สุจิตต์ วงษ์เทศ/เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? เศรษฐกิจ-การเมือง ‘กึ่งพุทธกาล’ ผลักดันกำเนิดเพลงลูกทุ่ง

ย่านรังสิต ถูกจัดเป็นเขตโรงงานอุตสาหกรรมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ตั้งแต่ฉบับแรก จึงมีผู้ใช้แรงงานฟังเพลงลูกทุ่งชุมนุมอยู่มาก ส่งผลการจราจรคับคั่ง แล้วติดขัดบนถนนพหลโยธินในช่วงวันหยุดสงกรานต์ของทุกปี (ภาพจาก : http://mgronline.com)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน?

เศรษฐกิจ-การเมือง ‘กึ่งพุทธกาล’

ผลักดันกำเนิดเพลงลูกทุ่ง

 

เพลงลูกทุ่ง ไม่ได้มีขึ้นลอยๆ จากสุญญากาศ แต่มีพัฒนาการยาวนานจากเพลงไทยสากล ใช้เครื่องดนตรีสากลของวงดนตรีสากล ประเภทเพลงตลาด หรือเพลงชีวิต (ไม่ใช่เพลงเพื่อชีวิต)

สภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจการเมือง รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีส่วนกระตุ้นให้เกิดเพลงลูกทุ่ง ได้แก่ “ทรานซิสเตอร์” เทคโนโลยีใหม่ และการโยกย้ายแรงงานจำนวนมากจากชนบทเข้าโรงงานในกรุงเทพฯ กับปริมณฑล

การเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กระตุ้นให้เกิดเพลงไทยสากลต้นทางเพลงลูกทุ่ง (ต่อไปข้างหน้า) มีงานศึกษาค้นคว้าเป็นเล่มนานแล้ว โดย ธีรภาพ โลหิตกุล [ปฐมบทเพลงลูกทุ่ง และเพลงเพื่อชีวิตในเมืองไทย (พ.ศ.2480-2500) สำนักพิมพ์โสมสาร พ.ศ.2541]

ในที่สุดก็มีเพลงลูกทุ่ง ส่ง “สาร” ความทันสมัยจากเมืองสู่ชนบท

 

ทรานซิสเตอร์

 

เพลงไทยสากล สมัยแรกๆ เป็นที่นิยมกว้างขวางก่อน พ.ศ.2500 เพราะเข้าถึงได้โดยฟังจากเครื่องรับวิทยุ (ระบบ AM ตั้งแต่แรกมีสถานีวิทยุในประเทศไทย ราว พ.ศ.2465 ปลายแผ่นดิน ร.6)

แต่เครื่องรับวิทยุสมัยนั้นจำกัดอยู่ในกลุ่มคนมีฐานะ เพราะราคาแพง มีขนาดใหญ่โต เคลื่อนที่ไม่ได้ ต้องมีเสาอากาศสูง ต้องใช้แบตเตอรี่ (ถ่านไฟฉาย) เป็นก้อนโตจำนวนมาก

ครั้นหลัง พ.ศ.2500 แรกมีเครื่องรับวิทยุทรานซิสเตอร์แพร่หลายเข้ามาถึงไทย ทำให้เครื่องรับวิทยุขนาดเล็กลง, เสาอากาศสั้นๆ, แบตเตอรี่ก้อนเล็กๆ, เคลื่อนที่ได้ (คือยกย้ายวิทยุติดตัวไปมาได้), มีสถานีออกอากาศหลายแห่งทั้งระบบ AM และ FM

ทรานซิสเตอร์เป็นเทคโนโลยีใหม่ พบครั้งแรกในสหรัฐเมื่อราว พ.ศ.2490 วิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องแรกผลิตสู่ท้องตลาดเมื่อปลายปี พ.ศ.2497 ทำให้เข้าถึงคนฟังได้ง่าย ส่งผลให้เกิดเพลงดนตรีแนวใหม่ คือ ร็อกแอนด์โรล ระบาดไปทั่วโลก

 

