หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘เลือก’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกยางโทน รวมฝูงกันทำหน้าที่กำจัดศัตรูพืชอยู่ในท้องนา

หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ

‘เลือก’

ถึงวันนี้ ปีพุทธศักราช 2561

แม้ว่า “โลก” จะไม่เหมือนเดิม เปลี่ยนแปลงจากโลกที่หลายๆ คนเคยอยู่มามากแล้ว

มีสิ่งหนึ่งซึ่งยังมีอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

นั่นคือ ภาพคนไถนา มีฝูงนกสีขาวๆ จำนวนมากเดินตามหลัง

เป็น “ภาพ” ที่พบไม่ง่ายแล้ว

แต่ยังคงมีภาพนี้อยู่

นกสีขาวๆ นั้นคือ นกยาง หรือที่เราเรียกพวกมันอย่างคุ้นเคยว่า นกกระยาง

เมื่อผืนดินถูกพลิกขึ้นมา แมลงต่างๆ, หนอน, รวมทั้งหอย ที่เราจัดให้พวกมันอยู่ในหมวดชีวิตซึ่งเป็นศัตรูพืช จะถูกบรรดานกที่เดินตามจัดการ

มิตรภาพระหว่างคนและนก รวมถึงควายที่เคยทำหน้าที่ลากคันไถ มองเห็นได้ชัด

แต่ดูเหมือนจะเป็นภาพที่ไม่ต่างจากภาพขาว-ดำเก่าๆ ซึ่งมีไว้เพื่อย้อนความทรงจำ

ท้องทุ่งนาถูกแทนที่ด้วยเครื่องยนต์ ยาฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมี

ควายที่เคยทำหน้าที่ลากคันไถ เหลือสถานภาพเพียงสัตว์แปลกๆ ที่มีไว้ยืนข้างทาง เพื่อให้รถบัสคันโตของนักท่องเที่ยวจากต่างแดนหยุดลงมาถ่ายรูป

พวกมันไม่ต้องทำงานหนักๆ ในท้องทุ่ง มีเครื่องจักรมา “แย่ง” งานไปทำ

“สรรพคุณ” ของควายเหล็ก ได้รับการบรรยายอย่างเลิศเลอ ทั้งภาพและเสียง

อีกทั้งหากไม่ใช้ปุ๋ย หรือยาฆ่าแมลงยี่ห้อนี้ จะต้องล้าหลัง หรือผลผลิตสู้เพื่อนไม่ได้แน่

คำชักชวน มันยั่วกระทั่งอดใจไม่ไหว ไม่มีใครอยากยากลำบาก ถ้าเชื่อว่ามีหนทางสบายกว่าให้เลือก

จนกระทั่งถึงวันที่เราเริ่มรู้ตัวแล้วว่า

ผลผลิตสูงๆ ไม่ได้อยู่ในทุ่งนา

มันอยู่ในบริษัทซึ่งขายสิ่งเหล่านี้

 

หลายปีก่อนนี้ ผู้ชายวัยกว่า 80 ปีคนหนึ่ง เล่าให้ผมฟังว่า สมัยที่เขายังเด็ก เคยเห็นแม่ค้าพายเรือมาตามคลองในกรุงเทพฯ และร้องขายสินค้าว่า

“เนื้อสมันมาแล้วจ้า”

สมัน เป็นกวางพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พบเพียงแห่งเดียวในโลก บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย

พวกมันสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย หมายถึงสูญพันธุ์ไปจากโลกด้วย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2481

จากการจัดสถานภาพโดย IUCN ปี 2004 สมันมีสถานภาพสูญพันธุ์

สาเหตุหลักๆ ที่สมันสูญพันธุ์คือ แหล่งอาศัยถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เป็นนาข้าวเกือบทั้งหมด ประเทศไทยเปิดติดต่อการค้าขายกับต่างประเทศ

ในปี พ.ศ.2393 ข้าวเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ

และเมื่อการสร้างทางรถไฟสายเหนือเริ่ม คนตามเส้นทางรถไฟมาจับจองที่ดินสองข้างทางรถไฟจำนวนมาก

