สุรชาติ บำรุงสุข : 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (6) ยุคแห่งการแสวงหาครั้งที่ 2

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย

ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว”


วิทยากร เชียงกูล

ชัยชนะของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือ “ชัยชนะของประชาชน” และเป็นชัยชนะครั้งแรกของฝ่ายนิสิตนักศึกษาประชาชนในการโค่นล้มระบอบการปกครองของทหาร

เพราะแต่เดิมการสิ้นสุดของรัฐบาลทหารนั้นมักจะเกิดจากการ “หักกันเอง” ของผู้นำทหาร มากกว่าจะเป็นผลจากการเคลื่อนไหวของประชาชน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐบาลทหารมักจะยุติบทบาทลงด้วยการรัฐประหารของผู้นำทหารอีกกลุ่มหนึ่ง

ปรากฏการณ์รัฐประหารของกองทัพจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเมืองไทยไปโดยปริยาย และขณะเดียวกันก็เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาทางการเมืองของไทยที่ไม่สามารถนำพาตัวเองออกจาก “วังวน” ของการยึดอำนาจของผู้นำกองทัพได้เลย

การเมืองไทยในลักษณะเช่นนี้ไม่ค่อยจะแตกต่างจากการเมืองในประเทศโลกที่สาม ไม่ว่าถูกเรียกว่าเป็น “ประเทศด้อยพัฒนา” หรือ “ประเทศกำลังพัฒนา” ก็ตาม ที่มักจะมีรูปลักษณ์ของระบอบการเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร

หรืออาจกล่าวในมุมมองเปรียบเทียบ (comparative perspectives) ของวิชาการเมืองการปกครองเปรียบเทียบได้ว่า รัฐประหารที่ตามมาด้วยการจัดตั้งระบอบการปกครองของทหารนั้น เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกถึงอาการ “ด้อยพัฒนา” ทางการเมืองของประเทศนั่นเอง และระบอบการปกครองของทหารไทยก็เป็นหนึ่งในตัวแบบเช่นนี้

 

ยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง

การเมืองไทยในยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516 ก็ถูกจัดให้อยู่ในประเภทเช่นนี้ รัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ เป็นสัญลักษณ์ของความ “ด้อยพัฒนาทางการเมือง” ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แต่เมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เกิดขึ้นแล้ว การเมืองไทยก็ดูจะเคลื่อนไปข้างหน้าอีกระดับหนึ่ง

หรืออาจกล่าวได้ว่า 14 ตุลาคม 2516 คือความก้าวหน้าครั้งสำคัญของการเมืองไทย

อย่างน้อยก็เป็นความก้าวหน้าของการปลดปล่อยการเมืองของประเทศออกจากระบอบการปกครองของทหาร

และอย่างน้อยการที่ “2 จอมพล 1 พันเอก” ต้องออกนอกประเทศนั้นก็บ่งบอกชัดเจนถึง “ภูมิทัศน์ใหม่” ของการเมืองไทยยุคนั้น

ดังได้กล่าวแล้วว่า ภูมิทัศน์แห่งความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยในปี 2516 นั้น มีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญของขบวนการนิสิตนักศึกษา

ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ว่าที่จริงก็สะท้อนให้เห็นการขับเคลื่อนของ 2 ปัจจัยใหญ่ในหมู่คนหนุ่มสาวขณะนั้น ได้แก่

การเปลี่ยน “โลกทัศน์” ของนิสิตนักศึกษา

และผลจากการเปลี่ยนดังกล่าวทำให้ “กระบวนทัศน์” ของกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยเริ่มมีพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

จนในที่สุดแล้ว ปัจจัยทั้งสองนี้ได้ทำให้เกิด “พลังนักศึกษา” ขึ้นในการเมืองไทย และขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในมหาวิทยาลัยเช่นกันด้วย

ความเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยทั้งสองประการเช่นนี้ย่อมมีผลโดยตรงต่อสถานะของระบบโซตัสหรือระบบอาวุโสในมหาวิทยาลัย

ภายใต้โลกทัศน์ใหม่ นิสิตนักศึกษาอีกส่วนเริ่มเห็นว่ายุคสมัย “สายลมแสงแดด” ที่กิจกรรมรวมศูนย์อยู่กับ “ความสุขและความสนุก” นั้น เป็นสิ่งที่ทำให้คนหนุ่มสาวละเลยต่อสถานะของความรับผิดชอบของปัญญาชนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม

อีกทั้งยุคสมัยเช่นนี้ยังส่งเสริมค่านิยมที่ยกย่องตัวเองของกลุ่มปัญญาชนว่าสูงส่งกว่าคนกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ในสังคมที่เป็นชนชั้นล่าง สัญลักษณ์ใหญ่ที่ได้รับการให้ความสำคัญจึงเป็นเรื่องของการแสดงออกผ่านเครื่องแบบ ไม่ว่าจะเป็นหัวเข็มขัด กระดุม เน็กไท

ดังสะท้อนจากบทกวีชุด “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” ของพี่สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งไม่แน่ใจว่านิสิตรุ่นหลังอ่านแล้วจะรู้สึก “เสียดแทงใจ” เหมือนคนยุคผมหรือไม่?

