทางด้านการค้าอย่างดุเดือด ไม่เว้นแม้แต่แบรนด์จากเพื่อนบ้านใกล้เคียงในเอเชียก็เดินทางเข้ามาเปิดในตลาดเมืองไทย มิได้มีแต่กาแฟสายพันธุ์อเมริกา อเมริกาใต้และยุโรปเท่านั้น

บ้านเราจึงหากาแฟดื่มได้ทั้งร้านริมถนน ห้องแถว รถเข็น รวมทั้งกาแฟสำเร็จรูปกดเอาตามตู้ จนถึงห้างสรรพสินค้า และโรงแรมหรู ในราคาที่คนจนเดินถนนสามารถดื่มได้ จนกระทั่งราคาเป็นร้อยเป็นพันในร้านที่ผู้มีอันจะกิน จิบ ดื่มแบบมีรสนิยมอย่างถูกต้องตามกระบวนการผลิต

จึงมีผู้คิดค้นวิธีการต่างๆ นานาในการหาสูตรกาแฟที่ลงตัว เรียกว่าเป็นศาสตร์ที่ต้องศึกษาหาความรู้หยุดนิ่งไม่ได้เพื่อที่จะมาลงมือนั่งคัดสรรบดด้วยมือแล้วชงทีละแก้วให้ได้รสชาติและกลิ่นอันหอม หรือแม้แต่ผ่านกระบวนการธรรมชาติโดยให้สัตว์รับประทานเมล็ดกาแฟเข้าไปอย่างที่เป็นข่าวกาแฟขี้ชะมด ตามมาด้วยกาแฟขี้ช้างในราคาที่แพงแสนแพง

การเปิดร้านกาแฟไม่ได้เปิดขึ้นมาตามตรอกซอกซอยแบบนึกจะทำก็ทำอย่างแต่ก่อน แบบนั้นเห็นทีจะไปไม่รอด เพราะร้านกาแฟต้องมีการลงทุนสูง

ย่อมจะต้องมีการหาสถานที่–Location อันเหมาะสม รวมทั้งการตกแต่ง ผนวกด้วยบรรยากาศอันแปลกตา ได้ความรู้สึก เช่น อาจจะออกอาร์ตๆ นิดหน่อย

 

บริเวณสองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีอาคารเก่าตลอดแนว เช่น หากอยู่ฝั่งธนบุรีมองข้ามมาก็เห็นพระบรมมหาราชวัง อยู่ฝั่งกรุงเทพฯ มองข้ามไปได้เห็นวัดวาอารามอันสวยงามเต็มไปด้วยบรรยากาศของเมืองประวัติศาสตร์อันเคยรุ่งเรือง และริมแม่น้ำเจ้าพระยาละแวกเกาะรัตนโกสินทร์ยังเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวเดินกันขวักไขว่ตลอดทั้งวัน

ช่วงหนึ่งนิยมบ้านหรูโบราณของคนชั้นสูง ของเศรษฐีผู้มีอันจะกินแต่เก่าก่อนแถวถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ ซึ่งได้เปลี่ยนมือไปเป็นของคนไทยสายพันธุ์ผสมใหม่ ได้นำมาเปิดเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ ตกแต่งเป็นบรรยากาศเก๋ๆ สวยงามน่านั่งจิบกาแฟพูดคุยระลึกถึงความหลังแต่ครั้งเก่าก่อน เพราะคงดีกว่าร้านกาแฟอันพลุกพล่านในห้างสรรพสินค้า

ไม่เคยค้นคว้าสำรวจตัวเลขธุรกิจร้านกาแฟ มุมกาแฟสักครั้ง รู้แต่เพียงว่ามีการลงทุนเปิดกันมากจริงๆ

ขณะเดียวกันก็ขาดทุนเสียหายกันไปมากแล้วด้วยเช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีการศึกษา ไม่สรรหาสถานที่ และการตกแต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรยากาศ

แต่ที่ขาดไม่ได้คือฝีมือในการปรุงบดคั่ว การชง และมีสูตรผสมต่างๆ ที่ลงตัวซึ่งต้องแข่งขันพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง

 

