ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กันยายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์ |
เผยแพร่ |
ไพบูลย์ นิติตะวัน เล่าถึงเจตนาการตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปว่า ย้อนไป 9 สิงหาคม 2559 ต้องการให้มีสภาประชาชนเกิดขึ้นแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นกลไกและเวทีของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งนี่จะเป็นประชาธิปไตยแบบทางตรง ไม่ใช่รอให้ประชาชนมีอำนาจแค่วันหย่อนบัตรเลือกตั้งวันเดียว และใช้ผู้แทนฯ ไปว่ากันเองอย่างที่แล้วๆ มา”
“ผมเห็นว่าประชาชนต้องมีบทบาทตลอดเวลา พรรคการเมืองต้องเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ไม่ใช่องค์กรที่แสวงหาประโยชน์แก่พรรคพวกอย่างในระบบเก่า เราจะไม่เน้นสัญญาว่าจะให้ หรือใช้วาทกรรมฝันหวาน แต่เราจะทำให้เป็นรูปธรรม เพราะที่ผ่านมาระบบเก่ามักใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการเข้าไปหาผลประโยชน์และอำนาจ แต่เราจะขอเป็นเครื่องมือของประชาชน”
: สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แน่วแน่ ไม่แปรเปลี่ยน
ประเด็นนี้ เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากเราประกาศตั้งพรรคก็มีสื่อมวลชนมาถามว่าจะสนับสนุนใคร เราก็บอกว่าเรามีนโยบายที่จะสนับสนุน “คนดี” เข้ามาสู่การเมือง เราเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเพราะว่าเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ สุจริตและมีความสามารถ
จากวันนั้นถึงวันนี้ 2 ปีผ่านมา ผมก็เห็นว่าท่านไม่ได้เปลี่ยนอะไร ท่านยังคงซื่อสัตย์สุจริตมีความสามารถดูแลประเทศในวิถีทางที่อาจจะถูกใจหรือไม่ถูกใจใครไม่รู้ แต่ในสายตาของเราดูแล้วเห็นว่าท่านสามารถดูแลประเทศได้ดี เราก็ยังยืนยันคำตอบนี้อยู่
ถ้าเรามี ส.ส.เข้าไปในสภา เราจะยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์แน่นอน ซึ่งท่านไม่มีข้อติฉินหรือข้อครหาในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น และยังมีความมุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมือง
เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ แล้ว ผมเห็นว่าท่านดีที่สุดสำหรับประเทศชาติ พรรคเราจะไม่เป็นอีแอบ ไม่กั๊ก พูดอย่างไร ก็ยืนยันทำอย่างนั้น 2 ปีที่ผ่านมาเราไม่เคยเปลี่ยนแปลง
เราไม่ได้ต้องการ พล.อ.ประยุทธ์เพราะความนิยม แต่เราเลือกเพราะว่าสถานการณ์บ้านเมืองต้องให้ท่านมาทำหน้าที่ต่อ
: คิดว่าพรรคเราจะมี ส.ส.มาก-น้อยหรือเป็นตัวแปรทางการเมืองได้?
