บทวิเคราะห์ : รัฐจับมือยักษ์ธุรกิจ อัพเกรดเกษตรกรไทย แก้โจทย์ ศก. รากหญ้าไม่ฟื้น

ข่าวร้ายกลายเป็นดี เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ยอมรับข้อมูลจากผลสำรวจโดย “ทีมทำเนียบ” เอง สรุปออกมาว่า เศรษฐกิจฐานรากยังไม่ฟื้น ชาวบ้านไร้กำลังซื้อ-เงินไม่ถึงมือชาวบ้าน

ทำให้เกิดข้อสั่งการ-สายตรงจากทำเนียบ ให้รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจต้องจัดทำมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้า เพื่อช่วยเหลือชาวนา-เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์-กระทรวงพาณิชย์ จึงเป็นด่านหน้าในการเข้าหาชาวบ้านฐานราก

นอกเหนือจากการจัดทริป “ครม.สัญจร” ทุกเดือน-ลงพื้นที่ทุกสัปดาห์ของทีมนายกรัฐมนตรี ปักธงหว่านสารพัดโครงการ บูมเศรษฐกิจในพื้นที่เป้าหมายไปนับแสนล้านบาท โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน

ควบคู่ไปกับอัดฉีดเศรษฐกิจฐานราก ให้ชาวบ้านรากหญ้ามีเงินจับจ่ายใช้สอยผ่าน 13 โครงการหลัก รวม 6 แสนล้านบาท อาทิ โครงการไทยนิยมยั่งยืน กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กองทุนหมู่บ้าน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

“กฤษฎา บุญราช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงถูกตั้งความหวังว่าในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล คสช. จะมีแผนการแก้โจทย์เศรษฐกิจรากหญ้าที่ยังไม่ฟื้นให้กลับมาคืนชีพได้อีกครั้ง

 

“กฤษฎา” เปิดเผยไอเดียสำหรับแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แนวทางแรกจับมือกับกระทรวงพาณิชย์สร้างแผนพัฒนาสินค้าเกษตรครบวงจร ทั้งพืช 14 ตัว รวมสัตว์-ประมง และทุเรียนเป็นตัวที่ 14

เขาเริ่มต้นอธิบายว่า “เกษตรกรต้องมีการปรับตัวเพื่อรับการค้าโลกสมัยใหม่ 5 ขั้นตอน คือ 1.แผนการผลิตสินค้าเกษตร 14 ตัว รวมสัตว์-ประมง โดยมีการเพิ่มทุเรียนเป็นตัวที่ 14 เนื่องจากมีการปลูกกันมาก อาจเกินความต้องการของตลาด 2.เน้นตลาดเพื่อสุขภาพ ราคาดี 3.ใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานมนุษย์ 4.เน้นเกษตรแปลงใหญ่ 5.ใช้ระบบสวัสดิการดูแลเกษตรกร เช่น การประกันภัยพืชผล, ประกันราคาขั้นต่ำ”

“ผมภาคภูมิใจที่จะบอกว่า ด้วยแผนดังกล่าว ดูแลราคาผลผลิตข้าวได้ครบวงจร ทั้งส่งออกและบริโภค 33 ล้านตัน ผมหวังว่าในฤดูการปลูกข้าวรอบใหม่จะทำให้ชาวนาได้ราคาเกวียนละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท เราจับมือกับกระทรวงพาณิชย์ผลิตข้าวคุณภาพสูง เช่น ข้าวออร์แกนิก ข้าว ก.ข.43 ผมมั่นใจว่ามาตรการนี้จะทำให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพ”

แผนต่อมาจับมือกับบริษัทเอกชนในการรับซื้อผลผลิตหลังฤดูทำนา 2.8 ล้านไร่ ที่เรียกว่า “ทำเกษตรหลังนา” โดยมีโครงการสนับสนุนเกษตรกรเปลี่ยนการปลูกข้าวรอบ 2 มาปลูกพืชทดแทน คือ ข้าวโพด, พืชผัก, ถั่ว ทำการเกษตรหลังนา

ขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมแล้ว 2.8 ล้านไร่ จะเริ่มโครงการเดือนพฤศจิกายนนี้

โดยได้เจรจากับเอกชนให้ร่วมซื้อผลิตผล อาทิ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน), บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอกชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (มหาชน) และกลุ่มเซ็นทรัล, โลตัส

 

กฤษฎากล่าวถึงคอนเซ็ปต์เกษตรหลังนาว่า “ให้ชาวนามีแรงจูงใจเพิ่มขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ไปประกบในการแนะนำวิธีการปลูก พร้อมทั้งเชิญภาคเอกชนมาจับเป็นคู่ค้าตั้งแต่วินาทีแรกของการปลูก เกษตรกรได้รับประโยชน์แน่ๆ คือ 1.มีเอกชนมารับซื้อ 2.มีราคาค่อนข้างตายตัว เพราะมีการประกันรายได้ขั้นต่ำ 3.หาเงินทุนเป็นเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.01% และ 4.จัดการประกันภัยพืชผล”

“การจับมือกับภาคเอกชนอยู่ในแผนการผลิต เมื่อรู้ปริมาณความต้องการของตลาดแล้ว จะต้องรู้คู่ค้า ขณะนี้เริ่มแผนให้เครือข่ายประชารัฐแต่ละจังหวัดลงไปช้อปปิ้งกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ที่มีอยู่แล้ว เช่น บ้านโนนเขวา อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีบริษัทเทสโก้ โลตัส ไปเปิดรับซื้อผักจากกลุ่มเกษตรกรที่มีพื้นที่ 300 ไร่”