ถิ่นอาศัยของสมัน และตัวสมันถูกทำลายหมดภายในเวลาไม่กี่ปี

ส่วนสมันที่อยู่ไกลๆ ก็โดนไล่ล่าอย่างหนัก ในช่วงฤดูฝนน้ำหลากท่วมท้องทุ่ง สมันจะหลบไปอยู่บนที่ดอน ทำให้ถูกล้อมฆ่าอย่างง่ายๆ

“ผมคิดว่าตอนหลังที่เราเรียกเนื้อสวรรค์ มันเพี้ยนมาจากเนื้อสมันนี่แหละ” ผู้ชายวัยกว่า 80 ปี ให้ข้อสังเกต

มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า ในปี พ.ศ.2481

สมันตัวสุดท้ายที่อยู่ในกรงได้เสียชีวิตที่วัดแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรสาคร

 

ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม ประเทศไทยก็เป็นผู้ส่งออกข้าวในระดับต้นๆ มาเนิ่นนาน มูลค่าส่งออกมหาศาล

จนกระทั่งคล้ายกับว่า การต้องแลกกับชีวิตสายพันธุ์หนึ่ง หรืออีกหลายสายพันธุ์ นั้นคุ้มค่า

ในช่วงเวลาหนึ่ง เราปลูกข้าว ทำนาแบบพึ่งพาอาศัย

ด้วยความมีมิตรภาพระหว่างคนกับสัตว์

ความเปลี่ยนแปลงมาถึง มิตรภาพหายไป หลายชีวิตสาบสูญ

โลกหมุนเร็วเสียจนชีวิตช้าๆ ในท้องนากลายเป็นความล้าหลัง

วันนี้ ท้องนาไม่เหมือนเดิม

แต่ “ชาวนา” ส่วนใหญ่ ดูเหมือนชีวิตยังไม่เปลี่ยนแปลง

มีคนจำนวนไม่น้อยเดินออกจากเมืองกลับสู่ท้องนา พยายามฟื้นฟูวิถีการอยู่ร่วมกันแบบมีมิตรภาพ

 

ถึงวันนี้เช่นกัน ที่การเดินป่าไม่ใช่เรื่องยากอะไร เราสามารถเดินมุ่งหน้าไปหาจุดหมายที่จะไปได้โดยที่ไม่เคยไปมาก่อน

เครื่องมือบอกพิกัดทางภูมิศาสตร์ด้วยดาวเทียม หรือที่เราเรียก GPS เมื่อเราใช้ร่วมกับเข็มทิศ และแผนที่ ก็ไปถึงจุดหมายง่ายดายขึ้น

แต่ใช่ว่าทักษะการเดินป่า จดจำภูเขา ต้นไม้ หรือด่านที่สัตว์ใช้ จะไร้ความจำเป็น

และก็ใช่ว่ามีเครื่องมือนำทางแล้วเราจะไม่หลง

ในสภาพอากาศเลวร้าย ป่ารกทึบ ท้องฟ้ามืดครึ้ม หลายครั้งเครื่องมือก็ช่วยอะไรไม่ได้

มีสิ่งหนึ่งที่คนทำงานในป่ายึดถือปฏิบัติ คือ เมื่อรู้ตัวว่าหลง ไม่ว่าจะเดินมาแล้วกี่ชั่วโมง เราจะหาทางย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น

“รู้ตัว” ว่าผิดเส้นทาง คือสิ่งที่จะทำให้ค้นพบหนทางที่ถูกต้อง

อยู่ในป่า เราปฏิบัติเช่นนี้

 

วันนี้ยังมีนกยางอยู่ในทุ่งนา ขณะมีหลายชีวิตหายไป

เรื่องราวของสมัน นกยาง และคน ไม่แตกต่างกัน

ยาพิษในทุ่งนา ฆ่าทุกชีวิต

เราเลือกที่จะไม่ใช้มันได้ แต่ดูเหมือนจะหลบเลี่ยงไปไม่พัน

และคนที่จะหยุดมันได้ ก็ “เลือก” ที่จะไม่ทำ

รวมทั้งเลือกที่จะไม่รู้ตัวว่า เดินผิดเส้นทาง