ผมมองว่าการประเมินตัวเลขจำนวนที่นั่ง ส.ส. เป็นสิ่งที่ทำให้พรรคการเมืองไปสนใจ อยากได้ อยากมี จนเกิดการแสวงหาตำแหน่ง ทำให้เกิดการลงทุน เพื่อให้ได้เก้าอี้ ส.ส.กลายเป็นตั้งพรรคการเมืองเสมือนการลงทุนบริษัท เมื่อตั้งเป้ามีตัวเลข ก็ต้องตอบแทนนายทุน มันเป็นที่มาแห่งความล้มเหลวของการเมือง ดังนั้น เราจึงเริ่มต้นจากหลักการที่ว่าไม่เน้นเป้าหมายว่าจะได้เสียงเท่าไหร่ มันสำคัญน้อยกว่าการที่เราจะเริ่มต้นทำงานให้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างไร
เราตั้งเป้าจะให้มีสภาประชาชนปฏิรูป ครบทั้ง 77 จังหวัด ผลักดันให้มีการทำเพื่อประชาชนภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นเป้าหมายที่เราตั้งได้ จำนวนเก้าอี้ ส.ส.ที่ตั้งกันไปเป็นเรื่องหลักลอยทั้งสิ้น เรายังไม่รู้เลยว่าประชาชนแต่ละคนจะตัดสินอย่างไร แล้วกติกาใหม่เป็นบัตรใบเดียวด้วย กลายเป็นว่ายังไม่ทันไรก็เริ่มคิดโควต้าเริ่มหาผลประโยชน์แล้ว มันจะนำไปสู่การคิดต่อไปว่าเราจะเอากระทรวงอะไรดีถ้าได้เก้าอี้เท่านี้ เป็นความคิดที่เอาแต่ผลประโยชน์ เป็นสิ่งที่ระบบเก่าชอบทำ เราขอปฏิเสธเรื่องนี้ มันจะกลายเป็นวัฏจักร
ไม่ว่าประชาชนจะให้เสียงเรามาเท่าไหร่ เราก็ทำงานได้แล้ว ไม่ต้องรอหลังเลือกตั้ง เราสามารถทำงานได้เลยตั้งแต่ตอนนี้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะได้เท่าไหร่เราก็พอใจ
แล้วก็เป็นไปไม่ได้แน่ที่เราจะไม่ได้ที่นั่งเลย เพราะว่ามีประชาชนที่เห็นตรงกับเราจำนวนมาก ซึ่งเขาเบื่อหน่ายการเมืองแบบเก่าๆ แต่ถ้าจะให้ผมมาพูดว่าจะได้เท่านั้นเท่านี้มันก็จะขัดกับหลักศาสนาพุทธ มีความโลภ อยากได้ อยากมี ผมเชื่อว่าจะได้ “ส.ส.จำนวนพอสมควร” ไปนั่งในสภาแน่นอน
ส่วนพรรคจะซ้ำทางพรรคอื่นที่มีจุดขายชู พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรา เพราะเราไม่ได้เป็นนอมินีของใคร เราไม่ใช่พรรคของทหาร แต่เราคือพรรคที่เป็นเครื่องมือของประชาชน
: มองอย่างไรกับปรากฏการณ์ทักษิณ ชินวัตร ที่ยังมั่นใจเพื่อไทย-อนาคตใหม่ 260+40
ผมมองว่าคำพูดของนักการเมืองทุกพรรคแต่ละคนถ้าเราไปเอามาหมดก็ล้วนแต่จะพูดว่าตัวเองจะได้เยอะเท่านั้นเท่านี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง สงสัยสภาต้องมีเก้าอี้ ส.ส.มากกว่า 2,000 ที่นั่ง แต่ที่แน่ๆ พล.อ.ประยุทธ์มี 250 อันนั้นผมก็ว่าจริง ส.ส.พรรคไหนจะได้เท่าไหร่เป็นเรื่องที่จะต้องจับตาดูกันต่อไป
เรื่องที่จะบอกว่าใครจะถล่มทลายมันก็พูดกันทุกฝ่าย
: ลองสวมบทเป็นนักวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ มองว่าต้องเร่งเครื่องเรื่องอะไร?
ผมมองว่าภาพรวมถือว่าผ่าน แต่มนุษย์ปุถุชนธรรมดาก็ต้องมีข้อที่ต้องปรับปรุง การจะหวังอะไรที่สมบูรณ์แบบ 100% เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามบอกสังคมมาตลอดคือ ไม่ว่าจะยังไงก็แล้วแต่ เศรษฐกิจความอยู่ดีกินดีของประชาชนประเทศเราจะไปได้นั้น เราต้องมี 2 อย่าง
อย่างแรกคือ ต้องมีความสงบความเรียบร้อย อยู่กันด้วยกฎหมาย ไม่มีความวุ่นวาย
เรื่องที่สองก็คือ ประชาชนต้องมีปากมีเสียง สิทธิเสรีภาพอย่างพอประมาณ การจะเป็นเช่นนั้นได้ กลไกหนึ่งในนั้นก็คือ “การเลือกตั้ง” เมื่อมีบรรยากาศของการเลือกตั้งภายใต้ความสงบเรียบร้อย เศรษฐกิจจะดีที่สุด แต่ถ้ามีความสงบเพียงอย่างเดียวยังไม่มีการเลือกตั้ง เศรษฐกิจมันจะดีได้เพียงแค่ระดับหนึ่ง สู้ช่วงมีการเลือกตั้งไม่ได้
ในทางกลับกัน ถ้ามีเลือกตั้งแล้วยังวุ่นวาย เศรษฐกิจก็จะสู้อะไรไม่ได้เลย เราก็คาดหวังว่าจะให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ภายใต้ความสงบเรียบร้อย แล้วเราเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถนำพาประเทศไปสู่จุดนั้นได้ ดีกว่าให้หัวหน้าพรรคการเมืองคนใดคนหนึ่งเป็นผู้นำไป เพราะอาจจะกลายเป็นชนวนของความขัดแย้ง
10 กว่าปีที่ผ่านมาเราเรียนรู้เรื่องราวความขัดแย้งกันมากแล้ว ผมมองว่าอาจจะถึงเวลาที่เราจะมีจุดร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ช่วงหลังเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อย การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศมีเศรษฐกิจดี
: ยังมีคนมองเรื่องกติกาไม่เป็นธรรม – ยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นกับดัก?