ปีพ.ศ.2559 กรมศิลปากร และสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก กองทัพบก ได้ร่วมกันยืนยันตรงกันว่าอาคาร 2 ชั้นภายในสำงานดังกล่าว ริมถนนราชวิถี เป็นอาคารเก่าแก่อายุถึง 114 ปี และเป็นบ้านที่รัฐบาลไทยได้เช่าให้กับ Prof.Corrodo Feroci และครอบครัวพักอาศัยเมื่อแรกเดินทางเข้ามารับราชการยังประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2466 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นับจนถึงวันนี้เป็นเวลา 95 ปี

บ้านหลังนี้กำลังจะกลับมามีชีวิตชีวาตามแนวคิดอนุรักษ์บ้านเก่าในรูปแบบใหม่ จากผู้ที่เข้าใจประวัตศาสตร์และรักศิลปะ ต้องการขยายต่อไปไม่ให้คนลืม อาจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยดึงเอาศิลปะเข้ามามีบทบาทเคลื่อนไหวในชีวิตจริงของผู้คน จึงเลือกบ้านหลังนี้เปิดเป็นร้านกาแฟ ชื่อ Crafsman ให้ผู้คนได้ผ่อนคลายระหว่างเดินเข้ามาสั่งกาแฟพร้อมสัมผัสบรรยากาศ ก่อนก้าวสู่ชั้น 2 เพื่อเดินชมงานศิลปะ เรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี

นับว่าเป็นความชาญฉลาดในการจะสอดแทรกหาจุดขายด้วยการตกแต่งสมัยใหม่ให้กลมกลืนกับอาคารเก่า ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์

สำหรับ Prof.Corrodo Feroci ชาวอิตาเลียนก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อไทยตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นบุกประเทศไทย เป็น “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” ผู้ให้กำเนิดมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ.2486 และศิษย์คนไทยเรียกท่านว่า “อาจารย์ฝรั่ง”

เพราะฉะนั้น บ้านหลังแรกที่ท่านเข้ามาอยู่ในเมืองไทย เมื่อได้ค้นพบและนำมาอนุรักษ์ให้มีชีวิตชีวาได้บรรยากาศ รวมทั้งเปิดร้านกาแฟจึงตั้งชื่อว่า “บ้านอาจารย์ฝรั่ง”

 

มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดพิธีทำบุญเลี้ยงพระเพื่อเป็นการรำลึกนึกถึงท่านอาจารย์ของพวกเขาสืบต่อกันมาทุกปี โดยปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 15 กันยายน 2561 ตามที่ได้บอกล่าวไปล่วงหน้ากันในพื้นที่ของคอลัมน์นี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน

เพื่อเป็นการรำลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ศิลปินชาวอิตาลี ผู้โอนสัญชาติมาเป็นคนไทย และอุทิศชีวิตแด่วงการศิลปะไทย เป็นผู้ให้กำเนิด มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้สร้างประติมากรรมจำนวนมาก และเป็นบุกเบิกศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย “สมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยศิลปากร” ร่วมกับผู้บริหาร “บ้านอาจารย์ฝรั่ง” ได้จัดงาน “ลูกศิษย์คิดถึงอาจารย์” ขึ้นเช่นเดียวกัน

โดยมีนิทรรศการของ “3 ศิลปินแห่งชาติ” อาจารย์เศวต เทศน์ธรรม, อาจารย์วิชัย สิทธิรัตน์ และอาจารย์ศราวุธ ดวงจำปา รวมทั้งผลงานของ “ศิลปินกิตติมศักดิ์” อีกจำนวนมาก ณ “บ้านอาจารย์ฝรั่ง” สำนักตรวจสอบภายในทหารบก ถนนราชวิถี (เชิงสะพานซังฮี้-ฝั่งพระนคร) ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 (07.00-19.00 น. ฟรี) ซึ่งยังพอมีเวลาอีกเหลือเพื่อจะไปเยี่ยมชม

ศิษย์ศิลปากร (ประชาชนทั่วไป) หาเวลาไปจิบกาแฟรสชาติกลมกล่อมท่ามกลางบรรยากาศศิลปะกันได้