คนมองหนัง : “กระเบนราหู” หนังไทยเรื่องแรกที่คว้ารางวัลจาก “เวนิส”

คนมองหนัง
Alberto PIZZOLI / AFP

“Orizzonti” คือ สายการประกวดรองของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ประเทศอิตาลี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามเทศกาลหนังระดับ “แกรนด์สแลม” ของทวีปยุโรป (นอกจากคานส์และเบอร์ลิน)

ผลงานที่ถูกคัดเลือกเข้าฉายในสายการประกวดนี้ คือ ภาพยนตร์นานาชาติที่มีแนวทางการเล่าเรื่องและรูปแบบทางสุนทรีศาสตร์แปลกใหม่

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีหนังสั้นไทยหลายเรื่อง อาทิ “ห้าแสนปี” ของ “ชัยศิริ จิวะรังสรรค์” และ “อวสานซาวด์แมน” ของ “สรยศ ประภาพันธ์” ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เข้าฉายในสาย “Orizzonti”

แต่ยังไม่เคยมีเรื่องใดคว้ารางวัลในสายการประกวดดังกล่าวมาก่อน

กระทั่งปีนี้ ซึ่ง “กระเบนราหู” ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ “พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง” ผู้กำกับภาพและนักทำหนังสั้นฝีมือดี สามารถคว้ารางวัล “หนังยอดเยี่ยม” ในสายการประกวด “Orizzonti” ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 75 มาครองได้สำเร็จ

นับเป็นหนังไทยเรื่องแรกสุดในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลจากเทศกาลเวนิส!

หนังความยาว 105 นาที เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ หมู่บ้านชายทะเล ซึ่งมีผู้อพยพชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องจมน้ำเสียชีวิตจากการพยายามหลบหนีขึ้นฝั่ง

วันหนึ่งชาวประมงท้องถิ่นได้ไปพบชายบาดเจ็บนอนหมดสติอยู่ในป่า เขาตัดสินใจช่วยเหลือชายแปลกหน้า ที่ทำไม่ได้แม้กระทั่งพูดจาสื่อสาร

ชาวประมงค่อยๆ สานก่อมิตรภาพกับชายผู้นั้น และตั้งชื่อให้เพื่อนใหม่ว่า “ธงไชย”

แต่แล้วเมื่อชาวประมงหายตัวไปในท้องทะเลอย่างไร้ร่องรอยและเป็นปริศนา “ธงไชย” กลับค่อยๆ คืบคลานเข้ามายึดครองวิถีชีวิต, บ้านเรือน, อาชีพ และอดีตภรรยาของเพื่อนผู้เคยช่วยชีวิตเขา

พุทธิพงษ์ระบุว่า หนังเรื่อง “กระเบนราหู” ถูกสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่เหยื่อผู้อพยพชาวโรฮิงญา

ภาพยนตร์ของเขากล่าวถึงภาวะคลุมเครือของอัตลักษณ์ ซึ่งในด้านหนึ่ง ทุกผู้คนมีสิทธิพื้นฐานในการถือครองอัตลักษณ์ของตนเอง

แต่ในอีกด้าน มนุษย์ทุกคนต่างอาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกัน และชื่อหนึ่งชื่อสามารถถูกครอบครองโดยคนหลายคน ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้อพยพ, คนแปลกหน้า หรือเซเลบในสังคม

เพจเฟซบุ๊ก Manta Ray กระเบนราหู

พุทธิพงษ์บอกว่าเขาเข้าใจได้ หากตัวละครชาวประมงจะรู้สึกขุ่นเคืองชายแปลกหน้าซึ่งตนเองเคยช่วยเหลือชีวิตเอาไว้ ทว่าอีกทางหนึ่ง เขาก็เข้าใจว่า “ธงไชย” มิได้มีความมุ่งมาดปรารถนาแต่แรกเริ่มที่จะยึดครองวิถีชีวิตและทรัพย์สินของชาวประมง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เขาไม่อาจเข้าใจได้เลย คือ โศกนาฏกรรมดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นมาในสังคมของเราได้อย่างไร

ท้ายสุด ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยไม่ได้ต้องการจะประณามหรือลงทัณฑ์ตัวละครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เขาหวังเพียงว่า “กระเบนราหู” จะสามารถส่องสะท้อนให้ผู้ชมตระหนักถึงภาวะเปราะบางและความบกพร่องไม่สมบูรณ์ของมนุษย์

