ไซเบอร์ วอทช์เมน : มองการจัดการความจริงของรัฐ ผ่าน “จำคุกนักข่าวพม่าปมข่าวเจาะสังหารหมู่โรฮิงญา”

นับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา สถานการณ์ละเมิดเสรีภาพทั้งบนโลกแห่งความจริงและโลกออนไลน์ยังคงปรากฏตามหน้าสื่อทุกช่องทาง

โดยจะหยิบยกกรณีศาลพม่าตัดสินจำคุก 2 นักข่าวรอยเตอร์สชาวพม่าไปคนละ 7 ปี ฐานผิดกฎหมายความลับทางการ จากการได้หลักฐานจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านอินดินเมื่อปีที่แล้ว

กับเหตุล่าสุดที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ที่มีข่าวนักท่องเที่ยวสาวชาวอังกฤษถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่เรื่องขยายวงเป็นการแบ่งแยกระหว่างเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อโจมตีภาพลักษณ์การท่องเที่ยวจนนำไปสู่การออกหมายจับแอดมินเพจชื่อดังและจับคนแชร์เนื้อหากว่า 10 คนไปสอบสวน

และอาจจะเสริมเรื่องของกัมพูชาเกี่ยวกับการสั่งจำคุกนักทำหนังชาวออสเตรเลียฐานเป็นสายลับเพราะไปเก็บภาพขบวนหาเสียงของพรรคฝ่ายค้านคู่แข่งของรัฐบาลกัมพูชาอย่างพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชาหรือซีเอ็นอาร์พีและถูกศาลสั่งยุบพรรคไปแล้ว

ทั้ง 3 กรณี แม้จะดูคนละเรื่องกัน แต่ทั้ง 3 กลับมีจุดร่วมกันสู่ประเด็นในสัปดาห์นี้เกี่ยวกับ “การจัดการความจริง” และความสามารถในการจัดการความจริงของรัฐบาลประเทศนั้นๆ

กำหนดรูปร่างหน้าตาของ “ความจริง” ได้มากแค่ไหนที่ทำให้ออกมาเป็นเนื้อหาให้สาธารณชนรับรู้

 

การลงโทษจำคุก 2 นักข่าวรอยเตอร์สในการรายงานเปิดโปงการสังหารหมู่ได้เป็นข่าวระดับโลกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากกรณีที่ย้อนกลับไปในห้วงวิกฤตผู้อพยพโรฮิงญาที่ถูกกองทัพเข้ากวาดล้างครั้งใหญ่ โดยสิ่งที่รัฐบาลพม่าบอกกับชาวโลกคือ พวกเขากำลังปราบปรามความไม่สงบจากกลุ่มติดอาวุธปลดแอกรัฐอาระกันของชาวโรฮิงญา หลังบุกโจมตีทำร้ายทหารและตำรวจในรัฐยะไข่ไป

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อออกสู่สายตาคือ บ้านเรือนหลายหลังในหลายชุมชนของชาวโรฮิงญาถูกเผาราบเป็นเถ้าถ่าน

และภาพการอพยพจำนวนมหาศาลของชาวโรฮิงญาที่มีตั้งแต่ชาย-หญิง จนถึงเด็กและคนชรา หอบข้าวของหนีตายข้ามไปบังกลาเทศ

ชาวโรฮิงญาที่ข้ามแดนเพื่อลี้ภัย ได้ถ่ายทอดความเลวร้ายของกองทัพพม่าที่เข้ากวาดล้างแต่ละหมู่บ้าน เผาบ้านเรือน สังหารชาวโรฮิงญา รุมข่มขืน โยนเด็กเข้ากองไฟ ในจำนวนหลายหมู่บ้านที่โดนกวาดล้าง ยังรวมถึงหมู่บ้านอินดิน ที่อยู่ห่างจากจิตตะกอง เมืองหลวงของรัฐยะไข่ไป 60 ก.ม. ชายชาวโรฮิงญาจำนวน 10 คนที่ซ่อนตัวถูกทหารพม่าพบและนำตัวออกมานั่งเรียงแถวโดยที่มือไพล่หลัง จากนั้นทั้งหมดถูกสังหาร

โดยการสังหารหมู่นี้ถูกบันทึกภาพไว้โดยทหารพม่า ก่อนที่ภาพส่วนหนึ่งจะตกถึงมือของวา โลน และจ่อ โซ อู 2 นักข่าวพม่าของรอยเตอร์สที่ทำรายงานข่าวสืบสวนเหตุสังหารหมู่และยังได้ไปสัมภาษณ์ทั้งทหารพม่าและชาวพุทธยะไข่ที่ร่วมก่อเหตุ

