จิตต์สุภา ฉิน : ฤดูกาล “อันเฟรนด์” ของชาวอเมริกัน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ขณะนี้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยน่าจะกำลังเจอปัญหาเดียวกับที่คนไทยบนเฟซบุ๊กประสบมาโดยตลอดจนเริ่มคุ้นเคยเป็นอย่างดีตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

นั่นก็คือการที่จู่ๆ ก็พบว่าจำนวนเพื่อนบนเฟซบุ๊กของตัวเองลดลงไปโดยไม่รู้ตัว

ใช่แล้วค่ะ ปรากฏการณ์นี้ก็คือการระดม “อันเฟรนด์” คนที่คิดต่างจากตัวเองนั่นเอง

ตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดการอันเฟรนด์ของคนไทยบนเฟซบุ๊กหลักๆ นั้นเริ่มต้นมาจากความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน เมื่อเห็นเพื่อนบนเฟซบุ๊กไม่ได้เลือกข้างสีเดียวกับที่เราสนับสนุน ทุกความเห็นของคนคนนั้นมันช่างน่าหงุดหงิด สร้างความรำคาญใจ และเป็นมลพิษทางสายตาเสียเหลือเกิน ทำให้ทางออกสุดท้ายที่จะทวงคืนหน้าฟีดอันแสนรื่นรมย์มาได้ก็เห็นจะเป็นการอันเฟรนด์เท่านั้น

ส่วนตัวกระตุ้นของชาวอเมริกันในขณะนี้แน่นอนว่าจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากความคิดเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมาถึง

เนื่องจากแคมเปญการหาเสียงระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ ฮิลลารี คลินตัน นั้นมันช่างร้อนระอุเสียเหลือเกิน

ฮิลลารีก็มีชนักติดหลังในเรื่องการทำผิดกฎหมาย

ทรัมป์ก็มีข่าวฉาวเรื่องการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมที่สำนักข่าวหยิบมานำเสนอกันอย่างฉูดฉาด ทำให้คนออกมาก่นด่ากันทั่วบ้านทั่วเมือง

ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความคิดเห็นที่แตกต่างกันสุดขั้ว

ผู้ใช้เฟซบุ๊กบางคนถึงขั้นพูดว่าถ้าเห็นเพื่อนเฟซบุ๊กคนไหนประกาศว่าจะยังลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์ก็ขอเรียนเชิญอันเฟรนด์ตัวเองออกจากรายชื่อเพื่อนไปได้เลย

 

น่าเสียดายที่เราไม่มีตัวเลขที่แน่นอนว่าในช่วงไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อนที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะเริ่มขึ้นนั้นมีตัวเลขของคนที่ถูกอันเฟรนด์ไปแล้วทั้งหมดกี่คน

ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ด้านนโยบายของเฟซบุ๊กบอกว่าเฟซบุ๊กไม่มีตัวเลขนี้ให้

ข้อมูลเดียวที่พอจะบอกได้ก็คือระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีคนจำนวนถึง 109 ล้านคนในสหรัฐ ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีบนเฟซบุ๊ก ไม่ว่าจะเป็นการกดไลก์ เขียนโพสต์ คอนเมนต์ หรือแชร์

ไม่น่าแปลกใจเลยที่เฟซบุ๊กจะไม่มีตัวเลขเหล่านี้มาเปิดเผยกับสาธารณชน เพราะเรื่องการอันเฟรนด์ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะก่อให้เกิดอาการกระอักกระอ่วน

ดีไม่ดีอาจนำไปสู่การเลิกคบกันในชีวิตจริงไปเลยก็ได้

ดังนั้น เฟซบุ๊กจึงพยายามเป็นอย่างมากที่จะช่วยหาทางออกให้กับคนที่ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์อะไรกันบนเฟซบุ๊กแล้วแต่ไม่กล้าที่จะอันเฟรนด์กัน ไม่ว่าจะเป็นการให้กดเลิกติดตาม การให้จัดหมวดหมู่เพื่อน ไปจนถึงการเลือกตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของโพสต์แต่ละโพสต์ว่าอนุญาตให้ใครเห็นหรือไม่เห็นได้บ้าง

