ตั้ง “อัศวิน” นั่งผู้ว่าฯ ปลดเด็ดขาด “ชายหมู” และข้อเสนอ “อดีต ปธ.ส.ว.”

ข่าวสารการเมืองสงบลง ในห้วงเวลาแห่งความโศกเศร้าของคนไทย อันเนื่องมาจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม

ความสนใจของคนไทยมุ่งไปที่พระราชพิธีพระบรมศพ ซึ่งนอกจากพิธีหลวงในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว สำนักพระราชวังยังเปิดให้ประชาชนลงนามแสดงความอาลัย และถวายบังคมเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ที่ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง

สนามหลวงกลายเป็นที่รวมตัวของคนไทยที่ไปรอเข้าศาลาสหทัยฯ ซึ่งแต่ละวัน แถวยาวเป็นกิโลเมตรและหลายกิโลเมตร

มีหน่วยงานและภาคเอกชน นำอาหาร น้ำไปแจกเพื่ออำนวยความสะดวก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีประชาชนหลั่งไหลมาจำนวนมาก หน่วยงานสำคัญที่จะต้องเข้ามามีบทบาทร่วมดูแล คือ กทม. อยู่ในสภาพที่ผู้ว่าราชการ กทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร โดนพักงาน

ทำให้การประสานงานไม่คล่องตัว และยังขาดคนลงนามในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ กทม. วงเงิน 7 หมื่นล้านบาทเศษ

สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา 44 แต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ กทม. ในทีมของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ขึ้นเป็นผู้ว่าฯ กทม. เต็มตัว และให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พ้นตำแหน่งไป

 

การแต่งตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เป็นไปตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2559 เรื่อง การให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ้นจากตําแหน่ง และการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ระบุเหตุผลว่า โดยที่มีความจําเป็นต้องเร่งจัดการบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้เป็นที่เรียบร้อย เกิดความต่อเนื่อง สามารถประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคประชาชนอย่างมีเอกภาพ

โดยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีอํานาจการตัดสินใจแก้ปัญหาหรือดําเนินการต่างๆ และสามารถบริหารงบประมาณ บังคับบัญชาบุคลากรตลอดจนบริหารงานบุคคลได้โดยเด็ดขาดตามกฎหมาย สร้างความเชื่อมั่นแก่ข้าราชการกรุงเทพมหานครและประชาชน

โดยเฉพาะในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย การรักษาความสะอาด การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การแก้ปัญหาการจราจร การพัฒนาชุมชน การอํานวยความสะดวกแก่ประชาชนในช่วงเวลาที่มีงานพิธีสําคัญ

และการตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนในขณะนี้ หากมิได้รับการแก้ไขโดยเร็ว จะเกิดเป็นความเสียหายต่อราชการแผ่นดิน

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

จึงมีคําสั่ง ให้ ข้อ 1 ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และรองผู้ว่าฯ พ้นจากตําแหน่ง และ ข้อ 2 ให้ พล.ต.อ.อัศวิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

และให้มีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เกินสี่คนตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้ง จนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคําสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นประการอื่น

การแต่งตั้งและถอดถอนรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้กระทําได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี

ข้อ 3 ภายใต้บังคับมาตรา 49 (3) และมาตรา 52 นายกรัฐมนตรีอาจสั่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครออกจากตําแหน่งได้เมื่อมีกรณีแสดงให้เห็นว่า ได้กระทําการอันเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตําแหน่งหรือปฏิบัติการหรือละเลยไม่ปฏิบัติการอันควรปฏิบัติในลักษณะที่เห็นได้ว่าจะเป็นเหตุให้เสียหายอย่างร้ายแรงแก่กรุงเทพมหานครหรือแก่ราชการโดยส่วนรวมหรือแก่การรักษาความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชน

ข้อ 4 นายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคําสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกคําสั่งนี้ได้

ข้อ 5 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 18 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 ลงชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

และต่อมา พล.ต.อ.อัศวิน เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามหนังสือแต่งตั้งรองผู้ว่าฯ กทม. แล้ว ประกอบด้วย

1. พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 (ผบช.ภ.1)

2. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม อดีตรองปลัด กทม.

3. นางวรรณวิไล พรหมลักขโณ อดีตรองปลัด กทม.

และ 4. นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักการจราจรขนส่ง (สจส.) กทม.

ทั้งนี้ เดิมมีชื่อของ พล.อ.จีระศักดิ์ ชมประสพ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็น 1 ในทีมรองผู้ว่าฯ กทม. ด้วย แต่ได้ขอเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจของ กทม.

เท่ากับว่า กทม. ในยุคของ คสช. มีผู้บริหารมาจากการแต่งตั้งล้วนๆ ทั้งผู้ว่าฯ กทม. และสภา กทม.

ต้องติดตามข่าวสารกันต่อไปว่า กทม. ยุคนี้จะสะสางปัญหาของ กทม. ที่ติดๆ ขัดๆ มาระยะหนึ่งได้แค่ไหนเพียงไร

 

ข่าวสารการเมืองอื่นๆ ในระยะนี้ ยังได้แก่ การเดินหน้าต่อไปตามโรดแม็ปของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่จะต้องนำทูลเกล้าฯ ในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ เรื่องของคดีจำนำข้าว ที่มีการส่งคำสั่งทางปกครองของกระทรวงการคลังให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดใช้ค่าเสียหายจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์ในเดือนพฤศจิกายนนี้

ยังมีข่าว นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา เสนอเมื่อ 24 ตุลาคม ว่า วันนี้คนไทยทั้งชาติกำลังออกมาแสดงพลังสามัคคี มีจิตใจเดียวกัน รักชาติ รักสถาบันบ้านเมือง เชื่อว่าคนส่วนใหญ่อยากให้ประเทศเดินหน้าผ่านพ้นไปแบบนี้

รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องรีบเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ในขณะที่ทุกคนกำลังสามัคคีกัน ต้องทำเรื่องปรองดองโดยด่วน จะช้าไม่ได้ ความสมานฉันท์ต้องเริ่มที่ความยุติธรรมก่อน

รัฐบาลจะต้องรวดเร็ว เรื่องไหนไม่มีความเป็นธรรม เอาออกไปก่อน เริ่มต้นก้าวไปสู่ความปรองดองไปพร้อมกันเลย ไม่มีโอกาสไหนที่เป็นบรรยากาศดีเอื้อกว่านี้อีกแล้ว ที่ทุกคนมีความรู้สึกแบบเดียวกัน มีความจงรักภักดี รักใคร่ปรองดอง ถ้ารัฐบาลชักช้า เกรงว่าโอกาสแบบนี้จะหายไป

นับเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจอย่างยิ่ง