แมลงวันในไร่ส้ม/หงุดหงิดโซเชียลมีเดีย เสรีภาพสื่อยังถูกตีกรอบ ปัจจัยกำหนดเลือกตั้ง ’62

แมลงวันในไร่ส้ม

 

หงุดหงิดโซเชียลมีเดีย

เสรีภาพสื่อยังถูกตีกรอบ

ปัจจัยกำหนดเลือกตั้ง ’62

 

อ่านข่าวสารการเมืองต่างๆ จะพบว่า ระยะนี้ผู้นำประเทศมีอาการหงุดหงิดต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากโซเชียลมีเดียมากเป็นพิเศษ

ข้อมูลจากเว็บไซต์ brandbuffet เมื่อต้นปี 2018 ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากร 69.11 ล้านคน 53% อยู่ในเขตเมือง แบ่งเป็นประชากรผู้หญิง 51.3% ผู้ชาย 48.7%

รายได้ต่อหัวประชากรไทย โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 16,946 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี อัตราการรู้หนังสือของประชากรไทย คิดเป็นสัดส่วน 97% ของประชากรทั้งประเทศ

และข้อมูลสำคัญอยู่ตรงนี้ brandbuffet ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต 57 ล้านยูสเซอร์ มีผู้ใช้งาน Social Media มากถึง 51 ล้านยูสเซอร์

มีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือสูงถึง 93.61 ล้านเลขหมาย มากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศ

และระบุด้วยว่า “คนไทย” ใช้เวลาเข้าอินเตอร์เน็ตต่อวันมากที่สุดในโลก 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน -กรุงเทพฯ ครองแชมป์เมืองที่มีผู้ใช้ Facebook มากสุดในโลก

และยังระบุด้วยว่า 5 อันดับภาษาที่สื่อสารกันบน Facebook อันดับ 1 เป็นภาษาอังกฤษ รองลงมาคือ ภาษาสเปน, ภาษาฮินดี, อินโดนีเซีย, ภาษาโปรตุกีส

ส่วนภาษาไทย ติดอันดับ 12 ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 52 ล้านยูสเซอร์

 

การเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในต้นปี 2562 จึงเกิดความวิตกกังวลต่อพลังของการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมากเป็นพิเศษ

เป็นความกังวลที่ไม่ได้เลื่อนลอยแต่อย่างใด เพราะบทเรียนของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดจากพลังของโซเชียลมีเดีย เกิดขึ้นแล้วหลายแห่งในโลก

ในด้านหนึ่ง รัฐบาลจึงมีแนวทางจะควบคุมการใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงหรือทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างเข้มข้นมากขึ้น

ขณะนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จึงเร่งจัดทำระเบียบเพื่อใช้เป็นกรอบสำหรับการหาเสียงออนไลน์

อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลเองก็พยายามใช้โซเชียลมีเดียประชาสัมพันธ์ตัวเองมากขึ้น นอกเหนือจากการมีหน่วยงาน IO หรืออินฟอร์เมชั่นโอเปอเรชั่น คอยส่องดูความเคลื่อนไหวและตอบโต้อยู่แล้ว

รัฐบาลประกาศว่า จะ “คลายล็อก” ผ่อนผันให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวได้ในเดือนกันยายนนี้ และ “ปลดล็อก” ในเดือนธันวาคม ก่อนเลือกตั้ง

คาดว่าผลจากมาตรการดังกล่าว ประกอบกับใกล้การเลือกตั้ง จะทำให้การใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมีมากขึ้น

เพราะราคาถูก เข้าถึงประชาชนได้มาก สร้างผลสะเทือนได้ง่าย และการควบคุมตรวจจับทำได้ยาก

ประเมินกันว่า ยิ่งรัฐบาลมีท่าทีเข้มงวดต่อการวิพากษ์วิจารณ์ จะทำให้การสื่อสารทางออนไลน์ และโซเชียลมีเดียมีความคึกคักมากขึ้น

ซึ่งที่ผ่านมา สื่อหลักต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ อยู่ภายใต้สภาพที่ต้องระมัดระวังในการเสนอข่าว เสนอข้อวิพากษ์วิจารณ์

ส่งผลทำให้เกิดการหนีไปใช้พื้นที่โซเชียลที่มีอิสระเสรีกว่ามาก

ช่องทางในโซเชียลมีเดียที่เด่นๆ อาทิ ในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ มีฐานอยู่ในประเทศมหาอำนาจ ทำให้อำนาจรัฐเจาะทะลวงเข้าไปยาก แม้จะมีความร่วมมือกันในระดับหนึ่ง

กลายเป็นที่พึ่งพิงสำหรับผู้ที่ต้องการพื้นที่ในการสื่อสารเนื้อหาที่รัฐบาลอาจไม่ชอบใจ

 