เจนนี่ สตรอเมอร์ แกลลีย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Syracuse University ซึ่งกำลังทำการศึกษาด้านโซเชียลมีเดียในแคมเปญการเลือกตั้งให้ข้อมูลว่าก็พอจะเป็นที่เข้าใจได้อยู่ว่าทำไมการคิดเห็นที่แตกต่างบนเฟซบุ๊กจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน

ผลการวิจัยระบุว่าคนเรามีแนวโน้มที่จะเสพเนื้อหาออนไลน์และเข้าร่วมกับชุมชนออนไลน์ที่มีมุมมองความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งพออยู่รวมกลุ่มกับคนที่คิดไปในทางเดียวกันบ่อยๆ เข้า ก็ทำให้เกิดอาการห้าวเป้ง และโมโหคนที่มาพูดจาไม่ดีเกี่ยวกับผู้สมัครที่ตัวเองเชียร์ได้ง่ายขึ้น

เธอยกตัวอย่างให้ฟังว่า เวลาที่ผู้สนับสนุนคลินตันอยู่บนโซเชียลมีเดียแล้วต้องไปเจอกับคนอื่นๆ ที่เกลียดคลินตัน ก็จะทำให้เกิดอาการร้อนรน กระวนกระวาย และจะปฏิบัติต่อคนที่คิดคนละขั้วกับเราว่าเป็นคนเลว โดยลืมที่จะมองว่าพวกเขาก็เป็นแค่คนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปเท่านั้น

 

อีกการศึกษาหนึ่งที่เว็บไซต์ How Stuff Works หยิบยกมาอ้างก็คือการศึกษาโดย Hebrew University ในปี 2014 ซึ่งต้องการที่จะรู้อัตราการอันเฟรนด์ระหว่างผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชาวอิสราเอลที่เป็นยิวในระหว่างที่เกิดความขัดแย้งในกาซ่า การศึกษานี้พบว่า 1 ใน 6 คนอันเฟรนด์หรือเลือกติดตามใครสักคนหนึ่งในช่วงระยะเวลานั้นๆ และ 1 ใน 12 คนได้ตัดเพื่อนไปมากสุดถึง 3 คน

คนที่มีแนวโน้มที่จะอันเฟรนด์เพื่อนบนเฟซบุ๊กมักจะเป็นคนที่อายุไม่เยอะ และหากยิ่งมีความเชื่อทางการเมืองค่อนไปทางสุดโต่งไม่ว่าจะเป็นทางซ้ายหรือทางขวาก็จะยิ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะตัดเพื่อนบนเฟซบุ๊กมากขึ้น

ที่น่าสนใจก็คือการศึกษาครั้งนี้พบว่าความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับการจะอันเฟรนด์หรือไม่อันเฟรนด์

หมายความว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของอิสราเอลซึ่งอยู่ในเขตที่อาจจะได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกันมากที่สุด ก็ไม่ได้มีแนวโน้มจะอันเฟรนด์เพื่อนมากไปกว่าคนที่อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ และอยู่ในที่ที่ปลอดภัยสักเท่าไหร่

 

ปิดท้ายด้วยผลการศึกษาจาก Pew ในปี 2016 ที่บอกว่าอันที่จริงแล้วปัญหาการอันเฟรนด์เพราะสนับสนุนผู้สมัครลงเลือกตั้งที่แตกต่างกันนั้นอาจจะไม่ได้ใหญ่หลวงอะไรมากนักในสหรัฐอเมริกา เพราะทุกวันนี้สองฝั่งนี้ก็แบ่งกันออกเป็นสองขั้วจนแทบจะไม่มาแตะกันอยู่แล้ว มีเพียง 1 ใน 4 ของผู้สนับสนุนทรัมป์ที่มีเพื่อนสนิทที่สนับสนุนคลินตัน มีเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ของคนที่สนับสนุนคลินตันที่สนิทกับคนที่ตั้งใจจะโหวตให้ทรัมป์ ในขณะที่ 31 เปอร์เซ็นต์ของผู้สนับสนุนทรัมป์ และ 47 เปอร์เซ็นต์ของผู้สนับสนุนคลินตันไม่มีเพื่อนสนิทที่จะโหวตให้อีกฝ่ายเลย

