มรดกทางการเมือง ของ “ในหลวง”

AFP PHOTO / SAEED KHAN

ผมอ่าน ข้อเขียนของ ไนเจล กูลด์-เดวีส์ ศาสตราจารย์รับเชิญและผู้อำนวยการโครงการวิเทศสัมพันธ์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรากฏในวอชิงตันโพสต์ เมื่อ 22 ตุลาคมที่ผ่านมาอยู่หลายรอบทีเดียว

ไม่เพียงเพราะ ผู้เขียนเป็นอดีตอาจารย์ทางด้านการเมืองและการต่างประเทศของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและเคยเป็นถึงเอกอัครราชทูตของประเทศอังกฤษเท่านั้น

แต่ยังเป็นเพราะนี่เป็นข้อเขียนเพียงไม่กี่ชิ้นที่พูดถึงพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทางการเมือง

น่าสนใจจนอดไม่ได้ที่จะนำมาถ่ายทอดสู่กันฟังเป็นบางช่วงบางตอนดังต่อไปนี้ครับ

 

ศาสตราจารย์ กูลด์-เดวีส์ ถึงกับระบุว่า ในสายตาของตนนั้น สิ่งที่ทรงประสบความสำเร็จสูงสุดในบรรดาหลายๆ สิ่งที่ทรงวิริยะอุสาหะกระทำทิ้งไว้ให้ลูกไทยหลานไทยนั้น คือ “มรดกตกทอดทางการเมือง” ที่ทรงรังสรรค์ขึ้นไว้ในห้วงเวลา 70 ปีที่ครองราชย์นั่นเอง

“พลังอำนาจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงสร้างขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากพลังของการประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างมากกว่าที่จะเกิดขึ้นด้วยตัวพลังอำนาจเอง” ศาสตราจารย์ กูลด์-เดวีส์ ว่าเอาไว้

พร้อมกับอดเปรียบเทียบไม่ได้กับ “พระมหากษัตริย์ในยุโรปตะวันตก” ที่ “เป็นเพียงประมุขในนาม” แต่ปราศจากอำนาจที่แท้จริงแต่อย่างใด

ศาสตราจารย์ กูลด์-เดวีส์ ชี้ให้เห็นต่อไปว่า นักรัฐศาสตร์ตะวันตกรู้สึกอยู่เสมอว่าการจำแนกแยกแยะการเมืองไทยให้เข้าอยู่ในหมวดหมู่ใดหมวดหมู่หนึ่งนั้นยากลำบากเหลือหลาย สาเหตุสำคัญเหนืออื่นใดก็คือ ในหลวงของเราทรงแสดงบทบาทที่ไม่เคยมีกษัตริย์ใดเคยกระทำมาก่อนและอยู่นอกเหนือการตีความตามนิยามดั้งเดิมทั้งหลาย

“การเคารพ สักการะ เทิดทูนในหลวงของคนไทย แปลกใหม่ อยู่นอกเหนือความเข้าใจตามแนวทางการเมืองตะวันตกทั้งมวล” ที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มผลประโยชน์และสถาบันต่างๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับบุญญาบารมีอันเกิดขึ้นจาก “ความดี” ของพระองค์แต่อย่างใดทั้งสิ้น

ศาสตราจารย์ กูลด์-เดวีส์ ระบุ

 

ข้อสังเกตอีกประการของ ศาสตราจารย์ กูลด์-เดวีส์ ก็คือ ในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญกันเป็นว่าเล่น มากที่สุดในโลก

แต่ลึกลงไปภายใต้ความเคลื่อนไหวเหล่านั้น ไทย ยังคงมีเสถียรภาพ ดำรงความมั่นคงของประเทศเอาไว้ได้ ในท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายที่รุมเร้านานาประเทศโดยรอบ

“ไทยสามารถหลีกเลี่ยงไม่ตกอยู่ในสภาพรัฐบาลทหารเบ็ดเสร็จที่โหดร้ายแบบพม่าได้ ไม่ต้องเผชิญกับการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหมือนในอินโดจีน และไม่ต้องพานพบกับห้วงเวลานองเลือดสูงสุดแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย” ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น

“การที่ไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความชอบธรรมอันเนื่องมาจากราชธรรมแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ช่วยนำพาประเทศผ่านพ้นภยันตรายทั้งหลายในช่วงสงครามเย็นมาได้ และยังรุดหน้าบนเส้นทางสู่ความทันสมัยได้โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดปัญหาน้อยกว่าบรรดาประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ทั้งหลาย” ศาสตราจารย์กูลด์-เดวีส์ย้ำ

ในความเห็นของ ศาสตราจารย์กูลด์-เดวีส์ “ราชธรรม” ของในหลวงนั้น เป็นความชอบธรรมที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นทั้งจากพระราชดำรัส พระราชกรณียกิจ และพระราชจริยวัตร

“ถือเป็นการตำหนิติเตียนทั้งต่อบรรดานายทหารและต่อบรรดาชนชั้นนำทางธุรกิจผู้ละโมบทั้งหลายโดยตรง ตัวอย่างเช่น หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกนั่นแหละที่ทรงเรียกร้อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ขึ้นมา ทรงเตือนให้ดำรงชีวิตอยู่บน “มัชฌิมาวิถี” ที่เพียงพอต่อความต้องการพื้นฐานทั้งหลายทั้งปวงซึ่งจะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างสมดุล

เป็นการตอบโต้กับ “โลกาภิวัตน์เกินขีด” ที่กำลังคลั่งไคล้กันด้วย

 

ศาสตราจารย์ กูลด์-เดวีส์ บอกว่า ด้วย “ราชธรรม” นี่เองที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมี “ธรรมเป็นอำนาจ” หรือ “อำนาจแห่งธรรม” ซึ่งเมื่อถึงคราวจำเป็น พระองค์ก็สามารถเอาชนะ “คนที่มีปืนอยู่ในมือ” ได้ด้วยพระราชดำรัสเพียงไม่กี่ประโยคเท่านั้น

ไม่มีประเทศอื่นใดในโลก สามารถมีได้แบบที่ไทยเรามี ศาสตราจารย์กูลด์-เดวีส์ ว่าเอาไว้อย่างนั้นครับ

ผมไม่แน่ใจนักว่า จะมีชาวต่างชาติจำนวนเท่าใดที่เข้าใจสิ่งที่ท่านศาสตราจารย์พูดถึงเอาไว้

แต่พอบอกได้ว่า สำหรับคนไทยนั้นทั้งภาคภูมิใจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณมาเนิ่นนานเต็มทีแล้ว!