ส่องภารกิจทูต’ไนจีเรีย’ และ ‘โอกาสทางธุรกิจ’ที่น่าสนใจยามนี้ / ย้อนบทเรียนประวัติศาสตร์รัฐบาลทหาร-ราชการทุจริต ประชาชนต่อต้าน

คุยกับทูต อาห์เมด นูฮู บามัลลี ไทย-ไนจีเรีย กับความร่วมมือข้ามภูมิภาค (จบ)

ดินแดนที่เป็นไนจีเรียในปัจจุบันเคยเป็นศูนย์กลางของการค้าทาสในศตวรรษที่ 18

อังกฤษได้เข้ายึดเมืองท่าลากอสในปี ค.ศ.1851 ต่อมาได้ขยายอิทธิพลไปยังดินแดนโดยรอบเมืองท่าลากอสและลุ่มแม่น้ำไนเจอร์

จนนำไปสู่การจัดตั้งบริษัท Royal Niger Company ซึ่งมีการจัดการทางการเมืองของตนเอง จนถึงปี ค.ศ.1900 บริษัทจึงได้โอนดินแดนให้อยู่ในการปกครองของอังกฤษและได้จัดตั้ง อาณานิคมและรัฐในอารักขาแห่งไนจีเรียอีกสี่ปีต่อมา

ไนจีเรียได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1960

และได้เป็นสาธารณรัฐวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1963

แต่กลับเกิดสงครามภายในประเทศปี ค.ศ.1967 เพราะบริเวณภูมิภาคตะวันออกแยกตัวเองแล้วประกาศเป็นสาธารณรัฐบิอาฟรา (Biafra)

ต่างชาติพยายามเข้าช่วยเหลือด้วยเหตุที่ชาวเมืองเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เกิดความเสียหายมหาศาล

ในที่สุดฝ่ายแยกดินแดนสูญเสียพื้นที่เป็นจำนวนมากและยอมแพ้ในปี ค.ศ.1970 จึงได้รวมตัวเป็นชาติเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง

ภายหลังประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะทหารถึง 13 ปี ก็กลับมามีการปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนในปี ค.ศ.1979

แต่ต่อมารัฐบาลประชาธิปไตยถูกโค่นล้ม ทหารกลับมาปกครองไนจีเรียอีกครั้งในปี ค.ศ.1983

แต่แล้วรัฐบาลทหารถูกต่อต้านจากประชาชนและนานาชาติ รัฐบาลทหารจึงคืนการปกครองโดยจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1999

นับเป็นครั้งแรกที่ไนจีเรียสามารถเปลี่ยนการปกครองจากรัฐบาลทหารสู่รัฐบาลพลเรือนด้วยวิธีเลือกตั้งทั่วไปได้สำเร็จ

และได้กลับเข้าเป็นประเทศสมาชิกของกลุ่มประเทศเครือจักรภพอีกครั้ง

นายอาห์เมด นูฮู บามัลลี (H.E. Mr. Ahmed Nuhu Bamalli) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียประจำประเทศไทย กล่าวว่า

“เมื่อผมมารับตำแหน่งประจำประเทศไทย หน้าที่ของผมก็ได้แก่การปฏิบัติภารกิจทางการทูต ในการส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ของไนจีเรียในประเทศไทย การเตรียมรายงานแก่รัฐบาลไนจีเรียที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าจากการพัฒนาต่างๆ ตลอดจนความเป็นอยู่ของชาวไนจีเรียในประเทศไทย รวมทั้งความรับผิดชอบด้านกงสุล”

“อันที่จริงแล้ว เรื่องแรกที่ผมดำเนินการเมื่อมาถึงประเทศไทยในฐานะที่ผมเป็นตัวแทนของชาวไนจีเรียโดยรวมที่นี่ คือการติดต่อประสานงานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกรมการกงสุล ซึ่งเรามีประเด็นที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวข้องกับชาวไนจีเรียในประเทศไทยที่อยู่ในเครือข่ายค้ายาเสพติดข้ามชาติหรือค้ามนุษย์ และกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ อันเป็นปัญหาเฉพาะตัวบุคคล”

“แต่เราไม่มีความอดทนต่อกรณีดังกล่าว ที่ผมได้ทำคือการร่วมมือกับแผนกตรวจคนเข้าเมืองของที่นี่ โดยเฉพาะเรื่องของคนที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ปราศจากเอกสารที่จำเป็นเพื่อแสดงตนตามกฎระเบียบของการเข้าประเทศ”

“เรามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางด้านกงสุลจากไนจีเรียบินมาที่นี่ ดังนั้น กงสุลของทั้งสองประเทศรวมทั้งผม จึงได้ร่วมหารือกันอย่างกว้างขวางถึงประเด็นความท้าทายที่เรากำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งหารือเกี่ยวกับการพัฒนาความร่วมมือเพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองฝ่าย”

ทั้งนี้ ไทยพร้อมให้ความร่วมมือในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ เช่น ด้านการสาธารณสุข การเกษตร การท่องเที่ยว และการเผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เอกอัครราชทูตไนจีเรียประจำประเทศไทย นายอาห์เมด นูฮู บามัลลี

“เนื่องจากประเทศไทยสามารถเป็นประเทศต้นแบบด้านการผลิตและแปรรูปผลผลิตการเกษตรอย่างครบวงจรได้ ไนจีเรียจึงให้ความสนใจที่จะเรียนรู้และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวจากไทย เริ่มตั้งแต่การปลูกข้าว การสีข้าว การพัฒนาผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยว และผลิตภัณฑ์ซึ่งไทยมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ”

“ปัจจุบัน ชาวไนจีเรียในประเทศไทยมีไม่ถึงสองพันคน ลดลงกว่าสมัยก่อน เนื่องจากไนจีเรียมีความมั่นคงทางการเมืองการปกครอง ประชาชนจึงมีโอกาสในการทำงานทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และมีโรงงานเกิดขึ้นหลายแห่ง การลงทุนในประเทศขณะนี้มีมูลค่ามากกว่าสามพันล้านเหรียญสหรัฐ”

“เราพยายามที่จะมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลของไทย เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งที่นี่ได้รับการจัดอันดับสูงและมีความก้าวหน้าในระดับโลก หากมีการแลกเปลี่ยนโปรแกรมกัน เช่น การนำผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษาและการนำนักศึกษาแพทย์ที่ต้องการฝึกงานมาฝึกงานที่นี่ หรือการจัดประชุมสัมมนาทางด้านสาธารณสุข เป็นต้น”

ตามที่มีข่าวว่า ไนจีเรียเป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นไปทั่วทุกหัวระแหง แม้ไนจีเรียจะมีกฎหมายเอาผิดต่อผู้ทุจริต

แต่ก็ปรากฏว่าข้าราชการของรัฐทุกระดับรวมถึงทหารต่างทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

และรายงานยังกล่าวด้วยว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นได้แผ่กระจายเข้าไปถึงวงการศาลยุติธรรมของไนจีเรียด้วยแล้ว

จากกรณีนี้ท่านทูตให้ความเห็นว่า

“การทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นมีอยู่กันเป็นประจำทั่วทุกแห่งหน ไม่ว่าในสหรัฐอเมริกา หรือประเทศไทย ซึ่งเป็นข่าวภายในประเทศ ดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสื่อ ว่าจะระบายสีให้ออกมาขาวสะอาดดูดี หรือจะระบายสีให้ออกมาดำ”

“ซึ่งคุณจะเห็นได้ว่า เนื้อหาของข่าวหลายข่าวอาจไม่ถูกต้องเที่ยงตรงทุกข่าว แต่ผมก็ไม่ปฏิเสธ ว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศของเรา อันเป็นเรื่องที่ผู้บริหารประเทศต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ นโยบาย Change Begins with Me เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเริ่มต้นจากตัวเราเอง”

“เรามีสงครามต่อต้านการทุจริตในไนจีเรีย ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานกลางต่อต้านการคอร์รัปชั่น อาทิ คณะกรรมาธิการอาชญากรรมด้านเศรษฐกิจและการเงิน (Economic and Financial Crimes Commission : EFCC ) คณะกรรมาธิการอิสระเกี่ยวกับการทุจริต (Independent Corrupt Practices Commission : ICPC) หน่วยงานควบคุมความประพฤติตามจริยธรรม (Code of Conduct Bureau) และหน่วยสืบราชการลับทางการเงินแห่งชาติ (Nigerian Financial Intelligence Unit : NFIU)”

“หน่วยงานดังกล่าวเป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่รับผิดชอบในการติดตามการฟอกเงินอาชญากรรมทางการเงินและทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต โดยก่อนที่คุณจะเข้ารับตำแหน่งในกิจการสาธารณะใดๆ ก็ตาม คุณจะต้องได้รับการตรวจสอบโดยละเอียด ด้วยการแจ้งเรื่องทรัพย์สินทุกอย่างของคุณล่วงหน้าก่อนเข้ารับตำแหน่งเพื่อความโปร่งใส”

