โลกร้อนเพราะมือเรา : 8 เมืองหลบภัย

“ที่ไหนที่คุณควรไปอยู่เพื่อหนีภัยโลกร้อน” ชื่อบทความของ โจนาห์ แองเจล บรอมวิช ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นบทความแสดงให้เห็นว่าคนอเมริกันให้ความสนใจกับสถานการณ์โลกร้อนอย่างใกล้ชิดถึงขั้นนำเสนอเรื่องนี้ผ่านหนังสือพิมพ์ชั้นนำระดับประเทศ

“บรอมวิช” เกริ่นว่า เป็นเรื่องยากเกินกว่าจินตนาการได้ว่า ในอีก 25 ปีข้างหน้า เมืองไหนในทวีปอเมริกาเหนืออยู่รอดปลอดภัยจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน

แต่ก็มีบางแห่งพอบอกได้ว่า เมื่อถึงเวลานั้น จะเป็นเมืองที่ไม่เจอหายนภัยในระดับรุนแรง อย่างเช่น ไฟป่า ภัยแล้ง อากาศร้อนสุดๆ เย็นสุดๆ เฮอร์ริเคนหรือลมพายุแปรปรวน

“บรอมวิช” ไปจับเข่าคุยกับ 3 ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ด๊อกเตอร์เบนจามิน สเตราส์ แห่งศูนย์วิจัย “ไคลเมต เซ็นทรัล” ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรของสหรัฐ เน้นการศึกษาเรื่องสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ศาสตราจารย์เดวิด ทิตเลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยา มหาวิทยาลัยเพนน์ สเตต และศาสตราจารย์แคตเธอรีน ฮีโอ นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส เทค

ผลการพูดคุยได้ข้อสรุป ไม่ว่าเมืองไหนๆ ต้องเจอกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เมืองที่ควรไปพักอาศัยอยู่ในอนาคตต้องเป็นเมืองที่ผู้บริหารให้ความสำคัญกับนโยบายลดโลกร้อนและมีแผนบรรเทาผลกระทบชัดเจน

 

ต่อไปนี้เป็นรายชื่อเมืองน่าอยู่และเป็นเมืองที่ควรไปอยู่เพื่อหลบภัย “โลกร้อน” ในทวีปอเมริกาเหนือ

1. เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐเมน

2. เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน

3. นครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์

4. เมืองเมดิสัน รัฐวิสคอนซิน

5. นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย

6. เมืองบอยซี่ รัฐไอดาโฮ

7. เมืองสเตต คอลเลจ รัฐเพนซิลเวเนีย

8. นครโตรอนโต ประเทศแคนาดา

 

เมืองพอร์ตแลนด์ อยู่ทางตอนเหนือของสหรัฐ ริมอ่าวคาสโก้ ฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก เป็นเมืองท่าสำคัญทางด้านประมงและแหล่งอุตสาหกรรม

เมืองนี้อากาศค่อนข้างเย็นจัดในฤดูหนาว อุณหภูมิเฉลี่ย ติดลบ 5.4 องศาเซลเซียส แต่ในฤดูร้อน อากาศค่อนข้างอบอุ่น เฉลี่ย 20.6 องศาเซลเซียส

“บรอมวิช” ถาม “สเตราส์” ถึงเหตุผลการเลือกเมืองพอร์ตแลนด์ เป็นเมืองหลบภัยโลกร้อน

“สเตราส์” บอกว่า พอร์ตแลนด์อยู่ทางตอนเหนือ ลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินเขา แม้อยู่ริมฝั่งมหาสมุทร แต่ที่ตั้งเมืองมีโอกาสเสี่ยงกับพายุหรือน้ำทะเลท่วมถึงน้อยมาก

ถ้าเปรียบเทียบกับชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกทางตอนกลางหรือตอนใต้ของสหรัฐ เมืองพอร์ตแลนด์ จะไม่เจอพายุเฮอร์ริเคนซัดถล่มเต็มๆ

นอกจากนี้แล้ว เมืองพอร์ตแลนด์ ตั้งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ความกดอากาศสูงจากขั้วโลกเหนือทำให้เกิดความชุ่มชื้น อุณหภูมิเย็นกว่าทางตอนใต้ ฉะนั้น เมืองนี้จึงไม่มีปัญหาเรื่องภัยแล้ง

