เกษียร เตชะพีระ : เจ๊กสยามหันขวาหาจีน (1)

เกษียร เตชะพีระ

[เรียบเรียงจากคำบรรยายเสนอของผู้เขียนเรื่อง “The Sino-Thais” Right Turn towards China” ในงานสัมมนา ASEAN FORUM 2016 ภายใต้แกนเรื่อง China in ASEAN หัวข้อ Chinese Diasporas in Southeast Asia/ชุมชนจีนย้ายถิ่นในเอเชียอาคเนย์ ณ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย 7 ตุลาคม ศกนี้

ดังที่หัวเรื่อง “เจ๊กสยามหันขวาหาจีน” ของผมบ่งชี้ ผมกำลังพูดถึงแนวโน้มใหม่ทางการเมืองที่เด่นชัดประการหนึ่งในชุมชนจีนย้ายถิ่นในประเทศไทยทั้งในแง่การเมืองในประเทศเองและในความสัมพันธ์กับประเทศจีน

กล่าวคือ ผมกำลังเสนอว่าคนไทยเชื้อสายจีนส่วนหนึ่งที่มีจำนวนมากพอควรในหมู่ชนชั้นนำและคนชั้นกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองสำคัญอื่นๆ ได้หันขวา – กล่าวคือ หันเหไปในแนวทางอนุรักษนิยมหรือแม้กระทั่งปฏิกิริยา – และเอนเอียงเข้าหาจีนพร้อมกันไปด้วยในไม่กี่ปีหลังนี้

วิธีหนึ่งในการทำความเข้าใจเรื่องนี้คือเปรียบเทียบมันกับการคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์ร่วมสมัยในที่อื่นๆ ของโลก

ผมคิดว่าเราสามารถเปรียบเทียบการที่ “เจ๊กสยามหันขวาหาจีน” ได้กับผลของการลงประชามติ Brexit ในสหราชอาณาจักรที่เสียงส่วนใหญ่เลือกออกจากสหภาพยุโรป และความนิยมที่พุ่งขึ้นของ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งพรรครีพับลิกันของสหรัฐอเมริกา

กล่าวคือ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเหล่านี้ล้วนสะท้อนปฏิกิริยาชาตินิยมเอียงขวา (rightwing nationalist reaction) ต่อผลกระทบเชิงลบของกระแสโลกาภิวัตน์ในทางเศรษฐกิจ, การเมือง และสิทธิมนุษยชน (economic, political & human rights globalization) ซึ่งป่าวร้องส่งเสริมและนำโดยโลกตะวันตกโดยทั่วไปและโดยประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นการเฉพาะในระยะเกือบสามทศวรรษที่ผ่านมา

มาถึงตรงนี้ ผมใคร่จะชี้แจงให้รอบคอบรัดกุมเป็นพิเศษว่าผมกำลังนำเสนอข้อถกเถียงอันใด :

 

-ผมไม่ได้กำลังบอกว่า – เนื่องจากเชื้อชาติหรือวัฒนธรรมที่ถือกันว่าติดตัวมาแต่กำเนิด – คนไทยเชื้อสายจีนทั้งหมดทั้งมวลในหมู่ชนชั้นนำและคนชั้นกลางที่มีฐานะมั่นคงในสังคมไทย ล้วนหันไปเป็นปฏิปักษ์กับระบอบเสรีประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน พร้อมกับเลือกสนับสนุนระบอบเผด็จการทหารและความเป็นไทยแบบอำนาจนิยมกันอย่างเบ็ดเสร็จถ้วนหน้า

นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น ใช่ว่าพวกเขาทั้งปวงล้วนทำเช่นนั้น หากเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่มีจำนวนมากพอควรเท่านั้นที่ทำ

-ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่ได้กำลังบอกว่า – เนื่องจากเชื้อชาติหรือวัฒนธรรมที่ถือกันว่าติดตัวมาแต่กำเนิด – คนไทยเชื้อสายจีนทั้งหมดทั้งมวลในหมู่ชนชั้นนำและคนชั้นกลางที่มีฐานะมั่นคงในสังคมไทย ล้วนเลือกผูกพันธมิตรกับประเทศจีน และหันหลังให้กับสหรัฐอเมริกากับโลกตะวันตก

นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเช่นกัน ใช่ว่าพวกเขาทั้งปวงล้วนทำเช่นนั้น หากเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่มีจำนวนมากพอควรเท่านั้นที่ทำ

 