 

สองค่าย-สองความคิด-สองสำนึก

ฉะนั้น การสร้างจิตสำนึกใหม่ในทางสังคมการเมืองในหมู่นิสิตนักศึกษาจึงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ และจิตสำนึกเช่นนี้ยังนำไปสู่กิจกรรมใหม่ๆ ที่แตกต่างจากงานบันเทิงที่มักจะเป็นงานกระแสหลักในมหาวิทยาลัยขณะนั้น

และขณะเดียวกัน จิตสำนึกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นอันนำมาซึ่งการกำเนิดของกิจกรรมใหม่ๆ เช่นกัน ได้เริ่มแยกนิสิตนักศึกษาออกเป็น 2 ค่าย/กลุ่มใหญ่

ก็คือ กลุ่มที่สนับสนุนระบบโซตัส

และกลุ่มต่อต้านโซตัส หรือกลุ่ม “โซตัสใหม่”

ในจุฬาฯ ซึ่งผมอยากจะเรียกด้วยภาษาการเมืองระหว่างประเทศที่มีการแบ่งเป็น 2 ค่ายก็คือ “ยุคสงครามเย็น” ของการเมืองในมหาวิทยาลัย และขณะเดียวกันก็เป็นยุคที่การเมืองโลกแบ่งออกเป็น 2 ค่ายเช่นกัน

แม้สภาพของความแตกต่างทางความคิดที่เกิดการแบ่งเป็น 2 ค่ายจะไม่ได้นำไปสู่การเผชิญหน้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้เกิดสภาพของความขัดแย้งขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย

ดังนั้น ในสภาวะที่ระบบโซตัสยังเป็น “กระแสหลัก” ของชีวิตประจำวัน นิสิตนักศึกษาที่อยู่ในกระแสความคิดใหม่จึงต้องออกไปสร้างกลุ่มของตนเองทั้งในคณะและนอกคณะ

ในยุคที่น้องปี 1 อย่างพวกเราเริ่มแสดงอาการ “กบฏ” กับระบบเดิม เราเองก็เริ่มมองหาความสนับสนุนจากรุ่นพี่ๆ ซึ่งในระยะแรก พวกเขาเองก็คงยังไม่อาจแสดงตัวได้ตรงๆ

แต่เมื่อพวกเราเองแสดงออกอย่างชัดเจนในหลายๆ เรื่องแล้ว พวกพี่โซตัสใหม่ในคณะก็ปรากฏตัวด้วยการชักชวนพูดคุยประเด็นหลัก 2 เรื่องที่เป็นวาระของการคุยของพวกเรากับพี่เหล่านี้อยู่เสมอๆ ก็คือ ปัญหาระบบโซตัส และปัญหาบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรัฐบาลทหาร ตลอดรวมถึงปัญหาเรื่องประชาธิปไตย

แน่นอนว่าการคุยขยายวงออกไปมากขึ้น จนพวกเราเองก็เห็นด้วยความมั่นใจว่า มีพี่ทุกชั้นปีอยู่อีกพอสมควรที่ไม่ได้เห็นด้วยกับระบบโซตัส แม้พวกเขาจะไม่เปิดตัวในช่วงต้นก็ตาม

ความน่าสนใจในมุมหนึ่งก็คือ คนเหล่านี้มักจะเป็นพวก “เรียน” (ความจริงอยากจะใช้ว่าเป็นพวก “เรียนเก่ง” ของรุ่นด้วย แม้จะใช้อธิบายไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม) และด้วยความเป็นพวก “คงแก่เรียน” ของพี่เหล่านี้

การเสวนาที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นกระบวนการเรียนรู้ทางการเมืองสำหรับพวกเราที่เป็นนิสิตปี 1 ไปโดยปริยาย

อย่างน้อยพวกเรารู้สึกว่าคุยกับพวกพี่โซตัสใหม่แล้ว พวกเราพอจะมีความรู้ หรือได้รับสาระมากกว่าอยู่กับพวกโซตัสเก่า (พวกเรารู้สึกเช่นนี้จริงๆ)

การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่าพวกโซตัสเก่าไม่เรียนหนังสือ และว่าที่จริงแล้วโซตัสเก่าหลายคนก็เป็นคนเรียนดี แต่อาจจะเป็นเพราะเวลาเปิดวงสนทนาในแบบ “นักรัฐศาสตร์” แล้ว สาระการคุยของพวกโซตัสใหม่ดูจะมีมากกว่า ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะส่วนใหญ่ของการพูดคุยนั้นล้วนแต่เป็นเรื่องการเมืองเกือบทั้งสิ้น

สภาพเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่าพวกโซตัสใหม่เป็นดังพวก “เครียด” หรือพวก “แบกโลก” ที่มองว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นปัญหาทั้งสิ้น ซึ่งก็อาจจะจริงในบริบทที่การเกิดสำนึกทางสังคมการเมือง ทำให้พวกเราสนใจกับความเป็นไปของบ้านเมืองและของโลกมากขึ้น สภาพเช่นนี้ทำให้พวกเรายอมรับต่อกิจกรรมสายลมแสงแดดน้อยลง

ที่สำคัญก็คือพวกเรามองว่ากิจกรรมเช่นนั้นคือ การทำให้นิสิตนักศึกษา “หมกมุ่น” และ “ฟุ้งเฟ้อ” อยู่กับเรื่องที่หาสาระไม่ได้ และผลจากสภาพเช่นนี้จะทำให้พวกเรากลายเป็นคนที่ปกครองง่าย หรือที่เรียกว่าเป็นอาการ “เชื่องทางการเมือง” อันเป็นปรากฏการณ์ที่เอื้อให้ผู้มีอำนาจสามารถควบคุมผู้ใต้ปกครองได้ง่าย

 

ชัยชนะชั่วคราว!

ถ้าจะตีความเป็นหลักการทางรัฐศาสตร์ก็คงจะต้องบอกว่า “บันเทิงแล้วปกครอง” ไม่แตกต่างจากหลักการเดิมคือ “แบ่งแยกแล้วปกครอง”

กล่าวคือ ระบบโซตัสสร้าง “ความสุขและความสนุก” ให้แก่ชีวิตของนิสิตนักศึกษาในฐานะ “ชนชั้นกลางใหม่” ซึ่งแทนที่พวกเขาจะยอมแบกรับภาระในการมีบทบาททางสังคมการเมือง พวกเขากลับหันเหตัวเองออกไปจากกระแสดังกล่าว…

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยจึงเป็นช่วงระยะเวลาของความสุขครั้งสำคัญของชีวิต โดยเฉพาะกับชีวิตในวัยหนุ่มสาว

ขณะเดียวกัน ก็มิได้หมายความว่ากิจกรรมในมหาวิทยาลัยควรจะมีด้านเดียวที่เป็นสังคมการเมืองเท่านั้น หากแต่กิจกรรมกีฬา ดนตรี ก็ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่สำหรับมหาวิทยาลัยไทยแล้ว กิจกรรมอีกด้านหนึ่งกลายเป็นเรื่องของการรับน้อง… การพาน้องไปเที่ยว… การเชียร์… การว้าก ซึ่งถ้าจะมีกิจกรรมเช่นนี้ก็อาจจะต้องคิดถึง “ความพอเหมาะ”

เพราะจนถึงปัจจุบันแม้เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จะบ่อนทำลายระบบอาวุโสในคณะหลักๆ ของจุฬาฯ ลง แต่ระบบนี้ก็ยังคงเติบโตและเข้มแข็งในหลายมหาวิทยาลัย จนข่าวการเสียชีวิตจากการรับน้องก็ยังคงเกิดขึ้นในทุกปี

และจนถึงวันนี้ชีวิตผมจากนิสิตปี 1 ที่ต่อสู้กับการว้ากในคณะรัฐศาสตร์ในปี 2516 จนถึงเป็นอาจารย์ในปัจจุบันก็ยังคงฉงนว่า เราเคยล้มระบบการปกครองของทหารลงได้ในปี 2516 แต่เรากลับไม่สามารถจะ “ถอนรากถอนโคน” ระบบนี้ได้เลย

ชนะได้แต่เพียงการทำให้ความเข้มข้นของระบบอาวุโสอย่างในคณะเก่าเช่นรัฐศาสตร์ถูกลดทอนความรุนแรงลง แต่ก็ใช่ว่าจะสูญสิ้นสภาพไปจากจุฬาฯ แต่อย่างใด

ว่าที่จริงแล้ว ชัยชนะต่อระบบอาวุโสที่คนรุ่นพวกผมและรุ่นที่เคยต่อสู้กันมานั้น รากโคนอาจจะลึกมากกว่าที่เราคิด เพราะไม่ใช่มีแต่รุ่นพี่ๆ เท่านั้นที่สนับสนุนระบบเก่า แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางส่วนก็อาจจะรู้สึกในแบบ “รุ่นพี่เก่า” ว่าสิ่งนี้เป็นประเพณีที่ควรค่าแก่การรักษาไว้