แรงงานจากชนบท

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2503) เพื่อความ “ทันสมัย” ของไทยเป็นสังคมอุตสาหกรรมแบบตะวันตก เริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ แล้วค่อยๆ กระจายออกไปชานเมืองและจังหวัดอื่นๆ โดยรอบ จึงต้องจ้างแรงงานจากชนบทเข้าทำงานในโรงงานเหล่านั้น

แรงงานจากชนบทจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดูจากการเปิดโรงงานต่างๆ และผลประกอบการบางโรงงาน ดังนี้

โตโยต้า เปิดโรงงานประกอบรถยนต์ที่สมุทรปราการ เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2507

ไทยไดมารู เปิดห้างสรรพสินค้าของญี่ปุ่น ที่ถนนราชดำริ เป็นห้างสรรพสินค้าสไตล์ตะวันตก ขายสินค้านำเข้า และมีบันไดเลื่อนตัวแรกของไทย เมื่อ 10 ธันวาคม 2507

ไทยออยล์ เปิดโรงกลั่นน้ำมันที่ศรีราชา ชลบุรี เมื่อ 11 ธันวาคม 2507

มอเตอร์ไซค์ ยามาฮ่า, ฮอนด้า จากญี่ปุ่น ยอดขายเพิ่มขึ้น เมื่อมิถุนายน 2508

 

การเมืองกระตุ้นกำเนิดเพลงลูกทุ่ง

 

ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ดึงดูดแรงงานจากชนบทเข้าไปอยู่ในเมือง เป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางการเมือง (เผด็จการทหาร) สรุปย่อๆ ดังนี้

พ.ศ.2500 (17 กันยายน) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วยกย่อง จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี

พ.ศ.2501 (20 ตุลาคม) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ “ปฏิวัติ” จอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ

พ.ศ.2503 (20 ตุลาคม) “แผนพัฒนาเศรษฐกิจ” ฉบับแรก ประกาศใช้เพื่อทำสังคมไทยเติบโตแบบทุนนิยมอเมริกัน เปิดรับนักลงทุนจากนานาประเทศ

พ.ศ.2503 (21 มีนาคม) เปิดฐานทัพอากาศ 3 แห่งในอีสานด้วยเงินช่วยเหลือของสหรัฐ

พ.ศ.2504 (12 ธันวาคม) สหรัฐประกาศเข้าร่วมสงครามในเวียดนามอย่างเป็นทางการ

 

สามัญชนเมือง ผู้สร้างเพลงลูกทุ่ง

 

เพลงลูกทุ่ง โดยรวมๆ แล้วเป็นงานสร้างสรรค์แบบหนึ่งโดยสามัญชนเมือง แล้วแพร่หลายสู่ชนบทด้วยสื่อชนิดใหม่

ขณะเดียวกันก็ดูดกลืนรูปแบบการละเล่นของชาวชนบทไว้เป็นของตนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ แล้วพัฒนาเพลงลูกทุ่งส่งให้ชนบทอีกครั้งหนึ่ง

เท่ากับศิลปะของชาวบ้านชนบท เกิดจากคนในเมืองที่พยายามสื่อในสิ่งอันเป็นที่ชอบใจของชาวชนบท

[เรียบเรียงใหม่โดยอ่านจากบทความเรื่อง เพลงลูกทุ่งในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ (พิมพ์ครั้งแรกใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 6 (เมษายน 2528)]

เพลงลูกทุ่ง ตั้งแต่ถูกเรียกอย่างกว้างขวางแล้วยอมรับอย่างเป็นทางการ ก็มีพัฒนาการสร้างสรรค์ต่อเนื่องยาวนานแตกแขนงหลายกิ่งก้านสาขาเกินกว่าจะประมวลได้หมด

โลกไม่เหมือนเดิม แต่คนบางกลุ่มไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง เพลงลูกทุ่งสมัยหลังๆ สืบจนทุกวันนี้อาจถูกพิพากษาจากคนบางกลุ่มที่อยากให้โลกเหมือนเดิม