หลายคนอาจรู้สึกอึดอัดการสร้างระบบ ส.ว. ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี หรือการสร้างยุทธศาสตร์ชาติ การวางกลไกอะไรต่างๆ หลายฝ่ายอาจรู้สึกอึดอัดคิดว่าตัวเองไม่ได้อำนาจอย่างเท่าที่ควรจะได้ หรือหาผลประโยชน์ได้ไม่เต็ม ก็รู้สึกไม่สบายใจ
ผมมองแทนในฐานะประชาชนว่าเราจะได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ถ้ามีการเลือกตั้งและใช้มันอย่างถูกต้องในช่วงเปลี่ยนผ่าน ผมเคยถามคนที่มาโจมตียุทธศาสตร์ชาติ เขาบอกว่า ยังไม่เคยอ่านหรอก เพียงแต่ว่าเขาเกลียดคนทำเท่านั้น เลยไม่เอาด้วย
สิ่งต่างๆ ที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้ย้อนกลับไปแบบเดิมก่อนปี 2557 มันจึงต้องมีกติกาและกฎเกณฑ์ ผมมองว่าถ้าถึงวันนั้นแล้วมีปัญหาจริงๆ ผมก็เชื่อว่าแก้ได้ทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าเขาหาเรื่องจะด่ากันเฉยๆ จะให้คนที่ไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ไปชมยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่ใช่ แต่ก็อย่าไปตั้งธงว่าจะมารื้อหมด ผมก็เห็นมาแล้วว่ามันเกิดความวุ่นวาย ถ้าตั้งธงมาอย่างนั้น ยังไม่เข็ดกันอีกหรือ ผมเองไม่ได้ชอบอะไรทั้งหมด แต่ผมก็ไม่ได้เกลียดอะไรทั้งหมดนะ
: นักวิเคราะห์มองว่า ยังมีไพ่ใบสุดท้ายไว้เขี่ย พท.-อคม.ออกจากสนามก่อนถึงวันเลือกตั้ง
ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ผมมองว่าหลายเรื่องที่ผ่านมาหลายพรรคยังใช้วิธีการแบบเก่าๆ ทั้งๆ ที่บริบทเปลี่ยนไปแล้ว กฎหมายเปลี่ยนแล้ว อะไรที่สุ่มเสี่ยงต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำเพื่อให้ตัวเองถูกเล่นงานได้ ผมมองว่าพรรคการเมืองก็ต้องปรับตัว อย่าไปทำสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือสุ่มเสี่ยงก็จะได้ไม่มีปัญหา
ทองแท้ต้องไม่กลัวไฟ คนต้องไม่กลัวการพิสูจน์ ต้องไม่กลัวการถูกตรวจสอบ ทุกอย่างต้องตรวจสอบถ่วงดุลเปิดเผยโปร่งใส คสช.ก็เช่นกัน ผมก็ไม่อยากที่จะเห็นข้างหนึ่งถูกไปเสียหมด ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาด้วย
สุดท้ายผมเชื่อว่าความหวังบ้านเมืองนี้จะเกิดได้เมื่อมีความสมดุลโดยเฉพาะ “ดุลแห่งอำนาจ” ใครที่มีอำนาจมากเกินก็ลุแก่อำนาจ ฉะนั้นจึงต้องมีการเลือกตั้งเพื่อเกลี่ยอำนาจ ผมก็หวังว่าหลังการเลือกตั้ง แต่ละฝ่ายจะเกิดสมดุล ไม่มีอะไรที่ใหญ่เกินไป มีการถ่วงดุลกัน
สามารถรับชมคลิปสัมภาษณ์เปิดใจไพบูลย์เต็มๆ ได้ที่