หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘สิ่งที่มีอยู่จริง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กวางวัยรุ่น เมื่อถึงเวลา พวกมันต้องเริ่มห่างจากแม่ เพื่อฝึกฝนการดำเนินชีวิตด้วยตัวเอง

หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ

‘สิ่งที่มีอยู่จริง’

 

พิธีส่งลุงเหมือน อดีตเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเสร็จสิ้น

ควันสีดำลอบพ้นปล่องเหนือเมรุเป็นเส้นยาว เสียงรถยนต์ เสียงมอเตอร์ไซค์ดังขึ้น ก่อนทยอยเดินทางออกจากลานวัด

ผมยืนรวมกลุ่มอยู่กับลุงศรี ลุงเขียว ลุงสังวาลย์ และสังวร

นอกจากสังวรแล้ว คนอื่นเกษียนจากการเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากันแล้ว

ส่วนสังวร เหลือเวลาทำงานอีกหลายปี

ในบรรยากาศแห่งความอาลัย เราหัวเราะกับคำพูดลุงศรีที่บอกว่า “นัดกับลุงเหมือนไว้อีก 30 ปีเจอกัน”

“โห! 30 ปีเลยเหรอลุง” สังวร ที่บัดนี้เป็นหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่า มีลูกชายสองคน และเมียกำลังเตรียมตัวลงสมัครคัดเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน หัวเราะ

“เออ เอ็งไม่แก่บ้างให้รู้ไปวะ” ลุงศรี แม้ว่าความทรงจำต่างๆ จะเลอะเลือนไม่แจ่มชัดแล้ว แต่ยังโต้ตอบสังวรได้

“แวะไปเยี่ยมผมที่หน่วยบ้างนะครับ” สังวรพูดตอนบอกลา

ผมกับเพื่อนๆ ที่มาจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าอีกหลายคนจะแวะซื้อเสบียงในเมือง และกลับเข้าสถานี ลุงศรี ลุงเขียว ลุงสังวาลย์ กลับบ้าน พวกเขาอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน

เป็นหมู่บ้านซึ่งได้รับพื้นที่ทดแทนจากการที่พวกเขาต้องโยกย้ายออกจากป่า ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

สังวรเดินทางกลับหน่วยพิทักษ์ป่าที่เขารับผิดชอบ

พรุ่งนี้ เขาและลูกทีมจะออกลาดตระเวนตามปกติ

“แล้วจะเดินไปหาครับ” ผมพูดยิ้มๆ

จากแคมป์ที่ผมกำลังช่วยนักวิจัยเก็บข้อมูลนกเงือกคอแดง หากเดินตัดลงทางหน้าผา จะมาถึงหน่วยสังวรได้ ใช้เวลาเดินราวสองวัน

“ติดต่อกันทางวิทยุบ้างครับ” สังวรพูดก่อนรถเคลื่อน ผมพยักหน้ารับ

แคมป์บนสันเขา วิทยุสื่อสารติดต่อกับหน่วยเขาได้

ผมโบกมือให้สังวร

ผู้ชายที่เกิดมาเป็นเช่นไรก็เป็นเช่นนั้นมาโดยไม่เปลี่ยนแปลง

 

ตีสี่

ปลายฤดูหนาว อุณหภูมิลดต่ำไม่ถึง 10 องศาเซลเซียส

ผมจำใจต้องลุกขึ้นพาตัวเองออกจากถุงนอน เพื่อพบกับอากาศเย็นเฉียบ ตื่นเพราะเสียงเรียก

“ตีสี่แล้วครับ”

ทุกวันเป็นเช่นนี้มากว่าสองสัปดาห์แล้ว

สังวร ชายวัยรุ่น วัยยังไม่ถึง 20 ยืนหน้าบ้าน เป้สะพายหลัง ถือไฟฉายอันใหญ่ไว้ในมือ

เขารับขาตั้งกล้องจากผม และหันหลังกลับเดินดุ่มๆ ผมเดินตาม

จากบ้านพัก เราเดินลงลำห้วย ข้ามน้ำ และลัดเลาะไปตามด่านเล็กๆ ที่ขนาบด้วยป่าเต็งรังในช่วงแรก และเป็นป่าเบญจพรรณเมื่อเดินไปได้สัก 40 นาที

