วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / สู่ร่มกาสาวพัสตร์ ขึ้นธรรมาสน์เทศนาจริง

วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

 

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

ขึ้นธรรมาสน์เทศนาจริง

 

วัดที่พระปานบวชเป็นวัดธรรมยุต ปฏิบัติที่ผิดจากวัดมหานิกายบางประการ เช่น ไม่จับต้องเงินทอง ไม่รับปัจจัยที่เป็นเงิน แม้ใส่ซองถวายทุกกรณี กรณีเช่นนี้จึงต้องมีใบแจ้งการถวายปัจจัยเรียกว่า “ใบปวารณา”

ข้อความมีว่า “ขอถวายจตุปัจจัย 4 อันควรแก่สมณบริโภคเป็นมูลค่า เท่าราคา….บาท…สตางค์ แด่พระคุณเจ้า ถ้าพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใด โปรดเรียกจากไวยาวัจกรผู้รับมอบนั้น ตามประสงค์เทอญ”

ใบถวายจตุปัจจัยนี้ เจ้าภาพจะเขียนจำนวนเงิน นำใส่ซองถวายพระรูปที่มาทำพิธี แล้วนำเงินตามจำนวนรวมทั้งหมดเท่าใดมอบให้กับไวยาวัจกร หากเป็นการสวดพระอภิธรรมที่ศาลาหลังวัด เจ้าภาพจะมอบให้เจ้าหน้าที่ประจำศาลา วันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่จะนำไปถวายพระรูปที่รับปัจจัยนั้น

รู้กันว่าต้องนำไปมอบให้ที่กุฏิด้วยการส่งมอบให้ลูกศิษย์ หรือนำไปเสียบไว้ในที่พระรูปนั้นเตรียมประจำไว้รับปัจจัย ต่อเมื่อต้องการนำไปใช้จ่ายจะให้ลูกศิษย์หยิบไปใช้จ่ายได้

ถังสังฆทานที่พระปานรับมานั้น นอกจากเครื่องสังฆทานที่มีร่มเสียบไว้ยังมีซองจตุปัจจัยด้วย เมื่อมาถึงกุฏิ พระปานจึงหยิบซองนั้นมาเปิดดูตัวเลขตามความเคยชินแล้วนำเสียบรวมไว้ในที่เดียวกับที่เสียบเงิน พระบางรูปคงปฏิบัติเช่นเดียวกัน เดือนหนึ่งรวมแล้วนับจำนวนหลายสิบ บางเดือนได้กว่าสองสามร้อย

พระที่อุปสมบทมานาน ถึงเดือนจะให้ลูกศิษย์นำไปเข้าธนาคาร รวมแล้วได้นับพันนับหมื่นทีเดียว

บางรูปจะนำปัจจัยที่ได้รับส่งไปให้โยมมารดา-บิดาใช้จ่าย บางรูปส่งเสียลูกซึ่งมีอยู่ก่อนมาอุปสมบท หรือเป็นหลานลูกพี่น้องร่ำเรียน บางคนเล่าเรียนถึงมหาวิทยาลัย ถึงในต่างประเทศก็มี

 

การที่ไม่ได้ถือปัจจัยด้วยตัวเอง เมื่อจะเดินทางไปไหนจึงต้องมีลูกศิษย์ติดตามไปด้วย เว้นแต่สถานที่ไปไม่ไกล เช่น ครั้งหนึ่ง บิดาของเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งเสียชีวิต มีการฌาปนกิจที่วัดไม่ไกลจากวัดซึ่งพระปานบวชนัก ด้วยเป็นเพื่อนรุ่นพี่ที่สนิทกันมาก พระปานจึงขออนุญาตพระครูพรหมไปร่วมงาน แต่แจ้งเพียงว่า ขอนำผ้าไตรจีวรที่มีอยู่ไปร่วมทำบุญ

ด้วยเหตุที่พกเงินไปไม่ได้ และการเดินไม่เหลือวิสัย ใกล้เย็นวันนั้น พระปานจึงนำไตรจีวรใส่ลงในย่ามแล้วเดินไปที่วัดนั้นเพียงลำพัง แม้ไม่ไกล ทำเอาเหงื่อโซมไปเหมือนกัน