ออกมาเป็นรายงานเจาะลึกชนิดเอ็กซ์คลูซีฟของรอยเตอร์สที่เป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานอีกจำนวนมากที่คณะกรรมการสืบสวนเฉพาะกิจขององค์การสหประชาชาติสรุปว่าวิกฤตโรฮิงญาเป็นฝีมือของกองทัพพม่า

และทำเรื่องถึงศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไอซีซีเพื่อขอให้นำตัวนายทหารระดับสูงรวมถึงมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่ามาดำเนินคดี

แต่เนื่องจากพม่ายังไม่ได้เป็นรัฐภาคีสมาชิกธรรมนูญกรุงโรม 2002 ทำให้ไม่สามารถนำตัวมาได้ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็น

และนี่คือเรื่องราวล่าสุดของการดำเนินคดีต่อสิ่งที่ยูเอ็นเรียกว่าอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติจากการกวาดล้างชาวโรฮิงญา

 

ส่วนชะตาชีวิตของ 2 นักข่าว พวกเขาถูกตำรวจล่อมาให้จับกุมโดยอ้างว่ามีข้อมูลที่นัดส่งมอบให้ทั้ง 2 และถูกจับกุมฐานผิดรัฐบัญญัติความลับทางการ

โดยในชั้นพิจารณาคดี ตำรวจให้การยอมรับว่าจับกุมด้วยการล่อด้วยข้อมูล รวมถึงยอมรับว่าเหตุสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาที่หมู่บ้านอินดินเป็นความจริง ทำให้พม่าจัดการความจริงด้วยการบอกว่าได้สั่งลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ลงมือฆ่าไปแล้ว

แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหาของยูเอ็นเกี่ยวกับการกวาดล้างชาวโรฮิงญาจนต้องอพยพครั้งใหญ่และตำหนิชาติต่างๆ ว่ารวมหัวกลั่นแกล้งด้วยข้อกล่าวหาเท็จ

การตัดสินจำคุก 2 นักข่าว ได้เกิดเสียงประณามไปทั่วโลก มองว่าพม่าทำลายเสรีภาพด้วยการจำคุกนักข่าวที่เปิดโปงความจริง

พม่าจัดให้ 2 นักข่าวเป็นนักโทษเหมือนกับที่ออง ซาน ซูจี เรียกพวกเขาด้วยความไม่พอใจว่าเป็นผู้ทรยศต่อประเทศชาติ และปฏิเสธที่จะพูดถึงโรฮิงญา

พม่ามีวิธีจัดการความจริงเกี่ยวกับชาวโรฮิงญาอย่างเป็นระบบ

นอกจากการใช้กำลังทางกายภาพแล้ว กลไกผ่านการสื่อสารของรัฐยังผลิตซ้ำให้โรฮิงญาเป็นศัตรู ไม่ใช่พลเมืองของพม่า เป็นพวกเบงกาลี (พม่าไม่เรียกชาวโรฮิงญาเพราะเท่ากับว่ายอมรับเป็นชนชาติหนึ่งของพม่า) ตัดสิทธิเสรีภาพต่างๆ ที่ควรได้เหมือนชนชาติอื่นออกไป รวมถึงการสร้างข้อมูลผ่านตัวหนังสือและภาพโดยหน่วยงานทหารของพม่า

แต่สุดท้ายรอยเตอร์สจับผิดสังเกตได้และรายงานออกมาว่าหน่วยข่าวของกองทัพพม่าไปเอาภาพที่ไม่ใช่ชาวโรฮิงญามาใส่แล้วตีความอย่างผิดๆ

พม่าพยายามกำหนดความจริงเกี่ยวกับวิกฤตดังกล่าว แต่มาครั้งนี้ถือว่าลำบากกว่าเดิมเพราะเทคโนโลยียุคนี้เปลี่ยนไปมาก การนำเสนอเพื่อชี้นำความคิดผู้คนจึงไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อน

ขนาดเฟซบุ๊กยังปิดบัญชีของมิน อ่อง หล่าย ทันทีที่ยูเอ็นเปิดเผย เพื่อไม่ให้ใช้เป็นพื้นที่เผยแพร่ความคิดเกลียดชัง

