เรื่องของเจมส์ ริกเกตสัน นักทำหนังที่ต้องโทษฐานจารกรรม

เจมส์ ริกเกตสัน พลเรือนออสเตรเลีย อายุ 69 ปี ถูกศาลกัมพูชาพิพากษาจำคุก 6 ปีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา

อาชีพของริกเกตสันคือผู้สร้างภาพยนตร์ อันเป็นที่มาของการถูกจับกุมและต้องคำพิพากษาในครั้งนี้

ริกเกตสันถูกจับกุมและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเปรยซอร์มาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เขาถูกจับเพราะใช้โดรนติดกล้องขึ้นบินเพื่อถ่ายภาพการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในกรุงพนมเปญโดยไม่ได้ขออนุญาต

ริกเกตสันใช้โดรนถ่ายทำการชุมนุมหาเสียงเลือกตั้ง เพราะกำลังอยู่ระหว่างการทำโปรเจ็กต์ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับพรรคการเมืองและนักการเมืองฝ่ายค้านในกัมพูชา

15 เดือนต่อมา เมื่อถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาลในการไต่สวน 2 สัปดาห์ ข้อกล่าวหาที่ทางอัยการกัมพูชากล่าวหาริกเกตสันกลับไม่ใช่เรื่องขออนุญาต ไม่ขออนุญาตใช้โดรนอีกต่อไป

แต่กลับเป็นข้อหา “จารกรรม” ซึ่งความหนักหนาสาหัสต่างกันแบบฟ้ากับดิน

 

ระหว่างการไต่สวน ริกเกตสันซึ่งยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหา เรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำอีกให้ระบุออกมาว่า ตนทำจารกรรมให้ใคร ประเทศไหน? แต่ไม่เคยได้รับคำตอบ

พนักงานอัยการเพียงแสดงหลักฐานต่อศาล เป็นสำเนาอีเมลหลายชิ้นที่ริกเกตสันส่งถึงบรรดาแกนนำฝ่ายค้าน หนึ่งในจำนวนนั้นคือ สม รังสี อดีตหัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชาที่ถูกยุบไปแล้ว

กับสำเนาร่างจดหมาย ที่ทำถึงนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย (มัลคอล์ม เทิร์นบุล ในเวลานั้น ปัจจุบันคือสก๊อต มอร์ริสัน) เนื้อหาเป็นลำดับความคร่าวๆ ถึงการใช้อำนาจอย่างบิดเบือนของรัฐบาลกัมพูชา

ริกเกตสันอ้างต่อศาลว่า การติดต่อกับแกนนำฝ่ายค้านไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะกำลังทำสารคดีอยู่ ส่วนความในจดหมายนั้น เป็นการแสดงออกซึ่ง “ความเชื่อ” โดยเสรี ที่ตนคุ้นเคยในฐานะพลเรือนออสเตรเลีย

ผลลัพธ์ที่ได้คือ ศาลพิพากษาจำคุก 6 ปี

 

คําพิพากษาดังกล่าวเมื่อมองจากภายนอกอาจทำให้หลายคนแปลกใจ แต่ถ้าใครรู้ภูมิหลังของเจมส์ ริกเกตสัน ก็คงไม่แปลกใจกับผลลัพธ์ดังกล่าว

เจมส์ ริกเกตสัน รู้จักกันดีในพนมเปญ เป็นคนต่างชาติที่ได้ชื่อว่าคือ “แมงรำคาญ” ของทางการ โวยวายในทุกเรื่องที่เจ้าตัวเห็นว่าไม่เป็นธรรม ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่

วิธีการที่ใช้ก็คือการรณรงค์ด้วยการเขียนจดหมายส่งถึงผู้ที่เกี่ยวข้องหรือคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้อง หรือไม่ก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนในเว็บบล็อกส่วนตัว

เจ้าหน้าที่กัมพูชา เรื่อยไปจนถึงหัวหน้าองค์กรการกุศลในท้องถิ่น เจอกันมาถ้วนหน้า

อย่างเช่น จดหมายที่ส่งถึงนายกฯ เทิร์นบุลเมื่อเดือนมีนาคม ที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานในศาล เป็นต้น

จังหวะเวลาก็สำคัญ ริกเกตสันเลือกเวลาถ่ายทำสารคดีของตนได้ไม่เหมาะนัก-จำเพาะในมุมมองทางการเมือง

เพราะช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชากำลัง “เก็บกวาด” ทางการเมืองครั้งใหญ่ ทั้งนักการเมืองฝ่ายค้านเรื่อยไปจนถึงองค์กรข่าวทั้งในและนอกประเทศ

 

เรื่องของริกเกตสันไม่ได้สะท้อนแง่มุมทางการเมืองในกัมพูชาเพียงอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนถึงสภาพของ “เปรยซอร์” ได้เป็นอย่างดี

ริกเกตสันบ่นเรื่องเรือนจำเอาไว้ว่า สกปรกก็เท่านั้น เจ้าหน้าที่ยังคอร์รัปชั่น แถมการดูแลรักษาทางการแพทย์แทบ “ไม่มีเลย” อีกต่างหาก

ห้องขังแออัด นอนไม่หลับ อาหารการกินไม่เพียงพอ จนญาติๆ เป็นกังวลว่า ไม่รู้ว่าริกเกตสันจะเอาชีวิตรอดจากคุกนี้ได้นานเท่าใด

สภาพย่ำแย่ถึงขนาดหลังจากดื้อแพ่ง ยืนยันการเป็นผู้บริสุทธ์ตลอดมา เมื่อไม่นานมานี้ริกเกตสันถึงกับเขียนจดหมาย “ขออภัย” ไปยังสมเด็จฯ ฮุน เซน ยอมรับว่าความเห็นที่ผ่านมาสร้างความแตกแยกและได้รับข้อมูลมาไม่ครบถ้วน

เป็น “ความไร้เดียงสา” ของชาวต่างชาติ ที่ “ละเลยความซับซ้อนและความยุ่งยาก” ของการปกครองประเทศอย่างกัมพูชา

เปรยซอร์ สามารถเปลี่ยนความคิดคนได้ถึงขนาดนั้น!