ถึงบริเวณวัด ต้องวางย่ามแล้วจัดการปรับห่มจีวรเป็นห่มเฉียงบ่าเดินเข้าไปบริเวณเมรุพบกับรุ่นพี่เจ้าภาพ เขาเห็นหน้ายังไม่คุ้น สักพักจึงจำได้ ยกมือขึ้นไหว้แล้วรับผ้าไตรจีวรทั้งที่ยังงง พระปานเองไม่รู้จะว่าอย่างไรเช่นกัน เพียงแต่บอกว่านำมาร่วมทำบุญถวายพระแทนปัจจัย แล้วรับนิมนต์นั่งสักครู่พอหายเหนื่อย จึงขอตัวกลับวัด

ด้วยไม่รู้ว่าจะร่วมพิธีอย่างไร

 

การเดินออกนอกวัดของพระธรรมยุตต้องไม่สวมรองเท้าแตะ เดินเท้าเปล่า แม้แดดไม่ร้อน แต่ฟุตปาธที่ตากแดดมาช่วงเที่ยงยังร้อนพอสมควร จึงต้องเดินเร็ว ไม่เหมือนไปสวดมนต์ตามบ้านงานทำบุญ เจ้าภาพมีรถมารับ-ส่ง ลงเดินเท้าเปล่าเฉพาะทางเข้า-ออกจากบ้านเท่านั้น นับเป็นครั้งแรกที่พระปานเดินเท้าเปล่าออกนอกวัดไกลๆ อย่างนี้ ยกเว้นกรณีออกบิณฑบาตช่วงเช้าที่แดดและพื้นถนนยังไม่ร้อน

ส่วนการเดินในวัด อนุญาตให้สวมรองเท้าได้ แม้ไปสวดมนต์ที่ศาลาหลังวัด

เมื่อบวชนานนับเดือน ภารกิจการเป็นพระมีมากขึ้น ทั้งด้วยใกล้วันสงกรานต์ บรรดาอาๆ น้องของพ่อจะจัดทำบุญให้แม่ ซึ่งเป็นย่าของพระปาน จึงมานิมนต์พระปานไปร่วมสวดมนต์ด้วย

พระปานแจ้งให้พระครูพรหมทราบว่าต้องไปร่วมสวดมนต์กับพระมหานิกาย พระครูพรหมบอกไม่มีปัญหา บทไหนที่สวดได้ให้ว่าตามสำเนียงของพระมหานิกาย ส่วนการนั่งตามลำดับ เนื่องจากเป็นพระใหม่ หากไม่มีพระบวชใหม่กว่าให้นั่งท้ายสุด ให้แจ้งวันเดือนที่บวชกับพระวัดที่มาสวดมนต์นั้น

เมื่อถึงวันกำหนดทำบุญ หลานลูกของอาคนหนึ่งมารับไปที่บ้านงาน ไปถึงญาติผู้ใหญ่และหลานต่างมากราบไหว้กันเป็นแถว เกือบจะรับไหว้อาบางคนและย่า เมื่อตั้งสติได้จึงสำรวมและพูดคุยกับอาๆ และหลานบางคน รวมทั้งทักทายย่าซึ่งอายุมากแล้ว

ได้เวลาสวดมนต์ พระปานนั่งท้ายแถว บทไหนสวดได้จึงท่องบ่นไปตามที่เคยสวด บทไหนสวดหรือจำไม่ได้ ได้แต่นิ่ง กระทั่งสวดจบ เนื่องจากเป็นรูปสุดท้ายต้องเป็นผู้หยิบสายสิญจน์ม้วนส่งให้พระรูปถัดไป

ฉันเสร็จ กรวดน้ำ ให้พร พระปานยังติดในคำของพระธรรมยุตคือ เสียง “ท” เป็น “ด” และ “พ” เป็น “บ” แต่มิได้ผิดเพี้ยนอย่างใดนัก

 