สําหรับสภาพของเสรีภาพสื่อในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย บีบีซีไทยรายงานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อ้างข้อสังเกตจากองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนว่ารัฐบาลหลายชาติในเอเชียควบคุมข่าวและข้อมูลตามแบบจีน โดยเฉพาะเวียดนามและกัมพูชา หลายชาติในอาเซียนมีดัชนีเสรีภาพสื่อลดต่ำลงในปีนี้

แต่ไทยปรับตัวดีขึ้น 2 อันดับมาอยู่ที่ 140

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรั้งอันดับแทรกแซงสื่อเลวร้ายที่สุดในโลก เกาหลีเหนือรั้งอันดับ 180 ท้ายสุดเช่นเดิม

ประเทศต้นแบบของหลายชาติ ด้วยผลสำเร็จทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น รวมถึงประเทศไทย หากมองในแง่เสรีภาพ ดัชนีเสรีภาพสื่อของจีนยังคงอยู่อันดับที่ 176 เช่นเดียวกับปีที่แล้ว

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่า จีนภายใต้สี จิ้น ผิง กำลังเข้าใกล้ระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จมากขึ้นทุกที

โดยในการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของนายสี ทางการจีนมีการตรวจสอบและควบคุมสื่ออย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่เข้ามาช่วย นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศยังทำงานได้ยากลำบากขึ้น และพลเมืองในประเทศก็อาจถูกจำคุกได้เพียงเพราะส่งต่อเนื้อหาทางเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ หรือในการคุยกันส่วนตัวผ่านแอพพลิเคชั่น ปัจจุบันมีผู้สื่อข่าวถูกควบคุมตัวในจีนมากกว่า 50 คน

รัฐบาลจีนกำลังพยายามจัด “ระเบียบสื่อโลกใหม่” ด้วยการเผยแพร่วิธีการกดขี่ ระบบการตรวจสอบข้อมูล และเครื่องมือการควบคุมอินเตอร์เน็ต และหลายประเทศในเอเชียก็เดินตามรอยจีน ซึ่งมีความต้องการอย่างไม่ลดละในการกำจัดการแข็งข้อจากประชาชนทุกหมู่เหล่า

สองชาติที่ลอกเลียนแบบการควบคุมสื่อของจีนอย่างมากก็คือ เวียดนามและกัมพูชา โดยเวียดนามมีอันดับเสรีภาพสื่ออยู่ที่ 175 ดีกว่าจีนเพียงแค่อันดับเดียว

กัมพูชา ดัชนีเสรีภาพสื่อปีล่าสุดร่วง 10 อันดับลงมาอยู่ที่ 142

บีบีซีไทยรายงานว่า อีกประเทศในภูมิภาคที่รับอิทธิพลจากวิธีการควบคุมสื่อของจีนด้วยได้แก่ ประเทศไทย ปีนี้มีอันดับเสรีภาพสื่อดีขึ้นสองอันดับ มาอยู่ที่ 140 มาเลเซียอยู่ที่อันดับ 145 ลดลงหนึ่งอันดับ และสิงคโปร์อยู่ที่อันดับ 151 เช่นเดียวกับปีที่แล้ว

 

บีบีซีไทยระบุด้วยว่า เมียนมาเป็นอีกประเทศที่อันดับเสรีภาพสื่อลดต่ำลงมากถึง 6 อันดับ ลงมาอยู่ที่ 137 ในปีที่ผ่านมารัฐบาลที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี สูญเสียความน่าเชื่อถือจากที่เคยให้คำมั่นว่าจะปกป้องบทบาทของสื่อในระบอบประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 3 กันยายน ศาลนครย่างกุ้ง ประเทศพม่า ตัดสินจำคุกนายวา โลน อายุ 32 ปี และนายจ่อ โซ อู อายุ 28 ปี สองนักข่าวสังกัดรอยเตอร์ เป็นเวลา 7 ปี จากกรณีครอบครองภาพถ่ายหลุมศพและการสังหารหมู่ชายชาวโรฮิงญา 10 คนในหมู่บ้านอินดิน รัฐยะไข่ เมื่อเดือนธันวาคม 2560

ในความผิดฐานละเมิดกฎหมายความลับทางการ ได้รับข้อมูลมาโดยมิชอบและมีเจตนาเผยแพร่ความลับแก่ต่างชาติ

ในเวลาไล่เลี่ยกัน คณะกรรมการอิสระระหว่างประเทศว่าด้วยภารกิจค้นหาความจริงแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยรายงานการตรวจสอบกรณีกวาดล้างชาวโรฮิงญาว่า กองทัพพม่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาและก่ออาชญากรรมต่อต้านมนุษยชน

พร้อมระบุรายชื่อผู้บัญชาการทหารระดับสูงที่สมควรถูกดำเนินคดี รวมถึง พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า

ทั้งหมดนี้ คือสภาพที่รุกไล่ประชาชนที่ต้องการใช้เสรีภาพ ให้หันไปพึ่งพาพื้นที่ในโลกออนไลน์ที่เปิดกว้างมากกว่า

และสำหรับประเทศไทย น่าจะเป็นปัจจัยกำหนดผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในต้นปี 2562 อีกด้วย