ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : เลือกตั้งเพื่อเลิกนโยบายที่ไม่ได้เรื่องของรัฐทหาร

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ประเพณีการปกครองของไทยถือว่าการเลือกตั้งเป็นที่มาของนายกรัฐมนตรี

ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองไหนจึงหมายถึงโอกาสที่ผู้นำพรรคนั้นจะเป็นนายกฯ เสมอ ถึงแม้จะมีความพยายามอธิบายว่านายกฯ หมายถึงคนที่รวมเสียงข้างมากได้สำเร็จ ต่อให้บุคคลผู้นั้นอาจไม่ได้มาจากพรรคอันดับหนึ่งก็ตาม

ในแง่ธรรมเนียมทางการเมือง นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากพรรคอันดับหนึ่งจะถูกโจมตีว่าเป็นพวกที่แพ้เลือกตั้งทันทีที่มีอำนาจ ทั้งที่การที่พรรคได้ ส.ส.เข้าสภาเป็นอันดับสองหรือสามเป็นคนละเรื่องกับการ “แพ้เลือกตั้ง” ซึ่งจริงๆ หมายถึงผู้สมัคร ส.ส.ที่ประชาชนให้ความไว้วางใจน้อยกว่าผู้สมัครรายอื่นจนไม่ได้เข้าสภา

ยิ่งการเลือกตั้งใกล้เข้ามา กระแสว่าประชาชนนิยมใครและพรรคการเมืองไหนย่อมเป็นเรื่องใหญ่ไปด้วย เพราะหมายถึงโอกาสที่บุคคลนั้นและพรรคนั้นจะบริหารประเทศ

เช่นเดียวกับหมายถึงทิศทางของประเทศว่าจะเหมือนหรือต่างจากยุคสมัยกองทัพใช้กระบอกปืนเหยียบย่ำเสียงประชาชนมาแล้วห้าปี ในการเลือกตั้งที่รัฐบาลทหารยื้อจนยื้อต่อไปอีกไม่ไหวในปี 2562

หากเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ประเทศไทยจะไม่เป็นแบบที่ทหารปกครองประเทศมาแล้วห้าปีแน่ๆ

ส่วนจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหนก็สุดแท้แต่ว่าพรรคไหนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ในทางตรงกันข้าม หากนายกฯ ไม่ได้มาจากเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ โอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นแบบยุค คสช.ต่อไปอีกก็มากจนน่ากลัว

กระแสสังคมเห็นตรงกันว่าเผด็จการทหารอยู่ในสภาวะ “รัฐบาลขาลง” จนไม่มีข่าวเชิงบวกเกี่ยวกับรัฐบาลมากว่าหนึ่งปี, รายการที่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ยัดเยียดประชาชนมีเรตติ้งต่ำจนเป็นตัวตลก ส่วนทางแก้แบบคุณประยุทธ์ที่ปรับคณะรัฐมนตรีปลายปี 2560 ก็เกิดเรื่องเรื่องนาฬิกาหรูซึ่งทำให้คนเบื่อรัฐบาลกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจความเห็นของสวนดุสิตโพลล่าสุดกลับบอกว่าคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ในดวงใจประชาชนมากที่สุด เพราะกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม 1,132 คน มีถึง 24.72% ที่อยากให้คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป

ตามที่สวนดุสิตโพลระบุ คะแนนนิยมของคุณประยุทธ์สูงกว่าคุณอภิสิทธิ์ซึ่งมาเป็นอันดับสองที่ 17.57% รวมทั้งมากกว่าคุณหญิงสุดารัตน์, คุณธนาธร และคุณทักษิณผู้ไม่ได้อยู่ในประเทศมาแล้วเกือบสิบปี

แน่นอนว่าคนไทยทุกวันนี้มองโพลว่าเป็นเครื่องมือเพื่ออวยรัฐบาลเผด็จการ เพราะในยุคสมัยที่ทหารตั้งอธิการบดีหรือผู้บริหารโพลไปดำรงตำแหน่งต่างๆ การทำโพลอย่างตรงไปตรงมานั้นสร้างความเสี่ยงแก่คนทำโพลแน่ๆ ไม่ว่าจะจากสถาบันการศึกษาต้นสังกัดหรือถูกนายพลเรียกคุย

