“เจ๊ยุ” ยุวดี ธัญญศิริ ลิขิตฟ้าให้มาเป็นนักข่าว สู่ เจ้าแม่ทำเนียบรัฐบาล จะรอวันนกคืนรัง

จากหนังสือ "เส้นทาง...คนหนังสือพิมพ์" ตีพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

เมื่อเจ้าเเม่ทำเนียบ มีอุปสรรคถูกห้าม

เรื่องร้อนในแวดวงสื่อสารมวลชนบ้านเรา ก่อนหน้านี้ คงหนีไม่พ้น การจัดระเบียบนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล อันเป็นมูลเหตุต้นเรื่อง ที่ทำให้นักข่าว เก๋าประสบการณ์ เรียกกันว่าเป็น “เจ้าแม่ทำเนียบรัฐบาล” และคงเป็นใครอื่นไปไม่ได้ นอกจากชื่อนี้ ยุวดี ธัญญศิริ หรือ “เจ๊ยุ” อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโส แห่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

มูลเหตุที่ว่่านั้น ทำให้การทำงานตลอด 4 ทศวรรษของ “เจ๊” ในฐานะผู้สื่อข่าวภาคสนาม ไม่ราบรื่นเหมือนเคย เมื่อถูกปฏิเสธ จากเจ้าหน้าที่สำนักโฆษก ไม่อนุญาตให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ภายในทำเนียบ ให้เหตุผลว่าบัตรหมดอายุและไม่มีต้นสังกัดประจำ หากจะเข้าทำเนียบต้องแลกบัตรเข้า มูลเหตุนั้นทำให้ “เจ๊” ตัดสินใจเดินทางกลับในทันที

ผู้เขียนสอดส่องปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ ผ่านโลกออนไลน์ มีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก แม้กระทั่งนักข่าว ที่เคยทำงานอยู่ร่วมสนามกับ “เจ๊ยุ” ใครๆ ก็รู้จัก เจ๊ยุ ผ่านภาพที่ชินตา ในฐานะสื่อมวลชน ที่ปักหลักในสนามข่าว ในรั้วทำเนียบรัฐบาล ผ่านสถานการณ์ต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง หรือที่มาจากเผด็จการ

จากหนังสือ “เส้นทาง…คนหนังสือพิมพ์” ตีพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ช็อกเจ๊ยุป่วยกะทันหัน พี่น้องแห่เยี่ยมส่งกำลังใจ

ขณะที่เมื่อไม่กี่วันมานี้ ก็มีข่าวให้ช็อก สะเทือนวงการนกน้อยในไร่ส้มกันอีกครั้ง เมื่อมีรายงานข่าวว่า “เจ๊ยุ” ล้มป่วยกะทันหัน โดยอาการล่าสุด เป็นการรักษาแบบประคองสัญญาณชีพไปก่อน แต่โดยรวมอาการยังน่าเป็นห่วง มีผู้คนจากหลายแวดวงไปเยี่ยมเจ๊ และเมื่อ5 มีนาคม 2560 ซึ่งตรงกับวันนักข่าว ชั้น17 แห่ง รพ.พระมงกุฏ กลายเป็นงานรวมพลนักข่าวขนาดย่อม เพื่อมาเยี่ยมอาการของ “เจ๊” และส่งกำลังใจให้ “พี่ยักษ์” พล.อ.ศิริชัย ธัญญศิริ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม สามีของเจ๊ยุด้วย

จากหนังสือ “เส้นทาง…คนหนังสือพิมพ์” ตีพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ถอดคำสัมภาษณ์พี่ตึ๋ง นั่งคุยกับเจ๊ยุ สองนักข่าวในรั้วทำเนียบ

พี่ตึ๋ง “จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง” นักข่าวภาคสนามที่คร่ำหวอดในรั้วทำเนียบ เขียนไว้ในหนังสือ “เส้นทาง…คนหนังสือพิมพ์” ตีพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อ ปี 2559 ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ “เจ๊ยุ” ไว้อย่างน่าสนใจ ผู้เขียนจะได้อ้างอิง มาบอกเล่า เพื่อให้ได้ความเป็นมาเป็นไปมากกว่าที่ผู้เขียนรู้ เพราะ ได้มีโอกาสทำงานในสนามข่าวช่วงระยะหนึึ่งร่วมกับเจ๊ยุ เท่านั้นเอง

ย้อนความไปอีกนิด เจ๊ เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนศรีอยุธยา “เจ๊ยุ” เอ็นทรานซ์ปี2508 เป็นรุ่นแรกของคณะวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ตอนนั้นยังเป็นแผนกอิสระสื่อสารมวลชน ในคณะสังคมศาสตร์ สมัยนั้นมีคนเรียน 30-40 คน เจ๊ เรียนด้านหนังสือพิมพ์โดยตรง และธรรมศาสตร์ก็เพิ่งยกเลิกระบบตลาดวิชาและภาคค่ำ สมัยนั้นก็มีการทำหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยออกขาย เจ๊เล่าว่าพอทำเสร็จก็ไปช่วยกันยืนขายที่ปากทางท่าพระจันทร์

จากหนังสือ “เส้นทาง…คนหนังสือพิมพ์” ตีพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