ส่วนระดับผู้นำของพม่า ต้องใช้วิธีเปลี่ยนคำเพื่อมองข้าม ลดทอนไม่ให้มีความสำคัญหรือเงียบเฉย ซึ่งเป็นการสื่อสารทางการเมืองพื้นฐานที่นุ่มนวลที่สุดเพื่อปกปิดความรู้สึกที่แท้จริงเอาไว้ หรือกล่าวโทษบุคคลที่ 3 อ้างว่าแทรกแซงเรื่องภายในหรือจงใจสร้างความวุ่นวาย

และนี่คือวิธีการจัดการความจริง จากกรณีเปิดโปงสังหารหมู่โรฮิงญาที่พม่าถึงกับต้องกุมขมับ

 

จากกรณีที่กล่าวไป เมื่อมองมายังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างกัมพูชาหรือไทย ก็มีวิธีการจัดการความจริงในแบบของตัวเอง

อย่างกัมพูชา กรณีล่าสุดคือ จำคุกนายเจมส์ ริกเก็ตสัน นักทำหนังชาวออสเตรเลียวัย 65 ปี เป็นเวลา 6 ปี ฐานจารกรรมข้อมูลให้ประเทศที่ไม่มีชื่อ ซึ่งสร้างความงุนงงให้กับนานาประเทศว่า การใช้โดรนไปเก็บภาพการหาเสียงของอดีตพรรคฝ่ายค้านคู่แข่งของพรรครัฐบาลกัมพูชานั้น มีความผิดฐานจารกรรมยังไง

กระทบต่อความมั่นคงของชาติยังไง

ภาพการหาเสียงของอดีตพรรคฝ่ายค้านส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐบาลกัมพูชาหรือไม่

ถ้าหากยังจำได้ พรรคซีเอ็นอาร์พีถูกศาลกัมพูชาสั่งยุบและสมาชิกพรรค 118 คนถูกตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งแต่ละคนเป็น ส.ส. ที่เรียกว่ากวาดคะแนนเสียงชนะพรรครัฐบาลไปได้แน่นอน ทำให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาของกัมพูชาถูกพากันมองว่าไม่โปร่งใส ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม ด้วยแรงจูงใจทางการเมืองเพื่อกำจัดคู่แข่งให้พ้นทาง ไม่ให้ขัดขวางการครองอำนาจต่ออีกสมัยของสมเด็จฯ ฮุน เซน

ในขณะที่ประเทศไทยก็มีหลายเรื่องที่ต้องต่อสู้เพื่อความจริงกันต่อไป ไม่ว่าเรื่องเก่าแก่อย่างเหตุปราบปรามนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ช่วง 6 ตุลาคม 2519, 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมากว่า 10 ปี เหตุปราบปรามผู้ชุมนุม นปช. ช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 หรือคดีที่เป็นข่าวอีกมาก รวมถึงล่าสุดอย่างกรณีนักท่องเที่ยวสาวอังกฤษถูกข่มขืนบนเกาะเต่าแล้วตำรวจในพื้นที่ไม่รับแจ้งความ จนต้องนำหลักฐานไปแจ้งความกับตำรวจอังกฤษ

แต่เรื่องกลับเป็นว่า ตำรวจไทยชี้แจงว่านักท่องเที่ยวสาวอังกฤษกุเรื่องขึ้นเองเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของเกาะเต่าและการท่องเที่ยวของไทย

จนกระทั่งเฟซบุ๊กเพจหนึ่งที่ชื่อ “CSI LA” ซึ่งถูกกล่าวขานจากกรณีนาฬิกาหรูที่ไร้ที่มาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าเป็นยังไง ก็ร่วมติดตามคดีข่มขืนนี้ โพสต์ข้อมูลทั้งฝั่งสาวอังกฤษและตำรวจไทยจนมีการเผยแพร่และแชร์ต่อกัน

แล้วตำรวจไทยได้ทำในสิ่งที่กลายเป็นที่ถกเถียงคือ การออกหมายจับคนแชร์เนื้อหาของเพจ CSI LA ในความผิด พ.ร.บ.คอมพ์ จนกลายเป็นคดีความ และทนายความสิทธิมนุษยชนต้องรีบเดินทางไปช่วยเหลือคดีให้กับผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 11 คน

ณ จุดนี้ ต้องติดตามกันต่อไปว่า คดีล่าสุดบนเกาะเต่า ใครเป็นฝ่ายพูดความจริง?