ผลการสำรวจความเห็นของสวนดุสิตโพลเรื่องนี้ตรงกับการสำรวจของโพลอื่นด้วยเช่นกัน

ในปี 2561 นิด้าโพลทำการสำรวจความเห็นประชาชนราว 1,250 คนในเดือนมกราคม, เดือนพฤษภาคม และเดือนกรกฎาคม ผลที่ได้คือ พล.อ.ประยุทธ์เป็นบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกฯ ยิ่งกว่าผู้นำทุกคน

อย่างไรก็ตาม การสำรวจของนิด้าโพลแต่ละครั้งพบว่าประชาชนต้องการให้คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ลดลงเรื่อยๆ จาก 38.64% เป็น 32.24% และปิดท้ายที่ 31.26% ตรงข้ามกับคะแนนนิยมต่อคุณหญิงสุดารัตน์และคุณอภิสิทธิ์ที่มีขึ้นลงตามสถานการณ์

สำนักโพลอีกแห่งอย่างกรุงเทพโพลล์นั้นไม่ได้สำรวจเรื่องความต้องการให้คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ตรงๆ แต่ผลสำรวจความพอใจต่อรัฐบาลคุณประยุทธ์ตลอดสี่ปีก็ได้ข้อสรุปคล้ายนิด้าโพล

พูดสั้นๆ การสำรวจกลุ่มตัวอย่างราว 1,200 คน พบว่าประชาชนไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลทหารสูงขึ้นเรื่อยๆ ราวกับการอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารประเทศอย่างยืดเยื้อยิ่งทำให้สังคมแขยงและเอือมระอา

ตามที่ผลสำรวจปรากฏ ประชาชนให้คะแนนรัฐบาลทหารปีแรก 5.94 ก่อนขยับเป็น 6.19 ในปีที่สอง แต่ลดเหลือ 5.27 ในปีที่สาม แล้วตกต่ำไปที่ 5.06 จากคะแนนเต็ม 10

สำหรับคุณประยุทธ์เองนั้นได้คะแนน 7.11 ในปีแรก แล้วลดเหลือแค่ 6.40 ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ในกรณีกรุงเทพโพลล์ ความพอใจที่ประชาชนมีต่อการทำงานของรัฐบาลเดินหน้าสู่ความตกต่ำจนอีกนิดเดียวก็เกือบสอบตก ส่วนความพอใจต่อคุณประยุทธ์ก็เดินหน้าสู่ทิศทางขาลงเกือบจะตลอดสี่ปี

แม้การทำโพลภายใต้รัฐบาลทหารจะถูกมองว่าไม่น่าเชื่อถือเมื่อเทียบกับโพลในสังคมประชาธิปไตย การที่ผลสำรวจของสามสำนักตรงกันก็ชี้ว่าเป็นไปได้ที่คุณประยุทธ์จะคะแนนนิยมสูงกว่าคนอื่นจริงๆ ต่อให้ความไม่พอใจของประชาชนต่อคุณประยุทธ์จะเพิ่มขึ้นไม่หยุดก็ตาม

หนึ่งในยุทธวิธีที่คุณประยุทธ์ใช้จรรโลงความนิยมท่ามกลางการเติบโตของความเบื่อหน่ายคือสกัดไม่ให้คู่แข่งเข้าสู่สนามเลือกตั้งโดยเท่าเทียม และในเมื่อที่ผ่านมาคุณประยุทธ์รักษาคะแนนนิยมเหนือคุณอภิสิทธิ์และคุณหญิงสุดารัตน์ด้วยวิธีนี้ การเลือกตั้งปี 2562 ก็จะเกิดขึ้นบนการสกัดคู่แข่งทุกวิถีทางแบบนี้เหมือนกัน

เป็นเวลาสี่ปีแล้วที่คนทั้งโลกวิพากษ์รัฐบาลเรื่องห้ามพรรคทำกิจกรรมและห้ามประชาชนชุมนุม และถึงแม้คุณประยุทธ์กับกองหนุนในพรรคเฉพาะกิจจะอ้างว่าห้ามเพื่อรักษาความสงบ แต่เป้าหมายที่แท้ของเรื่องนี้คือการสร้างกำแพงแบ่งแยกระหว่างประชาชนกับบุคคลและพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างสมบูรณ์

ถ้าประชาชนรวมตัวกันได้ โอกาสที่พรรคการเมืองและประชาชนจะสื่อสารถึงกันและกันโดยตรงเรื่องความล้มเหลวของรัฐบาลนี้ก็จะมีมากขึ้น แต่ถ้าประชาชนถูกห้ามรวมตัว การสื่อสารระหว่างพรรคกับประชาชนก็จะทำได้แค่ผ่านสื่อซึ่งถูกรัฐบาลแทรกแซงตั้งแต่สื่อหลักจนถึงสื่อออนไลน์