ซึ่งก็หมายความว่าได้มีการจัดที่จัดทาง เลือกคบเพื่อนในวงสังคมที่มีความคิดเห็นแบบเดียวกันอยู่แล้วนั่นเอง

ดังนั้น เปิดหน้าฟีดเฟซบุ๊กทุกครั้งก็น่าจะเจออะไรที่สวยงามตามความรู้สึกของตัวเองอยู่แล้ว

ไม่มีความจำเป็นให้ต้องไปกดอันเฟรนด์ใคร

 

สถานการณ์ในประเทศไทยที่ปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกแห่งความโศกเศร้าขณะนี้ก็ได้ทำให้เกิดการแสดงออกอารมณ์อันรุนแรงต่อคนที่ “ไม่เป็นไปตามรูปแบบที่ตัวเองอยากให้เป็น” ขึ้นมาอีกครั้ง

เราได้เห็นคอมเมนต์จำนวนไม่น้อย ที่ตำหนิ ต่อว่า ต่อขาน คนอื่นที่ไม่แสดงออกถึงความเศร้าในปริมาณที่ตัวเองอยากจะเห็น

เราได้เห็นการอันเฟรนด์เพื่อนที่ “ยังมีหน้า” มาโพสต์ถึงกิจวัตรประจำวันในช่วงเวลาโศกาอาดูร

เราได้เห็นความรู้สึกหวาดหวั่นของการไม่กล้า “ไม่เข้าพวก” และโพสต์ที่จองหองถึงขึ้นประกาศบนโซเชียลมีเดียอย่างเกรี้ยวกราดว่าจะออกไปเดินตรวจตราดูว่ามีใครยิ้ม ใครหัวเราะ เพื่อที่จะแจ้งตำรวจจับให้หมด

หากเพียงเราเข้าใจว่าคนทุกคนแตกต่างกัน มีการแสดงออกที่ไม่เหมือนกัน มีระดับอารมณ์ไม่เท่ากัน มีพื้นหลังที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน เราก็จะเข้าใจว่าไม่ว่าจะบนโซเชียลมีเดียหรือในชีวิตจริงไม่มีใครสามารถเป็นไปในแบบที่เราอยากให้เป็นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ในเมืองไทย หรือความขัดแย้งทางความคิดระหว่างผู้สนับสนุนผู้สมัครทั้ง 2 พรรค สามารถแก้ได้ง่ายนิดเดียวด้วยการหันกลับมาดูที่ตัวเอง ไม่ต้องวอกแวกมองคนอื่น ไม่ต้องทำตัวเป็นตำรวจจับผิดคนอื่น มองตัวเราเองว่าทุกวันนี้เราเป็นแบบที่เราอยากเป็นแล้วหรือยัง เราทำได้ดีเหมือนที่เราอยากทำแล้วหรือยัง เรายืนหยัดกับหลักการของเราอย่างซื่อสัตย์แล้วหรือยัง มองกระจกทุกวันนี้ภาคภูมิใจในตัวเองแค่ไหน แล้วตอบคำถามนั้นเพื่อประเมินตัวเองอยู่เรื่อยๆ

หากเราทำทุกอย่างที่ว่าแล้ว แต่กลับเป็นฝ่ายถูกรุกรานจากคนเห็นต่างบนโซเชียลมีเดียอยู่ดี ปุ่มอันเฟรนด์ก็อยู่ตรงนั้นค่ะ พร้อมให้เรากดได้ทุกเมื่อเลย