หรือว่าในความเป็นจริงแล้ว ระบบนี้เคยเอื้อให้รัฐบาลทหารใช้เป็นเครื่องมือของการปกครองคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัย

เพราะการทำให้พวกเขาไม่ยุ่งกับกิจกรรมการเมือง ก็คือหลักประกันของการต่ออายุของระบอบอำนาจนิยมโดยตรง ถ้าเช่นนั้น ระบบนี้ก็อาจเอื้อให้กับผู้บริหารปกครองนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่แตกต่างกัน ข้อเสนอที่เราจะได้ยินเสมอจากผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยก็คือนิสิตมีหน้าที่เรียนอย่างเดียว และผู้ปกครองประเทศที่เป็นทหารก็พูดและคิดไม่แตกต่างกัน

ดังนั้น สภาวะที่ระบบอาวุโสยังคงฝังรากเป็นฐานล่างของวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัย ชัยชนะของพวกเราในการต่อสู้กับระบบนี้ในยุค 14 ตุลาฯ ก็ดูจะเป็น “ชัยชนะชั่วคราว” หรืออย่างที่ผมกล่าวเสมอว่าเราเคยล้มระบบทหารได้ แต่เรากลับล้มระบบอาวุโสในมหาวิทยาลัยไม่ได้ หรือว่าที่จริงเราล้มไม่ได้ทั้งสองอย่าง

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงภาวะชั่วคราว และเมื่อถึงเวลาชุดความคิดเช่นนี้ก็หาโอกาสฟื้นตัวได้อย่างแนบเนียนเสมอ วันนี้ระบบโซตัสยังอยู่ พร้อมๆ กับรัฐบาลทหารก็ยังอยู่เช่นกัน

 

ฐานที่มั่นนอกคณะ

ในช่วงเวลาของการต่อสู้ทางความคิดของนิสิตนักศึกษาไทย พวกเขาจำเป็นต้องแสวงหาความคิดใหม่ มาเป็นฐานรองรับ ซึ่งสำหรับบรรดาผู้ที่สนใจกับปัญหาสังคมการเมืองแล้ว คงต้องถือว่าช่วงเวลาเช่นนี้เป็น “ยุคแสวงหา” เป็นการแสวงหาทั้งความคิด จิตวิญญาณ และตัวตน

การแสวงหาเช่นนี้ทำให้เกิดการรวมกลุ่มในรูปแบบต่างๆ พวกโซตัสใหม่ส่วนหนึ่งจับกลุ่มกันอยู่ในคณะ และบางส่วนก็เริ่มขยายกิจกรรมข้ามรั้วมหาวิทยาลัย

ดังจะเห็นได้ว่า ก่อนการกำเนิดของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในปี 2513 นิสิตนักศึกษาต่างมหาวิทยาลัยเริ่มจับมือทำกิจกรรมระหว่างกันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ “ค่ายบูรณะชนบท” ซึ่งปัจจุบันคนที่มาจากค่ายนี้มีบทบาททางสังคมการเมืองอยู่พอสมควร

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจุฬาฯ นั้น ความน่าสนใจอยู่ที่ชมรม เพราะนอกจากจะมีกลุ่มโซตัสใหม่ ชมรมที่มีที่ตั้งอยู่ใต้ถุนศาลาพระเกี้ยวก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญของกิจกรรมนิสิตยุคนั้น

ชมรมหลักๆ คงหนีไม่พ้น ชมรมค่ายอาสาสมัคร ชมรมพุทธ ชมรมโต้วาที เป็นต้น

แต่สำหรับพวกเราที่สนใจการเมืองแล้ว ชมรมที่อยู่ในสายตาเราก็คือ “ชมรมรัฐศึกษา” ซึ่งในช่วงที่ผมเริ่มออกนอกคณะ ชมรมนี้ได้กลายเป็น “ฐานที่มั่น” อีกแห่งหนึ่งของพวกเรา

ที่ชมรมนี้มี “พี่ขวด” (สุนัย จุลพงศธร นิสิตคณะนิติศาสตร์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย) เป็นประธาน

และผมยังพบกับพี่อีกหลายๆ คน เช่น “พี่เกรียง” (เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ นิสิตคณะนิติศาสตร์ อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปี 2518) และ “พี่อ้วน” (ภูมิธรรม เวชยชัย นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย)

สำหรับพวกเราที่เป็น “กบฏปี 1” ยุคแสวงหาพาพวกเราเข้าร่วมการเคลื่อนไหวใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย ขณะเดียวกันชีวิตบนเส้นทางนี้ก็พาเราเข้าสู่ “ยุคแสวงหาครั้งที่ 2” คำถามสำคัญหลังชัยชนะในปี 2516 ก็คือ แล้วในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง เราจะแสวงหาอะไร?