ทั้งที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน ไม่มีใครในรัฐบาลนี้ที่พูดเรื่องเลิกคุมสื่อ, หยุดบังคับสื่อเอกชนถ่ายทอดรายการรัฐบาลทหาร, หยุดใช้สื่อรัฐโจมตีฝ่ายตรงข้าม, เลิกเอาพลโทโฆษกรัฐบาลไปรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์

รวมทั้งยุติการใช้ภาษีประชาชนทำเพจปั้นข่าวหรือปั่นโซเชียลอวยรัฐบาล

ด้วยยุทธการเลือกตั้งแบบนี้ คุณประยุทธ์กล่อมเกลาให้ประชาชนเข้าสู่คูหาลงคะแนนโดยเชื่อว่ารัฐบาลนี้ทำทุกอย่างดีไปหมด

ส่วนมุมมองว่ารัฐกดค่าแรง, บัตรคนจนแก้จนไม่ได้, เพิ่มงบฯ บัตรทองดีกว่าซื้อรถถัง, ใครได้ประโยชน์จากงบฯ ขาดดุล 2 ล้านล้าน, ไม่ช่วยสินค้าเกษตร ฯลฯ ถูกทำให้เข้าถึงประชาชนไม่ได้เลย

ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่รัฐบาลมุ่งทำในการเลือกตั้งครั้งนี้คือทำให้การเลือกตั้งไม่มีการพูดเรื่องนโยบาย หนึ่งก็คือ เพราะการต่อสู้ด้วยนโยบายทำให้พรรคการเมืองมีพื้นที่ในการวิจารณ์ความล้มเหลวของรัฐบาลนี้มากขึ้น และสองก็คือ คุณประยุทธ์ไม่ใช่ผู้นำที่มีความสามารถจะแสดงความเห็นที่ลึกซึ้งเรื่องนโยบาย

ตรงข้ามกับพฤติกรรมเลือกตั้งหลังปี 2540 ที่การเลือกตั้งคือการได้มาซึ่งนโยบายและนายกฯ ที่จะทำให้นโยบายนั้นๆ เกิดขึ้น ยุทธวิธีของรัฐบาลทหารสู่อำนาจรัฐหลังเลือกตั้งคือการทำให้ประชาชนเลือกตั้งโดยคิดแต่เรื่องบุคคลล้วนๆ จนง่ายที่จะได้เป็นรัฐบาลต่อโดยวิธีให้คุณประยุทธ์ได้เปรียบทางการเมืองข้างเดียว

ในแง่นี้แล้ว สิ่งที่เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ต้องทำในการเลือกตั้ง 2562 มีมากกว่าการเลือกชูใครเป็นผู้นำประเทศ เพราะไม่ว่าจะเป็นคุณอภิสิทธิ์, คุณหญิงสุดารัตน์, คุณชัชชาติ ฯลฯ ล้วนเสียเปรียบ พล.อ.ประยุทธ์ที่หาเสียงข้างเดียวมาตลอดห้าปี

สำหรับพรรคการเมืองใหญ่ของประเทศทั้งสองพรรค โจทย์ของการเลือกตั้งครั้งนี้คือการนำเสนอนโยบายที่แข็งแกร่งในการนำประเทศออกไปจากความถดถอยที่รัฐบาลทหารสร้างขึ้นหลังปี 2557 โดยเฉพาะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ, กระจายรายได้สู่ประชาชน และสร้างความเป็นธรรมที่จับต้องได้จริงๆ ในสังคม

มีแต่การต่อสู้ทางนโยบายเท่านั้นที่พรรคการเมืองจะมีชัยจากการเอาเปรียบที่ถูกอำนาจรัฐย่ำยีมาตลอดห้าปี

เพราะการต่อสู้ทางนโยบายคือการทำให้รัฐบาลนี้ต้องสู้ในพื้นที่สาธารณะ และตลอดสมัยของรัฐบาลนี้ก็เห็นแล้วว่าการถกเถียงเรื่องนโยบายสาธารณะอย่างเปิดเผยคือจุดอ่อนของอำนาจรัฐปัจจุบัน

เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ต้องใช้การเลือกตั้งครั้งนี้เปลี่ยนประเทศจากนโยบายที่ไม่ได้เรื่องตลอดห้าปี