“ผมต้องการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่จะไม่ให้บริษัทเอกชนเอาเปรียบเกษตรกร เรามี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560 กำกับ ผมไม่มีการฮั้วกับใคร ทั้งซีพี ไทยเบฟ เซ็นทรัล หรือโลตัส เราคุยกับทุกบริษัท หลัง ครม.อนุมัติ กระทรวงจะลงไปชี้แจงกับเกษตรกรว่าเอกชนมีข้อเสนอแบบใดบ้าง พอใจหรือไม่ ให้ตกลงจับคู่กันเอง แต่ผมไม่ไปผูกพันกับยักษ์ใหญ่เจ้าใดเจ้าหนึ่ง”

“เช่น ข้าวโพดที่จะปลูก 2 ล้านไร่ บริษัทที่สนใจมากที่สุดคือซีพี แต่ผมบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าต้องไปจับมือกับเบทาโกรและกลุ่มอื่นๆ ด้วย และจะให้ตัวแทนเกษตรกรมาแมตชิ่งกับคู่ค้า ซึ่งซีพีมีเงื่อนไขตกลงรับซื้อกิโลกรัมละ 7 บาท แต่เบทาโกรรับซื้อที่ 6 บาท เขาซื้อในราคาสูง ส่วนมอนซานโต้ให้เมล็ดพันธุ์ฟรี แต่เวลาขายขายให้กับเขาเท่านั้นในราคาตามท้องตลาด”

ส่วนรูปธรรมที่จะเกิดขึ้น “กฤษฎา” ฉายภาพว่าเริ่มคิกออฟโครงการพฤศจิกายน 2561 เพราะเป็นช่วงที่เกษตรกรเกี่ยวข้าวเสร็จ มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 2.8 ล้านไร่ โดยมีเมนูราคาและการประกันให้เกษตรกรเลือกคือ เมนูซีพี เมนูมอนซานโต้ เมนูเบทาโกร

 

อีกแผนหนึ่งที่ “กฤษฎา” ภูมิใจเสนอคือ ให้กระทรวงเกษตรฯ รวบรวมที่ดินให้สมาร์ตฟาร์มเมอร์และบริษัทการเกษตรเช่า แล้วแบ่งปันผลกำไร (profit sharing) 3 ฝ่าย คือ เจ้าของที่ดิน-สมาร์ตฟาร์มเมอร์และบริษัทเอกชน เข้าไปตั้งโรงงานแปรรูปและซื้อผลผลิตโดยตรงในราคาประกัน

“คอนเซ็ปต์นี้จะเริ่มใช้ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ เนื่องจากสำรวจแล้วมีชาวนาสูงอายุหลายแห่งนำที่นาไปปล่อยให้ชาวนาเพื่อนบ้านเช่า จึงให้กรมส่งเสริมการเกษตร เสนอให้สมาร์ตฟาร์มเมอร์ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1 ล้านรายมาเป็นผู้เช่าช่วง หรือเช่าพื้นที่ทำการเกษตร พร้อมติดต่อกับเอกชนมาซื้อ โดยให้แบ่งปันผลประโยชน์กัน”

“โดยภาคเอกชนบางราย เช่น กลุ่มซีพี โดยคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เสนอว่าขอเช่าที่ดิน และจ้างสมาร์ตฟาร์มเมอร์ให้ทำงานกับเขา แล้วรับซื้อผลผลิตทั้งหมด พร้อมทั้งนำโรงงานแปรรูปมาไว้ใกล้ๆ โดยเกษตรกรจะได้ค่าเช่าพื้นที่ ได้แบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งผมรับไว้ รอให้ ครม.อนุมัติ แต่ต้องไปถามชาวบ้านก่อนว่าต้องการอย่างไร ยังไม่ได้เซย์เยสหรือเซย์โน”

“คุณธนินท์บอกผมว่า ถ้ารัฐมนตรีสามารถจัดรูปแปลงใหญ่ได้ เขายินดีเช่าแปลงใหญ่ทั้งหมด พร้อมเสนอว่า ชาวนาเคยทำกำไรจากการทำผลผลิตในแปลงใหญ่ได้เท่าไหร่ ซีพีจะบวกเพิ่มอีก 10% และนำโรงรับซื้อ โรงแปรรูปมาตั้งไว้ในพื้นที่ และจะต้องจ้างคนในพื้นที่เข้ามาทำการเกษตรกับเขา เป้าหมายคือสมาร์ตฟาร์มเมอร์ หรือลูกเกษตรกรในพื้นที่ วิธีการคือ เขาจะเอาดินไปตรวจว่าดินแบบนี้สมควรปลูกพืชประเภทไหน และด้วยเทคโนโลยีที่ไฮเทคกว่า เขาสามารถคาดการณ์สถานการณ์ราคาผลผลิตการเกษตรได้ล่วงหน้าว่าประเภทไหนราคาดี”

“กฤษฎา” อายุงานการเมือง 11 เดือน แต่เนื้อหอมแตะจมูกพรรคการเมืองใหม่ในเงา คสช. แต่เขาไม่ตอบรับจะไปต่อ เว้นแต่จะมีข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้