ภายหลังเข้าฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่ประเทศอิตาลี ก็เริ่มมีนักวิจารณ์หลายรายแสดงความเห็นถึงหนังไทยเรื่องนี้

“คลาเรนซ์ สุ่ย” แห่ง The Hollywood Reporter ชี้ว่า “กระเบนราหู” มิได้เป็นเพียงถ้อยแถลงทางการเมืองที่สำแดงตนผ่านภาพยนตร์ แต่ผลงานของพุทธิพงษ์ยังพยายามสำรวจตรวจสอบประสบการณ์อ้างว้างเดียวดายของผู้อพยพ นอกจากนั้น หนังมีความโดดเด่นจากการขับเน้นให้เห็นความสำคัญของสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

“ริชาร์ด ไคเปอร์ส” แห่ง Variety ระบุว่าภาพยนตร์ที่พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับอัตลักษณ์, การถูกบังคับย้ายถิ่นฐาน และมิตรภาพเรื่องนี้ ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ หลากหลายชั้น จนน่าจะเป็นที่ถูกใจของนักดูหนังบางส่วน

นักวิจารณ์ทั้งสองคนต่างชื่นชมงานสร้างของ “กระเบนราหู” ไม่ว่าจะเป็นงานลำดับภาพ, งานออกแบบเสียงประกอบ, งานถ่ายภาพ และโปรดักชั่น ดีไซน์

ด้าน “เจนนิเฟอร์ ลินดี บาร์เกอร์” แห่ง cinema-scope วิเคราะห์ว่า “กระเบนราหู” พูดถึงประเด็น “ความเป็นอื่น” โดยถ่ายทอดรายละเอียดของการดำเนินชีวิตและแง่มุมเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างสมดุล

นอกจากนั้น ภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้ยังตรึกตรองถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์อย่างใกล้ชิดและเป็นนามธรรม ในระดับที่ลึกซึ้งกว่าภาพยนตร์เรื่องอื่นทั่วๆ ไป

จุดเด่นอีกประการของ “กระเบนราหู” ที่บาร์เกอร์กล่าวถึงคือ การนำสรรพเสียงของผู้อพยพจำนวนมากมาดัดแปลงประกอบสร้างเป็น “ซาวด์ประกอบภาพยนตร์” ซึ่งมีสถานะประหนึ่ง “เสียงหลอกหลอนของผู้คนที่ไร้ตัวตน”

นักวิจารณ์รายนี้ชี้ว่างานที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของพุทธิพงษ์ มีลักษณะร่วมอันคล้ายคลึงกับหนังของสองผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยอย่าง “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” และ “จักรวาล นิลธำรงค์” ตรงที่คนทำหนังเหล่านี้ล้วนสำรวจเฝ้ามองตัวละคร ผ่านอารมณ์ “เศร้าโศก” มากกว่า “โกรธแค้นชิงชัง”

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจที่เวนิส “กระเบนราหู” จะออกตระเวนเดินทางไปร่วมเทศกาลหนังสำคัญแห่งอื่นๆ ในอีกหลายประเทศ

อาทิ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต ประเทศแคนาดา เทศกาลภาพยนตร์ซานเซบาสเตียน ประเทศสเปน และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้

  • “นักร้อง” ใน “กระเบนราหู”
  • ชื่อ “ธงไชย” ซึ่งถูกหยิบยื่นให้แก่ตัวละครผู้อพยพนิรนามและไร้เสียงนั้น อ้างอิงมาจากนามของ “เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์” โดยตัวละครชาวประมงบรรยายว่าหนึ่งในผลงานฮิตของพี่เบิร์ด คืออัลบั้ม “หาดทราย สายลม สองเรา” ซึ่งเข้ากับบรรยากาศหมู่บ้านชายทะเลในภาพยนตร์พอดี
  • ขณะเดียวกัน นักแสดงนำหญิงของหนังเรื่องนี้ ก็คือ “รัสมี เวระนะ” นักร้องแนวอีสานโซล ซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่แฟนเพลงร่วมสมัยเฉพาะกลุ่ม เธอเพิ่งได้รับรางวัลศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยมจาก “สีสัน อะวอร์ดส์” ประจำปี 2560

ข้อมูลจาก

https://variety.com/2018/film/reviews/manta-ray-review-1202929088/

https://www.hollywoodreporter.com/review/manta-ray-kraben-rahu-film-review-venice-2018-1140244

http://cinema-scope.com/cinema-scope-online/manta-ray-thailand/

ภาพโดย Alberto PIZZOLI / AFP