จุดหมายคือ ซุ้มบังไพร ที่เราทำไว้เพื่อบันทึกภาพนกยูง

เราใช้เวลาเดินราวๆ หนึ่งชั่วโมงครึ่ง

ก่อนถึง เราข้ามห้วยอีกครั้ง ท้องฟ้าเริ่มสว่าง

ผมเข้าซุ้มบังไพร สังวรส่งเป้ให้ ในเป้มีกล่องข้าว ปริมาณพอที่ผมจะกินได้สองมื้อ

“เจอกันตอนค่ำครับ” ส่งของเสร็จ เขาเดินกลับหน่วย และจะมารับผมตอนค่ำ

อยากได้ภาพนกยูงอย่างที่ตั้งใจ ไม่ง่ายดาย

การเข้าซุ้มก่อนสว่างและออกตอนค่ำ คือเรื่องจำเป็น

“นกยูงมันระวังภัยดี ตกใจง่าย ยิ่งเราไปอยู่แถวที่มันจะรำแพนอวดตัวเมีย ถ้าทำให้พวกมันตกใจ ไม่ได้หรอก ต้องระวังให้ดี” ลุงสังวาลย์สอน

ที่ผ่านมา ผมได้รูปค่อนข้างดี นกยูงตัวผู้หางยาว ออกมารำแพนเกือบตลอดวัน

“อยู่ในซุ้ม อย่าเผลอหลับ บางทีสัตว์เดินมาเงียบๆ จะไม่เห็น”

ลุงสังวาลย์พูดเสียงเรียบๆ สายตามองลูกชาย

ผมกับสังวรฟังอย่างตั้งใจ

สังวรเกิดในป่า เมื่อย้ายออกมาอยู่ข้างนอก และพ่อเข้าทำงานในเขตแล้ว ทุกครั้งที่โรงเรียนปิด เขาจะเข้ามาอยู่กับพ่อ

จนกระทั่งจบ ม.3 เขาเข้าเป็นคนงานในป่า ทำงานครบ 5 ปี สังวรไปสอบบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า หลังบรรจุ การทำงานอย่างเอาจริงของเขาทำให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ และหัวหน้าว่าเป็นพิทักษ์ป่าผู้เอาจริงไม่เป็นรองใคร

ครั้งที่ไปเฝ้าถ่ายนกยูง นอกจากบทเรียนที่เหล่าพิทักษ์ป่าอาวุโสสอนแล้ว สังวรนี่แหละช่วยทำให้การเริ่มต้นของผมเป็นไปด้วยดี

เราไม่พบกันนาน ผมได้ยินข่าวการเข้าจับกุม รวมทั้งการปะทะกับผู้ต้องหา ขณะลาดตระเวนของสังวรกับลูกน้องบ่อยๆ

ปีก่อน ผมพบกับเขาที่สำนักงานเขต หลังไม่ได้พบกันมานาน

เขานำรายงานการปะทะมาให้หัวหน้า

“เมื่อวานยิงกันใหญ่เลยครับ” เขาเล่า หลังถามความเป็นไปกันแล้ว

“เจ้าคนนั้นเกือบไป มันเดินหน้า ลูกปืนเฉียดไปนิดเดียว” เขาชี้ไปที่ลูกน้องที่ยืนยิ้มอยู่ข้างรถ

“เอารายงานไปให้หัวหน้าก่อนครับ” สังวรเดินขึ้นบันได

ผมพยักหน้าอย่างให้กำลังใจ

เขาเข้าไปคุยกับหัวหน้า รับคำแนะนำและแผนงานเพิ่มเติม

“พรุ่งนี้จะเข้าไปตามอีกครับ” ผมเห็นสายตาอันมุ่งมั่น

ผมมองตาม รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อสีขาวเก่าๆ แล่นคดเคี้ยวไปตามทาง

ในป่ามีคนแบบสังวรอีกมากมาย

คนที่รู้ดีว่า ความรับผิดชอบในหน้าที่ จำเป็น

แต่สิ่งที่พวกเขามีมากกว่าความรับผิดชอบ มันอยู่ข้างใน

และเป็นสิ่งที่คนอื่นๆ มองเห็น

 

เราต่างรู้ดีว่า

ไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าใดหรอก ที่จะทำอะไร หรือ “เป็น” อะไรอย่างยาวนาน

บนหนทางขรุขระ ทุรกันดาร

อาจมีสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่ข้างใน

เป็นสิ่งที่นำพากายให้ยืนหยัดอย่างมั่นคง

สิ่งนั้น “มีอยู่จริง”

ทว่าตัวเราเองมักจะมองไม่เห็น