เส้นทางนักข่าว ไม่ได้คิดอยากจะทำข่าว

เจ๊ เล่าอีกว่า ความจริงไม่ได้คิดหรอกว่าจะมาทำงานเป็นนักข่าว ตอนนั้นคิดว่าจะทำงานประชาสัมพันธ์มากกว่า เพราะยุคนั้นใครไปเรียนวารสารศาสตร์แล้วบอกว่าจบออกมาแล้วจะมาเป็นนักข่าว ไม่มีหรอก เพราะตอนนั้นใครจบคณะนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นนักข่าวนะ ส่วนใหญ่ไปทำงานธนาคาร ภาคธุรกิจ ส่วนราชการมีน้อยมาก

พอเจ๊เรียนปี4 ก็ไปฝึกงานกับหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ บรรณาธิการข่าวเป็นทหารอเมริกันที่รีไทร์แล้วมาเป็น บก. มีคนไทยเป็นบรรณาธิการบริหาร หลังจากฝึกงานจบเจ๊ ก็ได้ทำงานที่นี่มีเงินเดือนตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ

แถมทางบ้าน เจ๊ ก็คัดค้าน การไปทำอาชีพนักข่าว ที่บ้านยังคงถามเจ๊ว่า นี่มันอาชีพอะไร? มีแต่คนค้าน เพราะพ่อแม่อยากให้ไปรับราชการ-รัฐวิสาหกิจ แต่เจ๊ก็บอกว่า รู้สึกเฉยๆ ชอบความท้าทาย

“มันแล้วแต่ฟ้าลิขิตให้เราเป็นอะไร พี่ก็ไม่เคยคิดว่าอยากเป็นนักข่าว ตอนเรียนก็ไม่ตั้งใจ แต่ก็เอาดีได้

แล้วยิ่งเรามาเป็นนักข่าวในยุคที่เก่าก็จะไป ใหม่ก็จะมา ภาพพจน์หนังสือพิมพ์ยุคก่อน พูดก็พูดนะว่าไม่ดี

พวกผู้ใหญ่ชอบบอกว่าจะไปเป็นเหรอ นักข่าว? เป็นไอ้พวกนั่งตีนบันไดนั่นหรือ? พูดแบบนี้มา เรามันประเภทชอบความท้าทาย พอมีคนพูดว่าอาชีพนั่งตีนบันได ก็ลองดูว่าเป็นอย่างไรวะอาชีพนี้”

เจ๊ยุ เข้ามาเป็นนักข่าวตั้งแต่ปี 2511 นับถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 49 ปีแล้ว เจ๊ บอกว่า อาชีพนี้เหมือนเราได้รู้อะไรก่อนคนอื่น เราเป็นคนตรงไปตรงมา อยากให้ประชาชนรู้อะไรเท่ากับเรา 

หลังจากนั้นหนนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ก็ซื้อกิจการของหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ ทำให้เจ๊ยุกลายมาอยู่ในสังกัดใหม่เป็นเวลาหลายสิบปี กระทั่งจนถึงทุกวันนี้แม้จะอยู่ในวัยเกษียณแล้วก็ตาม

“นักข่าวเป็นงานหนัก ต้องทำงานแข่งกับเวลา สมัยก่อนบ้านเมืองก็ไม่ได้สงบสุข มีทั้งสงครามในเพื่อนบ้าน เหตุการณ์ในประเทศก็มีเยอะ” และนี่ก็เป็นทางเริ่มต้นที่ทำให้เจ๊ต้องเข้าไปเป็นนักข่าวสายทหารด้วย ต้องยอมรับว่าเจ๊ยุเป็นนักข่าวมาแล้วเกือบทุกสาย แม้แต่สายเศรษฐกิจ ก็เคยทำมาแล้ว

ชีวิตคนข่าวทำเนียบสมัยเจ๊

ต่อข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำงานข่าวในทำเนียบรัฐบาล เจ๊ยุ เล่าให้ พี่ตึ๋ง ผู้สัมภาษณ์ ฟังว่า

“เมื่อก่อนทำเนียบรัฐบาลไม่ได้เข้าง่ายเหมือนตอนนี้ เพราะเจ้าหน้าที่มากันพื้นที่ไม่ให้นักข่าวเข้า นักข่าวแค่มารอทำข่าวประชุมคณะรัฐมนตรี มายืนรอริมรั้วทำเนียบ เจ้าหน้าที่จะแจ้งว่า วันไหนมีแถลงข่าวจะเรียกให้เข้ามาทำงานที่ตึกนารีสโมสร ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าก็เข้าไม่ได้ หรือบางครั้งก็จะนำกระดาษข่าวมติครม. ไปแจกที่ริมรั้ว เมื่อรับแล้วก็กลับกัน” 

“ดังนั้นเมื่อก่อนทำเนียบอย่าสะเออะมาเชียว ไม่เหมือนทุกวันนี้สบายขึ้น หลังจากนั้นหม่ออมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี (2518-2519) จึงเปิดให้นักข่าวเข้ามาทำเนียบรัฐบาลได้” 

บทพิสูจน์ ความเป็นเจ๊ ของพี่น้องสื่อมวลชนด้วยกัน ตลอดระยะเวลา 4 ทศวรรษ ในวงการ ไม่มีใครปฏิเสธว่าเจ๊เป็นนักข่าวที่พี่น้องเคารพ และรัก ในฐานะผู้อาวุโส ในฐานะผู้เดินนำในการฟาดฟัน ตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจ และ วันเวลา ก็ทำหน้าที่ของมัน

บนถนนหนทางแห่งไร่ส้มนี้ ชื่อของ “ยุวดี ธัญญศิริ” ทำให้ผู้มีอำนาจสะท้านสะเทือนมาแล้วนักต่อนัก หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่า เจ๊จะกลับมาเป็นนกน้อยโบยบินร่วมกับนกตัวอื่นๆอีกครั้งโดยเร็ว