ศาสตราจารย์ทิตเลย์และศาสตราจารย์ฮีโอเห็นด้วยกับเหตุผลของสเตราส์

ส่วนเมืองดีทรอยต์ นครชิคาโก และเมืองเมดิสัน อยู่ในเขตมิดเวสต์ หรือภาคกลางตอนบนของสหรัฐ ได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลบภัยโลกร้อน เพราะไม่มีปัญหาเรื่องภัยแล้งอย่างแน่นอนเนื่องจากทำเลตั้งอยู่ใกล้ทะเลสาบ

โดยเฉพาะเมืองเมดิสัน มีทะเลสาบโอบล้อมถึง 4 แห่ง จนได้ฉายาว่า เมืองแห่งทะเลสาบ

นครชิคาโก ตั้งอยู่ริมทะเลสาบมิชิแกน มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของทะเลสาบในสหรัฐ

เมืองดีทรอยต์ติดกับแม่น้ำดีทรอยต์ เชื่อมต่อกับทะเลสาบมิชิแกน

สภาพอากาศของทั้งสามเมืองค่อนข้างอบอุ่นชื้นภาคพื้นทวีป มีฝนตกเกือบตลอดทั้งปี

ทั้งเมดิสัน ดีทรอยต์และชิคาโก ถือเป็นเมืองใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของสหรัฐที่มีแผนปฏิบัติการสู้โลกร้อนชัดเจนและทำมานานหลายปีแล้ว

 

นครชิคาโก จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจด้านโลกร้อน มีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เข้าร่วมศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ จนกระทั่งได้ข้อสรุปว่าต้องวาง 5 ยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันผลกระทบอันเนื่องจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ได้แก่

1. ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการประหยัดพลังงานของอาคารบ้านเรือน

2. ยุทธศาสตร์การใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน

3. ยุทธศาสตร์การใช้ยานพาหนะและระบบการขนส่งคมนาคม

4. ยุทธศาสตร์การลดของเสียและมลพิษจากกากอุตสาหกรรม

5. ยุทธศาสตร์การปรับตัวของประชาชนให้อยู่อย่างมีความสุขในภาวะผันผวนของสภาวะอากาศ

(อ่านเพิ่มเติมแผนปฏิบัติการ “ชิคาโก” ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559)

 

เมืองดีทรอยต์ มีแผนสู้โลกร้อนที่เรียกว่า Detroit Climate Action Collaborative (DCAC) เป็นการรวมกลุ่มของนักวิชาการ สถาบันการศึกษานักธุรกิจ และประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันศึกษาศักยภาพของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่มีต่อเมืองดีทรอยต์และแผนรับมือในระยะยาว

ผลการศึกษาเมืองดีทรอยต์มีค่าเฉลี่ยอุณหภูมิของเมืองในรอบ 30 ปีเพิ่มสูงขึ้น 1.4 องศาฟาเรนไฮต์

วันที่มีอากาศร้อนมากเพิ่มขึ้น 3 วันต่อปี วันที่อากาศเย็นลดลง 10.5 วันต่อปี

เป้าหมายของผู้บริหารเมืองดีทรอยต์ ต้องการลดการปล่อยก๊าซพิษ และปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารบ้านเรือน ร่วมมือกับบริษัท สถาบันการศึกษา คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีสะอาด

ด้านผู้บริหารเมืองเมดิสันร่วมกับหน่วยงานของรัฐวิสคอนซิน เริ่มแผนสกัดโลกร้อนตั้งแต่ปี 2541

ผลปรากฏว่า ในปี 2553 รัฐวิสคอนซิน สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษ 7.7 ล้านตัน นำขยะมาใช้แปรรูป คิดเป็นมูลค่า 410 ล้านเหรียญ สร้างงานด้านดูแลสิ่งแวดล้อมอีก 8,500 ตำแหน่ง

 

ผู้บริหารเมืองเมดิสัน ยังให้ความสำคัญกับการใช้จักรยานภายในเมือง เพราะถือเป็นพาหนะที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

เส้นทางจักรยานในเมืองเมดิสันเชื่อมต่อกันรวมแล้ว 365 กิโลเมตร มีไหล่ทางสำหรับปั่นจักรยานนอกเมือง 392 กิโลเมตร

ทางจักรยานสายหลักๆ ในเมืองเมดิสันทำมาตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว มีระบบเฝ้าติดตามรวมถึงควบคุมการปล่อยสัญญาณไฟตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับนักปั่นและคนเดินเท้า

เมื่อปีที่แล้วเมืองเมดิสันได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในสหรัฐ สัปดาห์หน้ามาว่ากันต่อกับอีก 4 เมืองหลบภัยโลกร้อน