“เช่นเดียวกัน เมื่อชื่อของผมถูกคัดเลือกเข้าไปที่สภาแห่งชาติ (National Assembly) ผมก็ต้องทำรายงานแจ้งทรัพย์สินทุกอย่างที่มีอยู่ หลังจากนั้นก็ถูกตรวจสอบประวัติความเป็นมาว่าไม่ได้เป็นผู้เคยกระทำความผิดใดๆ ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง”

อนึ่ง เมื่อปี ค.ศ.1999 เป็นครั้งแรกที่ชาวไนจีเรีย คือ ดร.อาเดโตคุนโบ โอลูโวเล ลูคัส (Dr. Adetokunbo Oluwole Lucas) ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (Prince Mahidol Award) สาขาสาธารณสุขร่วมกับชาวนอร์เวย์

และปี ค.ศ.2012 ชาวไนจีเรียคนที่สองที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาสาธารณสุขเช่นเดียวกัน คือ ดร.อูเช เวโรนิกา อะมาซิโก (Dr. Uche Veronica Amazigo) อดีตผู้อำนวยการโครงการควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิในทวีปแอฟริกา องค์การอนามัยโลก

ไนจีเรียเป็นประเทศที่สามในกลุ่มประเทศ MINT ซึ่งประกอบด้วยประเทศเม็กซิโก (Mexico) อินโดนีเซีย (Indonesia) ไนจีเรีย (Nigeria) และตุรกี (Turkey)

และได้รับการคัดเลือกให้เป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพ

เนื่องจากระบบธนาคารของประเทศมีการควบคุมและมีประสิทธิภาพ มีประชากรจำนวนมากที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว และเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แม้จะมีศักยภาพในการเติบโตนี้ ไนจีเรียก็เป็นประเทศเดียวใน MINT ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศ G20

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนคาดการณ์ว่า รัฐบาลไนจีเรียจะทำงานหนักเพื่อเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ เพราะไนจีเรียมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 20 ของโลกในแง่ของกำลังซื้อและมีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา

ในด้านกีฬา ฟุตบอลไนจีเรีย มี Premiere Leaque ของตน และทีมชาติเข้าชิง World Cup แล้วหลายครั้ง

ส่วนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไนจีเรียหรือ “Nollywood” นับเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์อันดับสองของโลก เมือง Lagos และ Enugu คือที่ตั้งของโรงถ่าย มีชื่อว่าเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของแอฟริกา ในแง่ของมูลค่าและจำนวนภาพยนตร์ที่ผลิตขึ้นต่อปี

หลังจากที่มาประจำประเทศไทยได้เกินครึ่งปีแล้ว ท่านทูตได้มีโอกาสไปเยือนจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ สุโขทัย สุรินทร์ พัทยา หาดใหญ่ และสงขลา

“ประเทศไทยน่าอยู่ คนไทยเป็นคนจิตใจดี มีความสุข ทำให้ผมสามารถมองเห็นโอกาสมากมายที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไนจีเรียกับไทย เมื่อพูดถึงมรดกทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ก็นับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลายๆ คนยังไม่รู้จักประเทศของเรามากนัก ทางการไนจีเรียกำลังเร่งพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ดังนั้น ผมจึงต้องการโปรโมตประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเรียนรู้ถึงคุณค่าและมรดกทางวัฒนธรรมของไนจีเรีย”

ในชุดประจำฃาติเมื่อมีงานพิธีการ

ในปัจจุบัน ไนจีเรียมีนโยบายพึ่งพาตนเอง แต่ก็ต้องการพึ่งพาต่างชาติเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าในประเทศเพื่อป้อนประชากรของตน ทั้งนี้ ไนจีเรียตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่า ในปี ค.ศ.2020 ไนจีเรียจะเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก

มีความเป็นผู้นำในทวีปแอฟริกา และสร้างตัวเองให้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในเวทีเศรษฐกิจและการเมืองโลก

ท่านทูตอาห์เมดฝากสื่อสารถึงคนไทยว่า

“ไนจีเรียมีความรู้สึกที่ดีมากต่อคนไทย เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศที่ดำเนินไปด้วยดีและราบรื่นที่สุด”

“เราจึงขอเชิญชวนคนไทยเดินทางไปเยือนไนจีเรีย รัฐบาลไนจีเรียได้อำนวยความสะดวกต่างๆ ในการลงทุน เนื่องจากมีโอกาสทางธุรกิจให้เลือกมากมายโดยเฉพาะแร่ธาตุ (Solid Minerals) การเกษตร พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศ การคมนาคม การผลิตและแปรรูป และภาคส่วนอื่นๆ ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ”

“กำลังรอต้อนรับคุณอยู่”

ประตูเข้าเมืองหลวงอาบูจา