สิ่งที่ผมต้องการจะบอกก็คือ ในรอบสองทศวรรษหลังสงครามเย็นที่ผ่านมา ได้ปรากฏโครงสร้างโอกาสทางวัฒนธรรมการเมืองอย่างใหม่ (a new politico-cultural opportunity structure) ขึ้นในประเทศไทย – ซึ่งก่อตัวผ่านชุดเหตุการณ์สำคัญยิ่งทางการเมืองและเศรษฐกิจ 3 ชุดด้วยกัน – อันทำให้เป็นไปได้ที่จะตีความปั้นแต่งหรือผูกกลอนลากเข้าบาลี ให้ความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลือง vs. เสื้อแดงที่ยืดเยื้อร่วมทศวรรษกลายเป็นเรื่องทางชาติพันธุ์ (ethnicize it or frame it in ethnic terms)

กล่าวคือ ทำให้ในแง่หนึ่งมันกลายเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่าง…

[ลูกจีนรักชาติอนุรักษนิยม-ราชาชาตินิยม] vs. [พวกไม่ไทยที่ฝักใฝ่ตะวันตก/โลกาภิวัตน์ซึ่งมีฝรั่งตะวันตกหนุนหลัง]

ทั้งที่พลวัตที่เป็นจริงของความขัดแย้งเสื้อสีดังกล่าวเป็นเรื่องของความแตกต่างขัดแย้งทางชนชั้นและการเมืองต่างหาก

และฉะนั้น จีนจึงมีเสน่ห์ดึงดูดใจเป็นพิเศษในฐานะมิตรประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่ถูกอัธยาศัยใจคอกัน อีกทั้งเป็นพันธมิตรมหาอำนาจในภูมิภาคที่ทั้งแข็งแกร่งและเห็นอกเห็นใจความผันแปรในไทย ส่งผลให้คนไทยเชื้อสายจีนพากันโน้มเอียงฝักใฝ่จีนมากขึ้นทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่าชะรอยนโยบายการทูตของรัฐบาล คสช. ที่ตะแคงเข้าหาจีนและออกห่างจากตะวันตกมา น่าจะมีฐานพลังสังคมรองรับที่แน่นหนาซึ่งอาจทำให้มันมีลักษณะยืนยาวกว่าที่จะเป็นแค่นโยบายเฉพาะกิจ, ระยะสั้นหรือวูบไหวตามโอกาสที่แปรเปลี่ยนไปเท่านั้น

 

เพื่อเข้าใจฐานพลังสังคมดังกล่าว เราควรพิจารณาทำความเข้าใจภูมิหลังของชนชั้นนำและคนชั้นกลางไทยเชื้อสายจีนบ้างเล็กน้อยดังนี้

เนื่องจากความคลี่คลายขยายตัวของประวัติศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและจีนเอง รวมทั้งกระบวนการแปรเปลี่ยนราชอาณาจักรสยามให้ทันสมัยจากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ส่งผลให้คนจีนอพยพในสยามเข้าจับจองถิ่นที่อยู่และอาชีพการงานอย่างมีแบบแผนเฉพาะของกลุ่มตน

สรุปก็คือ ถึงแม้คนไทยเชื้อสายจีนจะมีเพียงราว 14% ของประชากรไทยทั้งหมด แต่พวกเขากลับครอบงำเป็นหลักในหมู่ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและการเมืองของไทย และประกอบส่วนเป็นชนชั้นกลางชาวเมืองที่ฐานะมั่นคงจำนวนมากหลาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนชั้นนำและคนชั้นกลางไทยเชื้อสายจีนได้ประโยชน์จากและเติบใหญ่ขยายตัวมากับระเบียบอำนาจ 3 แบบคือ :

1) ระเบียบอำนาจเศรษฐกิจของการพัฒนาทุนนิยมแบบไม่เสมอภาคและไม่สมดุล ซึ่งมีผู้ผูกขาดในตลาดเพียงไม่กี่ราย โดยภาครัฐส่งเสริมสนับสนุน

2) ระเบียบอำนาจการเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้การบริหารปกครองและชี้นำในท้ายที่สุดของเหล่าสถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (unelected, non-majoritarian institutions) อาทิ ระบบราชการประจำ, กองทัพ, ตุลาการ ฯลฯ

3) ระเบียบอำนาจแห่งอุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทยภายใต้พระราชอำนาจนำ (the ethno-ideology of Thainess under royal hegemony) หรือที่เรียกว่าราชาชาตินิยม (royal-nationalism)

อย่างไรก็ตาม ในสองทศวรรษหลังนี้ ได้บังเกิดการแตกหักระส่ำระสาย 3 ครั้งใหญ่ขึ้นในเมืองไทยซึ่งคุกคามความต่อเนื่องของระเบียบอำนาจทั้งสามดังกล่าว ได้แก่ :

1) วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ลุกลามไปทั่วเอเชียตะวันออกใน พ.ศ.2540

2) ระบอบทักษิณที่มาในนามระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งเสียงข้างมากนับแต่ พ.ศ.2544 เป็นต้นมา

3) การเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่เรียกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปี พ.ศ.2555

(ต่อสัปดาห์หน้า)