เสร็จเรียบร้อย พระที่รับนิมนต์กลับวัด พระปานยังอยู่รอญาติผู้ใหญ่รดน้ำอวยพรย่า ซึ่งมานิมนต์ให้พระปานไปร่วมรดน้ำอวยพรด้วย แต่พระปานคิดว่าอาจจะลาสิกขาในอีกไม่นานนี้ ทั้งยังเป็นเด็กกว่ามาก จึงขอไม่รดน้ำ เพียงแต่ให้ศีลให้พรเท่านั้น จนได้เวลาพอสมควรจึงให้หลานรับกลับวัด

อีกภารกิจหนึ่งที่พระปานคิดว่าต้องปฏิบัติคือ การเทศน์ให้โยมแม่ฟังสักกัณฑ์ หลังจากขึ้นธรรมาสน์เทศน์ให้อุบาสกอุบาสิกาของวัดฟังในบ่ายวันธรรมสวนะ เป็นภารกิจของพระทุกรูปในวันพระ ช่วงเช้าส่วนใหญ่หากไม่ติดภารกิจใด ท่านเจ้าอาวาสจะขึ้นธรรมาสน์เทศน์เอง หากมีภารกิจจะมอบหมายให้พระผู้ใหญ่ขึ้นเทศน์

ช่วงเที่ยง เป็นภาระของพระรุ่นกลางๆ ส่วนภาคบ่ายเป็นหน้าที่ของพระใหม่ที่เพิ่งอุปสมบทในพรรษาและที่ยังไม่ลาสิกขา รวมทั้งพระปานที่ขอไม่ลาสิกขาตามกำหนด

พระปานได้รับบทเทศน์ว่าด้วยอานิสงส์ของการศรัทธาในพุทธศาสนา ซึ่งมีผู้ประพันธ์ไว้แล้วในคัมภีร์ เมื่อได้รับกัณฑ์เทศน์มา พระปานจึงใช้เวลาอ่านเหมือนท่องบทเทศน์ และทำความเข้าใจในกัณฑ์เทศน์นั้น

ถึงวันเวลาบ่ายที่ต้องขึ้นธรรมาสน์ พระปานเดินไปยังวิหารด้านหน้าวัดล่วงหน้าเพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวก่อน จะได้ไม่ตื่นเต้นหรือประหม่า จนเมื่อมัคนายกมานิมนต์ให้ขึ้นธรรมาสน์ พระปานกะเก็งไว้แล้วจึงค่อยก้าวเบี่ยงตัวขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์อย่างระมัดระวังและสำรวม หยิบยกกัณฑ์เทศน์ใบลานไว้บนระหว่างนิ้วมือทั้งสองข้าง รอให้อุบาสกคนหนึ่งอาราธนาศีลห้า พระปานให้ศีลจนจบ แล้วเริ่มต้นเทศน์ว่า

บัดนี้อาตมภาพจะได้เทศนาเรื่องการศรัทธาในพุทธศาสนาที่อุบาสกอุบาสิกา ณ ที่นี้มีศรัทธามาฟัง ด้วยสำเนียงการเทศน์ซึ่งเคยฟังมา แล้วต่อด้วยน้ำเสียงธรรมดาตามความในคัมภีร์ใบลานนั้น ไม่ถึงกับทุกคำ

ระหว่างเทศน์ บางครั้งสายตาเหลือบลงมองไปเบื้องล่าง ดูว่ามีอุบาสกอุบาสิกาหลับฟังบ้างไหม มีอุบาสิกาบางคนนั่งพนมมือฟังตั้งใจที่ได้ฟังพระหนุ่มอย่างพระปานเทศน์ แต่ที่มีอายุสักหน่อยมักจะหลับตาฟัง ไม่ถึงกับสัปหงก กระทั่งถึงวรรคสุดท้าย พระปานจึงเอ่ยตามสำเนียงพระเทศน์ว่า “…ก็มีด้วยประการฉะนี้”

เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจ พระปานค่อยๆ ก้าวลงจากธรรมาสน์ กลับกุฏิด้วยความอิ่มเอมในบุญ