E-DUANG : การปะทะ ในทาง เทคโนโลยี ผ่าน กระบวนการ “เลือกตั้ง”

มาตรการห้ามหาเสียงผ่านโซเชียล มีเดีย อันดำรงอยู่ภายในคำสั่ง หัวหน้าคสช.ที่ 13/2561 สะท้อนให้เห็นอาการขนพองสยองเกล้าที่เด่นชัดอย่างเป็นรูปธรรม

ปลุกความต้องการในเรื่อง Single Gateway ให้แผ่รังสีอำมหิตขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

ถามว่ามูลฐานของความคิดเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

คำตอบ 1 ก็คือ เกิดขึ้นจากไม่รู้ และคำตอบ 1 ซึ่งตามมาก็คือ เมื่อไม่รู้ก็มีความกลัว

เหมือนกับ “แวมไพร์” กลัว “แสงสว่าง”

ไม่ว่าแสงสว่างจะสาดส่องไป ณ ที่ใด อาการงอก่องอขิงของ แวมไพร์ก็จะปรากฏ

แสงสว่างกับเทคโนโลยี คือ สิ่งเดียวกัน

 

ปรากฏการณ์อันกำลังเกิดขึ้นบนเส้นทางไปสู่ “การเลือกตั้ง” จึงไม่ เพียงแต่จะสะท้อนให้เห็นการปะทะระหว่าง “เทคโนโลยี” กับเงาสะท้อนในทางความคิด

หากแต่ยังแสดงถึงอาการเบียดขบระหว่างใหม่กับเก่า

ขณะที่คนรุ่นใหม่มีความใกล้ชิดอย่างยิ่งกับเทคโนโลยีในยุคแห่ง “ดิจิทัล” บรรดาคนรุ่นเก่าต่างเห็นในความแปลกปลอมของมันและแสดงท่าทีปฏิเสธ

ลึกๆแล้วอยากควบคุม บงการ แต่ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสา มารถควบคุม บงการได้ตามที่ใจปรารถนา

แม้จะใส่คำ “ห้าม”ลงไปอย่างเกรี้ยวกราด เพียงใด

น่าประหลาดที่ความคิดต่อต้านเทคโนโลยีมักดำรงอยู่กับความคิดรวบอำนาจ จึงเลือกใช้มาตรการอันเป็นเผด็จการมาก กว่าที่จะเป็นประชาธิปไตย จึงเท่ากับเป็นการขยายกรอบความขัดแย้งจากเทคโนโลยีไปยังพรมแดนในทางการเมือง

กลายเป็น “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย”

 

การเลือกตั้งที่กำลังย่างสามขุมเข้ามาด้วยอัตราเร่งจึงนำไปสู่การปะทะกันทั้งในทางความคิดและในทางการเมือง

ระหว่างความคิดเก่า กับ ความคิดใหม่

ระหว่างเทคโนโลยีที่ล้าหลังแห่งยุค”อะนาล็อก” กับ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทันสมัย แห่งยุค “ดิจิทัล”

ระหว่าง “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย”

ใครคือตัวแทนเผด็จการ ใครคือตัวแทนประชาธิปไตยสัมผัสได้อย่างเด่นชัด